Wednesday, 1 May 2024
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำรวจซีอีโอ ส.อ.ท. กังวลต้นทุนพลังงานพุ่ง คาดกดรายได้ลง 20% วอนรัฐลดค่าน้ำ-ไฟ 

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll จากผู้บริหาร ส.อ.ท. 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านั้น มาจากราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง 10-20% และคาดการณ์ว่าแนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมใน 3-6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอีก 10-20%

เปิดความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนม.ค.2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธ.ค. 2564 โดยกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นต้นทุนผู้ประกอบการ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ขยายตัว 

ทั้งนี้ สะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่ไม่ได้ส่งผลรุนแรงในภาคอุตสาหกรรมเรื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีฯ เชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รับอานิสงส์ส่งออกขยายตัว-ใช้จ่ายในประเทศคึกคัก

ดัชนีฯ เชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งออกขยายตัว ใช้จ่ายในประเทศคึกคัก แต่ยังคงระวังต้นทุนการผลิตจากราคาพลังงานที่คงอยู่ระดับสูง

(10 ส.ค. 65) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้องค์ประกอบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น 

ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการลดลงเนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกรกฎาคมจะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,238 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 72.2 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 40.3 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 35.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.7 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 51.8 สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 50.1 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 32.0 ตามลำดับ 

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือนมิถุนายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ไทย มี.ค.66 พุ่งร้อยละ 97.8 อานิสงส์การท่องเที่ยวคึกคัก - การเกษตรเริ่มฟื้นตัว

(19 เม.ย.66) นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2566 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับร้อยละ 97.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวน ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

‘สภาอุตฯ’ เปิด 10 อาชีพตลาดแรงงานต้องการสูงในอนาคต ‘ผู้เชี่ยวชาญ AI - เทคโนโลยีการเงิน - วิเคราะห์ข้อมูล’ เนื้อหอม

(27 ก.ย. 66) รายงานข่าวจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งว่า World Economic Forum เปิดเผยข้อมูล 10 อาชีพด้านเทคโนโลยี ที่จะตอบรับกับความต้องการของตลาดในอนาคตไปจนถึงปี 2570 โดยหลังจากนี้จะเร่งประสานสมาชิก ส.อ.ท ตลอดจนหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาข้อมูล ตลอดจนวางแผน รองรับการความต้องการแรงงานที่จะเกิดขึ้น

โดย 10 อาชีพที่มาแรง ประกอบด้วย

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน
6.นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
7.วิศวกรหุ่นยนต์
8.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
9.ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร
10.ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล จากการที่เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ จะถูกนำเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาชีพ 5 อันดับแรก ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุด ได้แก่

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศ!! พร้อมนั่งประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 หวังเป็นแกนนำหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจของไทย

(29 ก.พ. 67) นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในฐานะเป็นสมาชิกและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าจะลงสมัครตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 ในวาระนี้ (ปี 2567-2569) ถือเป็นอุดมการณ์ที่ต้องการรับใช้ชาติในฐานะภาคเอกชน โดยจะนำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์การทำงานมาช่วยประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในอนาคตจะเห็นส.อ.ท.ทำงานเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่

1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 

2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 

3.ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 

และ 4.นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

"เรื่องนี้เป็นอุดมการณ์ที่ผมมีมาตั้งนานแล้วคืออยากสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ ผมเคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนกระทั่งปัจจุบันทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ต้องการนำเสนอไอเดียที่มีเพื่อให้เกิด Impact มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า ส.อ.ท. คือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับควรอยู่ในเชิงรุก เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ต้องการรับการส่งเสริมสนับสนุนหรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการแล้วยังตอบสนองภาครัฐให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้"

นายสมโภชน์กล่าวอีกว่าจะมีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในอนาคตต่อภาครัฐ อุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะต้องเตรียมแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกทุกมิติ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้ทันกติการะดับสากล ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน

“ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ผมในฐานะสมาชิกและเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือรับประโยชน์ใด ๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงขอเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. เพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยเติบโต อีกทั้งสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง"

นอกจากนี้ คนอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถก็สมัครตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้แก่ภาพรวมของอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานฯ ควรที่จะนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องสร้างความโปร่งใสในการทำงาน เป็นเวทีกลางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และกระจายอำนาจให้แต่ละกลุ่มมาช่วยกันทำงาน

เปิดใจ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ หลังประกาศชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เปิดใจ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำชัด “ประเทศรอไม่ได้” ขออาสาทำงานเพื่อทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศของไทย หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

การเลือกตั้งกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วาระปี 2567-2569 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.2567 โดยกรรมการ ส.อ.ท.ที่ได้รับการเลือกตั้งดังกล่าว รวมกับกรรมการที่ได้รับการเลือกจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด จะมาทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2567-2569 อีกครั้ง

การเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เมื่อ นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอตัวชิงเก้าอี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันนายเกรียงไกร เธียรนุกูล เป็นประธาน ส.อ.ท.วาระ 2565-2567 ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 1 ยังคงเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย 

ทั้งนี้ นายสมโภชน์ ได้เปิดวิสัยทัศน์ และเปิดใจในการประกาศชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท.คนที่ 17 เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า การเสนอตัวชิงตำแหน่งในครั้งนี้ เป็นอุดมการณ์ที่มีมาตั้งนานแล้วคืออยากสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ ต้องการรับใช้ชาติในฐานะภาคเอกชน โดยจะนำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์การทำงานมาช่วยประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะสมาชิกและรองประธาน ส.อ.ท. ได้ทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือรับประโยชน์ใด ๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงขอเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. เพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยเติบโต อีกทั้งสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ หากได้รับเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ นายสมโภชน์ ย้ำว่า ในอนาคตจะเห็น ส.อ.ท. ทำงานเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการคือ 1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3.ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า และ 4.นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

“ผมเคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจนกระทั่งปัจจุบันทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ต้องการนำเสนอไอเดียที่มีเพื่อให้เกิด Impact มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า ส.อ.ท. คือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับควรอยู่ในเชิงรุก เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ต้องการรับการส่งเสริมสนับสนุนหรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการแล้วยังตอบสนองภาครัฐให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้”

ส่วนเหตุผลที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่รอรับไม้ต่อจากนายเกรียงไกร ที่จะนั่งในตำแหน่งนี้อีก 2 ปี ในวาระที่ 2 นายสมโภชน์ ได้ชี้แจงว่า โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยรอไม่ได้ ภาระหนี้ครัวเรือน การลงทุนไม่เข้า ถ้ารออีก 2 ปี เปรียบเหมือนคนที่เป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ก็อาจจะรอได้แต่ถ้าเป็นขั้นที่ 4 หากรอก็อาจจะแก้ไม่ได้แล้ว แม้ว่าในขณะนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็ถือว่าอยู่ในขั้นป่วย

นายสมโภชน์ ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ บางอุตสาหกรรมเดิมแข่งขันไม่ได้ มีบางอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่ง จึงจะเป็นสะพานเชื่อมหลายอุตสาหกรรมมารวมกันใครเดือดร้อนต้องช่วยกัน เพื่อให้เป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมกับประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม คนไหนเดือดร้อนก็ช่วย คนไหนแข็งแรงก็ทำให้ดีขึ้นเพื่อให้ฝนตกทั่วฟ้า จึงต้องการเดินไปข้างหน้าด้วยนโยบายและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน พร้อมผสานความเป็นปึกแผ่นเพื่อมองไปข้างหน้าด้วยกัน พร้อมทั้งทำงานกับทางรัฐบาลอย่างแนบแน่นเป็นทีมไทยแลนด์อย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับประเด็นที่อาจจะมีคนมองว่า การลงสมัครเลือกตั้งเกิดจากความขัดแย้งนั้น นายสมโภชน์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งแต่อย่างใด เพียงแต่ตนต้องการใช้โอกาสนี้เสนอไอเดียที่สร้างสรรค์ เพราะประเทศวันนี้รอไม่ได้ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดี จึงอยากเสนอตัวมาช่วยทำงาน โดยจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกทุกคนเป็นพี่น้องกันหมด และพร้อมจะซัปพอร์ตสมาชิกทุกคนทั้งที่เลือกและไม่เลือก ขณะเดียวกันก็ยังเคารพคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เหมือนเดิม

นายสมโภชน์ กล่าวอีกว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท. พร้อมจะเป็นแกนกลางในการประสานการทำงานระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อตกผนึกแนวคิดในการทำงาน และนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในอนาคตต่อภาครัฐ อุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะต้องเตรียมแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกทุกมิติ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้ทันกติการะดับสากล ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน

“หากผมได้รับการเลือกตั้ง สิ่งแรกที่จะทำก็คือการเซ็ตซีโร่ จะไม่มีการแบ่งกลุ่ม แต่จะชักชวนสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันทำงาน เพื่อเพื่อนสมาชิกและพร้อมให้สมาชิกตรวจสอบการทำงานในทุกด้าน แต่ถ้าไม่ได้รับเลือก ก็ยังพร้อมที่จะทำงานเพื่อสมาชิกต่อไป ยิ่งไอเดียที่ผมได้เสนอไปมีคนนำไปสานต่อก็จะยินดีมาก เพราะชัยชนะสำหรับผมคือการที่แนวคิดของผมได้รับการยอมรับและถูกนำเอาไปทำ โดยที่ผมอาจจะไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเกิดได้โดยที่ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย หากเพื่อนสมาชิกเห็นว่าใครเหมาะสมกว่าที่พร้อมจะทำงานตรงนี้ ถึงจะไม่ใช่ผมแต่ผมก็พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานเช่นเดิม”

นายสมโภชน์ ยังกล่าวด้วยว่า หากได้เข้ามารับตำแหน่งก็จะฟังจากสมาชิกก่อนและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าประเด็นใดเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องการให้มีการแก้ไข ก่อนที่จะสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนำเสนอสู่ภาครัฐต่อไป โดยไม่เน้นเฉพาะเรื่องพลังงานเท่านั้น เพราะตอนนี้ไทยต้องเจอทั้งปัญหาเรื่องการลงทุนโดยตรงไม่เข้าประเทศและประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นระยะเวลายาวนาน 6 ปีที่ผ่านมา 

ในส่วนของนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วน ที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเราติดกับดักการสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากจนมีกำลังไฟสำรองเกินความจำเป็น ทำให้ไม่สามารถที่จะไปลดต้นทุนที่เป็น Fixed cost ได้ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกภาระค่าไฟเพิ่มขึ้น

แนวทางที่จะแก้ไขไม่ใช่เพียงการไปลดค่าไฟ เพราะนั่นก็จะไปกระทบกับผู้ผลิตไฟฟ้า แต่วิธีการเดียวก็คือการทำให้คนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งจะทำอย่างไรในเมื่ออุตสาหกรรมก็เท่าเดิมประชาชนก็ใช้เท่าเดิม คำตอบก็คือเราต้องหาคนใช้ไฟฟ้าใหม่ ลูกค้าใหม่ก็คือรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV

“การที่เราเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถ EV จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น และเรามีกำลังไฟฟ้าสำรองเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ได้ทำให้มีราคาถูกลงและอุตสาหกรรมก็ไม่มีใครเสียหาย แน่นอนว่าแนวคิดนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ปัญหาค่าไฟแพง แต่ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและนำพาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม นายสมโภชน์ ยังบอกด้วยว่า คนอื่นๆที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถก็สมัครตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมได้เช่นกัน เพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้แก่ภาพรวมของอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานฯ ควรที่จะนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องสร้างความโปร่งใสในการทำงาน เป็นเวทีกลางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และกระจายอำนาจให้แต่ละกลุ่มมาช่วยกันทำงาน

สำหรับประวัติ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา, วิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมพลังงานทดแทนสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท ทีเอสท์ โปรดักส์ จำกัด, กรรมการบริษัท อีเทอนิตี้ โฮลดิง จำกัด, คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ด้านพัฒนาองค์กร

จากข้อมูลนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับประเทศไทย พ.ศ. 2566 นายสมโภชน์ติดอยู่ในรายชื่อมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในประเทศไทยอันดับที่ 9 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.04 แสนล้านบาท (3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

'จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด' แจงปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! 70-80% เรื่องค้างอยู่ 'กรมโรงงานฯ' แนะ!! กระจายให้ สอจ.

(25 มี.ค.67) สืบเนื่องจากกรณีแหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า โดยพบว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ (อ่านต่อ >> 'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย : https://thestatestimes.com/public/post/2024032220)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ล่าสุด จนท.อุตสาหกรรมจังหวัด ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้ขอชี้แจงต่อ รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ไว้ดังนี้...

ตามที่มีข่าว เรื่องการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ล่าช้านั้น ตอนนี้ ทางกระทรวงฯ โดยกองตรวจราชการ (กตร.) ได้รวบรวมสรุปข้อมูลแล้ว ซึ่ง (คาดว่า) ข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปให้ทางท่าน รมว.อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ จะค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นส่วนใหญ่

(ชี้แจงเพิ่มเติม) การอนุญาตโรงงานนั้น กรณี โรงงานตั้งอยู่ใน กทม. ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่วนกรณี โรงงานอยู่ต่างจังหวัด ทางโรงงานจะต้องยื่นเรื่องที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งจะมีทั้งกรณีที่ สอจ. สามารถออกใบอนุญาตได้เอง และกรณีที่ สอจ. ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ดังนี้

หากเป็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ประเภท 101,105,106 และโรงงานตามนโยบาย เช่น โรงงานน้ำตาล โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานที่ต้องทำ EIA ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ ประเด็นที่ล่าช้ามาจากการพิจารณาโรงงานประเภท 105 และ 106 หลังจากที่ สอจ. ส่งเรื่องให้ กรอ. แล้ว ทาง กรอ.ใช้เวลาพิจารณานานมาก เวลาหลายเดือน และเมื่อพิจารณาเสร็จ ไปหลายเดือนแล้ว ก็ไม่ได้ออกใบอนุญาต แต่ส่งเรื่องให้แก้ไขเอกสาร หลายโรงงานจะเจอลักษณะแบบนี้

หากเป็นโรงงานทั่วไป เช่น โรงงานผลิตอาหาร, โรงพลาสติก, โรงผลิตชิ้นส่วนโลหะ, โรงงานผลิตสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงงานตามนโนบาย ทาง สอจ. ออกใบอนุญาตได้ เฉพาะโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงานได้ ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า เท่านั้น

หากการออกใบอนุญาตที่มีเครื่องจักร เกิน 500 แรงม้า และออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย เกิน 600 แรงม้า ทาง สอจ. จะต้องส่งเรื่องให้ กรอ. เป็นผู้พิจารณาอนุญาต ซึ่งเรื่องนี้เอง เป็นสาเหตุที่เรื่องค้างอยู่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ และทางโรงงานจะบ่นกันมาก ว่าส่งเรื่องไปแล้วพิจารณานานมาก ใช้เวลาหลายเดือน หรือไม่ก็ส่งเรื่องคืนให้แก้ไขเอกสารหลายรอบมาก ทำให้เรื่องล่าช้า และเป็นข่าวตามที่ทำให้ท่านนายกฯ กับท่าน รมว.อุตสาหกรรม ได้รับทราบแล้ว

(แนวทางแก้ไข) เรื่องที่ค้างอยู่ที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ

(ผมยังไม่เห็นข้อมูลที่ทาง กตร. จะสรุปมาให้ แต่โดยส่วนตัว เรื่องน่าจะค้างอยู่ที่ กรอ. รวมทั้งเรื่องที่ กรอ. ส่งเรื่องคืนให้ทางโรงงานแก้ไขเอกสาร เรื่องน่าจะค้างรวมกันที่ กรอ. ประมาณ 70% - 80% ขอย้ำว่าผมยังไม่เห็นข้อมูล แต่ก็คาดว่าข้อมูลน่าจะเป็นไปตามนี้ครับ)

เมื่อเรื่องค้างที่ กรอ. ค่อนข้างเยอะ ผมมีแนวทางแก้ไข ก็คือ เพิ่มอำนาจให้ สอจ. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตมากขึ้นจากเดิม เช่น...

จากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตโรงงานที่มีเครื่องจักร ไม่เกิน 500 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 1,000 แรงม้า

และจากเดิม สอจ. มีอำนาจออกใบอนุญาตขยายโรงงาน ที่มีเครื่องจักรเดิมรวมส่วนขยาย ไม่เกิน 600 แรงม้า ก็เพิ่มอำนาจให้ สอจ. เป็นไม่เกิน 2,000 แรงม้า

ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่ผมเสนอมานี้ จะเป็นการลดอำนาจการออกใบอนุญาตบางส่วนของ กรอ. มาเพิ่มอำนาจในการออกใบอนุญาตให้ สอจ. และลดขั้นตอนไม่ต้องส่งเรื่องให้ กรอ. ทำให้ สอจ. มีอำนาจมากขึ้นในการออกใบอนุญาตได้เอง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดจำนวนเรื่องค้างในการออกใบอนุญาตโรงงานได้ และใช้ระยะเวลาในการออกใบอนุญาตได้รวดเร็วกว่าเดิมครับ

‘ส.อ.ท.’ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา ‘กากแคดเมียม’ ย้ำ!! ต้องได้มาตรฐานเพื่อ ‘การผลิต-การบริโภค’ ที่ยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกหนังสือข้อเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหา ‘กากแคดเมียม’ อย่างยั่งยืน และมีมาตรฐานที่ปลอดภัย โดยได้ระบุว่า ...

1.ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก) มีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 โดยได้มีการดำเนินงานดังนี้

ในกรณีนี้มีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว มีการขนกากแคดเมียมจากโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตราย (Hazardous waste) ของโรงงานต้นทางไปยังปลายทาง โรงงาน 106 ที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออะลูมิเนียม ที่จังหวัดสมุทรสาคร (ผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) จำนวน 13,xxx ตัน

ซึ่งในกรณีที่ของเสียยังไม่ได้รับการบำบัดกำจัดแล้วเสร็จ ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator–WG) จึงยังมีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566

ตามรายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสี จังหวัดตาก ได้ระบุว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายให้ฝังกลบแบบถาวร

2.ผู้รับบำบัดจำกัด (โรงงานประเภท 106) และรับหลอมหล่ออะลูมิเนียม (โรงงานประเภท 60) จังหวัดสมุทรสาคร

2.1 กากของเสียต้องมีการจัดการตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องทำ Mass Balance เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดทำ Mass Balance ควรจะต้องมีระบบรายงานที่ทันเหตุการณ์มากกว่าระบบ offline ดังเช่นในปัจจุบัน

2.2 ในทางกฎหมาย ร้านค้าของเก่าไม่สามารถรับของเสียอันตรายจาก โรงงาน 106 ได้ ในกรณีนี้เกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับของเสียอันตรายที่ถูกต้อง และการกำกับดูแลร้านค้าของเก่าที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น

2.3 นักลงทุนต่างประเทศ นำกากของเสียฯ นี้ไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นโรงงาน กรณีนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายเรื่องนอกจากเรื่อง กากแคดเมียม ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านค้าของเก่าในข้อ 2.2

2.4 ในมุมของ 'การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG)' ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องตระหนักและยึดหลัก Corporate Governance: CG ในการปฏิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้มีประสิทธิภาพขึ้น

3.มาตรการของ ส.อ.ท. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว

จากบทเรียนนี้ประเด็นสำคัญ คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator–WG) มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) ที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน

3.1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาตรฐานและมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมสามารถแยกแยะผู้ประกอบการโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น

ปัจจุบันมีโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor แล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง

ภายในปี 2568 โรงงาน 101, 105 และ 106 ที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 76 แห่ง) และโรงงาน 101, 105 และ 106 ในนิคมอุตสาหกรรม จะเข้าสู่ระบบนี้ทั้งหมด ซึ่งเกินกว่า 80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาดปัจจุบัน จะทำให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียสามารถคัดเลือกโรงงานปลายทางที่เป็นผู้รับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก

นอกจากนี้ ส.อ.ท. และ กนอ. ได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร (SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมประกาศเจตนารมณ์การสนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้สอดคล้องนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)

3.2 สนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อรวมศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ

เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลาง การพัฒนา สื่อสาร การส่งเสริมและการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ

ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้

ช่วยลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้อีกมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์การจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

3.3 ผลักดันการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End of Waste) คือ (1) เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ (2) มีตลาดหรือความต้องการใช้ (3) เป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด และ (4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top