Wednesday, 22 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ชี้!! เหตุผลปี 67 รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐาน ยูโร 5 สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม 'ลด-ควบคุม' มลภาวะทางอากาศ

(3 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊ก 'พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' เผยสาเหตุ ทำไมตั้งแต่ปีใหม่นี้ รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐานยูโร 5 ระบุว่า...

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ คือ รถยนต์กระบะ รถบัส รถบรรทุก ทั้งใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

ส่วนมาตรฐานยูโร 5 คืออะไร? หลายคนยังสงสัยว่ายังไง ทำไมต้องยูโร 5?...

หลักใหญ่ใจความของมาตรฐาน ยูโร 5 คือกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดหรือควบคุมมลภาวะทางอากาศ ส่งผลให้การปล่อยมลภาวะออกมาต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเดิมประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 แต่พอเข้าสู่ปีใหม่นี้ ก็คือยูโร 5 แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วจะประกาศใช้ตั้งแต่ 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด จึงมีการเลื่อนมาเป็น 2567 นั่นเอง

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ออกมาตามเกณฑ์ยูโร 5 จะต้องมีมาตรฐานที่กำหนดและจะต้องติดตั้งตัวควบคุมหรือตัวกรองฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ นั่นหมายความว่าจะสามารถควบคุมฝุ่นจากการเผาไหม้ลงได้อีกระดับตามมาตรฐานค่ะ โดยมีเกณฑ์ที่จะต้องตรวจวัดและควบคุมเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งจะมีค่าเกณฑ์ตัวเลขของการตรวจวัด

โดยทาง สมอ.ได้แจ้งปุ้ยมาแล้ว และได้มีการเปิดรับยื่นคำขอตรวจประเมินมาแล้ว มีผู้ผลิตได้ยื่นผ่านระบบ E-License มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมาแล้วค่ะ และมาจนถึงธันวาคม 2566 มี 50 คำขอจาก 25 ราย สมอ.พร้อมออกใบอนุญาต

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรฐานยูโร 6 มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานนี้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินในวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

‘รมว.ปุ้ย’ ดันอุตสาหกรรมต้นน้ำรับอุตฯ EV  เตรียมแหล่งลิเทียมผลิตแบตฯ เชิงพาณิชย์

‘รมว.อุตสาหกรรม’ สั่ง กพร. เร่งจัดหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจเบื้องต้นพบแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรีในเชิงพาณิชย์ ขานรับมติ ครม.เริ่มใช้มาตรการ EV 3.5 ตั้งแต่ 2 ม.ค.67 เป็นต้นไป

(3 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าลิเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จึงได้สั่งการให้ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตว่าประเทศไทยจะมีลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กพร. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่…

- แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%
- และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กพร.ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

“นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน กพร. จึงเร่งดำเนินการอนุญาตอาชญาบัตรให้มีการสำรวจแหล่งลิเทียมเพื่อกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเพิ่มเติม และจะเร่งอนุญาตประทานบัตรทำเหมือง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป” นายอดิทัตกล่าว

'รมว.ปุ้ย' เตรียมร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุที่ซาอุฯ พร้อมหารือดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

(5 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการร่วมคณะกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อหารือความร่วมมือในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติคิง อับดุล อาซิซ (King Abdul Aziz International Conference Center) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า การประชุม FMF เป็นเวทีหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญด้านแร่ธาตุในระดับพหุภูมิภาค โดยหัวข้อสำคัญของการหารือในปีนี้ จะเน้นไปที่การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์และการกำหนดเป้าหมายระดับภูมิภาคในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ (Critical minerals) การสร้างห่วงโซ่คุณค่าหรือซัพพลายเชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก การสร้างขีดความสามารถผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านแร่ (Centers of Excellence) และการกำหนดแนวทางสนับสนุนการผลิตแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเวทีการประชุมย่อยในระดับเจ้าหน้าที่อีกกว่า 75 เรื่อง 

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องใช้แร่จำนวนมากในการผลิต การขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความต้องการแร่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มของความต้องการใช้แร่เหล่านี้เพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน 

ดังนั้น การหารือความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงการลงทุนในระดับพหุภูมิภาคเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเชิงวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้

“นอกจากการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุแห่งอนาคตแล้ว นางสาวพิมพ์ภัทราฯ ยังมีกำหนดร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันความร่วมมือในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งร่วมหารือกับ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization หรือ SASO หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานต่างๆ ของซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและแถบตะวันออกกลาง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” นายอดิทัตฯ กล่าวทิ้งท้าย

'ก.อุตฯ' หนุนดัดแปลงรถน้ำมันเป็น EV นำร่อง 4 แสนคัน หวังประคอง 'ช่าง-อู่' ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ให้ล้มหาย

(5 ม.ค.67) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)

ขณะนี้ได้มีการทบทวนคณะกรรมการใหม่ จาก 29 หน่วยงาน เหลือ 16 หน่วยงาน เช่น สภาพัฒน์ ซึ่งจะดูเรื่องของงบประมาณ รวมถึงดึงหน่วยงานมันสมองของประเทศอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยได้เสนอชื่อให้กับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแต่งตั้งและนำเสนอบอร์ด EV และคาดว่าเดือน ม.ค. 2567 จะได้เห็นแนวทางการทำ EV Conversion จากคณะอนุกรรมการชัดเจนขึ้น

โดยแนวทางดังกล่าว จะเริ่มที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่ม 1.ศึกษาและทดลองการดัดแปลงรถบรรทุก รถสาธารณะ รถขนส่งน้ำ รถขยะ ให้วิ่งในระยะสั้น จำกัดระยะทาง เพื่อดูความปลอดภัย ดูโครงสร้างตัวรถ ดูสถิติว่ามีการกลับมาชาร์จบ่อยเพียงใด

2.ความสามารถในการใช้ รวมถึงการดีไซน์รถ เช่น รถบรรทุกต้องใช้แบตเตอรี่ใหญ่ขนาดใด ความจุเท่าไร ตำแหน่งของแบตเตอรี่ต้องห่างจากกันชนหน้า กันชนข้างเท่าไร เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับและคนทั่วไปเมื่อมีการชนเกิดขึ้น

“เราได้มีการเสนอมาตรการไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้จัดทำเกือบครบแล้ว โดยเฉพาะมาตรฐานของส่วนที่สำคัญ ๆ อย่างแบตเตอรี่และสายไฟ แต่ในบอร์ด Conversion จะดูว่า หลังจากมีการ Convert จากรถ ICE มาเป็น EV แล้ว ทำอย่างไรมันถึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ล่าสุดอยู่ระหว่างการทบทวนรายชื่อคณะกรรมการใหม่ จากนั้นจะเริ่มประชุมแนวทางกันต่อไป”

นายปริพัตร บูรณสิน คณะทำงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า บอร์ด EV ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ขึ้นเมื่อต้นปี 2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศ หรือกลุ่มรถยนต์สันดาป

โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมาก อย่างที่ทราบกันว่าการนํารถเก่าที่ใช้น้ำมันมาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่มาเป็นระบบไฟฟ้า 100% จะเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ จํานวนชิ้นส่วน จาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้น หัวใจสําคัญของ EV Conversion อยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้า ซึ่งมีราคา 400,000-800,000 บาท ถือว่าสูงมาก หากรัฐมีการสนับสนุนรถ EV Conversion สามารถลดราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน

โดยเฉพาะรถกระบะ เพราะรถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน ส่วนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีถึง 4 ล้านคัน หากดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% หรือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ

“รถเก่าเรามีมากและมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นฐานการผลิตใหญ่ การจะไป EV ก็จะนานหน่อย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าดัดแปลงจะช่วยคงอาชีพช่าง อู่ พวกกลุ่มชิ้นส่วนไว้ก่อน เพราะหากรัฐทิ้งรถสันดาปแบบฉับพลันไป อู่กว่า 2 หมื่นแห่งจะหายไปด้วย เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่พร้อม ซัพพลายเชนไม่พร้อม แต่ทั้งโลกต้องเดินไปในเรื่องของ EV ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงสำคัญมาก”

แหล่งข่าวจากสถาบันยานยนต์กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้มีมาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อสนับสนุน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทำการดัดแปลงน้ำมันให้เป็นไฟฟ้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในระยะ 5 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

2.กลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน 3.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและผู้ให้บริการ

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงจะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงมาอัดประจุได้ที่หน่วยงานตนเอง

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยจัดการโรงงานทิ้งกากขยะ-ตั้งกองทุนเยียวยาคนในพื้นที่ ย้ำ!! ตนมาจาก สส.เขต ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะดูว่าเป็นกระทรวงใหญ่ แต่งบที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมีเพียง 4,559 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานภายใต้การบริหาร 6 กรม มีทั้งกรมที่ส่งเสริม กรมที่ใช้ในการควบคุมภายใต้พันธกิจ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่างบจะได้อย่างจำกัด แต่ข้าราชการในกระทรวงทุกคน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกคือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีความกังวลห่วงใย ซึ่งวันนี้สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ ทางกรมโรงงานฯ เรา มีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ในการควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม เราสามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่เรามีทั้งทำแล้วทำอยู่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรมมีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่วันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาตรฐานไว้ เราจึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 ได้บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยเพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบกับกากอุตสาหกรรมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยต้องนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่เรากำลังทำอยู่และรอบังคับใช้คือเรื่อง การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานฯ ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโรงงานใดทำผิดอาจจะมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่ได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี ดังนั้น บริษัทใดทำผิดกฎหมาย จะยื้อเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ได้แล้ว ต่อไปบทลงโทษมีมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ‘การฟื้นฟู’ มีบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project นำร่องของกรมโรงงานที่ทำอยู่คือ โรงงานที่จังหวัดราชบุรี ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เกิดที่จังหวัดราชบุรีเพียวจังหวัดเดียว แต่ยังเกิดที่ จังหวัดปราจีน จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้กรมโรงงานฯ มีงบแค่กว่า 450 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ใช้ในการบริหารกากอุตสาหกรรมมีแค่ 10 ล้านบาท การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้ง เราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้น จะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงิน สิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มีสมาชิกห่วงใยเรื่องแบตเตอรี่ที่เกิดจากรถ EV วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ เราได้ทำแล้วคือการส่งเสริมการใช้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่ คือการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำต่อคือดูแลทั้งระบบไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่เราต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย อยากให้คลายความกังวลว่า สุดท้ายจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะผลกระทบคือคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ สิ่งที่นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติถามเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่อยากให้ยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะได้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคนั้น ได้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำเพื่อส่งเสริมนักลงทุน จะช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ สิ่งที่เห็นคือจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากขึ้น ไม่รวมถึงโครงการดีๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คืออุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“ดิฉันมาจากประชาชน มาจาก สส.เขต เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนดี ขอขอบคุณที่ได้ชี้แนะและแนะนำ ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ วัน ทุกๆ กระทรวงที่ทำงานก็ล้วนทำงานให้กับประชาชน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'รมว.อุตฯ ซาอุฯ' ถกความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสองชาติ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ศก.ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'แร่โปแตช'

(10 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.) ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเข้าหารือกรอบทวิภาคี หรือเป็นการหารือการประชุมร่วมกัน 2 ฝ่าย 

โดย รมว.ปุ้ย ได้นำคณะผู้แทนฯ และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย เข้าประชุมหารือร่วมแบบทวิภาคีกับ ท่าน Bandar bin Ibrahim AlKhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้เกียรตินำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือและพันธกิจระหว่างกันของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในการเข้าประชุมหารือร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีเรื่องน่ายินดีถึงทิศทางความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้หารือกันในประเด็นแร่โปแตช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายด้าน และเป็นต้นทางของปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นต้นทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนา และรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายส่วน ที่ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพและขีดความสามารถพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ สานต่อภารกิจ ‘ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ไทย’ ดันส่งออกไทย ‘อาหาร-เกษตร’ แตะ 1.32 ล้านล้านในปี 70

(11 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จับมือผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันต่อยอดความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายกรอบการทำงาน (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมจัดงานใหญ่ ‘นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Mie-Thailand’ ฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี พาเหรดผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ นำทัพสินค้าอาหารเกรดพรีเมียมมาให้ชม ชิม และจับคู่ธุรกิจภายในงาน ตั้งเป้าต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตร่วมกัน หวังเกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันในทุก ๆ มิติมาอย่างยาวนานซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เห็นได้จากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับเวทีโลก ผ่านศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม, สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้นและช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ต่อยอดความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะในการมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมอาหาร เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย และเสริมสร้างความแน่นแฟ้นของการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win-win นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

ด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายสถาบันอาหารดำเนินการ โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหารที่ได้รับจาก บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ ถือเป็นกรณีความสำเร็จที่มีนัยสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี 2558 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดมิเอะ 

สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือโดยการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework Exchange) ระหว่างดีพร้อมและจังหวัดมิเอะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือจากใน MOU ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสธุรกิจของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศสู่ระดับสากล ด้วยการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ และอยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 
ศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการใช้เครื่อง Twin Screw Extruder เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากเครื่อง Twin Screw Extruder ณ งาน THAIFEX 2019 การเข้าร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดมิเอะ รวมทั้งนำผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดมิเอะ โดยล่าสุดได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช จาก Isolate soy protein กับ Pea starch และนำมาทดลองปรุงอาหารเป็นเมนูกระเพาะปลาน้ำแดง เพื่อสอดรับแนวโน้มตลาดอาหาร Plant-based ที่กำลังมาแรง ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566-2576 ตลาดอาหารโลกจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อย 12.2 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์ 

นอกจากวันนี้จะเป็นการฉลองความสำเร็จ 5 ปี ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ แล้ว จังหวัดมิเอะยังได้นำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดมิเอะ และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ราย เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) พร้อมบรรยายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องจักรแปรรูปอาหารและเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดมิเอะ-ไทย ตลอดจนการสาธิตการปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ เนื้อวัว ปลาดิบ เบียร์ และขนม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่น ๆ ของจังหวัดมิเอะอีกด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดสายการผลิตรถไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ มุ่งดัน ‘ไทย’ สู่ฐานการผลิตยานยนต์-ชิ้นส่วนรายใหญ่แห่งอาเซียน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ จัดพิธีเฉลิมฉลองเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ‘New GWM ORA Good Cat’ จาก โรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จังหวัดระยอง พร้อมเปิดตัวและประกาศราคา New GWM ORA Good Cat ทั้ง 3 รุ่น อย่างเป็นทางการ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 799,000 บาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และฉลองความสำเร็จในการเป็นแบรนด์แรกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อชดเชยตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ พร้อมส่งมอบให้กับผู้ขับขี่ชาวไทยภายในเดือนมกราคมนี้

โดยพิธีเปิดสายการผลิต ‘New GWM ORA Good Cat’ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘รมว.ปุ้ย’ ในการกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการส่งรถยนต์ New GWM ORA Good Cat คันแรกออกจากสายการผลิตจากโรงงานอัจฉริยะ เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เตรียมพร้อมส่งมอบให้กับแฟนๆ ชาวไทย โดยมีคณะผู้บริหารของเกรท วอลล์ มอเตอร์ นำโดย มร. ไคล์ด เฉิง ประธาน, นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน และ นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ, มร.ไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไป เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย), มร.เกร็ก ลี รองประธานบริหาร ฝ่ายการผลิตในโรงงาน ภูมิภาคอาเซียน และ นายอำนาจ แสงจันทร์ รองประธานฝ่ายการผลิต เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ร่วมให้การต้อนรับ

ฯพณฯ พิมภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ BEV มูลค่าการลงทุนรวม 39,579 ล้านบาท มีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน BEV มูลค่าการลงทุนรวม 16,055 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 5,106 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายและมาตรการส่งเสริมรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์หลากหลายรุ่นและได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะรุ่น ORA Good Cat ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า New GWM ORA Good Cat คันแรกในประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทฯ จะขยายการลงทุนในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ และสนับสนุนการใช้ห่วงโซ่การผลิตในประเทศ เพื่อรักษาและต่อยอดการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์พวงมาลัยขวา สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกในภูมิภาคอย่างยั่งยืน”

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นเบรนด์ยานยนต์จีนรายแรกที่เข้ามาริเริ่มในประเทศไทยพร้อมแผนการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เกรท วอลล์ มอเตอร์ ไม่เพียงแต่เป็นแบรนด์ยานยนต์พลังงานใหม่จากประเทศจีนที่เป็นผู้เข้ามาบุกเบิก พร้อมขยายการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ในตลาดประเทศไทย แต่เรายังเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่ ที่ได้มีส่วนริเริ่มและพัฒนาสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรายึดมั่นพันธกิจหลัก คือ ‘In Thailand For Thailand’ หรือ การเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศไทยและเพื่อคนไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพื่อเติบโตเคียงคู่ไปกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ในวันนี้รถยนต์ New GWM ORA Good Cat ได้เริ่มการผลิตจากสายการผลิตในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ยุคใหม่ของอุตสหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในรอบ 60 ปี และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในตลาดต่างประเทศของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และถือเป็นก้าวสำคัญของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้มีส่วนสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของภาครัฐ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อกลยุทธ์ระดับโลกของเกรท วอลล์ มอเตอร์”

การเปิดตัว New GWM ORA Good Cat จากสายการผลิตจากโรงงานภายในประเทศถือเป็นการดำเนินธุรกิจตามหนึ่งในพันธกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับทางภาครัฐ หรือ ‘ZEV 3.0’ ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ทำการลงนามกับภาครัฐเป็นแบรนด์แรกๆ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565

นอกจากนี้ ยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการผลิต New GWM ORA Good Cat ภายนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ตามกลยุทธ์ ‘Ecological Go-Abroad’ ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการนำระบบนิเวศทางด้านยานยนต์ที่ครอบคลุม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างรอบด้าน ตอกย้ำความพร้อมในการเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของการใช้ และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ยกระดับการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพแรงงานไทย สร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป บริษัทฯ ยังวางแผนที่จะใช้ชุดแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ SVOLT ที่ได้เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2566 อีกด้วย

‘New GWM ORA Good Cat’ รุ่นผลิตภายในประเทศ พร้อมจะเข้ามาครองใจแฟนๆ ชาวไทยอีกครั้ง ด้วยตัวเลือก 3 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น PRO ในราคา 799,000 บาท และ รุ่น ULTRA ในราคา 899,000 บาท โดยทั้งรุ่น PRO และรุ่น ULTRA ให้กำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 210 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard) และรุ่น GT เอาใจสายสปอร์ต มาในราคา 1,099,000 บาท ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 250 นิวตันเมตร ระยะทางวิ่งสูงสุด 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (NEDC Standard)

New GWM ORA Good Cat รุ่น PRO และ ULTRA มีเฉดสีภายนอกทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีขาว (Hamilton White) สีขาวหลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำ, สีเขียวหลังคาสีขาว (Verdant Green with White Roof) พร้อมสีภายในสีเขียวและเทา, สีเบจหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige with Brown Roof) พร้อมสีภายในสีเบจและน้ำตาล และสีเขียวพิสตาชิโอ (Pistachio Green) พร้อมสีภายในสีเขียวและเบจ ในขณะที่รุ่น GT มีสีภายนอกให้เลือกทั้งหมด 2 สี ได้แก่ สีดำ (Sun Black) และสีเทา (Aqua Grey) ซึ่งทั้งสองสีนี้จับคู่กับภายในสีดำและเหลือง พร้อมอุปกรณ์แต่งสปอร์ตสีเหลือง

New GWM ORA Good Cat ยังคงเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะอันล้ำสมัย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการขับขี่ มากถึง 31 รายการ พร้อมเพิ่มระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการชนครั้งที่ 2 เข้ามา และจากการรับฟังเสียงของผู้บริโภค เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้นำฟังก์ชัน V2L (Vehicle to Load) หรือระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าจากตัวรถยนต์ไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ามาในรุ่น ULTRA และรุ่น GT อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเตรียมมอบความสุขให้ชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรม มอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ขับขี่ชาวไทย ช่วยการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้า GWM สุขใจยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายใต้นโยบาย ZEV 3.0 มอบข้อเสนอสุดพิเศษมากมาย อาทิ ยืดระยะเวลาแคมเปญสุดพิเศษมอบข้อเสนอเดียวกับในงาน Motor Expo 2023 อาทิ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่ง ให้กับผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของรถยนต์คอมแพ็คเอสยูวียอดนิยม HAVAL H6, เจ้าสิงโตอารมณ์ดี HAVAL JOLION และรถยนต์พรีเมียมออฟโรดเอสยูวี All New GWM TANK 300 HEV และ All New GWM TANK 500 HEV อีกด้วย

เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ปลอดภัย และส่งเสริมการขับขี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยึดถือผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สู่ระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

‘รัฐ’ เร่งปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน ตอบรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด แทนพลังงานฟอสซิล

(15 ม.ค. 67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท๊อป (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น 

ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์"

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เชิญ ‘สถาบันมาตรฐานซาอุฯ’ เยือนไทย รับรองมาตรฐาน ‘ฮาลาลไทย’ หวังต่อยอดสู่ตลาดโลก

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะผู้บริหารองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย พร้อมเชิญผู้บริหาร SASO เยือนไทย เพื่อทำแผนงานความร่วมมือและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับนายซาอูด บิน ราชิด อัล อัสการ์ รองผู้อำนวยการองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือ SASO ในระหว่างงาน Future Mineral Forum 2024 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติคิงอับดุลลาซิส กรุงริยาด โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่าการค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 23 ใกล้แตะมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือในเชิงเทคนิคระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารจาก SASO มาเยือนไทยเพื่อขับเคลื่อนในเชิงรุกกับ สมอ. โดยเริ่มต้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเป็นหมุดหมายแรกแห่งความร่วมมือ 

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ SASO สนับสนุนการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยสินค้าฮาลาลของไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในด้านการค้าคือ การยอมรับผลการตรวจสอบรับรองและเครื่องหมายรับรอง โดยมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย นับว่ายังมีมูลค่าน้อยและมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก หากมีการยกระดับความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างกัน ทั้งนี้ การผลักดันอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ซาอุดีอาระเบียนับเป็นตลาดฮาลาลที่ใหญ่ จึงเริ่มต้นก่อน และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปถึงพหุภูมิภาคอื่นด้วย” รมต.พิมพ์ภัทราฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งในด้านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน อาทิ หน่วยตรวจรับรองที่มีความพร้อมในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลตามกระบวนการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผู้ตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่เชี่ยวชาญตามกระบวนการตรวจสอบตามระบบ ISO/IEC 17020 และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีทักษะในการพัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานฮาลาลตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับงานด้านการมาตรฐานฮาลาลของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดมุสลิมโลก เลขาธิการ สมอ. กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top