Tuesday, 21 May 2024
พิมพ์ภัทราวิชัยกุล

'รมว.ปุ้ย' ขานรับ Soft Power สั่ง สมอ. ออกประกาศมาตรฐานท่องเที่ยว 6 ด้าน ดันผู้ประกอบการฯ ช่วยกันกระตุ้นคุณภาพการให้บริการแก่ นทท.

(18 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ถือเป็น Soft Power ด้านหนึ่งของประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว สะสมรวมกว่า 1.045 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 613,030 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 432,194 ล้านบาท ตนจึงเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานที่ตอบโจทย์และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกที่เน้นคุณภาพ 

โดย สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายในเดือนธันวาคมนี้ หากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทาง จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้โดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ ได้แก่...

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม โดยพนักงานและไกด์นำเที่ยวต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ สามารถจัดเตรียมข้อมูลในการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ดูแล ผู้ประกอบการริมชายหาด และผู้ใช้บริการ โดยต้องมีการสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว มีการเตรียมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีการดูแลความสะอาดของชายหาด รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น  

3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค เป็นมาตรฐานสำหรับเจ้าของกิจการโรงแรม นำไปใช้เป็นแนวทางในการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยเน้นที่ความเข้ากันของอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ และรูปแบบการให้บริการของโรงแรมที่ตรงตามยุคสมัยนั้นๆ 

4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม เป็นมาตรฐานการให้บริการด้านอาหารในรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ รูปลักษณ์ภายนอก การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการให้บริการที่สอดคล้องกับรูปแบบของร้าน เช่น การจัดสถานที่ อุปกรณ์ การจัดโต๊ะอาหาร การออกแบบรายการอาหาร เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการรักษาความสะอาดของอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความปลอดภัยด้วย 

5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นมาตรฐานการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาทางการแพทย์ สำหรับผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้บริการอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยว โดยผู้ให้บริการต้องมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ และมีความรู้ด้านการเดินทางและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาการรักษา เพื่อให้การบริการมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว 

6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ เป็นมาตรฐานสำหรับอุทยานหรือหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ และสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการจัดเตรียมกิจกรรม ข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องด้วย ซึ่งมาตรฐานทั้ง 6 เรื่องนี้ จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป

'รมว.ปุ้ย' กำชับทุกนิคมฯ 'ควบคุม-ติดตาม' ฝุ่น PM 2.5 วอน!! ต้อง 'จริงจัง-ต่อเนื่อง' เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับควบคุม/ติดตามตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง-จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม อยู่เคียงคู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

(21 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มสำหรับ การลดฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมา กนอ. มีการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมติดตามตรวจสอบ ในการลด PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง คือ...

1.กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือรูปแบบในการรองรับมลพิษทางอากาศ ตามประกาศ กนอ. ที่ 79/2549 เรื่อง กำหนดอัตราการปล่อยมลสารทางอากาศจากปล่องของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และนำค่า Emission Loading ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของนิคมอุตสาหกรรมใช้ในการอนุมัติจัดตั้งโรงงานในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด 

2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อการป้องกัน แก้ไข และลดปัญหาฝุ่นละอองรวม และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และ 3.กำหนดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล จำนวน 14 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2565 นั้น มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

"กนอ. ยังคงมุ่งมั่นในการควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน มั่นใจว่าสามารถช่วยให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถประกอบกิจการควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 (19 ธ.ค.66) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมนั้นปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 สูง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอื่นๆ พบว่า ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดี และ ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยหยุดยาวปีใหม่ ‘กนอ.’ รับลูก!! ย้ำ '68 นิคมฯ - 1 ท่าเรือฯ’ เฝ้าระวัง 24 ชม.

(25 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยในความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2567 ตามประกาศของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 1 มกราคม 2567 จึงสั่งการให้ กนอ.กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กนอ.จึงขอความร่วมมือไปยังนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) หรือมีปริมาณครอบครองของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟตามปริมาณที่กำหนด ตามระบบ ‘การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM)’ เพื่อป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

“ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผมจึงกำชับให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม มอบหมายให้พนักงานปฏิบัติงานนอกเวลาทำการในช่วงวันหยุดยาวตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดมาตรการกำกับดูแล เฝ้าระวังต่างๆ และหากเกิดกรณีฉุกเฉินให้รีบประสานงานกับศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) กนอ. สำนักงานใหญ่ รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กนอ.ในเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการสำนักนิคมฯ / ท่าเรือฯ ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบได้อย่างทันท่วงที” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ. ยังขอความร่วมมือจากผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ / เครื่องมือ ระบบสาธารณูปโภค การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ / อุบัติภัยด้วย รวมถึงช่องทางประสานขอความช่วยเหลือจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือผู้ดูแลระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอก อาทิ หน่วยงานป้องกันสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น และปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาภัยระดับนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ต้องสร้างความตระหนักกับผู้ประกอบการในการให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอุบัติเหตุและอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ให้ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรมทุกแห่งปฏิบัติการตามคำสั่ง กนอ. ที่ 285/2565 เรื่อง การรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม โดยสามารถประสานแจ้ง ศสป. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ต้องเตรียมพร้อมรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุเพลิงไหม้ และต้องสามารถติดต่อสื่อสารประสานงานได้ตลอดเวลาด้วย
“ปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศอาจจะแห้งแล้ง และยิ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน กนอ. จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกท่าน” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' เผย!! โอนเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดีเข้าบัญชีวันนี้วันแรก  ภายใต้ความร่วมมือ 'ก.คลัง-ก.พาณิชย์-ก.อุตสาหกรรม'

(26 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุน 125,139 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 64.53 ล้านตัน เป็นเงิน 7,743.859 ล้านบาท โดยรัฐบาลเริ่มโอนเงินวันนี้เป็นวันแรก ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

"ในวันนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับเงิน 105,411 ราย เป็นเงิน 6,918.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนจะสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี รวมทั้งนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเผาอ้อย ในอนาคตเราจะนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การบำรุง และการเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน Kick off โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขกับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลได้มอบให้

‘รมว.ปุ้ย’ ส่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าผุดงานแฟร์ ปลุก ศก.ไทยทั่วประเทศ หลังงานแฟร์นครศรีฯ ตอบรับดี-คนแห่เที่ยวนับแสน รายได้สะพัดกว่า 340 ลบ.

(27 ธ.ค. 66) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่อง จัดงานแฟร์ ปักหมุด 5 ภาค หวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับ ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช-ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนในพื้นที่เข้าชมงานตลอด 5 วัน อย่างล้นหลาม เผยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับบริการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กว่า 5,600 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จากการออกร้านของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า

รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีและช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับผลการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 วัน ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน ยอดผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาเพิ่มองค์ความรู้ จำนวนกว่า 3,000 ราย ขณะที่ยอดขายภายในงาน ซึ่งเน้นการนำสินค้ามาทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการประกอบการสู่ยุค ‘Now Normal’ มียอดการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท ยอดรับบริการขอสินเชื่อภายในงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 212 ล้านบาท

ยอดผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2,520 ราย แบ่งเป็น โซนสุขสันต์วันทำธุรกิจ Happiness & Business จำนวน 600 ราย โซนดีพร้อมดิจิทัลสร้างฝันให้ธุรกิจเป็นจริง จำนวน 640 ราย โซน AGRO Solution จำนวน 260 ราย โซนสร้างสรรค์เติมฝันให้ดีพร้อม จำนวน 40 ราย โซนขยายธุรกิจด้วยสถาบันการเงิน จำนวน 15 ราย และยอดขอรับบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี จำนวนทั้งสิ้น 965 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business Matching) จำนวน 60 คู่ ก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า “การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี นอกจากเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดัน ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่ให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งสอดรับกับ 6 นโยบายสำคัญเพื่อการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะเดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน โดยบริบทของอุตสาหกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้วางแผนเดินหน้าจัดงานแฟร์ในพื้นที่ 5 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาคึกคัก โดยจะดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาเป็นแนวคิดของการจัดงานแฟร์ในแต่ละภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' มอบ 'กนอ.' เร่งช่วยผู้ประสบอุทกภัยในนราธิวาส สนับสนุนงบฯ ฉุกเฉิน ตั้งครัวกลางแจกอาหารให้พี่น้องประชาชน

(28 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนราธิวาส หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้น้ำล้นตลิ่งและมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะที่อำเภอระแงะ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก-ลก ที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ประชาชนบางส่วนต้องสร้างที่พักอยู่แนวริมตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก และบางส่วนต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทองนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก จึงมอบหมายให้ กนอ. ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เร่งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

เบื้องต้น กนอ.ได้ประสานไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย พบว่า ขณะนี้มีการอพยพประชาชนมาอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว ดังนั้น กนอ.จึงสนับสนุนเงินฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นครัวกลาง เพื่อจัดหาและทำอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่จังหวัดยะลา และที่จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงกำชับให้ กนอ. เร่งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เบื้องต้นเราช่วยสนับสนุนในพื้นที่ให้สามารถจัดหาอาหารและน้ำดื่มให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และช่วยประสานงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กนอ. จะติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็นต่อไป" นายวีริศ กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุด (26 ธ.ค.66) ยังมีฝนตกลงมาประปรายทั้ง 13 อำเภอ ขณะที่แม่น้ำสายหลัก 3 สายยังคงมีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง แม้ระดับน้ำลดลงจากเดิม แต่ในพื้นที่ราบลุ่มของ อ.สุไหงโก-ลก อ.ระแงะ และ อ.ตากใบบางส่วน ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกลงมาระลอกใหม่นั้น คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มของทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส จะเริ่มคลี่คลายและกลับคืน สู่สภาวะปกติได้

'รมว.ปุ้ย' เผยแนวทางสำคัญ พัฒนาอุตฯ ไทยสู่ความยั่งยืน ผ่าน The Journey of Sustainable Partnership 2024

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ

(15 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย’ กับ ‘พิมพ์ภัทรา’ ในงาน ‘The Journey of Sustainable Partnership 2024’ ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ความท้าทายและโอกาส ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทาง ภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับการผลิต ให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Value Chain ของโลก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ขณะเดียวกันจะพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม (SPRING) มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) การผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และ กากของเสีย ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการต่างๆ จะผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ การให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ต้องเข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่าง มีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

“กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) (Landbridge) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้นในอนาคต” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2567 กนอ. จึงกำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็น regulator มาเป็น facilitator ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการ ในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยแผนฟื้นฟูการลงทุนของ กนอ. ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ให้พร้อมรับการลงทุน 2.ส่งเสริมการลงทุน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ 3.พัฒนาผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 4.สร้างความยั่งยืนโดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เป็นคู่ค้าที่สำคัญของ กนอ. ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม รวมทั้งบริหารจัดการสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานของ กนอ. ตลอดจนสร้างแรงงานที่มีศักยภาพ ไปจนถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น งานในวันนี้ (15 ม.ค.67) จึงเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ภายใต้แนวคิดที่ว่า นิคมอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับงาน ‘The Journey of Sustainable Partnership 2024’ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน เช่น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘ระนอง’ รวบปัญหา ศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมนำเสนอ ‘ข้อเรียกร้อง-ทางแก้’ เข้าครม.สัญจร พรุ่งนี้

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการประชุมสอบถามความต้องการขอรับการสนับสนุน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง

โดยในการประชุมมีการนำเสนอประเด็นและความต้องการขอรับการสนับสนุนในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้…

>> การนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับ Andaman Wellness and Spa ที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ Wellness and Spa  โดยการบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยให้จังหวัดระนอง เป็นเจ้าภาพหลัก

>> การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ไขควรจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการลดใช้พลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทน ปรับปรุงเครื่องจักรที่ทำให้ประหยัดพลังงาน

>> การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการขยายตัวของตลาดโลก โดยการจัดตั้งองค์กรกลางหรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับฮาลาล ที่นานาชาติยอมรับ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม

>> การเพิ่มมูลค่าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และแปรรูปเกษตรอื่นๆ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามแนวทาง BCG Model ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน โดยต้องเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การขาดแคลนฝีมือแรงงาน โดยได้ขอรับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง ตามความต้องการของสถานประกอบการ  

>> การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ที่ได้ขอให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับในการเข้าถึงสินเชื่อ

นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นอื่นๆ อาทิ พื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง แต่ไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีการเสนอให้แก้ไขผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้สร้างภาระเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วย

“ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ดิฉัน รับทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้นและจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อเสนอประเด็นและวาระ การพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.67) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

จากนั้นช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบการ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ซูริมิ ซอฟท์เซลล์ สินค้าปู สินค้ากุ้ง และบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD)

โดยบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ได้รับมาตรฐาน BRC, ISO 9000 ปี 2015, GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น รวมทั้งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 2 และยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการติดตั้งระบบ Sensor เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานต่างๆ ในสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถแสดงค่าของปัจจัยได้ตลอดเวลา ผ่านระบบ loT on Cloud เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ปี 2565 ด้วย ในการเยี่ยมชม บริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหา อุปสรรคที่พบทั้งค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และไม่สามารถคุมราคาขายกับผู้บริโภคได้ ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting เป็นต้น

ส่วนบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตแร่ดินขาวได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งแร่ดินขาวให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และส่งออกต่างประเทศ ร้อยละ 20 ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย มอก. 45001-2561 เข้าร่วมโครงการ CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2555 และเข้าร่วมเครือข่าย CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2557 และได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2566 และ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ตั้งแต่ปี 2554 และระดับ 3 ตั้งแต่ปี 2560 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น

“บริษัทฯ ทั้งสองแห่งมีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้รับมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองแห่งยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป กระทรวงฯได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัททั้งสองแห่ง โดยในปี 2567 จะให้การส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting หรือการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น เชื่อว่าแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัททั้งสองแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่ในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว) และท่าเรือระนองแห่งใหม่ (อ่าวอ่าง) เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้ชื่อ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

'รมว.ปุ้ย' แจ้งข่าวดี!! 'รัสเซีย' ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย ยกระดับมาตรฐาน 'ส่งออก-นำเข้าสินค้า' ระหว่างไทย–รัสเซีย

(31 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ประเทศจีน เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน โดยรัสเซียต้องการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งพลังงาน การเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล เคมีภัณฑ์ และการเกษตร 

สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ Start Up และ SMEs อำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย กับเขตประกอบการ Far East ของรัสเซีย ส่งเสริมให้เกิดการประชุม สัมมนา ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับรัสเซีย แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ MoU ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย (The Trade Representation of the Russian Federation in the Kingdom of Thailand) ได้เข้าหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อรับทราบข้อมูล มาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าที่ สมอ. ควบคุมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทย และอันดับที่ 1 ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) มีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มากเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 30 - 40 รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรและอาหาร แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางและถุงยางอนามัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยกับรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 53,441.29 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียมีมูลค่า 29,227.50 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีมูลค่า 24,213.79 ล้านบาท มีดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลอยู่ที่ 5,013.72 ล้านบาท

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย และกิจกรรมความร่วมมือด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของรัสเซีย ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย - รัสเซีย ได้เข้าหารือกับ สมอ. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม อาทิ สินค้ากลุ่มเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องดับเพลิง ของเล่น และหมวกกันน็อก เป็นต้น โดยรัสเซียให้ความสนใจในการนำผลิตภัณฑ์เหล็กเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น 

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย ในการเผยแพร่ข้อมูลมาตรฐานของ สมอ. รวมถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการนำเข้าให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน 'เอสเอ็มอีไทย' เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ชูโครงการ ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ เข้าช่วย

(6 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเข้าถึงหลักประกันและแหล่งเงินทุน ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างเต็มกำลัง โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปให้มีความเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และความท้าทายรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการก้าวข้ามปัญหา และความท้าทายดังกล่าว คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ออกกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการเพื่อค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินมากเกินความจำเป็นจากการใช้สินเชื่อผิดประเภท

“เราได้เล็งเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว และนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหากลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เพียงพอกับความต้องการในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ จนส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับประเทศและสากลได้”

ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น โครงการนี้ จึงหวังที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้ยื่นขอเงินสนับสนุนได้ง่ายขึ้น เบื้องต้นคาดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับสิทธิ์ราว 1,000 ราย วงเงินสนับสนุนขั้นต่ำระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท อีกทั้ง ยังจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมียอดการกู้เงินนอกระบบหลักหลายแสนล้านบาท ลดลงด้วย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. พัฒนากลไกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่าน โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’

ทั้งนี้ มี 4 พันธมิตรสถาบันการเงิน เข้าร่วมสนับสนุนสอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคตผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ สร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม กับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องผ่านดีพร้อมเพื่อขอรับการพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 โดย ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้นภายใน 7 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ‘บสย. F.A. Center’ จะช่วยให้ SMEs ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะรายที่ขาดหลักประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 สถาบันการเงิน ภายใต้แนวนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DPROM Connection เชื่อมโยงกับทิศทางการเป็น Digital SMEs Gateway ของ บสย. กับบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงิน (Credit Mediator) เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกันและการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับแผนธุรกิจ และการแก้หนี้ให้กับ SMEs ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ โดย บสย. F.A. Center

ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สมัครและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถลงทะเบียน Online เข้าร่วมโครงการผ่าน LINE Official Account @tcgfirst ได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครภายใน 30 วันหลังจากวันที่เปิดรับสมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินค้ำประกัน 100 รายแรก จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันหรือค่าออกหนังสือค้ำประกันทันที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top