Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘อัครเดช’ นำคณะกมธ.ฯ ลงพื้นที่ จ.พังงา แหล่งแร่ลิเธียม เตรียมเร่ง ให้ผลิตแบตฯป้อน ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาล 

(10 มี.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกมธ.ฯลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อติดตามโครงการสำรวจและผลิตแร่ลิเธียมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อุตสาหกรรมจังหวัดพังงา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและให้ข้อมูลกับคณะกมธ.

นอกจากนี้ คณะกมธ.ฯยังได้ลงพื้นที่เขตแหล่งแร่เรืองเกียรติ ตำบลกะใหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เพื่อดูสถานที่จริงพร้อมรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ นำโดย นายวิชัช ไตรรัตน์ นายก อบต.กะใหล ได้ชี้แจงรายละเอียดสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกมธ.ฯให้สัมภาษณ์ว่า ได้หารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อุตสาหกรรมจังหวัดพังงา ตลอดจนผู้อำนวยการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในเรื่อง การนำแร่ลิเธียมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่สำคัญรัฐบาลให้สนับสนุนในการผลิตเพื่อนำมาป้อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือกับหลายฝ่าย และลงไปดูแหล่งแร่ลิเธียมที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานได้ประกาศเป็นแหล่งแร่ลิเธียมในตำบลกะไหล พบปะกับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าทางจังหวัดพังงามีนโยบายจะทำเหมืองแร่ลิเธียมให้ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ของจังหวัดด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดพังงา เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อจำนวนมาก

นายอัครเดช กล่าวว่า คณะกมธ.ฯได้รับทราบข้อมูลจากผู้สำรวจเหมืองแร่ที่ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเธียมพบว่าใบอนุญาตในการสำรวจขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้มีนักลงทุนหลายราย สนใจเข้ามาลงทุนสำรวจแต่ยังติดขัดในข้อกฎหมาย ติดขัดในเรื่องผู้รับสิทธิ์สำรวจกฎหมายไม่อนุญาตให้สำรวจซ้ำซ้อนกันได้คณะกมธ.จึงรับข้อร้องเรียนดังกล่าวเพื่อนำกลับมาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสามารถทำได้จริงตามนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้คณะกมธ.ฯจะมาหารือเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ประธานคณะกมธ.กล่าววย้ำว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่พวกเขาอยากให้ทางรัฐบาล และส่วนราชการได้สนับสนุนให้มีการสำรวจขุดเจาะแร่ลิเทียมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างงานให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศ พวกเขามีความเป็นห่วงว่าถ้าทำไม่จริงจัง ในอนาคตเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป แร่ลิเธียมมูลค่าอาจจะลด ขณะที่แร่ลิเธียมมีมูลค่าสูงจึงอยากให้รัฐบาลสำรวจขุดเจาะเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประชาชน ไม่ได้คัดค้านแต่เป็นห่วงว่าในระหว่างที่ดำเนินโครงการต้องทำ CSR และควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว

“การขุดเจาะสำรวจแร่ลิเธียมทราบว่ามีหลายจังหวัด ในจังหวัดราชบุรี ก็มีการสำรวจ ของจังหวัดพังงาได้ดำเนินการมา 3 ปีแล้วสำรวจขุดเจาะได้กว่า 200 หลุม มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอสมควรว่า สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมเปิดเหมืองนำแร่ลิเธียมมาผลิตเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่าการลงทุน อย่างไรก็ตามคณะกมธ.ฯจะนำข้อมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมในการเร่งและแก้ไขปัญหา ให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป”นายอัครเดชกล่าว

ส่องผลงาน 'รมว.ปุ้ย' คุมทิศทางอุตสาหกรรมไทย

'รมว.ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

>> กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

>>กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

>>สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 

นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

>>กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโปแตสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

>>สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

>>สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

>>การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม 

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต

‘รมว.ปุ้ย’ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ขับเคลื่อน SMEs ไทย ฟาก ‘SME D Bank’ ขานรับ ชู ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ วงเงินกู้สูงสุด 50 ลบ.

(11 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ขอให้ SME D Bank นำแนวทาง ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ 

นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป

นอกจากนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องวางภาพลักษณ์องค์กรเป็น Professional Banking มีวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมืออาชีพ

“ดิฉันมั่นใจในศักยภาพของ SME D Bank และยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ SME D Bank ในทุกมิติ เพื่อให้ SME D Bank เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สามารถช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพแก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งต่อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน ‘การเงิน’ จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

นอกจากนั้น ยังเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง 

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท

ส่วนด้าน ‘การพัฒนา’ ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้ง ระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ

สำหรับปีนี้ (2567) SME D Bank ยังเดินหน้ากระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ Core Banking System (CBS) ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

'รมว.ปุ้ย' กางแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ 'ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร-ลดมลพิษ' ยกหูถึง 'พีระพันธุ์' ดันใช้ E20 พร้อมปลดล็อกเอทานอลอ้อย ขายให้อุตฯ อื่นได้

'รมว.พิมพ์ภัทรา' รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ ยกหูถึง 'นายพีระพันธ์' รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ปลดล็อกผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ขายให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม เตรียมดึงแพลตฟอร์มจาก 'ไทยคม' เผยจุด Hot Spot ย้อนหลัง 3 ปี เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

(12 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เข้าพบ โดยได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่สมดุลในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยกลุ่มเอทานอล ขอให้รัฐส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานช่วงการเปลี่ยนผ่าน และปลดล็อกให้ผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สามารถจำหน่ายเอทานอลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล ขอให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม และต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวลที่จะหมดอายุในราคาที่เหมาะสม

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารืออยู่ตลอดกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นทางที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาสอดคล้องกันอยู่แล้ว จากนี้จะเร่งเรื่องนี้เข้าเพิ่มเติมในรายละเอียดและผลักดันไปในระดับนโยบาย ล่าสุดที่ยกหูถึงพี่พี (รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน) ซึ่งก็ได้รับทราบแนวทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการที่จะนำเทคโนโลยีดาวเทียม การตรวจหาความร้อน แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM2.5 มาใช้ในภาคการเกษตร โดยตน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ร่วมหารือกับ คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะมุ่งไปที่เรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เรียกว่า ‘Sugarcane Intelligence System’ มีข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลแปลงเกษตรไร่อ้อย และสามารถแสดงผลจุดความร้อน (Hot Spot) ดูข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี

ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน กำหนดทิศทางเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ครบวงจร ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่อง ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลให้ได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกการตัดอ้อยสดแทนการเผา และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อย โดยการจำหน่ายให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายควบคุมมลพิษจากต้นกำเนิด PM 2.5 เป็นการแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน

“เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราขอเน้นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเป็นหลัก”

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมีมูลค่า 235,000 ล้าน แบ่งเป็นน้ำตาล 199,000 ล้านบาท (อ้อย 131,000 ล้านบาท) กลุ่มโมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท ที่มาจากใบอ้อยเพื่อต้องการลดภาวะฝุ่นควัน PM 2.5 และลดการเผาทิ้ง กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาคจากเอทานอล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งเกรดบริสุทธิ์ เกรดอุตสาหกรรมเภสัชกรรม เกรดเชื้อเพลิง

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา

‘รมว.ปุ้ย’ แง้ม!! เล็งหา ‘พันธมิตรใหม่’ ลุยลงทุนเหมืองโปแตซ หลังผู้รับประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง ฉุดโครงการล่าช้า

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดใจกับเครือเนชั่น ถึงแนวทางแก้ปัญหาโครงการลงทุนเหมืองโปแตช หลังผู้ได้รับ ประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง จนทำให้โครงการล่าช้า โดยระบุว่า…

ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 เจ้า แต่ยังไม่มีเจ้าไหนสามารถขุดแร่ขึ้นมาได้ จากเหมืองใน 3 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานขาดเงินทุนขาดสภาพคล่องในการลงทุนที่จะขุดแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ทั้งนี้ โดยหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ให้ประธานบัตรกับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าจะถามว่าความรับผิดชอบสิ้นสุดแล้วหรือไม่? ก็ไม่ถึงกับสิ้นสุด เพราะยังต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับบัตรสามารถประกอบกิจการได้หรือไม่? อย่างไร? แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายคาดหวังกับการขุดแร่โปแตช เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศในระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เมื่อสงคราม ราคาปุ๋ยก็จะพุ่งกระฉูด ดังนั้นทั้ง 3 ผู้ประกอบการที่ได้ประทานบัตรไป หากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้ง 3 เกิดปัญหาไม่มีเงินทุนขาดสภาพคล่อง ก็ต้องเริ่มมองไปถึงการเปิดโอกาสดึงกลุ่มทุนที่มีศักยภาพรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายบริษัทที่สนใจทั้งจากไทยและเทศที่อยากจะเข้ามาร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ประทานบัตรนั้นมีอายุและถือเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับไป แต่เมื่อไรก็ตามถ้าประธานบัตรหมดอายุขึ้นมา ตัดสิทธิ์ก็จะวนกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกรอบหนึ่ง นั่นจึงทำให้ทางกระทรวงฯ จึงยังต้องเฝ้าดูและคอยกระตุ้นผู้ที่ถือบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ผู้ประกอบการก็มีความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของตน เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ลงมากำชับด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ท่านไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็จะพยายามมองหาผู้ที่สนใจที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของเหมืองโปแตซที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดราคาปุ๋ยของไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า “3เหมืองนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีปุ๋ยใช้ในประเทศได้เพียงพอและมากพอที่จะส่งออกได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในโลก เมื่อเรามีต้นทุนปุ๋ยเป็นของตนเอง อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ”

‘รมว.ปุ้ย’ มุ่งยกระดับ ‘โกโก้ไทย’ สู่สินค้าพรีเมียมระดับโลก หารือ ‘แบรนด์ภราดัย’ ถ่ายทอดทักษะ-ความรู้สู่ผู้ประกอบการ

(14 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท (ข้อมูล ณ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ 

เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงนับว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยที่จะมีโอกาสเติบโตไปยังตลาดโลก และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ ‘ภราดัย’ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 

โดยทาง ภราดัย มีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ GMP GHPs Halal การเพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น

ตลอดจนการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ทางภราดัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยนำจุดแข็งที่ทางภราดัยมีอยู่แล้วมาร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภราดัย รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งเดินหน้าให้การส่งเสริมและสนับสนุนภราดัย โดยทางทีมดีพร้อมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมและตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในทุก ๆ มิติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของต้นน้ำ ดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกรสู่ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ อาทิ เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้ และในส่วนของกลางน้ำ/ปลายน้ำ ดีพร้อม จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ อาทิ กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่าง ๆ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด 

รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้ 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ด (Super foods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

ตามติด 6 เดือน 'รมว.ปุ้ย' ใต้ภารกิจพาอุตสาหกรรมไทยโตรอบทิศ 'ปูพรม EEC-ระบบนิเวศสีเขียว-EV-เงินทุนคนตัวเล็ก-ฮาลาล-ปุ๋ยโปแตซ'

(15 มี.ค.67) รัฐบาลได้ทำงานมาครบ 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อการค้าโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

ทั้งนี้ นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน อาทิ

1.การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น

ปลดล็อคอุปสรรคผลิตไฟดซลาร์เซลล์

2.ประสานภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น 

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ พร้อมปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”

เติมทุนคู่พัฒนายกระดับ ‘เอสเอ็มอี’

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การดูแลเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวน 95% ของวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่รอด จึงต้องเติมทุนคู่พัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ ทั้งรายที่อ่อนแอและมีความเข้มแข็ง

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากมีบทบาทช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ จะช่วยดูข้อมูลอุตสาหกรรมโลกว่าเทรนด์โลกไปถึงไหน และแจ้งผู้ประกอบการทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ากิจการที่ทำอยู่ไปต่อได้หรือไม่ และจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร”

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการติดปีกให้เอสเอ็มอี ในขณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

"ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าเป็นห่วงเพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่วนดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมชิปที่เป็นเทรนด์อนาคต”

นายกฯ อยากเห็นปุ๋ยถุงแรกผลิตที่ไทย

สำหรับการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในปัจจุบันออกประทานบัตร 3 เหมือง ได้แก่ บริษัท 1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้มีปริมาณการผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากดึงโปแตชมาทำปุ๋ยได้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาแพงมาก ซึ่งปริมาณโปแตชทั้ง 3 เหมือง เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก และช่วยความมั่นคงว่าจะมีปุ๋ยใช้ในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ผู้รับประทานบัตรมีปัญหาสภาพคล่องหรือบางบริษัทมีปัญหาเงินทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหาทางให้เดินหน้าต่อ ซึ่งได้เชิญทั้ง 3 บริษัทมาร่วมความคืบหน้า และนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นปุ๋ยกระสอบแรกที่ผลิตจากไทย ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจแต่ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยแนวโน้มโครงการเป็นไปได้ดีจากการที่นายกฯ เดินทางไปดูเหมือง และเดินทางไปต่างประเทศได้หานักลงทุนที่ไหนสนใจ

ลุยแก้ปัญหา ‘ผังเมือง’ หนุนการลงทุน

สำหรับกฎหมายผังเมืองถือเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ไหนอยากให้นักลงทุนเข้ามา เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพื้นที่เดิมที่จะมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ EEC จึงต้องหาทางสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย แต่ติดขัดปัญหาผังเมืองจึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหา

ดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นโอกาสจากการเติบโตในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ประเทศไทยส่งออกได้เพียงปีละเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ครม.โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญอาหารฮาลาลเพราะส่งออกไปตลาดที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางดังนั้น จึงควรยกระดับความสำคัญอุตสาหกรรมฮาลาลซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่จึงควรรวมที่เดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่สถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณดำเนินการ 630 ล้านบาท

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

“อุตสาหกรรมฮาลาลเรามีต้นทุน เมื่อก่อนไทยเป็นครัวของโลก คำว่าครัวของโลกต้องเป็นครัวของโลกจริงๆ เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการล่าสุดมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจมาตั้งโรงงานเพื่อจะประทับตราฮาลาลที่ไทยเพื่อส่งออกอาหารญี่ปุ่น เพราะเขามั่นใจว่าเรามีต้นทุนที่ดี รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”

'รมว.ปุ้ย' เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้เพิ่ม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' แอ่วเมืองเหนือ เยือนถิ่นล้านนา 'เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน' ลุยพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมสนับสนุนเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และสร้างแบรนด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ กระจายรายได้สู่ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเตรียมนำข้อเสนอของภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 

(18 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2567 ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่ 

โดยในจุดแรกได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของชุมชนหมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ตั้งอยู่ที่ศูนย์การแสดงสินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ 5 ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมตีเหล็ก และอุตสาหกรรมผ้ามัดย้อม มีจำนวนสมาชิก/พนักงาน ตีเหล็กประมาณ 800 ครัวเรือน ทำผ้าประมาณ 700 ครัวเรือน โดยมียอดขายปีล่าสุด ตีเหล็กประมาณ 20-30 ล้านบาท และผ้าประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการเกษตร ได้แก่ มีด เคียว จอบ เสียมพร้า ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้ามัดย้อม กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาว 

ทั้งนี้ หมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ได้ขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการแก้ปัญหาผังเมืองจังหวัดเพื่อให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้ โดยในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ได้แก่ 

1) การสนับสนุนเงินทุน โดย ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ เช่น โครงการสินเชื่อ BCG Loan, สินเชื่อ SME 3D, สินเชื่อ SME Refinance, สินเชื่อ SME Speed Up, สินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพื่อเพิ่มมูลค่า โดย กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดมีดทำครัว มีดเดินป่า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 

3) การผลักดันการแก้ไขปัญหาผังเมือง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขผังเมืองจังหวัด แก่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างกระบวนการของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาผังเมืองเชิงนโยบายในภาพรวมต่อไป 

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือ โครงการ 'แพร่-กระจาย' ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีกิจกรรมฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ เช่น การสร้าง Story telling และเทคนิคการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกจากชิ้นส่วนไม้สักที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย 

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่สักทองเฟอร์นิเจอร์ (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่ที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งประกอบกิจการเครื่องเรือนตกแต่งภายในอาคาร
จากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักและผลิตภัณฑ์จากไม้สัก โดยผู้ประกอบการได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนเครื่องจักร เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และ การสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 'การยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน' ณ ที่ทำการชมรมสตรีอำเภอร้องกวาง ตำบลทุ่งศรี จังหวัดแพร่ ในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกตามแนวทาง BCG ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ขี้เลื่อยไม้สัก, เศษเหลือใช้วัสดุทางการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวคิด BCG มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน 

และในจุดสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปตรวจราชการวิสาหกิจชุมชนสุรา สักทองแพร่ ซึ่งประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชน มีผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ ณ ห้องประชุมใหญ่ สุราสักทองแพร่ โดยได้ขอรับการสนับสนุนด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากน้ำเสีย และของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น กากส่าเหล้า มูลของสุกร ตามความเหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมขอรับการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และโฆษณาในพื้นที่ 

“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการ จะเป็นเรื่องของเงินทุน การขอรับการสนับสนุนการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีสินเชื่อสนับสนุนเงินทุน เช่น สินเชื่อ BCG โปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 

“ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. ได้เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดชนิด หรือ ประเภทของโรงงาน เพื่อแก้ไขชนิดหรือประเภทของโรงงานให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Roof top ได้อีกด้วย 

ส่วนข้อเรียกร้องของผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้คำแนะนำในการขอการรับรอง มผช. และกำหนดมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งให้ กรอ.สนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านโครงการ 'เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม' เพื่อเชิญชวนให้จดทะเบียนเครื่องจักรและให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดย กสอ. มีแผนการดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมการสร้างแบรนด์ (Branding) และอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เพื่อสร้างตัวตนของแบรนด์ตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.67) ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดแพร่ ที่ขอรับการผลักดันจากกระทรวงฯ ในโครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งประเทศไทย ในวงเงินงบประมาณ 270 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2568 - 2571

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องเร่งเครื่อง ปรับจุดเปลี่ยนให้เป็นโอกาส

(18 มี.ค. 67) อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในประเทศและการส่งออกได้อย่างมากในทุก ๆ ปี อ้างอิงจากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในปี 2566 มียอดการผลิตรถยนต์ในเดือน ม.ค.-ธ.ค. รวมทั้งสิ้น 1,841,663 คัน และมีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วงดังกล่าวรวม 1,117,539 คัน มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท แต่หากว่ามีการรวมกลุ่ม เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ จะส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,046,201.01 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงอย่างมาก

ขณะที่ในปี 2567 นี้เอง กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ก็ยังได้ประมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทว่าจะอยู่ที่ 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 3.17% แยกเป็นผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1,150,000 คัน การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศนั้นยังเป็นกลุ่มที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นก็มีเรื่องที่ต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคม รวมทั้งเทรนด์ของโลกได้

เนื่องด้วยปัจจุบันที่โลกกำลังเร่งเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญและพัฒนาความนิยมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี โดยประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่ง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยกล่าวไว้ในการปาฐกถาในหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก’ ว่า “เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง”

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมายเช่นกัน อาทิ ภาพสัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่ โดยไทยต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวที ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง

“การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลาย ๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของอีวี ยานยนต์ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาดในประเทศและการส่งออก” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ไทยต้องสนับสนุนคือเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียวมากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องคนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง เพราะหากประเทศมีความพร้อมทางภาคแรงงานจะสามารถสร้างการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ ได้ และมีโอกาสกระจายสินค้าจากไทยไปต่างประเทศได้มาก โดยด้านคนหรือแรงงานนั้นเรื่องที่ต้องโฟกัสคือด้านหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในปัจจุบัน เพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชนพัฒนาให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดันให้เกิดการร่วมทุนการค้าไทย

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอเชียเป็นตลาดใหญ่สุดในยอดขายรถยนต์ และเป็นอีวี 9.9 ล้านคันทั่วโลก เท่ากับ 14% โดยตลาดที่มีอัตราเติบโตคือ ตลาดที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง สำหรับประเทศไทยรถยนต์สันดาปหรือรถน้ำมันจะยังไม่หายไปจากตลาด แต่เป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาถามว่าทำอย่างไรให้รถยนต์สันดาปและอีวีโตไปด้วยกัน โดยรถอีวีเป็นตัวเสริม

ประเทศไทยยังขาดเรื่องแบตเตอรี่อยู่ เนื่องจากรัฐยังมองเป็นเรื่องวัตถุต้องห้าม ต้องทดสอบ จึงเป็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมความต้องการในประเทศก่อน ซึ่งไทยพร้อมในทุกเรื่องของรถอีวีแล้ว โดยภาคเอกชนไทยเองก็มีศักยภาพ แต่ยังไม่โดดลงมาเล่น อยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนเข้ามา ซึ่งเอกชนไทยสามารถทำได้แน่ทั้งเรื่องการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์อีวี

“การทำให้ไทยติดท็อป 10 ผู้ผลิตรถไฟ้าทำได้ไม่ยาก แต่การทำให้ยั่งยืนถือเป็นเรื่องยาก เมื่ออุตสาหกรรมถูกดิสรัปชันแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา เราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีถึงจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะถูกคู่แข่งแซง เพราะตลาดไทยไม่ใหญ่” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กติกาการค้าใหม่จะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า มองว่าไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร จึงเห็นว่าจีน ยุโรป มาลงทุนในไทย การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเสริมมาช่วยลดการกีดกันทางการค้า อยู่ที่ไทยจะฉวยโอกาสได้อย่างไร

ด้วยคำว่ากติกาใหม่นี่เอง จึงเป็นอีกด้านที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะต้องจับตา เพราะในปัจจุบันมีหลายประเทศเดินหน้าทำมาตรฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทย โดยล่าสุดอย่างที่ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายการกำหนดมาตรฐานมลพิษใหม่ของรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า New Vehicle Efficiency Standard-NVES ที่มีแผนการบังคับใช้ในปี 2568 และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของผู้ประกอบการในประเทศไทย และอาจทำให้การส่งออกจากประเทศไทยลดลง

ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียประมาณ 260,000 คันต่อปี และออสเตรเลียนำเข้ารถกระบะจากประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 48.25% ของปริมาณการนำเข้ารถกระบะทั้งหมด และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวแล้วรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจะมีค่าปรับสูงมากถึง 100 เหรียญฯ/กรัม/กิโลเมตร และล่าสุดผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ที่รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหลายส่วน จึงต้องการขอให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2-3 ปี ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO TBT Agreement)

ขณะที่ ทางออสเตรเลียเองอยู่ระหว่างเวียนแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 30 เม.ย.2567 และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวของออสเตรเลียไปยังผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกส่วน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมและรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันนางสาวพิมพ์ภัทราได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และผู้บริหาร สมอ. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

อีกหนึ่งกติกาที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ใช่ด้านยานยนต์โดยตรงแต่ก็อาจจะมีการพัฒนามาจนถึงรูปแบบการเก็บภาษีกับรถยนต์ได้ ก็คือกติกาเกี่ยวกับการดูแลปัญหาขยะพลาสติกที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกแล้ว เพราะในยุคที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีพลาสติก เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

โดยจะเห็นได้จากการประกาศใช้ระเบียบเพื่อควบคุมการใช้ด้วยถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางของสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2558 (Directive (EU) 2015/720 amending Directive 94/62/EC as regards reducing the consumption of lightweight plastic carrier bags) ที่ห้ามประเทศสมาชิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้วกับผู้บริโภค เพื่อควบคุมปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากถุงพลาสติก แต่ขยะพลาสติกไม่ได้มีเพียงแค่ถุงพลาสติก เมื่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าหันมาใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้ขยะพลาสติกกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลและตกค้างรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนโยบายและมาตรการ European Green Deal ในปี 2562 สหภาพยุโรปได้จัดทำแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป (The EU’s Circular Economy Action Plan) ซึ่งมีการระบุที่จะใช้มาตรการภาษีกับพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ประจวบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สหภาพยุโรปมองว่าการเก็บภาษีพลาสติกจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก พร้อมไปกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

มีการคาดการณ์ว่า ภาษีพลาสติกของสหภาพยุโรปนี้จะช่วยให้สหภาพยุโรปมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านยูโรต่อปี และเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับงบประมาณของสหภาพยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2564-2570 แม้จะเป็นการนำร่องดำเนินการในช่วงแรกที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมายังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างเช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ แต่เชื่อว่าโมเดลการดูแลเรื่องขยะพลาสติกนั้นจะถูกพัฒนาไปอีกหลายขั้นตอน จนสุดท้ายแล้วในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งสำหรับภาคการผลิตต่าง ๆ ถึงกระบวนการการกำจัดที่เข้าที่เข้าทางเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top