Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ชวนคนไทยสืบสานประเพณีลอยกระทง วอน!! อุดหนุนสินค้ามาตรฐานชุมชน กระตุ้น ศก.ท้องถิ่น

(24 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมสืบสานประเพณีไทย วอนเลือกใช้กระทงที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าไทย และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย

“กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสินค้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สำหรับบางพื้นที่ที่มีประเพณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ก็ขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 7 ราย ได้แก่ 

1) กลุ่มแม่บ้านเกาะพิมูลพัฒนา 
2) นางสตรีรัตน์ ชูอินทร์ 
3) กลุ่มกระทงแฟนซีจากเปลือกข้าวโพด 
4) นางเตือนคนึง ราชา 
5) วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก 
6) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ตกหมู่ที่ 1 
7) นางวิรัตน์ ทวนธง 
และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางชไมพร วงศ์สถาน 

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชน เนื่องจากกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ติดไฟหรือเกิดการลุกไหม้ มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้  มีการยึดตัวโคมด้วยวัสดุที่เป็นเชือกทนไฟ หรือลวดที่มีความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหากโคมลอยตกพาดบนสายไฟ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ 

ทั้งนี้ สามารถเลือกซื้อกระทงและโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ได้ตามรายละเอียดบนเว็บไซต์ สมอ. หรือจะสั่งซื้อทางแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ต่างๆ ก็ได้

ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐาน มผช. แล้วทั้งสิ้น 1,670 มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,071 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร 1,347 ราย เครื่องดื่ม 227 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3,730 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 693 ราย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 5,074 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับการรับรองได้ที่ https://tcps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx หากผู้ผลิตชุมชนต้องการขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นายวันชัยฯ กล่าว

'พิมพ์ภัทรา' เผย!! นายกฯ รับ 'นิคมฯ สระแก้ว' เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง เหมาะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งหาแนวทางจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น

(27 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก และชื่นชมที่ กนอ.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรสู่อาเซียน 

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้พื้นที่ที่มีศักยภาพนี้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้มากขึ้นตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2562 มีพื้นที่ 660 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว 64 ไร่ มีพื้นที่ขายเช่า 433 ไร่ สามารถขายได้ 26 ไร่ มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแล้ว 4 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เสื้อผ้า 3 ราย อุตสาหกรรมทำเบาะรถ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1 ราย และที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ อีก 2 ราย โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมุ่งเน้นกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (EIA) จึงไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีปล่องมาตั้งในนิคมฯ ได้ ส่งผลให้ประเภทอุตสาหกรรมที่สามารถตั้งได้นั้นมีจำกัด ซึ่ง กนอ. มีแนวคิดที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วต่อไป เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบว่าหากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ที่ดินราคาค่าเช่าสูง เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้กำหนดค่าเช่า กนอ.จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ โดยล่าสุดทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางกรมธนารักษ์แล้ว คาดว่าจะทราบผลการหารือได้ในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้

"ผมเชื่อว่า หากนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างมาก" ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

‘นายกฯ’ รับเรื่อง ‘รมว.ปุ้ย’ ชงลดค่าเช่าที่ดินจูงใจนักลงทุน ช่วยดัน!! ‘นิคมฯ สระแก้ว’ ผงาด!! สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบ้านรับการมาเยี่ยมเยือนของ นายกฯ นั้น 

ผู้สื่อข่าวเผยถึงสาระสำคัญที่ ‘นายกฯ นิด’ ได้หารือกับ ‘รมว.ปุ้ย’ ในหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่ต่างมองเห็นเป็นนัยเดียวกัน คือ ทิศทางและศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอนาคตได้ต่อจากนี้

แน่นอนว่า ในสายตาของนายกฯ ที่ได้ลองสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ ก็ดูจะเข้าใจแบบเชิงลึกได้ทันทีที่ว่า จังหวัดสระแก้วนี้ มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขนาดไหน

“นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้” นายกฯ กล่าว

หลังจากนั้น รมว.ปุ้ย ได้กล่าวเสริมให้ นายกฯ ทราบอีกด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ที่มีการวางไว้ 10 จังหวัดชายแดนต้นแบบได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และ สระแก้ว โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนกลไกการอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สำคัญคือสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจนักพัฒนานักลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

“ที่นี่มีความโดดเด่นในเชิงของทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสะพัดมากกว่า 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

แน่นอนว่าจากการสนทนาของ นายกฯ นิด และ รมว.ปุ้ย ในครั้งนี้ ดูจะทำให้นายกฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แต่ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด โดยช่วงหนึ่ง รมว.ปุ้ย ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่กำลังเป็นกำแพงขวางโอกาสในด้านการลงทุนอยู่ด้วย ว่า…

“หากพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่และโอกาสที่จะเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในสระแก้วนี้ ดูจะมีพร้อมมาก แต่ติดอยู่ที่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง กำลังเป็นเงื่อนไขที่จะบีบรัดให้การเติบโตของนิคมฯ สระแก้วมีโอกาสไปต่อแบบไม่ราบรื่น”

พูดแบบนี้มา ‘นายกฯ’ ก็สวนกลับอย่างไว โดย ‘เศรษฐา’ ได้บอกกับ รมว.ปุ้ย ไปว่า…“หากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของ ‘ที่ดินราคาค่าเช่าสูง’ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์นั้น เดี๋ยว นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปเจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์คงได้ทราบในเร็ว ๆ นี้ 

ทำงานแบบนี้ ถือเป็นมิติใหม่ คนหนึ่งชงปัญหา อีกคนรับลูกปัญหา แก้ได้แก้ ส่งเสริมได้ส่งเสริม เดี๋ยวผลบวกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ก็จะค่อย ๆ ประจักษ์ชัดโดยเร็วเอง...

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

ส่องผลงาน ‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ก.อุตสาหกรรม ดึงทุนนอกปักหมุดฐานผลิตในไทย

ประเทศไทยยังเนื้อหอม!!

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘ภาคอุตสาหกรรมการผลิต’ ยังคงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และภายใต้การบริหารงานเชิงรุกของ ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังรับตำแหน่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งดึงกลุ่มทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาปักหมุดตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อผลักดันไทยไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นภาพการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยชัดเจนมากขึ้น เมื่อกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ต่างทุ่มเม็ดเงินก้อนโตปักหมุดลงทุนสร้างโรงงานในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิต จำหน่ายและส่งออก หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นหลาย ๆ อย่าง ไล่เลียงตั้งแต่ มาตรการอุดหนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้กลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยเป็นฮับในการส่งออก โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ สั่ง สมอ. คุมเข้มมาตรฐาน ‘คาร์ซีท’ ย้ำ!! เด็กเล็กต้องได้รับการดูแล ขณะโดยสารในรถยนต์

(1 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการควบคุม ‘คาร์ซีท’ หรือ ‘ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’ เป็นสินค้าควบคุม เมื่อปี 2565 เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ โดยควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัยก่อน เพราะคาร์ซีทประเภทนี้สามารถใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าได้ จะได้ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 

และจากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งระบบ ISOFIX เพิ่มด้วย เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้งานในปัจจุบัน จะมีตัวใช้ยึดกับคาร์ซีทที่เรียกว่า ISOFIX กันมากขึ้น ตนจึงสั่งการให้ สมอ. เร่งรัดดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อควบคุมคาร์ซีททุกแบบทุกประเภทให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กในการโดยสารรถยนต์ 

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘คาร์ซีท’ หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุมมี 2 ประเภท คือ 

1) คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย 

2) คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX ซึ่งจะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ 

มาตรฐานคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย จะมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ แบ่งน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1) น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม 
2) น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม 
3) น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 
4) น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม 
และ 5) น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม 

โดยคาร์ซีทที่ได้มาตรฐานจะต้องผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. การชนด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก และจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้ สำหรับคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX จะแบ่งขนาดคาร์ซีทตามส่วนสูงของเด็ก และเพิ่มการทดสอบการชนด้านข้าง ที่ความเร็ว 24 กม./ชม. ด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแบบ ISOFIX หรือแบบเข็มขัดนิรภัย ก็จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง โดย สมอ. จะเร่งดำเนินการบังคับใช้ให้ได้ภายในปลายปี 2567 ตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ ประสานช่วยแก้ปัญหาค่าตั๋วเครื่องบินแพง ปมกระทบเป็นลูกโซ่ ฉุดการค้าการลงทุนเมืองคอน

(1 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากวันที่เริ่มงานอุตสาหกรรมแฟร์ที่นครศรีธรรมราช พบบุคคลสำคัญในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช, หอการค้านครศรีธรรมราช และอีกหลายภาคส่วน ได้บอกเล่าถึงความคับข้องใจ ไม่สบายใจเรื่องตั๋วค่าโดยสารเครื่องบิน จาก ‘กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช’ หรือ ‘นครศรีธรรมราช - กรุงเทพฯ’ ที่มีราคาสูงในบางช่วงจนถึงขั้นหลายคนที่ต้องการโดยสารจำเป็นต้องขับรถไปจอดแล้วโดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานจังหวัดใกล้เคียง ที่ทราบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าครึ่งต่อครึ่ง หรือบางคนโดยสารมาลงแล้วต่อรถโดยสารหรือให้ญาติขับรถไปรับมาจังหวัดนครศรีธรรมราช 

จากปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง ‘รมว.ปุ้ย’ ซึ่งได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลาย ๆ ส่วน กังวลว่าจะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจลามเกี่ยวเนื่องไปอีกหลายส่วนเป็นลูกโซ่ กับภาคการค้าการลงทุนที่จะตามมาอีกเป็นขบวน 

“น้ายูร หรือ คุณประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ได้เผยกับปุ้ยว่า ได้เดินทางบ่อยเฉพาะค่าตั๋วแต่ละเดือนสาหัสอยู่เหมือนกัน ขณะที่ พี่อุ้ม ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ก็ได้เป็นตัวแทนทำหนังสือถึงความไม่สบายใจของหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ยื่นหนังสือผ่านปุ้ย ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช ปุ้ยได้รับหนังสือฉบับนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา และตนจะเป็นอีกแรงที่ช่วยเร่งประสานงานให้เร็วที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางโดยสายการบินต่าง ๆ ผ่านท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชของพี่น้องประชาชน และไม่เกิดปัญหาลุกลาม ส่งผลกระทบอย่างที่ได้รับข่าวสารตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เปิดงาน ‘MIND : Your Industrial Power’ หนุนผู้ประกอบการ-ยกระดับการลงทุน-เสริมศักยภาพอุตฯ ไทย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ค 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND : Your Industrial Power’ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย ‘MIND’ ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่

ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด ‘MIND’ ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ, มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม, มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ ‘Long Stay’ ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ ‘SEC’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก

นอกจากนี้ ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ ‘Land Bridge’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวม

การดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power’ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

1.) การบรรยาย เรื่อง ‘การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้’ โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’

2.) การอภิปราย เรื่อง ‘การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน’ โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน

3.) การเสวนา เรื่อง ‘การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์’ โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ ‘MIND STAR’ เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top