Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' กางผลลัพธ์ส่งออก 'ฮาลาลไทย' แตะ 216,698 ล้านบาท โต 2.6% เชื่อ!! ยังไปได้อีกไกล หลัง 'ก.อุตฯ' เปิดฉากรุกตลาดกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง

(27 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร, นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร, นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยแก่คณะรัฐมนตรี ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาลหวังส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรม ฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก

ทั้งนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยพร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล และมุ่งหวังการส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยรูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยการจัดคูหาเพื่อแสดงตัวอย่างแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องนุ่งหุ่ม, เสื้อผ้ามุสลิม, การจัดแสดงสาธิตการทำอาหาร 'เนื้อไทยแองกัสสิชล ฮาลาล ย่างซอสคั่วกลิ้งและใบเหลียงผัดกระเทียม' โดยเชฟชุมพล (นายชุมพล แจ้งไพร) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การจัดแสดงอาหารบนเครื่องบินจาก TG Inflight Catering Halal Food Center โดย ครัวการบิน การบินไทย รวมถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center)

‘รมว.ปุ้ย’ นำ ‘นายกฯ เศรษฐา’ ดูบูธผลิตภัณฑ์ฮาลาล ชื่นชม!! เสื้อผ้า-อาหารว่างแปรรูป แนะต่อยอดสู่ออนไลน์

(27 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ชมบูธผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล กระทรวงอุตสาหกรรม มี น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นำคณะประชาสัมพันธ์แนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาล 

โดยนายกฯ สนใจสอบถามเรื่องของแฟชั่นเครื่องแต่งกาย พร้อมแนะนำให้เปิดตลาดทางออนไลน์ และปรับปรุงการออกแบบดีไซน์ให้ทันสมัย จากนั้นได้ชมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ที่แปรรูปเป็นอาหารว่าง อาทิ ข้าวเกรียบปลากรือโป๊ะ มันฝรั่งทอด ทูน่าหยอง และชมการสาธิตการปรุงอาหารจากเนื้อแองกัส สายพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองสิชล จ.นครศรีธรรมราช กับสายพันธุ์ต่างประเทศ โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ย่างสเต็กเนื้อซอสคั่วกลิ้งฮาลาล เป็นการผสมผสานอาหารพื้นถิ่นมาเป็นเมนูใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างเยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล นายกฯ สนใจสอบถาม ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาเป็นอาหารว่าง 

‘รมว.ปุ้ย’ ปลดล็อก ‘Solar Rooftop’ ช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ฟาก ‘กรมโรงงานฯ’ ขานรับ!! เร่งแปลงเครื่องจักรเป็นเงินทุน

(1 มี.ค.67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ขานรับนโยบาย ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกให้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก 

กรอ. เตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Rooftop ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs โดยผู้ประกอบการสามารถนำ Solar Rooftop เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ อีกทั้งผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop สามารถนำโครงการไปขอสินเชื่อสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop จากสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำนวน 169 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพิ่มขึ้นกว่า 100%

นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ. ดำเนินโครงการ ‘เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มการผลิต การลดต้นทุนด้านพลังงาน การลดต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทน โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2559 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,998 ราย และมีเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนแล้วไม่น้อยกว่า 12,500 เครื่อง

“ผมขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ นำ Solar Rooftop เครื่องจักรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเครื่องจักรในธุรกิจอื่น อาทิ สวนสนุก ฟาร์ม โรงพยาบาล เป็นต้น มาจดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โดยสามารถตรวจสอบรายการเครื่องจักรที่สามารถจดทะเบียนได้ที่ https://www5.diw.go.th/mac/macregist/ หรือสอบถามสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02 430 6317 ต่อ 2600 

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มช่องทางการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านระบบจดทะเบียนเครื่องจักรออนไลน์ https://omr.diw.go.th/OMR/ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และคาดว่าในปี 2567 จะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จดทะเบียนเครื่องจักร จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 เครื่อง และมีมูลค่าการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' เร่งผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แบบไร้รอยต่อ ลั่น!! ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกด้านอย่างเต็มศักยภาพ

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม อาทิ การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นต้น โดยในขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีนักลงทุนมากมายให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ 

แต่ในขณะเดียวกันการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนตกลงเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประสบปัญหาดังที่กล่าวถึง กระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงประเด็นปัญหาความต้องการจากภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมทั้งเป็นแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ตรงจุดและตรงต่อความต้องการ

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ปัญหาต้นทุนการเงินที่สูง ปัญหาจากมาตรการความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

รวมถึงมาตรการและนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการต่ออายุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ (CKD) และการกำหนดคำนิยามของวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น Local Content ในระบบราง เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลัก ตามข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย...

1) การพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการลดการปล่อย CO2 เพื่อรองรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

2) การส่งเสริม สนับสนุน และปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่นตามที่ผู้ประกอบการได้เสนอมา เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วน Aftermarket การผลิตชิ้นส่วนทดแทน (REM) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการบิน และระบบราง เป็นต้น

3) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทาง SME D Bank และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสนับสนุนการค้ำประกันผ่านโครงการติดปีก SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ดีพร้อมค้ำประกันให้ 

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการต่อไป

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการหารือกับทางกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการคิดอัตราอากรขาเข้าของอุตสาหกรรมส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสร่วมหารือ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น โดยมีแนวทางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น...

1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจากยานยนต์ 
2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต 
3) การลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle) 
และ 4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมทั้ง เสนอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาให้ไทยเป็นแหล่งสุดท้ายในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (Last man standing) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI มีความเห็นพ้องกับแนวทางนี้เช่นกัน 

'รมว.ปุ้ย' เดินหน้า 'Green Win' วินสองล้อพลังงานสะอาดพิฆาตฝุ่นพิษ นำร่อง กทม. ก่อนขยายผลต่อทั่วประเทศ ด้าน ก.อุตฯ หนุนเต็มที่

(3 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการ Green Win เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ระหว่างสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย โดยนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมฯ กับ บริษัท สตรอมไทยแลนด์ จำกัด และ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกภัทร วังสุวรรณ, นายบรรจง สุกรีฑา, นายใบน้อย สุวรรณชาตรี, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง อก.1 ชั้น 2 และ ห้องโถง ชั้น 1 และอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่ทุกคนได้ร่วมมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางออกและร่วมกันแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และนี่คือโอกาสที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องร่วมกันพัฒนาในทิศทางพลังงานสะอาด เนื่องจากการใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงการขนส่งและการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดสู่การใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำหรับทางเลือกของผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้างไม่เฉพาะใน กทม.เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลไปได้ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน 

“การทำให้อากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 ตั้งเป้าผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ การส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรฐาน EV3 และ EV3.5) การกำหนดมาตรฐานการใช้งานและความปลอดภัย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำของการพัฒนาสู่การเปลี่ยนผ่านในภูมิภาคนี้ ด้วยการเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาดเพื่อส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้กับลูกหลานต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมกันสนับสนุน 'โครงการ Green Win' (วินเขียว กทม.) เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 และสร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการสำเร็จและเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! รัฐหนุนเต็มที่ ลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย ต่อเนื่องภารกิจ ดันไทยฮับผลิตแบตฯ อีวีแห่งอาเซียน

(4 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้คณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ เพื่อรับทราบแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างซัพพลายเชนเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า...

รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนไทย, ญี่ปุ่น, จีน และยุโรป เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีมาตรการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการ EV3 อีกด้วย 

ส่วนการสร้าง Supply Chain ของแบตเตอรี่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเอื้อต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการหารือทราบว่าบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำลังวางแผนหาพาร์ตเนอร์และแหล่งผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายคือพัฒนาบริษัทในพื้นที่และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรักษามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้เปิดตัวสายการผลิตและในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดการอบรมนักศึกษาไทยให้เรียนรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงอยากให้มั่นใจว่านโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมาตรการสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ทดสอบ และการรีไซเคิล

“วันนี้ ประเทศไทยเรามีความน่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังได้ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการดูแลทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ชู!! 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ขจัดอุปสรรคผู้ประกอบการ-หนุนฮาลาล กรุยทางเข้าถึง 'เงินทุน-สร้างบริการใหม่' คิกออฟแล้วกับกลุ่มโคเนื้อชุมพร

'รมว.พิมพ์ภัทรา' เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก เร่งเครื่อง 'อาเซียน ฮาลาล ฮับ' (ASEAN Halal Hub) ชูกลไกบูรณาการใช้ศักยภาพหน่วยงานภายใต้สังกัด เชื่อมต่อจุดเด่นวัตถุดิบและการผลิตในพื้นที่ ปลื้ม!! โมเดลความสำเร็จ ดีพร้อม จับมือ SME D Bank ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) พร้อมชู 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หนุนโรงแปรรูปเนื้อโคมาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจฮาลาลและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้กว่า 10,000 ล้านบาท และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 24,000 ล้านบาท

(5 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ให้แก่ บริษัท ดี แอนด์ แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อโค มาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ ว่า จากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การผลักดันของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ 'อาเซียน ฮาลาล ฮับ' (ASEAN Halal Hub) นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยใช้กลไกในการนำศักยภาพของหน่วยงานภายใต้สังกัดมาบูรณาการการทำงานควบคู่กับใช้จุดเด่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมาต่อยอด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและศักยภาพการผลิตอาหาร จึงเหมาะแก่การผลักดันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเร่งผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่อาเซียนฮาลาลฮับของรัฐบาล

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม และ SME D Bank เร่งบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ด้วยการสนับสนุนบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด และกลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชุมพร และใกล้เคียงให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ โดยได้นำแนวทาง 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ขจัดขั้นตอนการทำงานที่เป็นอุปสรรคควบคู่กับการสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาธุรกิจได้ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ติดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ด้วยศักยภาพและโอกาสเติบโตของธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้การสนับสนุนเพื่อเข้าถึงเงินทุนสำเร็จผ่านโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง วงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายนี้ มีเงินไปลงทุนขยายกิจการ และหาก บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผลิตได้เต็มกำลังการผลิตแล้ว คาดว่าจะสร้างยอดขายได้กว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี และสามารถรับซื้อโคจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 24,000 ล้านบาท รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.ชุมพร และระนอง เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้รับมอบหมายให้รับฟังแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พบว่า บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด จ.ชุมพร มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและสามารถเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยได้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความต้องการขอรับการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ ดังนั้น ดีพร้อม จึงได้นำเรียน รมว.พิมพ์ภัทรา เพื่อทราบถึงความต้องการดังกล่าวของบริษัท โดย รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้ ดีพร้อม บูรณาการความร่วมมือกับ SME D Bank และสถาบันการเงินต่าง ๆ ผ่านกลไกการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Financial Inclusion) ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ด้วยการเร่งพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในวงเงิน 10 ล้านบาท และช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้และทั่วประเทศให้สามารถสร้างยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมทั้งต่อยอดและพัฒนาธุรกิจโคแปรรูปฮาลาลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการส่งเสริมและผลักดันศักยภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานฮาลาล รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานฮาลาลและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพของผู้ประกอบการโคในพื้นที่และการสร้างแบรนด์เนื้อโคคุณภาพของภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวเพิ่มเติมว่า SME D Bank พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตยั่งยืนด้วยกระบวนการ 'เติมทุนคู่พัฒนา' โดยด้าน 'การเงิน' จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่ด้าน 'การพัฒนา' ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไว้ในจุดเดียว รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้น ผ่านแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

'กระทรวงอุตฯ' ขานรับ!! กระแสธุรกิจ Wellness & Medical บูม เร่งยกระดับ 'ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' ภาคใต้ฝั่งอันดามันเต็มสูบ

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้ประกอบการภาคใต้ฝั่งอันดามันผ่านหลักสูตร Digital Literacy เร่งยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ พร้อมคัดเลือกต้นแบบความสำเร็จ 10 กิจการ สร้างความพร้อมด้านการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ คาดภายใน 1 ปี จะสามารถสร้างยอดขายและรายได้โดยรวมให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

(6 มี.ค.67) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังที่ได้รับมอบหมายจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นประธาน เปิดงานกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพ ด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SME ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ว่า...

ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างจริงจัง และรัฐบาลมีแนวทางนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาด้านดิจิทัล และการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากทักษะความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพไปจนถึงทักษะทางเทคนิคและทักษะการบูรณาการ อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาประยุกต์ปรับใช้และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ หรือ Medical Hub ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนเป็นอันดับ 8 ของโลก สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และคาดว่าใน 4 ปีข้างหน้านี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจ Medical Tourism และ Wellness Tourism ของประเทศไทยที่จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการด้วย Digital Marketing จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผลักดันและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผ่านการจัดงานการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SMEs ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำองค์ความรู้และทักษะด้านการตลาดออนไลน์ไปปรับใช้กับธุรกิจและทำให้มีช่องทางขายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยการจัดทำสื่อดิจิทัลสำหรับการสื่อสารประชาสัมพันธ์การทำตลาดผ่านช่องทาง Online & Offline Platforms เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ร่วมกับ บริษัท ไทยคิงดอม แอดไวเซอร์ จำกัด และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำ Website : www.andamandigitalwellness.com เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทำการตลาด นำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบ Sale Page ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบความสำเร็จ จำนวน 10 กิจการ ให้มีความพร้อมในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เปิดกว้างสู่สากล

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 ปีจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ไปใช้ต่อยอดธุรกิจ และสามารถสร้างยอดขาย มีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

'รมว.ปุ้ย' ยกย่อง!! หลากองค์กรไทยในเวทีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ 66 ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชูศักยภาพทางการแข่งขันให้โลกได้ประจักษ์

(7 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานใน 'พิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566' ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เพื่อมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีให้แก่ 10 องค์กรไทยที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ นำโดย กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ผู้คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand  Quality Award) ตามด้วยองค์กรจากหลายภาคส่วน ที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น (Thailand Quality Class Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class)

พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และนายสุวรรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี

ทั้งนี้ รมว.พิมพ์ภัทรา ได้กล่าวชื่นชมองค์กรไทยและเผยถึงความสำคัญของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมชูศักยภาพทางการแข่งขันขององค์กรไทยในระดับโลก 

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมาตรฐานของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันและยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย ภารกิจสำคัญนี้ต้องอาศัยการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วน เพื่อช่วยยกระดับสังคมไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่ความยั่งยืน สามารถต่อสู้กับทุกความท้าทาย กล้าเผชิญความเปลี่ยนแปลง พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน” 

ตามด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการจัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ โดยองค์กรเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรไทยในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานจัดการองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ  

ปีนี้ นับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัล TQA Leadership Excellence Award แก่ผู้บริหารสูงสุด ขององค์กรที่เคยได้รับรางวัล TQA หรือ TQC Plus จำนวน 21 องค์กร เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้บริหารองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นให้องค์กรทุกภาคส่วนในประเทศไทย ด้วยการเผยแพร่ความรู้ในฐานะองค์กรต้นแบบที่เป็นเลิศ ส่งผลให้เกิดการขยายองค์ความรู้ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ  

ทั้งยังเป็นที่น่าภูมิใจ ที่องค์กรไทยได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล Global Performance Excellence Award (GPEA) ในระดับ World Class ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำทางธุรกิจและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (TQA winner 2022) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (TQA winner 2021)” 

นายสุวรรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ ร่วมกล่าวถึงเป้าหมายของพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติและผลักดันองค์กรไทย ให้มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลโดย นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) 1 องค์กร รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น (TQC Plus) 3 องค์กร และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) 6 องค์กร รวมทั้งสิ้น 10 องค์กร 

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ‘ก.อุตฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีไฟไหม้โกดังลักลอบเก็บสารเคมี อยุธยา พร้อมสั่งลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่ลักลอบเก็บในโกดัง อ.ภาชี จ.อยุธยา ทั้งในส่วนของการนำของเสียไปกำจัดบำบัด บทลงโทษ การเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า...

นับตั้งแต่กระทรวงฯ ตรวจพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในโกดังและบริเวณโดยรอบพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยึดอายัดของเสียอันตรายในโกดังดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งยึดอายัดรถบรรทุกและรถแบคโฮที่ใช้ในการลักลอบขนถ่ายของเสียอันตรายไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินคดี และสั่งการเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่ง และผู้ลักลอบนำของเสียอันตรายมาเก็บไว้ที่โกดังดังกล่าว อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานของบริษัทเอกชนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเมื่อปี 2566

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโกดังหลังที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 โกดัง มีของเสียอันตรายถูกเพลิงไหม้จำนวน 13 กระบะ และรถบรรทุกของกลางถูกเพลิงไหม้จำนวน 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยภายหลังจากการควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังจุดความร้อนและตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีค่าไม่เกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่าต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าว มีความมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้พบหลักฐาน เช่น ขวดและถังใส่น้ำมัน พร้อมธูปและระเบิดปิงปองในพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีผู้ไม่หวังดีกระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของของเสียอันตรายไม่ให้มีการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในทันที จากนั้นจะทำการจำแนกของเสียทั้งหมด เพื่อนำของเสียอันตรายในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้และของเสียที่มีการรั่วไหลหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

สำหรับการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายที่เหลือทั้งหมดในโกดังและพื้นที่โดยรอบ และการทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำของเสียอันตรายทั้งหมดที่เหลือไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดคืนจากบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อไป

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานทั้งระบบ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับปรับแก้กฎหมายโดยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้รับการกำจัดบำบัดจนแล้วเสร็จ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเร่งปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงานในหลายประเด็น  ได้แก่...

(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีการจำคุกและการปรับในอัตราสูง แก่ผู้ที่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อายุความในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่กระทำผิด 

(2) การเพิ่มฐานอำนาจให้สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานแม้จะมีผลให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่การสิ้นสภาพการเป็นโรงงานจะทำให้ไม่สามารถถูกสั่งการตามกฎหมายโรงงานได้อีกต่อไป 

และ (3) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการแพร่กระจายของมลพิษโดยเร่งด่วนได้ ตลอดจนป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในทันที จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  

“ในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ดิฉันมีความห่วงใยพี่น้อง และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดชุดเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top