Friday, 10 May 2024
พิมพ์ภัทราวิชัยกุล

ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ภายใต้ครม. 'เศรษฐา1' ดีกรี เคมีอุตสาหกรรม  ประสบการณ์ สส. 4 สมัย เข้าใจภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค. 66) จากกรณีการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มีชื่อนักการเมืองหลายคนร่วมเป็น 1 ใน 35 รัฐมนตรี ที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อจากนี้

โดยหนึ่งในรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีที่น่าสนใจคือ ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นผู้ซึ่งถูกคาดว่าจะเป็น ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ในโควตารัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เป็นบุตรสาวของ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล กับนางสำรวย วิชัยกุล เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

>> เส้นทางการเมือง

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

>> เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2563 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2556 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 สส. 4 สมัย ผู้มากประสบการณ์ในงานการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น โดดเด่นจนมีโอกาสได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25

อีกทั้งยังเป็นผู้นำแนวคิด ‘วาระเมืองสิชล’ ที่สามารถระดมความคิด ความร่วมมือจากท้องถิ่นรอบด้าน มาแก้ไขปัญหาต่างๆ จนกลายเป็น ‘ขวัญใจคนคอนฯ’ 

และวันนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้รับการยอมรับขึ้นแท่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนล่าสุดใน ‘ครม.เศรษฐา 1’

‘พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่ชลบุรี เร่งหารือพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หวังปั้นเมืองชลฯ สู่เมืองเศรษฐกิจชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน

(27 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.), นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ และมีนางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (อสจ.ชลบุรี), นางสาวภารดี เสมอกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 (ศภ.9) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สอจ.ชลบุรี และ ศภ.9 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอท.ชลบุรี) ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี

อสจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า จังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 4,248 โรงงาน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แหลมฉบัง ปิ่นทอง ดับบลิวเอชเอ และปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จำนวน 1,099 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,149 โรงงาน มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 620 กลุ่ม มี OTOP จำนวน 1,395 ราย มีเหมืองแร่ในจังหวัดได้ประทานบัตร 31 แปลง เปิดการทำเหมือง 22 แปลง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต หินปูน และอยู่ระหว่างต่ออายุ 6 แปลง หยุดการทำเหมือง 3 แปลง

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานแนวทางปฏิบัติงานภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มาลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และได้มีการจัดทำระบบ LINE Open Chat เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,800 ราย เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ด้านนายณัฏฐ์ธน สารทจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี ‘เมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า แลนด์มาร์ก การท่องเที่ยว สังคมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน’ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG และ ESG ของจังหวัดชลบุรี ในด้านยุทธศาสตร์ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าในลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดลงร้อยละ 16 ผ่านการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งจังหวัด โดยเฉพาะแสงสว่าง ปรับเปลี่ยนพลังงานเป็นพลังงานสะอาด จัดรูปแบบการขนส่งและการขนส่งสาธารณะ แบบ multimodal transportation โครงการปลูกป่า 1 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 1 ป่า 1 ไร่ ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ได้มีการตั้งค่าเป้าหมายระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 ภายในปี 70

ทั้งนี้ สอท.ชลบุรี มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ดังนี้

1.) ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐฯ เนื่องจากราคาที่ดินในการนิคมของภาคเอกชนมีราคาค่อนข้างสูงเป็นอุปสรรคปัญหาของนักลงทุนที่ต้องการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

2.) ต่อยอดพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี เงินทุนหมุนเวียน และการตลาด ซึ่งการต่อรองกับผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ของสินค้าให้มีการเลือกใช้ผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก

3.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางพี่ช่วยน้อง (big brother) ในการช่วยบริหารจัดการแบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน

4.) การพัฒนาการตรวจประเมินรับรองและสร้างมาตรฐาน เรื่อง Carbon Neutrality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5.) การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการยกระดับฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งยังไม่ตรงเป้าหมายตามความต้องการ

6.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย พืชสมุนไพร เป็นต้น

นอกจากนี้ ทาง สอท. ยังได้เพิ่มเติมในเรื่อง FTA (Free Trade Area) เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ โดยขอให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีให้มากยิ่งขึ้น ควรมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และภาครัฐควรมีการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับทราบข้อเสนอแนะของทางภาคเอกชน และจะนำข้อเสนอแนะของท่านไปหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก มีนโยบายเตรียมการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาว

และสุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจพี่ๆ น้องๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านไม่ว่าจะเป็น สอจ.ชลบุรี ศภ.9 สอท.ชลบุรี ที่ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ให้กับ อก. หรือการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ขอเป็นตัวแทนของ อก. ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละ และสนับสนุนในทุกๆ กิจกรรมของกระทรวง

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด (เครือสหพัฒน์) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา และคุณสายชล ศีติสาร กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ บุกเมืองคอน งัดบิ๊กอีเวนต์ จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ฯ’ จับคู่ธุรกิจ-เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ลบ.!!

(21 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

“เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ การจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ และระยะต่อไปมีแผนในการขยายพื้นที่การจัดงานในภาคอื่น ๆ ในอนาคต” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘งานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ จะจัดภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพกว่า 300 บูธในราคาสุดพิเศษ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเกษตรแปรรูป พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะภายในงาน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล การจัดแสดงต้นแบบรถยนต์ EV ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ

โซนที่ 3 การบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โซนที่ 4 การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจในยุคใหม่ และโซนที่ 5 กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงานในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐาน (สมอ.) และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรม ‘Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero’ และ ‘จิตอาสาเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ เขาพลายดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

‘นายกฯ’ รับเรื่อง ‘รมว.ปุ้ย’ ชงลดค่าเช่าที่ดินจูงใจนักลงทุน ช่วยดัน!! ‘นิคมฯ สระแก้ว’ ผงาด!! สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบ้านรับการมาเยี่ยมเยือนของ นายกฯ นั้น 

ผู้สื่อข่าวเผยถึงสาระสำคัญที่ ‘นายกฯ นิด’ ได้หารือกับ ‘รมว.ปุ้ย’ ในหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่ต่างมองเห็นเป็นนัยเดียวกัน คือ ทิศทางและศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอนาคตได้ต่อจากนี้

แน่นอนว่า ในสายตาของนายกฯ ที่ได้ลองสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ ก็ดูจะเข้าใจแบบเชิงลึกได้ทันทีที่ว่า จังหวัดสระแก้วนี้ มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขนาดไหน

“นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้” นายกฯ กล่าว

หลังจากนั้น รมว.ปุ้ย ได้กล่าวเสริมให้ นายกฯ ทราบอีกด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ที่มีการวางไว้ 10 จังหวัดชายแดนต้นแบบได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และ สระแก้ว โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนกลไกการอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สำคัญคือสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจนักพัฒนานักลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

“ที่นี่มีความโดดเด่นในเชิงของทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสะพัดมากกว่า 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

แน่นอนว่าจากการสนทนาของ นายกฯ นิด และ รมว.ปุ้ย ในครั้งนี้ ดูจะทำให้นายกฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แต่ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด โดยช่วงหนึ่ง รมว.ปุ้ย ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่กำลังเป็นกำแพงขวางโอกาสในด้านการลงทุนอยู่ด้วย ว่า…

“หากพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่และโอกาสที่จะเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในสระแก้วนี้ ดูจะมีพร้อมมาก แต่ติดอยู่ที่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง กำลังเป็นเงื่อนไขที่จะบีบรัดให้การเติบโตของนิคมฯ สระแก้วมีโอกาสไปต่อแบบไม่ราบรื่น”

พูดแบบนี้มา ‘นายกฯ’ ก็สวนกลับอย่างไว โดย ‘เศรษฐา’ ได้บอกกับ รมว.ปุ้ย ไปว่า…“หากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของ ‘ที่ดินราคาค่าเช่าสูง’ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์นั้น เดี๋ยว นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปเจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์คงได้ทราบในเร็ว ๆ นี้ 

ทำงานแบบนี้ ถือเป็นมิติใหม่ คนหนึ่งชงปัญหา อีกคนรับลูกปัญหา แก้ได้แก้ ส่งเสริมได้ส่งเสริม เดี๋ยวผลบวกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ก็จะค่อย ๆ ประจักษ์ชัดโดยเร็วเอง...

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เปิดงาน ‘MIND : Your Industrial Power’ หนุนผู้ประกอบการ-ยกระดับการลงทุน-เสริมศักยภาพอุตฯ ไทย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ค 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND : Your Industrial Power’ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย ‘MIND’ ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่

ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด ‘MIND’ ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ, มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม, มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ ‘Long Stay’ ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ ‘SEC’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก

นอกจากนี้ ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ ‘Land Bridge’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวม

การดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power’ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

1.) การบรรยาย เรื่อง ‘การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้’ โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’

2.) การอภิปราย เรื่อง ‘การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน’ โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน

3.) การเสวนา เรื่อง ‘การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์’ โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ ‘MIND STAR’ เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมคณะ ‘นายกฯ’ ตรวจเยี่ยม จ.กาญจนบุรี  ‘รับฟัง-หาแนวทางแก้’ ปัญหา ‘ศก.-หนี้สิน-ยาเสพติด-เกษตรฯ’ ในพื้นที่

(9 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ลงตรวจราชการเพื่อติดตามความคืบหน้าเส้นทาง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) และประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้าชายแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน โดยมีนายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นายเนตร์ กัญยะมาสา อสจ.กาญจนบุรี และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะด้วย ณ จังหวัดกาญจนบุรี 

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา พร้อมคณะผู้บริหารในกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ไปติดตามข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และปัญหาเชิงลึกแต่ละกรณี 

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ ปัญหาหนี้สินที่เป็นนโยบายสำคัญขณะนี้ ยาเสพติดที่ต้องเร่งปราบปราม การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตร อันเป็นอีกช่องทางเศรษฐกิจสำคัญ เพราะพื้นที่กาญจนบุรีมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการค้าขายเชื่อมโยง และมีโอกาสพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ เพื่อติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ และรับฟังพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาพรวมของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีการพบปะพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ หนี้สิน ยาเสพติด การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตรนั้น ได้มีประชาชนในพื้นที่เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมากอีกด้วย

ในการนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top