'ปุ้ย พิมพ์ภัทรา' รมว.อุตสาหกรรม หญิงเก่งจากรวมไทยสร้างชาติ  ล่าผลงานแบบ ท.ท.ท. (ทำทันที) เคลียร์แคดเมียมไวจนอุ่นใจ

หลังจากเกิดกรณีตรวจพบกากแคดเมียมที่ควรจะถูกฝังปิดถาวรในจังหวัดตาก แต่กลับถูกลักลอบขุดขึ้นมาและมีการเคลื่อนย้ายออกมาจำนวนกว่า 13,000 ตัน โดยมีการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมดังกล่าวในโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การกุมบังเหียนของ 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการโดยทันที

แคดเมียม (Cadmium: สูตรทางเคมี Cd) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมในหลากหลายด้าน อาทิ ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่างๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก (แคดเมียม-นิกเกิล แบตเตอรี่) เป็นต้น

แคดเมียมยังพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลตามมา สามารถพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ รวมทั้งพบแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคารอีกด้วย ทั้งนี้แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้...

- ทางผิวหนังผ่านการสัมผัส
- ทางจมูก ด้วยการหายใจ สูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไปในร่างกาย
- ทางปากด้วยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน

ทำไมแคดเมียมจึงน่ากลัว? เพราะผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการรับเอาแคดเมียมเข้าไปในร่างกายมีดังนี้...

- พิษเฉียบพลัน : พบในกรณีหายใจเอาไอระเหยของแคดเมียมเข้าไป ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก
- พิษเรื้อรัง : การได้รับสารแคดเมียมเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเป็นพิษของไต กระดูก และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด หากสัมผัสสารนี้มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง รวมทั้ง มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- พิษต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ 
- พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต–อิไต (Itai-itai disease) โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย 

นอกจากนี้ แคดเมียมยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

แม้แคดเมียมจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยความนิยมในการใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักพลังงานไฟฟ้า แต่ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ผู้ประกอบการที่ไร้จิตสำนึก แล้วเอาเปรียบสังคมด้วยการลักลอบขุดเอากากแคดเมียมที่ได้รับการฝังกลบแล้วขึ้นมาจำหน่ายและขนย้ายโดยผิดกฎหมาย หากแต่ผู้ประกอบการที่ครอบครองกากแคดเมียมต้องการขุดออกเอากากแคดเมียมที่ได้รับการฝังกลบแล้วออกมาจำหน่ายจริงๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่การนำกากแคดเมียมใส่ถุงขนาดใหญ่ (Big bag) แล้วขนย้ายเช่นนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้เกิด สิ่งที่ทำให้คนไทยพออุ่นใจได้ คือ การที่รัฐมนตรี 'ปุ้ย พิมพ์ภัทรา' เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม เร่งสั่งการให้ดำเนินการจัดการกับกากแคดเมียมที่ถูกลักลอบขนย้ายนำออกมาอย่างรวดเร็ว แบบไม่สนหน้าอิฐหน้าพรมหรือทุนใหญ่เล็กแค่ไหน ด้วยการสั่งให้ย้ายกากแคดเมียมทั้งหมดกลับไปยังแหล่งฝังกลบต้นทางเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว แถมเธอยังสั่งการให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม 

นอกจากนี้ จากกรณีที่เกิดขึ้นเชื่อว่า รมว.ปุ้ย และคณะทำงานจะนำไปเป็นกรณีศึกษาในการดำเนินการจัดการกับปัญหาของเสีย กาก และขยะอุตสาหกรรม ฯลฯ ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปด้วย


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES