Wednesday, 22 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘ก.อุตฯ’ เดินหน้า!! เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมหนุนความรู้ สร้างธุรกิจแกร่งอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน

(6 ก.พ. 67) ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ระบุว่า ปัจจุบันทางกระทรวงฯ ได้เดินหน้านโยบายในการสนับสนุน และขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SME แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่ การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน อย่าง ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’

ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน 2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน 545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท

‘รมว.ปุ้ย’ เล่นใหญ่!! พลิก สมอ. สร้างมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เป้าหลัก!! ‘สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-เสริมศักยภาพภาคอุตฯ’

(9 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ. จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI, ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า, คอนกรีต, ปูนซิเมนต์, เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ, เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์, เครื่องอุ่นไส้กรอก, อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน, สายสวนภายในหลอดเลือด, ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน 

ขณะที่ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 

1) S-curve 1 มาตรฐาน 
2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 
3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 
4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน 
5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 38 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ สมอ. ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ. ทั้ง 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร / สถาบันพลาสติก / สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย / สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ / สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ / สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ ‘METI’ ลุ้น 800 เอกชนญี่ปุ่นลงทุนอุตฯ ฮาลาลในไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67 ที่นครโตเกียว นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น มุ่งต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมเข้าร่วมประชุมหารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาล ของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย คาดว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนราว 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกันและกันมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในประเทศเป็นอันดับ 1 ดังนั้น จึงต้องการเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งทั้งสองประเทศ เพื่อรองรับและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม เป้าหมายที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ 

ล่าสุด เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและก้าวทันยุคสมัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างกัน 2 ฉบับ ในปี 2018 และ 2022 ที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย และต่อยอดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมถึงกระตุ้นการเติบโต และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น

โดยการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ พร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย...

1.) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

2.) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม

3.) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle)

และ 4.) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ 2 องค์กรพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย - ญี่ปุ่น รวมทั้งยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ตอัป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) 

โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ…

1.) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
2.) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม
3.) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และ 4.) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่นฮาลาล ไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก คาดว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท 

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้วยการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยภายังใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล - อัปไซเคิล วัสดุต่างๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ดึง ‘อุตฯ พลังงานสะอาดญี่ปุ่น’ ลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม เสริมบริการสาธารณูปโภคสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

(11 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองพร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เลขานุการรัฐมนตรีฯ ประธานกรรมการ กนอ. ผู้ว่าการ (กนอ.) และรองผู้ว่าการ กนอ. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ตนยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ ‘การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว’ โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต 

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ…

ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) 
ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ 
และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) 

ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

ผลงานชัด!! ‘ต่อยอดรถ EV-ดันฮาลาล-สานทุนนอกลงทุนไทย’ ‘รมว.ปุ้ย’ รัฐมนตรีผู้นอบน้อม ขยัน และใส่ใจผู้คน

ส่องผลงานรัฐมนตรี New Gen ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ กับบทบาท รมว.อุตสาหกรรม หลังผ่าน 90 วันแรก พบผลงานเพียบไม่เป็นรองใคร หลังผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายรุดหน้า ทั้ง EV, อาหารฮาลาล และการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เน้นทำงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามสไตล์ ‘ทำงานเงียบ ๆ แต่ใส่ใจ ไม่โอ้อวด’ 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘รัฐบาล’ ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 จะเป็นรัฐบาลที่ถูกจับตาดูการทำงานอย่างหนัก เพราะเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมาก อีกทั้งยั้งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัว ขณะเดียวกัน ‘รัฐมนตรี’ ที่รับผิดชอบในแต่ละกระทรวง ก็จะถูกจับตาและติดตามการทำงานอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐมนตรีหน้าใหม่สมัยแรก ที่ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามี ‘ฝีมือ’ และ ‘กึ๋น’ มากพอหรือไม่ เพราะต้องทำงานประสานกับข้าราชการประจำ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม

และหนึ่งในรัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่ถูกจับตาอย่างมากก็คือ ‘รมว.ปุ้ย’ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะไม่เพียงแต่เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่สมัยแรกเท่านั้น แต่ยังเป็นการบริหารกระทรวงใหญ่ ที่ต้องขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละด้านนั้น ล้วนเป็นความคาดหวังของชาวบ้านและภาคธุรกิจ และด้วยบุคลิกที่เป็นคนเรียบง่าย หลายฝ่ายจึงกังวลในเรื่องการทำงานที่ต้องประสานและบริหารข้าราชการประจำ ที่มีจำนวนมาก เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ จึงหวั่นว่าไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ตามเป้าหมาย

แต่ทว่า หลังผ่าน 90 วันแรก ด้วยสไตล์การทำงานที่ขยัน ทำงานอย่างไม่รู้เหนื่อย ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้เป็นอย่างดี เพราะมีผลงานที่เริ่มเป็นรูปธรรมออกมาให้เห็นอย่างไม่ขาดสาย ภายใต้เป้าหมายการบริหารอย่างเร่งด่วน (Quick Win) ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ด้วยเป้าหมายผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจ พลิกฟื้นรายได้ให้กับประเทศ 

>>ส่องผลงาน 90 วันแรก รมว.อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การทำงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา ในช่วง 90 วันแรก ได้จัดรูปแบบการบริหารอย่างเป็นระบบ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังได้แบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีภารกิจหลักคือลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลกอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ ในส่วนงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ได้จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’

ด้านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในส่วนนี้ทาง ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและการคุ้มครองผู้บริโภค ในช่วงที่ผ่านมา จึงมีการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และในปี 2567 มีเป้าหมายกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power

โดยเฉพาะในส่วนของ EV ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศในอนาคตนั้น ซึ่งถือเป็นอีกผลงานเด่นของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในมิติด้านการดึงดูดนักลงทุน โดยมีค่ายผู้ผลิต EV และแบตเตอรี่ ทยอยเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันในมิติมาตรฐานสินค้า ยังได้กำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จไปแล้ว 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน 

และในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานนางสาวพิมพ์ภัทรา ให้ความสำคัญยิ่ง โดยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตามเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และเร็ว ๆ นี้ เตรียมทำ MOU กับ องค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (SASO) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในอนาคต

แน่นอนว่าผลงานทั้งหมดที่ยกมานั้น เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนและบริหารงาน โดยผู้หญิงที่มีบุคลิกอ่อนหวาน ยิ้มง่าย แต่เมื่อถึงเวลาต้องลงมือทำงาน แม้จะทำแบบเงียบ ๆ ก็ทุ่มสุดตัวแบบสุดตัวเต็มที่และจริงจัง ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากผลงานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 90 วันแรกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา หลังจากนี้จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลงานตามที่คาดหวัง ได้มากน้อยเพียงใด.

>> เปิดประวัติ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

สำหรับ พิมพ์ภัทรา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เป็นบุตรสาวของ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล กับนางสำรวย วิชัยกุล เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย พิมพ์ภัทรา สมรสกับนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

พิมพ์ภัทรา เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมทั้งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลชุดล่าสุด

‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘JETRO-JCC’ ถกแนวโน้มเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เสริมความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ พร้อมยกระดับภาคอุตสาหกรรม 4 มิติ

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และนายยามาชิตะ โนริอากิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในประเด็นเข้ารายงาน ‘สรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย’ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การหารือในวันนี้ทางหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ ‘JCC’ ได้สรุปแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในรอบปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยสรุปว่า แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจ (ID) อยู่ที่ -16 (ตัวเลขคาดการณ์) อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์การส่งออกที่ลดลง แต่มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากมีการขยายตัวเรื่องการท่องเที่ยว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยือนญี่ปุ่น มีโอกาสเข้าร่วมหารือกับกระทรวง METI เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การกำจัดซากรถยนต์ และการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเกิดโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน

“กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริม สนับสนุน และดูแลอำนวยความสะดวก ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น และทุกๆ ประเทศที่ให้ความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน และขอให้ทางเชื่อมั่นว่า ไทยจะยังคงให้ความร่วมมืออันดีตลอดไป ทั้งในส่วนของนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการลงทุนต่างๆ และขอขอบคุณที่ทาง JETRO และ JCC ได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยเสมอมา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 ซึ่งจะครบรอบการก่อตั้ง 70 ปีในปีหน้า มีสมาชิกกว่า 1,650 บริษัท มีภารกิจในการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมสมาชิกทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย ตลอดจนช่วยเหลือสังคมไทย อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ และการสนับสนุนด้านการศึกษา

‘รมว.ปุ้ย’ นำร่องเปิด ‘ศูนย์แปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เมืองคอน เดินหน้าแปลงโฉมพื้นที่ ปั้นชุมชนต้นแบบ ยกระดับ ศก.ฐานราก

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ โมเดลต้นแบบชุมชนเปลี่ยน ผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Reshape The Area) พร้อมเร่งขยายผลครอบคลุมชุมชนทุกภูมิภาคภายในปีนี้ คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี  

(18 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างรายได้ผ่านการสนับสนุน Soft Power จูงใจนานาประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน การเปิดตลาดประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถ จึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่างๆ  

ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชนด้วยการผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเติบโตตามบริบทอุตสาหกรรมใน 2 มิติ ได้แก่ การพัฒนาคน ให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เติบโตไปพร้อมกัน และการพัฒนาผู้นำทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจในชุมชน ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชน ให้เกิดการดำเนินงานทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) และสามารถต่อยอดสู่การเป็นชุมชนดีพร้อม ที่มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจากชุมชน และพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ ‘Big Brother’ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชน ด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพ ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภายในปี 2567

“ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น ‘ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม’ ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต และมีความเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการทำงานสอดประสานกันระหว่างด้านเทคโนโลยี โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการยกระดับทักษะธุรกิจชุมชน โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตามนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต’ ในบริบทปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งยึดศักยภาพชุมชนที่ฐานการพัฒนา ส่งเสริมทักษะด้านอุตสาหกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต/ผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี การส่งเสริมการตลาด การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการชุมชน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในโซ่อุปทาน ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม’

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ยังได้มีการดำเนินกิจกรรม ‘การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์’ ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เป็นการนำร่องชุมชนที่ 2 หลังจากที่ได้มีการนำร่องที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่แรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมชุมชน ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ด้วยการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ แนวคิด และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ซึ่งจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนผนวกเข้ากับแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ มาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายในการนำร่องพัฒนา ขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในปี 2567 จำนวน 20 ชุมชนทั่วประเทศ

'รมว.ปุ้ย' เผย!! ครม. เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 65/66 ที่ 1,197.53 บาท/ตัน  ราคาอ้อยขั้นต้น ปี 66/67 ที่ 1,420 บาท/ตัน ช่วยดันรายได้ชาวไร่อ้อย

(21 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,197.53 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 513.23 บาท/ตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้น 117.53 บาท/ตัน จากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาท/ตัน ซึ่งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 ในอัตรา 1,420 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 608.57 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 และราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 สอน. จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ถือว่าไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

สอน. ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบและเฝ้าระวังการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2566/67 นับตั้งแต่วันเปิดหีบ (10 ธันวาคม 2566) ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 72 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 68.41 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณอ้อยสด 48.86 ล้านตัน ปริมาณอ้อยถูกลักลอบเผา 19.55 ล้านตัน และมีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,159 จุด หรือคิดเป็น 6.45% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 33,448 จุด จะเห็นได้ว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมนอกพื้นที่ปลูกอ้อยสูงถึง 31,289 จุด หรือคิดเป็น 93.55% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ ระทึก!! หลังเจอเหตุพาวเวอร์แบงก์บึ้ม ไฟลต์ กทม.-เมืองคอน จี้สนามบินตรวจ ‘มอก.’ ก่อนขึ้นเครื่อง สั่ง ‘สมอ.’ คุมเข้มโรงงานผลิต-นำเข้า

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องบินโดยสารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD3188 ระหว่างกำลังบินจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้านครศรีธรรมราช เกิดเหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน ทำให้ผู้โดยสาร 186 ชีวิต ต่างอยู่ในอาการแตกตื่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว ระบุว่า เดินทางคนเดียวเพื่อกลับบ้านที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อไปหาลูกสาว 2 คน โดยนั่งข้างหน้าแถวที่ 2 แต่จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณกลางๆ ของเครื่อง อยู่ดีๆ มีคนส่งเสียง ลุกขึ้น เราก็หันดูว่าเกิดเหตุอะไร ได้กลิ่นไหม้ ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แอร์โฮสเตสบอกให้นั่งลงและเดินไปเดินมาหาตัวดับเพลิง

“ตอนนั้นคิดว่าน่าจะอะไรไหม้สักอย่างแต่ไม่รู้ สักพักแอร์โทรหากัปตันและเข้าไปห้องกัปตันก่อนจะออกมา และเดินไปเดินมาสักพัก ซึ่งตัวเองก็ตกใจและดูนาฬิกาว่าใกล้ถึงหรือยัง ก็เหลือประมาณ 15 นาทีจะถึง แต่ก็สงสัยว่าตกลงเป็นอะไร เพราะไม่มีการพูดอะไร แต่มีคนตกใจยืนอยู่” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว และว่า จากนั้นแอร์ก็ไปหยิบถังขยะมาและใส่ถุงพลาสติก และหยิบน้ำจากขวดเล็กๆ จากตู้รถเข็นอาหารมาเททีละขวด ส่วนตัวเมื่อเห็นแล้วจึงเข้าไปช่วย เพราะคิดว่าชีวิตเราขึ้นอยู่กับน้ำตรงนี้หรือเปล่า เลยเข้าไปช่วยทันที และมีผู้โดยสารอีก 2 คนไปช่วยกัน ตอนนั้นไม่รู้แอร์จะเอาไปทำอะไร แต่ก็ช่วยไปก่อน จนแอร์ดับไฟสำเร็จ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า พอลงเครื่องมาก็ยังไม่ได้ถามอะไรกับสายการบิน เพราะเจอเหตุการณ์ของเครื่องบินบ่อย เช่น ล้อไม่กาง แต่ครั้งนี้มีกลิ่นและเป็นไฟเลยกังวลกว่าปกติ จนมารู้ทีหลังว่ามีนักข่าวในพื้นที่นครศรีธรรมราชนั่งอยู่ในเครื่องไปโพสต์และเป็นข่าวออกมา จึงโทรไปถามว่าอยู่บนเครื่องด้วยหรือ จึงทราบว่านักข่าวนั่งข้างหลัง เห็นเหตุการณ์ นักข่าวบอกเห็นประกายไฟ

“เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าแอร์ก็แก้ปัญหาได้ดี มีสติ แต่ไม่มีประกาศอะไรออกมา คนที่ลุกก็คือคนที่เกิดเหตุ ส่วนตัวพอรู้ว่าเป็นไฟ นึกถึงลูกๆ เลย ลูก 2 คน มองว่าเป็นการจัดการของสายการบิน ก็โอเค เพราะทุกคนไม่ตื่นตูม ไม่ช็อกตกใจจนอาจทำอะไรที่อันตรายได้ อย่างผู้โดยสารข้างๆ ก็พยายามถามแอร์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แอร์ไม่ตอบ เพราะกำลังพยายามแก้ไขปัญหาตรงหน้า” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์นี้ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าใจการทำงานของสายการบินแอร์เอเชีย แต่ก็รู้สึกห่วงใยผู้โดยสาร ประชาชน เพราะแทบทุกคนต่างพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่อง ดังนั้น จะสั่งการให้ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าไปดูเรื่องความปลอดภัยที่เข้มข้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนให้มากที่สุด

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้ผู้บริโภค สายการบิน และเจ้าหน้าที่สนามบิน ตรวจสอบพาวเวอร์แบงก์ที่ผู้โดยสารจะนำขึ้นเครื่อง ต้องมีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เท่านั้น เนื่องจากพาวเวอร์แบงก์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ.ตั้งแต่ปลายปี 2563 คุณภาพต้องได้มาตรฐาน อาทิ ทนความร้อน ความจุไฟฟ้าที่กำหนด ที่ผ่านมา สมอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเข้มโรงงานผลิตรวมถึงผู้นำเข้า

หากพบผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือผลิตพาวเวอร์แบงก์ไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีที่ทำ หรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ล่าสุดสายการบินแอร์เอเชียออกแถลงการณ์ว่า ชี้แจงกรณีเที่ยวบิน FD3188 เส้นทางดอนเมือง-นครศรีธรรมราช ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 07.20 น. ได้พบเหตุแบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงก์) ของผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินดังกล่าวเกิดมีควันและไฟลุกไหม้ ซึ่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ได้รับการฝึกนำถังดับเพลิงควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย และเที่ยวบินได้ลงจอด ณ ท่าอากาศยานปลายทางอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สายการบินขอขอบคุณผู้โดยสารที่นั่งบริเวณดังกล่าวที่ช่วยสังเกต พร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สายการบินแนะนำผู้โดยสารทุกคนโปรดตรวจสอบแบตเตอรี่สำรองก่อนนำขึ้นเครื่องให้มีคุณภาพและขนาดตามที่กำหนด โดยแบตเตอรี่สำรองจะไม่ได้รับอนุญาตให้บรรจุลงในสัมภาระใต้ท้องเครื่อง (ถือขึ้นเครื่องตามขนาดที่กำหนดเท่านั้น) เนื่องจากหากพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ พนักงานที่ได้รับการฝึกจะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top