Tuesday, 21 May 2024
พิมพ์ภัทราวิชัยกุล

‘รมว.ปุ้ย’ สั่ง ‘สมอ.’ เร่งแก้ไข-ปรับปรุง ‘สุราพื้นบ้าน’ เน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หนุนเป็น Soft Power

(12 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น ๆ และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เป็น 0 % รวมทั้งให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านด้วย

“นโยบายดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก และผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน ที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และ เมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว จำนวน 66 ราย กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องดำเนินการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องตามประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งตามมาตรฐาน มอก. สุรากลั่นและสุราแช่ ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน เช่น  มาตรฐานสุรากลั่นชุมชน แก้ไขข้อกำหนดวัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย จากเดิม ‘ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานไวน์สมุนไพร แก้ไขข้อกำหนดสารปนเปื้อน ตะกั่ว จากเดิม ‘ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานเมรัย แก้ไขเกณฑ์ข้อกำหนดสารเอทิลคาร์บาเมต (กรณีผสมสุรากลั่น) จากเดิม ‘ไม่เกิน 400 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลิตร’ เนื่องจากสารดังกล่าวหากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้แก้ไขข้อกำหนดในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' สั่งเข้ม!! 'สมอ.' ระดม 20 หน่วยงานพระกาฬ 'ร่วมสกัด-ตรวจโรงงาน' บล็อกสินค้าด้อยคุณภาพเข้าไทย

(16 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาชนะพลาสติก และภาชนะเมลามีน ฯลฯ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังได้กำชับให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

นอกจากนี้ ยังให้เร่งตรวจสอบผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ทั้ง 144 รายการ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. รับข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยตรวจ (Inspection Body - IB) ซึ่งเป็น Outsource ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ทั้ง 20 หน่วยงาน เช่น สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันสิ่งทอ, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินสเปคชั่น กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แบงค็อก เซอร์ติฟิเคชั่น จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สามารถรองรับกับปริมาณงานตรวจโรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนมาตรฐานบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพิ่มอีกกว่า 40 มาตรฐาน เนื่องจาก IB เหล่านี้ ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ให้เป็นหน่วยตรวจโรงงานแทน สมอ. สามารถตรวจติดตามโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้ว เพื่อควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมาตรฐานในการตรวจโรงงานของ สมอ. และ IB ที่เป็น Outsource ใช้เกณฑ์ในการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

'รมว.ปุ้ย' ยกเคส 'พาวเวอร์แบงก์' คนไทยควรเลือกสินค้ามาตรฐาน 'มอก.' ส่วนภาครัฐเร่งกวาดล้างไม่หยุด ล่าสุดอายัดสินค้าห่วยแล้วกว่า 142 ล้าน

(27 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินไทยเเอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD3188 ขณะกำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช มีเหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน ตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำนั้นด้วย เข้าใจเลยว่าต้องมีสติเท่านั้นที่จะควบคุมสถานการณ์ท่ามกลางความแตกตื่นตกใจของผู้โดยสารทั้ง 186 ชีวิตได้ ก่อนที่ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ 

ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมพาวเวอร์แบงก์ทุกขนาดทุกยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ต้องได้มาตรฐาน เนื่องจากพาวเวอร์แบงก์เป็นหนึ่งในสินค้าในจำนวน 144 รายการ ที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. โดยเฉพาะพาวเวอร์แบงก์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มความถี่ในการตรวจควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย และขอฝากถึงประชาชนให้เลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเท่านั้น โดยสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมถึงคุณภาพของสินค้าว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุสามารถร้องเรียนกลับมาที่ สมอ. ได้ทันที 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อกรณีดังกล่าว สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ หลังจากได้รับข้อสั่งการจากท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานเพื่อตรวจสอบขยายผลอย่างเร่งด่วนถึงแหล่งที่มา รายละเอียดสินค้า และการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. การทำและนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 97 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศจำนวน 8 ใบอนุญาต และผู้นำเข้าจำนวน 89 ใบอนุญาต สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้รับใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th โดยพาวเวอร์แบงก์ที่ได้มาตรฐานจะผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็ปอย่างเข้มข้นประมาณ 20 รายการ เช่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 70 องศาเซลเซียส หากลืมวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง ก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวมพอง หรือโก่งงอ ทนต่อการตกกระแทก ไม่แตกหักเสียหายง่าย ทนต่อความดันอากาศต่ำ 

หากอยู่บนเครื่องบินจะไม่เกิดการรั่วซึมหรือเกิดการระเบิด หรือในกรณีที่ลืมชาร์จทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ และลุกไหม้ และหากเกิดประกายไฟ เปลวไฟจะดับเองได้โดยไม่เกิดการลุกลาม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าพาวเวอร์แบงก์ที่มี มอก. มีความปลอดภัยสูง และจะไม่เป็นอันตรายขณะใช้งาน สำหรับการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานนอกจากจะให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าทุกครั้งแล้ว 

นอกจากนี้ วิธีการเก็บรักษาและการใช้งานก็มีส่วนสำคัญไม่ให้พาวเวอร์แบงก์หมดอายุการใช้งานก่อนเวลาอันควร เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงก์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน หรือรับแสงแดดโดยตรง ไม่ควรเก็บไว้ใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ ความชื้น น้ำ หรือของเหลว ไม่ควรถอดชิ้นส่วน เปิด เผา หรือสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพาวเวอร์แบงก์ ไม่ควรให้พาวเวอร์แบงก์ถูกกระแทก ถูกกดทับ งอ หรือเจาะ ไม่ใช้งานในขณะเปียกน้ำหรือได้รับความเสียหายเพื่อป้องกันการช็อกไฟฟ้า และควรอ่านข้อควรปฏิบัติที่ให้มากับพาวเวอร์แบงค์ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกวิธีและมีความปลอดภัย 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา สมอ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด ภายใต้ภารกิจ Quick Win ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน จนถึงขณะนี้ สมอ. ได้ตรวจจับและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปแล้วกว่า 142 ล้านบาท มีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก วัสดุก่อสร้าง สีย้อมสังเคราะห์ เมลามีน และพลาสติก เป็นต้น จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการหากท่านทำหรือนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ท่านจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้ทำและนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เร่งยกระดับศักยภาพโกโก้ไทยสู่การเป็นโกโก้ฮับ พร้อมขานรับนโยบายนายกฯ เร่งผลักดันสระแก้วสู่โกโก้ฮับภาคตะวันออก

(27 ก.พ.67) นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นในการผลักดันโกโก้ไทยสู่การเป็นโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) และพืชเศรษฐกิจหลักของไทยทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 

เนื่องจากโกโก้เป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง มีการจําหน่ายและส่งออกไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมถึงแนวโน้มความต้องการและราคาในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นกว่า 5,800 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 210,000 บาท ต่อตัน ขณะเดียวกันโกโก้ ยังเป็นพืชแห่งอนาคต (Future Crop) สามารถนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เครื่องสําอาง นํ้าหอม จึงส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิประเทศสามารถปลูกโกโก้ได้ครอบคลุมทุกภูมิภาค  

นับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ รมว.อุตสาหกรรม มุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมโกโก้ของประเทศเติบโตสู่การเป็นโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) และสามารถแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการยกระดับศักยภาพโกโก้จังหวัดสระแก้วให้เป็นโกโก้ฮับของภาคตะวันออก ที่มีศักยภาพการเพาะปลูกโกโก้และแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีคุณภาพในภาคตะวันออกของไทย 

ดังนั้น รมว.พิมพ์ภัทรา จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งนำร่องในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ภายใต้นโยบายการดำเนินงานของดีพร้อม RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ในบริบททางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  

นายภาสกร กล่าวต่อว่า ดีพร้อม เร่งเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้วทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนำร่องให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ อำเภอเมือง ผ่านกิจกรรมยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมโกโก้จังหวัดสระแก้ว ด้วยพลังแนวคิดใหม่ให้ดีพร้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานระยะสั้น (Quick Win Plan) ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โกโก้ของจังหวัดสระแก้วด้วยการยกระดับองค์ความรู้และทักษะด้านการพัฒนาเทคนิคการหมัก การแปรรูปโกโก้ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และการเพิ่มกลยุทธ์การตลาดด้วยเทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling)

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมองค์ความรู้สู่การพัฒนาเป็นพลังแนวคิดใหม่ในการประกอบธุรกิจการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด การบริหารจัดการในทุกๆ มิติ เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้และผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมโกโก้สามารถนําองค์ความรู้ไปต่อยอดในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โกโก้ อันจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ด (Super foods) ได้อย่างดีในอนาคต และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 3 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ ทางดีพร้อมได้เข้าไปดำเนินการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรแปรรูป ด้วยการออกแบบและพัฒนาต้นแบบ 'เครื่องผ่าผลสดโกโก้' ซึ่งนวัตกรรมและการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผ่าผลสดโกโก้ จากเดิมใช้ระยะเวลาผ่าผลสด 20 วินาทีต่อลูก มาผ่าเป็นผลโกโก้ได้มากกว่า 1,440 ลูกต่อวัน แทน รวมถึงลดการเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานของคน ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่า 2 ล้านบาทต่อปี และสร้างโอกาสในการขายได้กว่า 10 ล้านบาทต่อปี 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้ปรับเปลี่ยนตราสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ จังหวัดสระแก้ว โดยเน้นความร่วมสมัย แต่ยังคงรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับของเดิมเพื่อให้ลูกค้าสามารถเชื่อมโยงมายังตราสินค้าใหม่ได้ และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชาจากเปลือกเมล็ดโกโก้ โดยเลือกใช้ถุงอะลูมิเนียมฟรอยด์ทึบ 2 ด้าน มีซิปล็อกในตัว มีคุณสมบัติกันน้ำ กันออกซิเจน และกันแสงได้เป็นอย่างดี พร้อมออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มีความน่าสนใจสื่อถึงผลิตภัณฑ์และสะดวกสำหรับการขนส่ง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้กว่า 5 ล้านบาทต่อปี

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในระยะถัดไป ดีพร้อมเตรียมต่อยอดพัฒนาหนังเทียมจากเปลือกโกโก้ให้มีคุณภาพให้กับวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ จังหวัดสระแก้ว เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันโดยนำนวัตกรรมและการออกแบบมาประยุกต์ใช้กับวัสดุทางทุนวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งคาดว่าระยะเริ่มต้นจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกได้กว่า 20 ล้านบาท และในระยะยาวจะดำเนินการจัดทำพิมพ์เขียวธุรกิจ (Business Blueprint) ของวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ เพื่อเป็นแบบแปลนในการวางระบบให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเป็นต้นแบบขยายผลการขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โกโก้ในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 8,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายขยายผลการดำเนินงานไปยังผู้ประกอบการพื้นที่ภาคตะวันออกในจังหวัดจันทบุรี ในการส่งเสริมและพัฒนายกระดับกลไกสนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้วยเครือข่ายหน่วยงานและผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (RISMEP) โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดดีพร้อม ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การยกระดับศักยภาพให้แก่ผู้เพาะปลูก การตลาด การขออนุญาตจัดตั้งสถานที่ผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การขอมาตรฐาน อย. และเทคนิคการปรับปรุงพัฒนาถังไม้หมัก/บ่มโกโก้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้สู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

'รมว.ปุ้ย' เร่งถก 'ปรับผังเมืองใหม่' สอดรับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป หวังรองรับการลงทุน 'ใน-นอก' แบบไม่กระทบ 'สิ่งแวดล้อม-ชุมชน'

(29 ก.พ.67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ก.พ.67 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขและบูรณาการเร่งรัดจัดหาแนวทางการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการยกระดับเมืองรอง เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากทั้งภายในและนอกประเทศ 

โดยผังเมืองเก่าในประเทศที่จัดทำมานาน อาจไม่เหมาะกับยุคปัจจุบัน โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), กรมโยธาธิการและผังเมือง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางขจัดปัญหาและอุปสรรคในการปรับแก้ไขผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นที่ยอมรับของชุมชน / การกำหนดพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการอุตสาหกรรม / การพัฒนาและขยายอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม / เร่งรัดระยะเวลาในการจัดทำผังเมือง และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EHIA และ EIA ที่มีข้อกำหนดแนบท้ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับผังเมือง

“การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในครั้งนี้ เน้นการดำเนินการแบบ Quick Win โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีนิคมอุตสาหกรรม หรือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 20 แห่ง จากการไม่สอดคล้องระหว่างผังเมืองของ EEC กับผังเมืองใหม่ ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนการปรับแก้ผังเมืองในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน จำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสนามบิน รวมถึง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อนการปรับผังเมืองใหม่ด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม ประกอบด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายนฤชา ฤชุพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเลขาธิการส่งเสริมการลงทุน, นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมประชุมด้วย

'รมว.ปุ้ย' เดินหน้า 'Green Win' วินสองล้อพลังงานสะอาดพิฆาตฝุ่นพิษ นำร่อง กทม. ก่อนขยายผลต่อทั่วประเทศ ด้าน ก.อุตฯ หนุนเต็มที่

(3 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการ Green Win เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ระหว่างสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย โดยนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมฯ กับ บริษัท สตรอมไทยแลนด์ จำกัด และ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกภัทร วังสุวรรณ, นายบรรจง สุกรีฑา, นายใบน้อย สุวรรณชาตรี, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง อก.1 ชั้น 2 และ ห้องโถง ชั้น 1 และอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่ทุกคนได้ร่วมมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางออกและร่วมกันแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และนี่คือโอกาสที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องร่วมกันพัฒนาในทิศทางพลังงานสะอาด เนื่องจากการใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงการขนส่งและการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดสู่การใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำหรับทางเลือกของผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้างไม่เฉพาะใน กทม.เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลไปได้ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน 

“การทำให้อากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 ตั้งเป้าผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ การส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรฐาน EV3 และ EV3.5) การกำหนดมาตรฐานการใช้งานและความปลอดภัย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำของการพัฒนาสู่การเปลี่ยนผ่านในภูมิภาคนี้ ด้วยการเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาดเพื่อส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้กับลูกหลานต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมกันสนับสนุน 'โครงการ Green Win' (วินเขียว กทม.) เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 และสร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการสำเร็จและเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' รับลูก!! 'เศรษฐา' เร่งออกมาตรฐาน 'บันไดเลื่อน-ทางเลื่อน'  จ่อบังคับใช้โดยเร็ว เพิ่มความปลอดภัย ปิดทางอุบัติเหตุซ้ำรอย

(5 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เร่งรัดให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันอุบัติเหตุซ้ำรอยนั้น คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (บอร์ด สมอ.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานดังกล่าวแล้ว โดยอ้างอิงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ สมอ. เร่งดำเนินการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วที่สุด 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาร่างมาตรฐานบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติที่ สมอ. เสนอ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้ว รวมทั้งยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานอื่นๆ อีก จำนวน 111 เรื่อง เช่น กลอนสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ, ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม, ฟิล์มติดกระจกรถยนต์, เต้ารับเต้าเสียบที่ใช้ในรถยนต์, หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง, ระบบอากาศยานไร้คนขับ และกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมทั้งมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ทำหน้าที่ให้ความร้อนแก่ของเหลวที่นำมาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้า, กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า และหม้อหุงข้าว เป็นต้น 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน 'บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ' เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า ที่อ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เป็นที่ยอมรับของสากล และทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ได้แก่ การป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากวงจรควบคุม การป้องกันอันตรายที่เกิดจากการแตกหักระหว่างทำงาน การป้องกันการรับน้ำหนักและบรรทุกเกิน และจะมีเซนเซอร์ตรวจจับความผิดปกติต่างๆ ในขณะทำงาน เช่น เมื่อบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนมีความเร็วผิดปกติ ระบบเบรกไม่ทำงาน มีขั้นบันไดหรือแผ่นพื้นเลื่อนที่แอ่น มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ใดๆ หลุดหายไป หรือหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดในซี่หวีบันไดเลื่อนหรือทางลาดเลื่อน เซนเซอร์จะตรวจจับความผิดปกติดังกล่าว และจะหยุดการทำงานทันที เพื่อป้องกันอันตรายขณะมีผู้ใช้งานได้ ทั้งนี้ สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ และนำเข้าเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามฏหมาย โดยหลังจากนี้ สมอ. จะแจ้งให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติทุกราย ให้เตรียมยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง ทันตามกำหนดเวลาที่มาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ส่องผลงาน 'รมว.ปุ้ย' คุมทิศทางอุตสาหกรรมไทย

'รมว.ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

>> กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

>>กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

>>สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 

นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

>>กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโปแตสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

>>สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

>>สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

>>การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม 

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต

‘รมว.ปุ้ย’ แง้ม!! เล็งหา ‘พันธมิตรใหม่’ ลุยลงทุนเหมืองโปแตซ หลังผู้รับประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง ฉุดโครงการล่าช้า

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดใจกับเครือเนชั่น ถึงแนวทางแก้ปัญหาโครงการลงทุนเหมืองโปแตช หลังผู้ได้รับ ประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง จนทำให้โครงการล่าช้า โดยระบุว่า…

ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 เจ้า แต่ยังไม่มีเจ้าไหนสามารถขุดแร่ขึ้นมาได้ จากเหมืองใน 3 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานขาดเงินทุนขาดสภาพคล่องในการลงทุนที่จะขุดแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ทั้งนี้ โดยหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ให้ประธานบัตรกับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าจะถามว่าความรับผิดชอบสิ้นสุดแล้วหรือไม่? ก็ไม่ถึงกับสิ้นสุด เพราะยังต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับบัตรสามารถประกอบกิจการได้หรือไม่? อย่างไร? แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายคาดหวังกับการขุดแร่โปแตช เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศในระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เมื่อสงคราม ราคาปุ๋ยก็จะพุ่งกระฉูด ดังนั้นทั้ง 3 ผู้ประกอบการที่ได้ประทานบัตรไป หากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้ง 3 เกิดปัญหาไม่มีเงินทุนขาดสภาพคล่อง ก็ต้องเริ่มมองไปถึงการเปิดโอกาสดึงกลุ่มทุนที่มีศักยภาพรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายบริษัทที่สนใจทั้งจากไทยและเทศที่อยากจะเข้ามาร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ประทานบัตรนั้นมีอายุและถือเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับไป แต่เมื่อไรก็ตามถ้าประธานบัตรหมดอายุขึ้นมา ตัดสิทธิ์ก็จะวนกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกรอบหนึ่ง นั่นจึงทำให้ทางกระทรวงฯ จึงยังต้องเฝ้าดูและคอยกระตุ้นผู้ที่ถือบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ผู้ประกอบการก็มีความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของตน เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ลงมากำชับด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ท่านไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็จะพยายามมองหาผู้ที่สนใจที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของเหมืองโปแตซที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดราคาปุ๋ยของไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า “3เหมืองนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีปุ๋ยใช้ในประเทศได้เพียงพอและมากพอที่จะส่งออกได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในโลก เมื่อเรามีต้นทุนปุ๋ยเป็นของตนเอง อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ”

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงใย เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการ SME D Bank เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในพื้นที่

(23 มี.ค.67) ตามที่ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ในช่วงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายได้รับความเสียหาย นั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่กระทรวงสามารถให้ได้

“เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รู้สึกเป็นห่วงและเห็นใจผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบให้ SME D Bank กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกราย สำหรับในส่วนของ SME D Bank สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียายา ด้านการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อ Soft Loan พิเศษ แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านเทคนิค การตลาด และเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเร่งให้ทุกหน่ายในสังกัดกระทรวง บูรณาการกับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top