'จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด' แจงปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! 70-80% เรื่องค้างอยู่ 'กรมโรงงานฯ' แนะ!! กระจายให้ สอจ.

(25 มี.ค.67) สืบเนื่องจากกรณีแหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า โดยพบว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ (อ่านต่อ >> 'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย : https://thestatestimes.com/public/post/2024032220)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ล่าสุด จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้ขอชี้แจงต่อ รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ไว้ดังนี้...

ตามที่มีข่าว เรื่องการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ล่าช้านั้น ตอนนี้ ทางกระทรวงฯ โดยกองตรวจราชการ (กตร.) ได้รวบรวมสรุปข้อมูลแล้ว ซึ่ง (คาดว่า) ข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปให้ทางท่าน รมว.อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ จะค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นส่วนใหญ่

(ชี้แจงเพิ่มเติม) การอนุญาตโรงงานนั้น กรณี โรงงานตั้งอยู่ใน กทม. ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่วนกรณี โรงงานอยู่ต่างจังหวัด ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งจะมีทั้งกรณีที่ สอจ. สามารถออกใบอนุญาตได้เอง และกรณีที่ สอจ. ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ดังนี้

หากเป็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ประเภท 101,105,106 และโรงงานตามนโยบาย เช่น โรงงานน้ำตาล โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานที่ต้องทำ EIA ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ ประเด็นที่ล่าช้ามาจากการพิจารณาโรงงานประเภท 105 และ 106 หลังจากที่ สอจ. ส่งเรื่องให้ กรอ. แล้ว ทาง กรอ.ใช้เวลาพิจารณานานมาก เวลาหลายเดือน และเมื่อพิจารณาเสร็จ ไปหลายเดือนแล้ว ก็ไม่ได้ออกใบอนุญาต แต่ส่งเรื่องให้แก้ไขเอกสาร หลายโรงงานจะเจอลักษณะแบบนี้

หากเป็นโรงงานทั่วไป เช่น โรงงานผลิตอาหาร, โรงพลาสติก, โรงผลิตชิ้นส่วนโลหะ, โรงงานผลิตสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงงานตามนโนบาย ทาง สอจ. ออกใบอนุญาตได้ เฉพาะโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงานได้ ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า เท่านั้น

หากการออกใบอนุญาตที่มีเครื่องจักร เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย เกิน 600 แรงม้า ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้พิจารณาอนุญาต ซึ่งเรื่องนี้เอง เป็นสาเหตุที่เรื่องค้างอยู่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ และทางโรงงานจะบ่นกันมาก ว่าส่งเรื่องไปแล้วพิจารณานานมาก ใช้เวลาหลายเดือน หรือไม่ก็ส่งเรื่องคืนให้แก้ไขเอกสารหลายรอบมาก ทำให้เรื่องล่าช้า และเป็นข่าวตามที่ทำให้ท่านนายกฯ กับท่าน รมว.อุตสาหกรรม ได้รับทราบแล้ว

(แนวทางแก้ไข) เรื่องที่ค้างอยู่ที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ

(ผมยังไม่เห็นข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปมาให้ แต่โดยส่วนตัว เรื่องน่าจะค้างอยู่ที่ กรอ. รวมทั้งเรื่องที่ กรอ. ส่งเรื่องคืนให้ทางโรงงานแก้ไขเอกสาร เรื่องน่าจะค้างรวมกันที่ กรอ. ประมาณ 70% - 80% ขอย้ำว่าผมยังไม่เห็นข้อมูล แต่ก็คาดว่าข้อมูลน่าจะเป็นไปตามนี้ครับ)

เมื่อเรื่องค้างที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ ผมมีแนวทางแก้ไข ก็คือ เพิ่มอำนาจให้ สอจ. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตมากขึ้นจากเดิม เช่น...

จากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 1,000 แรงม้า

และจากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 2,000 แรงม้า

ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ผมเสนอมานี้ จะเป็นการลดอำนาจการออกใบอนุญาตบางส่วนของ กรอ. มาเพิ่มอำนาจในการออกใบอนุญาตให้ สอจ. และลดขั้นตอนไม่ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. ทำให้ สอจ. มีอำนาจมากขึ้นในการออกใบอนุญาตได้เอง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดจำนวนเรื่องค้างในการออกใบอนุญาตโรงงานได้ และใช้ระยะเวลาในการออกใบอนุญาตได้รวดเร็วกว่าเดิมครับ