‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย