Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ รับสื่อสารคลาดเคลื่อนกรณีแร่ลิเทียม แต่ยัน!! มีอยู่จริงในปริมาณหินที่มีการแทรกอยู่

(25 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดที่นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามนายกรัฐมนตรีถึงกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ แถลงระบุประเทศไทยพบแหล่งแร่ลิเทียม จ.พังงา ที่มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นสัญญาณดีประเทศไทยอาจเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก แต่นักวิชาการหลายคนมองว่า ไม่น่าจะมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก อยากทราบว่า พบมาเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นเฟกนิวส์ของรัฐบาล ไม่ได้หลอกคนไทย แต่หลอกไปทั่วโลก ศูนย์เฟกนิวส์ต้องตรวจสอบให้ดีว่า ข่าวรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และการทำเหมืองแร่ลิเทียมจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร

ด้านน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีการสำรวจแหล่งแร่ลิเทียม 2 แหล่ง ที่ จ.พังงา คือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม เป็นแหล่งที่เข้าไปสำรวจแล้ว พบมีหินที่มีแร่ลิเทียมเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะแหล่งเรืองเกียรติมีปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ 14.8 ล้านตัน ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นศัพท์เทคนิคของเหมืองที่เข้าใจยาก 14.8 ล้านตันที่พบเป็นปริมาณหินที่มีแร่ลิเทียมแทรก ไม่ใช่จำนวนแร่ลิเทียม ให้กรมฯ ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจแล้ว ยืนยันมีแหล่งแร่อยู่จริง 

แต่ด้วยความที่ทุกคนตื่นเต้น การสื่อสาร ความเข้าใจศัพท์เทคนิคอาจไม่เป็นทางเดียวกัน ยอมรับมีการสื่อสารผิดพลาดเกิดขึ้น จะพยายามใช้ศัพท์ให้ตรงกันมากขึ้น เลี่ยงใช้ศัพท์เทคนิค แต่เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า เรามีสารตั้งต้นผลิตแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะอยู่ลำดับใด ไม่ควรด้อยค่ากัน ให้ภูมิใจประเทศไทยมีแหล่งแร่ลิเทียม เป็นฮับผลิตรถอีวี จะมีการบริหารจัดการที่ดีเรื่องแร่ลิเทียมให้สามารถอยู่คู่กับชุมชน ไม่ต้องกังวล 

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งศึกษากม. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-น้ำ ในครัวเรือน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อม ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ หวังลดค่าไฟ ปชช.

(25 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และน้ำภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และไม่ให้มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพร้อมกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนครัวเรือนของพรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ความคืบหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีในส่วนครัวเรือนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยปัจจุบันได้ปลดล็อกเรื่องการขอใบอนุญาตแล้วทั้งระบบ 

"กระทรวงฯ อำนวยความสะดวกให้แล้ว ด้วยการปลดล็อกการขอใบอนุญาต รง.4 ได้สบายมากขึ้น ไม่ต้องมาขอ ในภาคครัวเรือนด้วยเช่นเดียวกัน"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จะไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 อยู่แล้ว 

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นการปลดล็อกทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในครั้งเดียว

‘รมว.ปุ้ย’ พร้อมดัน ‘ไทย’ สู่ฮับ ‘รถยนต์ EV’ และศูนย์กลางจัดการแบตฯ อย่างเป็นระบบ

รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้คำมั่นการเดินหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ว่า “ขอให้คลายความกังวล ว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไม่ใช่แค่ต้องการรายได้จากการลงทุนเท่านั้น แต่เรากำลังทำให้ประเทศนี้เป็นฮับของการผลิตรถยนต์ EV ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางจัดการขยะของเสียเหล่านี้ด้วย เพราะเราทำการจัดการอย่างเป็นระบบ”

‘รมว.ปุ้ย’ ตั้งเป้า!! ดึงต่างชาติลงทุนในไทย หนุนโอกาสทางธุรกิจ เล็งนำร่อง ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ฟื้น ศก.-เพิ่มขีดการแข่งขัน

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมาย เร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และตรึงให้ผู้ประกอบการในประเทศให้ดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังรวบรวมและประมวลผล ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมีจำนวนกี่ราย ใครบ้าง เพื่อส่งสัญญาณให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่าอาจปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไป หลายคนอาจจะตกใจ คือ ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง, เรือรบ, ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคันภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ

ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้

‘ก.อุตฯ’ ชู!! ‘อีวี-ป้องกันประเทศ-ฮาลาล’ 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยนไทย ใต้การเปลี่ยนผ่าน ‘อุตฯ ดั้งเดิม’ สู่ ‘อุตฯ ใหม่’ ช่วยดึงดูดนักลงทุน

(28 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยกระดับอุตสาหกรรมของไทย ให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภค และยกคุณภาพชีวิตประชาชน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เนื่องจากเทรนด์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศ และมีมาตรการช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะซัพพลายเชน ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เดินหน้าต่อไปได้ 

โดยมีวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นแชมป์เปี้ยน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาเป็นลำดับ และส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการที่เหมือนเสือหลับให้ตื่นขึ้น ด้วยการลงทุน ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ 

นอกจากนั้นรัฐบาลชูความพร้อมทุกมิติเพื่อเปิดรับนักลงทุนจากทั่วโลก ที่พร้อมดำเนินการ เช่น i.Industry ระบบทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรมแบบวันสต็อปเซอร์วิส (One Stop Service) ลดขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ขณะที่ อุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้มีมาตรการดูแลและจะต้องปรับตัว โดยดึงซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องสู้กับการการแข่งขันจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะต้องปรับตัวเช่นกัน

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' สวมหมวก 'กรรมการสภานโยบายฯ' ขับเคลื่อนผลึก 'วิจัย-นวัตกรรม' เพื่อชาติ

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา แนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ (ร่าง) ระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ….

"ปัจจุบันหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยตำแหน่งแล้วต้องมีหน้าที่ราชการที่ไม่ใช่เฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่กรรมการในองค์กรสำคัญของประเทศไทย อีกหลายหน้าที่ด้วยเช่นกัน...

"โดยในส่วนของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภานโยบายแล้วนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีหน้าที่เป็นกรรมการ ในกรอบหน้าที่เพื่อมุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา ค้นคว้าสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยด้วย...

"ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ โดยมิได้ผูกหรือยึดติดอยู่กับวิธีการ กระบวนการ แบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว เนื่องจากทุกประเทศมีการแข่งขันพัฒนาองค์ความรู้ เร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ว่ากันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างมากในทุกมิติไม่มีสิ้นสุด ภายใต้ 'ผลึกสำคัญ' ของการวิจัย องค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต้องถูกพัฒนาที่นำไปสู่การใช้ได้จริง ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยอยู่ในเอกสาร เพื่อสร้างประโยชน์ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย อันจะก่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่คนไทยต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

'รมว.ปุ้ย' เปิดงาน Thailand Green and Smart Mining Forum 2024 'เหมืองแร่ไทยใต้หลักธรรมาภิบาลและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า กิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น 'เหมืองแร่ของประชาชน' ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน 

โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ประกอบไปด้วย...

• การปาฐกถาหัวข้อ 'การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2' โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่...

1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด

2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด

• พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย

• การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย

• การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง 'Net zero emissions' จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง 'การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ' โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่อีกด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เสริมแกร่งเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม หนุนผู้ค้ารายย่อย กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้’ ในงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 : SITE 2024’ พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), ผศ.ดร.คํารณ พิทักษ์ ผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทุกคนต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทันอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว อาทิ โครงข่ายการคมนาคม สร้างระบบรางรถไฟที่พาดผ่านเมืองรอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านการผลิตและมาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft power เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดกากของเสียของโรงงาน ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการตาม BCG โมเดล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 (SITE 2024)’ จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการในภาคใต้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม และผู้ประกอบการอื่นๆ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘Advancing the Southern Frontier : Unleashing Innovation for Sustainable Growth’ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมเส้นทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักลงทุน SME และนักวิจัยผ่านการออกบูธและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำทางด้านพลังงาน ดิจิทัล อาหารและการเกษตร สุขภาพแบบครบวงจร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top