Tuesday, 21 May 2024
พิมพ์ภัทราวิชัยกุล

'จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด' แจงปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! 70-80% เรื่องค้างอยู่ 'กรมโรงงานฯ' แนะ!! กระจายให้ สอจ.

(25 มี.ค.67) สืบเนื่องจากกรณีแหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า โดยพบว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ (อ่านต่อ >> 'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย : https://thestatestimes.com/public/post/2024032220)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ล่าสุด จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้ขอชี้แจงต่อ รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ไว้ดังนี้...

ตามที่มีข่าว เรื่องการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ล่าช้านั้น ตอนนี้ ทางกระทรวงฯ โดยกองตรวจราชการ (กตร.) ได้รวบรวมสรุปข้อมูลแล้ว ซึ่ง (คาดว่า) ข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปให้ทางท่าน รมว.อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ จะค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นส่วนใหญ่

(ชี้แจงเพิ่มเติม) การอนุญาตโรงงานนั้น กรณี โรงงานตั้งอยู่ใน กทม. ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่วนกรณี โรงงานอยู่ต่างจังหวัด ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งจะมีทั้งกรณีที่ สอจ. สามารถออกใบอนุญาตได้เอง และกรณีที่ สอจ. ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ดังนี้

หากเป็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ประเภท 101,105,106 และโรงงานตามนโยบาย เช่น โรงงานน้ำตาล โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานที่ต้องทำ EIA ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ ประเด็นที่ล่าช้ามาจากการพิจารณาโรงงานประเภท 105 และ 106 หลังจากที่ สอจ. ส่งเรื่องให้ กรอ. แล้ว ทาง กรอ.ใช้เวลาพิจารณานานมาก เวลาหลายเดือน และเมื่อพิจารณาเสร็จ ไปหลายเดือนแล้ว ก็ไม่ได้ออกใบอนุญาต แต่ส่งเรื่องให้แก้ไขเอกสาร หลายโรงงานจะเจอลักษณะแบบนี้

หากเป็นโรงงานทั่วไป เช่น โรงงานผลิตอาหาร, โรงพลาสติก, โรงผลิตชิ้นส่วนโลหะ, โรงงานผลิตสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงงานตามนโนบาย ทาง สอจ. ออกใบอนุญาตได้ เฉพาะโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงานได้ ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า เท่านั้น

หากการออกใบอนุญาตที่มีเครื่องจักร เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย เกิน 600 แรงม้า ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้พิจารณาอนุญาต ซึ่งเรื่องนี้เอง เป็นสาเหตุที่เรื่องค้างอยู่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ และทางโรงงานจะบ่นกันมาก ว่าส่งเรื่องไปแล้วพิจารณานานมาก ใช้เวลาหลายเดือน หรือไม่ก็ส่งเรื่องคืนให้แก้ไขเอกสารหลายรอบมาก ทำให้เรื่องล่าช้า และเป็นข่าวตามที่ทำให้ท่านนายกฯ กับท่าน รมว.อุตสาหกรรม ได้รับทราบแล้ว

(แนวทางแก้ไข) เรื่องที่ค้างอยู่ที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ

(ผมยังไม่เห็นข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปมาให้ แต่โดยส่วนตัว เรื่องน่าจะค้างอยู่ที่ กรอ. รวมทั้งเรื่องที่ กรอ. ส่งเรื่องคืนให้ทางโรงงานแก้ไขเอกสาร เรื่องน่าจะค้างรวมกันที่ กรอ. ประมาณ 70% - 80% ขอย้ำว่าผมยังไม่เห็นข้อมูล แต่ก็คาดว่าข้อมูลน่าจะเป็นไปตามนี้ครับ)

เมื่อเรื่องค้างที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ ผมมีแนวทางแก้ไข ก็คือ เพิ่มอำนาจให้ สอจ. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตมากขึ้นจากเดิม เช่น...

จากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 1,000 แรงม้า

และจากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 2,000 แรงม้า

ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ผมเสนอมานี้ จะเป็นการลดอำนาจการออกใบอนุญาตบางส่วนของ กรอ. มาเพิ่มอำนาจในการออกใบอนุญาตให้ สอจ. และลดขั้นตอนไม่ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. ทำให้ สอจ. มีอำนาจมากขึ้นในการออกใบอนุญาตได้เอง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดจำนวนเรื่องค้างในการออกใบอนุญาตโรงงานได้ และใช้ระยะเวลาในการออกใบอนุญาตได้รวดเร็วกว่าเดิมครับ

'ปุ้ย พิมพ์ภัทรา' รมว.อุตสาหกรรม หญิงเก่งจากรวมไทยสร้างชาติ  ล่าผลงานแบบ ท.ท.ท. (ทำทันที) เคลียร์แคดเมียมไวจนอุ่นใจ

หลังจากเกิดกรณีตรวจพบกากแคดเมียมที่ควรจะถูกฝังปิดถาวรในจังหวัดตาก แต่กลับถูกลักลอบขุดขึ้นมาและมีการเคลื่อนย้ายออกมาจำนวนกว่า 13,000 ตัน โดยมีการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมดังกล่าวในโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การกุมบังเหียนของ 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการโดยทันที

แคดเมียม (Cadmium: สูตรทางเคมี Cd) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมในหลากหลายด้าน อาทิ ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่างๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก (แคดเมียม-นิกเกิล แบตเตอรี่) เป็นต้น

แคดเมียมยังพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลตามมา สามารถพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ รวมทั้งพบแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคารอีกด้วย ทั้งนี้แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้...

- ทางผิวหนังผ่านการสัมผัส
- ทางจมูก ด้วยการหายใจ สูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไปในร่างกาย
- ทางปากด้วยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน

ทำไมแคดเมียมจึงน่ากลัว? เพราะผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการรับเอาแคดเมียมเข้าไปในร่างกายมีดังนี้...

- พิษเฉียบพลัน : พบในกรณีหายใจเอาไอระเหยของแคดเมียมเข้าไป ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก
- พิษเรื้อรัง : การได้รับสารแคดเมียมเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเป็นพิษของไต กระดูก และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด หากสัมผัสสารนี้มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง รวมทั้ง มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- พิษต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ 
- พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต–อิไต (Itai-itai disease) โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย 

นอกจากนี้ แคดเมียมยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

แม้แคดเมียมจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยความนิยมในการใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักพลังงานไฟฟ้า แต่ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ผู้ประกอบการที่ไร้จิตสำนึก แล้วเอาเปรียบสังคมด้วยการลักลอบขุดเอากากแคดเมียมที่ได้รับการฝังกลบแล้วขึ้นมาจำหน่ายและขนย้ายโดยผิดกฎหมาย หากแต่ผู้ประกอบการที่ครอบครองกากแคดเมียมต้องการขุดออกเอากากแคดเมียมที่ได้รับการฝังกลบแล้วออกมาจำหน่ายจริงๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่การนำกากแคดเมียมใส่ถุงขนาดใหญ่ (Big bag) แล้วขนย้ายเช่นนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้เกิด สิ่งที่ทำให้คนไทยพออุ่นใจได้ คือ การที่รัฐมนตรี 'ปุ้ย พิมพ์ภัทรา' เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม เร่งสั่งการให้ดำเนินการจัดการกับกากแคดเมียมที่ถูกลักลอบขนย้ายนำออกมาอย่างรวดเร็ว แบบไม่สนหน้าอิฐหน้าพรมหรือทุนใหญ่เล็กแค่ไหน ด้วยการสั่งให้ย้ายกากแคดเมียมทั้งหมดกลับไปยังแหล่งฝังกลบต้นทางเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว แถมเธอยังสั่งการให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม 

นอกจากนี้ จากกรณีที่เกิดขึ้นเชื่อว่า รมว.ปุ้ย และคณะทำงานจะนำไปเป็นกรณีศึกษาในการดำเนินการจัดการกับปัญหาของเสีย กาก และขยะอุตสาหกรรม ฯลฯ ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ เดินหน้า ‘อุตสาหกรรมฮาลาล’ ย้ำ!! ไทยพร้อมเรื่องวัตถุดิบ ลั่นขอเป็นเจ้าภาพ บูรณาการทั้ง ‘อาหาร-ท่องเที่ยว-สปา’ ให้เป็นระบบ

(20 เม.ย.67) จากรายการอิสรภาพแห่งความคิด ดำเนินรายการโดย สำราญ รอดเพชร เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'ไทยโพสต์' ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ 'รมว.ปุ้ย' เกี่ยวกับความมุ่งมั่น ตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะผลักดัน อุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้เติบโตอย่างเป็นระบบ และเจาะตลาดฮาลาลโลก โดยทางรัฐมนตรีหญิงแกร่งท่านนี้ ได้ยืนยันหนักแน่นในการจัดตั้ง 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' ได้ระบุว่า ...

"วันนั้นที่เข้ามามอบนโยบาย อยากเห็นที่สุดก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมฮาลาล อยากให้เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับเรื่อง 'ฮาลาล' หลายคนจะนึกถึงแค่เฉพาะในประเทศมุสลิม หรือประเทศตะวันออกกลางเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ สำหรับตลาดอาหารฮาลาลในตอนนี้กำลังเติบโตใหญ่อย่างมาก และประเทศไทยของเราก็พร้อมมากเพราะประเทศไทยเรามีวัตถุดิบ เรามีแหล่งที่เป็นอุตสาหกรรม เรามีผู้ประกอบการที่มีความมั่นคง แล้วก็พร้อมที่จะทำอุตสาหกรรมพวกนี้ เพียงแต่ว่า คนที่ดูแลเรื่องอาหารฮาลาล กระจัดกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ 

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อว่า "ตอนนี้ก็เลยมีการบูรณาการ และตั้งใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นเจ้าภาพหลัก โดยอยากเห็น 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' เกิดขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็คิดว่าน่าจะทำสำเร็จได้ภายใน 2 ปี ขณะนี้เราเดินหน้า เป็น 'สำนักงานคณะกรรมการอาหารฮาลาลแห่งชาติ' ได้สำเร็จแล้ว กำลังจะผ่านคณะรัฐมนตรี กำลังจะได้งบประมาณมา และเปิดตัวได้ภายในอีกไม่กี่เดือนนี้"

รมว.ปุ้ย ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า "เรื่องฮาลาลไม่ใช่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย อาหาร การท่องเที่ยว สปา สุขภาพ ทั้งหมดนี้อยู่ในอุตสาหกรรมฮาลาล"

"เมื่อก่อนนี้เรื่องของอุตสาหกรรมฮาลาลนั้นไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงกัน แต่ครั้งนี้เราจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่จับต้องได้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งทางนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้เห็นชอบด้วยแล้ว" รมว.ปุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ มอบรางวัลแด่ ‘เกษตรกรชาวไร่อ้อย-ผู้ประกอบโรงงาน’ สอดรับนโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

(22 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย…

>> 1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง
5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

>> 2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม
2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก
3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น…

1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ
2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด
3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย
4) มาตรการทางกฎหมาย
5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย
6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย
7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

“ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งเข้ม!! ให้ดูแล ปชช. เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี โดยรอบเต็มที่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เอาไว้ว่า…

"เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ดิฉันได้สั่งการให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนแล้ว พร้อมย้ำให้ดูแลประชาชนบริเวณโดยรอบให้เรียบร้อยด้วย"

‘รมว.ปุ้ย’ ยก!! ความสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่งคง เหตุผลสำคัญผลักดันเศรษฐกิจระหว่างกัน

(23 เม.ย.67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา ‘Nanning City Investment Environment Promotion and Economic and Trade Cooperation Exchange Event (Thailand)’ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิง, นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายจาง เซียว-เซียว ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ หอประชุมกวางหวาถัง หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคารไทย ซีซี ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จีนและไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ที่ผ่านมาไทยกับจีนพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด สู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘นโยบายจีนเดียว’ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกัน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 66 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบาย รัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

“ดิฉันเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การสัมมนาในวันนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน กระชับความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ และอาจมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง จี้!! สถานประกอบการ แยกสารเคมีอันตราย หลังโกดังย่านพระราม 2 สารเคมีติดไฟเองได้ เพราะความร้อนเป็นเหตุ

(25 เม.ย.67) จากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในโกดังเก็บสารเคมี จนเกิดกลุ่มควันสีขาวที่โรงงาน ย่านพระราม 2 ในช่วงเวลาประมาณ 02.10 ของวันที่ 25 เมษายน โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบถึงสาเหตุ และได้รายงานให้ทราบว่า สถานที่เกิดเหตุคือ อาคารเก็บสารเคมีของบริษัท เพรสซิเดนท์เคมีภัณฑ์ จำกัด ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ส่วนกลุ่มควันสีขาวเกิดจากสารเคมี 2 ถังในอาคารหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงทำการขนย้ายสารเคมีในกลุ่มเดียวกันออกมาด้านนอกอาคาร และใช้น้ำในการควบคุมควันที่เกิดขึ้น และเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเปิดบรรจุภัณฑ์เมื่อสารเคมีกระทบอากาศทำให้เกิดไฟลุกไหม้ภายในถัง จึงเร่งควบคุมเพลิงเพื่อไม่ให้สารเคมีแพร่กระจาย โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบชนิดของสารเคมีพบในที่เกิดเหตุ คือสารไทโอยูเรียไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่เข้าข่ายวัตถุอันตรายตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ 2535  เป็นสารเคมีตามประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง (self-heating) และความร้อนเกิดจากตัวสารทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศที่อุณหภูมิรอบตัว สามารถลุกติดไฟได้เมื่อมีความร้อนสะสมต่อเนื่องภายในถึงอุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้ด้วยตนเอง (auto-ignition temperature) ทั้งนี้ จากการสันนิษฐานสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากการสะสมความร้อนภายในบรรจุภัณฑ์ของสารไทโอยูเรียไดออกไซด์ ทำให้ภายในบรรจุภัณฑ์มีอุณหภูมิสูงจนทำให้มีกลุ่มควันเกิดขึ้น

“ดิฉันได้กำชับไปทาง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดว่า ให้เร่งแจ้งเตือนสถานประกอบการที่มีการจัดเก็บสารเคมี ให้เพิ่มความระมัดระวัง และตรวจสอบสถานที่จัดเก็บให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งโรงงานและสถานที่ครอบครองจัดเก็บวัตถุอันตราย หรือสารเคมี โดยต้องตรวจสอบสารเคมีที่จัดเก็บ เช็ค MSDS เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ว่ามีสารเคมีที่มีคุณสมบัติลักษณะเดียวกันนี้ คือเกิดปฏิกิริยา หรือติดไฟเองได้ หากอุณหภูมิการจัดเก็บสูง ต้องแยกออกจากกัน และเช็คสภาวะแวดล้อม จัดเก็บในที่อุณหภูมิที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันสภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงต่อเนื่อง” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

'รมว.ปุ้ย' เริ่มเดือด!! หลังสารเคมีโรงงานที่อยุธยารั่ว 3 ครั้งติดต่อกัน ลั่น!! อย่าให้เกิดอีก หวั่น!! 'ปชช.ผวา-ภาพลักษณ์ท่องเที่ยวถูกฉุด'

จากเหตุสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่โรงงานบริษัทเอกอุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ในช่วงเย็นวันที่ 27 เม.ย.67 ซึ่งเป็นการรั่วครั้งที่ 3 ของโรงงานดังกล่าว สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงสถานพยาบาลและสถานีตำรวจ 

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนสั่งการปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงาน ให้เร่งหาสาเหตุและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะได้รับการยกย่องจาก นิตยสาร CEOWORLD ให้เป็นอันดับ 1 ประเทศน่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นกังวลที่สุด และไม่อยากให้เกิด คือ การเกิดเพลิงไหม้คล้ายกรณี บริษัทแวกซ์กาเบจ ที่ราชบุรี โกดังเก็บสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และ บริษัทวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อน หวาดกลัว และปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

"ดิฉันจึงได้สั่งการให้ปลัดอุตฯ และอธิบดีกรมโรงงาน เร่งหาตรวจสอบหาสาเหตุจากต้นตอ และดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ท่านนายกรัฐมนตรีก็ไม่สบายใจ และกำชับให้หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีก โดยเฉพาะโรงงานเก็บกากอุตสาหกรรมที่เป็นสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และต้องรายงานทุกระยะ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

'รมว.ปุ้ย' ตรวจเข้มเที่ยวแรก ขนกากแคดเมียม 254 ตัน กลับหลุมฝังตาก ยัน!! ใช้มาตรการขนย้ายขั้นสูงสุด ขอ ปชช.เชื่อมั่นในความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมี่ยมและกากสังกะสี และคณะ เข้าตรวจความพร้อมเพื่อเตรียมการขนย้ายกากแคดเมียมจาก บริษัท เจ แอนด์ บี เมทอล จำกัด ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย หมู่ที่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไปยังต้นทางหลุมฝังกลบที่ จังหวัดตาก โดยมีนายชัยวัฒน์ ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และผู้แทนจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร, เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.), กรมควบคุมโรค, สาธารณสุขจังหวัด, ขนส่งจังหวัด, กรมการปกครอง, สส.จังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกระบวนการได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวอย่างวิธีการขนย้ายกากแคดเมียม เริ่มจากการใช้รถยก ยกถุงกากแคดเมียม และซ้อนทับด้วยถุงบิ๊กแบ็กอีกชั้น มัดปาก ชั่งน้ำหนัก แล้วยกขึ้นรถบรรทุก ซึ่งวันแรกนี้จะใช้รถบรรทุกจำนวน 4 คัน โดยแต่ละคันจะบรรทุกได้ 20 ถุง รวม 80 ถุง น้ำหนักรวมสุทธิ 112.61 ตัน จากนั้นเมื่อนำขึ้นรถแล้วก็จะปกคลุมด้วยผ้าใบอีกหนึ่งขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย ก่อนจะเดินทางออกจากจังหวัดสมุทรสาครในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. 

โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำ และปิดท้ายด้วยรถตำรวจ บก.ปทส. เพื่อไปสมทบกับขบวนของโรงงานที่บางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่ใช้รถบรรทุกจำนวน 6 คัน บรรทุกได้ 99 ถุง น้ำหนักรวมสุทธิ 141.39 ตัน ซึ่งเมื่อรวมของทั้ง 2 แห่ง คิดเป็นน้ำหนักทั้งสิ้น 254 ตัน (น้ำหนักที่หายไปจากประมาณการ 270 ตัน เนื่องจากมีการชั่งโดยละเอียด) ซึ่งทั้งสองขบวน จะนัดรวมเป็นขบวนเดียวกันที่ ดูโฮม จ.นนทบุรี เพื่อเดินทางต่อไป ยังจังหวัดตาก ในเวลาประมาณ 22.00 น.คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง และจะถึงจังหวัดตาก ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน 2567  

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะทำการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจาก จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดตากก่อน ส่วนที่จังหวัดชลบุรี ยังต้องรอกระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยการขนย้ายจะใช้เส้นทางสายเอเชีย ซึ่งจะมีตำรวจทางหลวงของแต่ละพื้นที่นำขบวน และมีการส่งต่อเป็นจังหวัด ๆ หยุดพักเท่าที่จำเป็น ไม่มีการแวะเติมน้ำมัน และมีแผนฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุไว้เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ เมื่อถึงจังหวัดตาก จะนำกากตะกอนแคดเมียมไปเก็บไว้ที่อาคารพักคอยในพื้นที่โรงงานที่ได้ทำการปูพื้นด้วยแผ่น HDPE และดินเหนียวสังเคราะห์ (GCL) แล้ว ในระหว่างที่เร่งปรับปรุงบ่อเก็บกากแคดเมียมให้มั่นคงปลอดภัยตามมาตรการ EIA โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมตาก และจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมอย่างใกล้ชิด ตลอดการดำเนินงาน

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมจากต้นทางที่จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร การขนย้ายระหว่างทาง จนถึงปลายทางที่จังหวัดตาก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องของปริมาณน้ำหนักนั้น จากที่ตรวจพบในขณะนี้แม้จะยังขาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนักหากนำมาคำนวณกับค่าความชื้นที่สูญเสียไป ดังนั้นต้องรอให้การเคลื่อนย้ายทั้งหมดเสร็จสิ้นลงก่อน จึงจะสรุปได้ว่าพบกากตะกอนแคดเมียมครบทั้งหมดแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตามเวลานี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่หยุดค้นหายังคงค้นหาในพื้นที่ ๆ คาดว่าจะกระจายไปแม้ว่าจะค้นหาเกือบครบสมบูรณ์แล้วก็ตาม ซึ่งทุกขั้นตอนเราต้องรีบทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันกับฝนที่อาจจะตกลงมาได้ตลอดเวลา” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

ส่วนในเรื่องของคดีความนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา และมีการตั้งประเด็นการสอบสวน เพื่อจะได้ระบุตัวบุคคลที่จะต้องเรียกมาสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

'รมว.ปุ้ย' จี้ถาม 'ปลัดกระทรวงอุตฯ' กรณี 'จุลพงษ์ ทวีศรี' ลาออก เหตุใดจึงไม่รายงานการขอลาออกให้เจ้ากระทรวงอุตฯ ทราบ

(4 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือสอบถามปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล เพื่อขอทราบเหตุผลในกรณีที่ไม่รายงานการลาออกจากราชการของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า...

จากกรณีที่ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ยื่นใบลาออกราชการต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ที่ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องทราบ เนื่องจากอธิบดี กรอ.เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงฯ ซึ่งปลัดฯ ได้ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.แต่ก็ไม่ได้รายงานให้ รมว.อุตสาหกรรมรับทราบ จึงต้องทำหนังสือเพื่อสอบถามความจริงว่า เรื่องนี้เป็นจริงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ และหากจริง ขอทราบเหตุผลทำไมจึงไม่รายงานเรื่องนี้ให้ อุตสาหกรรมรับทราบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top