Sunday, 5 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

หักปากกาเซียน!! 'ตุ๋ย-ปุ้ย' ควงอันดับกระทรวงงบฯ น้อยสุด สวนทางผลงาน 6 เดือนเข้าตา ช่วยย้ำ!! งบต่ำแต่โต ถ้าตั้งใจ

พลันเมื่อตัวเลขงบประมาณ 2567 ของประเทศไทยออกมาแล้วปรากฏว่า สองกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (ตั้งแต่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566) ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นสองกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

'กระทรวงพลังงาน' ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 'รองตุ๋ย' พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีพันธกิจสำคัญ คือ...

1) จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม 

2) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

3) กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย 

4) ส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

และ 5) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน และเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสธุรกิจพลังงานในอนาคต ด้วยการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ทว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรหนนี้ น้อยที่สุดเพียง 1,856 ล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของประเทศซึ่งเป็นต้นทุนและปัจจัยที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าของธุรกิจพลังงานในประเทศมีมูลค่าปีละราวสองล้านล้านบาท มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัด 6 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 2 หน่วยงาน และอีก 1 หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ถึงกระนั้น หากไล่ทวนผลงานของกระทรวงพลังงานภายใต้ 'รองตุ๋ย' จะพบว่า การออกมาตรการแบบเข้มข้นในช่วง 6 เดือนแรก ได้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยแบบทันทีทันใด ดังนี้...

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง มีการออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มีการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุกด้วยความร่วมมือจาก ปตท.

ข้ามมาทางฟาก 'กระทรวงอุตสาหกรรม' ซึ่งได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ราว 4.5 พันล้านบาทนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิงแกร่ง 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการสตรีคนที่ 2 ของกระทรวงแห่งนี้ 

จะว่าไปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ อาจจะเทไปในเชิงรับเสียมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรภาครัฐหลักในกำกับดูและจัดการอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบ มีหน่วยราชการระดับกรมในสังกัด 8 หน่วย 2 รัฐวิสาหกิจ 12 สถาบันเครือข่าย และ 1 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดกว่า 20 หน่วยงานนี้ถือเป็นอวัยวะสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานของ 'รมว.ปุ้ย' ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน ก็ทำให้ชื่อของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ 'รมว.ปุ้ย' ไม่น้อยหน้ากระทรวงพลังงาน เช่นกัน อาทิ...

1) ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

2) ติดตามเร่งรัดผู้ประกอบการในประเทศให้เพิ่มการผลิตแร่ 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงของพี่น้องเกษตรกร 

3) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งนักลงทุนรายใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งต้องปรับตัวจากการผลิตรถสันดาป 

4) ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลาย เพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิต 

5) สนับสนุน Green Productivity ทั้งการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาล, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ยุคใหม่

สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นให้ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ, ส่งเสริมการสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน, เริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบงบประมาณที่ทั้ง 2 กระทรวงได้รับเป็น % กับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้รับงบประมาณน้อยมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องกำกับดูแล รับผิดชอบทำเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย 

โดยกระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณเพียง 0.1415% ของมูลค่าธุรกิจพลังงานในประเทศโดยรวม และกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งได้รับงบประมาณน้อยกว่าเพียง 0.045% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศเท่านั้น 

จากผลลัพธ์ที่พูดได้ว่า 'สอบผ่าน' ของทั้งสองกระทรวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนคณะทำงาน และข้าราชการของทั้ง 2 กระทรวง ออกแววสานต่อสายเลือดลุงตู่ที่อยู่และทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ชัดเจนพอดู 

ยิ่งได้เห็นตัวเลขงบประมาณอันน้อยนิดที่ได้รับ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับท่าทีใด แถมยังพร้อมลุยงานตามเป้าหมายต่อทันที ก็ยิ่งดูเป็นนิมิตหมายอันดีของชาติ ที่มีคนกล้าเปลี่ยนแนวคิดและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในระบบราชการและการเมืองที่ว่า...

“งานจะสำเร็จได้ต้องมีงบประมาณมากพอเท่านั้น” มาเป็น “หากมี ‘ความตั้งใจ’ แล้ว แม้ ‘งบประมาณจะน้อย’ แต่งานก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้”

'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย

(22 มี.ค. 67) แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า

ทั้งนี้ เบื้องต้นรับทราบข้อมูลมาว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ 

อย่างไรก็ดี ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาตร.ง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่า ขั้นตอนยุ่งยาก มีความล่าช้าอย่างมาก และถูกตราหน้าว่าเป็นปัจจัยถ่วงการลงทุน

“ก่อนหน้านี้ปัญหาใบร.ง.4 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยแก้ปัญหากันไปเยอะแล้ว ตอนนี้ไม่เข้าใจว่า ทำไมปัญหากลับมาอีก ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบร.ง.4 กลับเป็นตัวถ่วงอย่างหนัก ต้องการให้ กรอ. เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร แต่ต้องรอมาเป็นปี โดยทุกอย่างดูติดขัดล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่า ติดปัญหาอะไร"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ต้องการให้เร่งแก้ปัญหา เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองเรื่องต้องจ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ถึงจะได้ใบอนุญาตเร็วขึ้น เพราะตอนนี้ยังมองในแง่ดีว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผลนั้น แต่ไม่รู้ว่า ติดอะไร ถ้าต่อไปยังล่าช้าอีก คงต้องยอมรับว่า อดไม่ได้ที่จะต้องมองแบบนั้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องการขอใบอนุญาตลงทุนมาเช่นกัน โดยตนได้เรียกประชุมในวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา และสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กรอ. รวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดว่าอยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด

โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาต มาแจ้งตนในการประชุมวันที่ 26 มี.ค. ที่จะถึงนี้  เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว  

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า ยังตกค้างอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมกว่าร้อยเรื่อง ไม่สามารถออกให้แก่ภาคเอกชนได้ ซึ่งอาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้า หรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ 

สำหรับในลำดับแรกจะต้องเร่งเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างในระบบของกรอ. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้ว ก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ตนยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นวัน สต็อป เซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขออยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน”

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงใย เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการ SME D Bank เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในพื้นที่

(23 มี.ค.67) ตามที่ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ในช่วงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายได้รับความเสียหาย นั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่กระทรวงสามารถให้ได้

“เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รู้สึกเป็นห่วงและเห็นใจผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบให้ SME D Bank กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกราย สำหรับในส่วนของ SME D Bank สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียายา ด้านการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อ Soft Loan พิเศษ แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านเทคนิค การตลาด และเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเร่งให้ทุกหน่ายในสังกัดกระทรวง บูรณาการกับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

'รมว.ปุ้ย' ชวนคนไทยซื้อหาสินค้ามาตรฐาน 'สมอ.' รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด 25-29 มี.ค. ณ สมอ.

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ ว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำการมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้าด้วยการกำกับ ดูแล คุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจที่สำคัญทั้งการกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ตลอดระยะเวลา 55 ปี สมอ. ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม และคุ้มครองประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน สมอ.ได้พัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ สมอ. มีการดำเนินงานมาครบรอบ 55 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จึงได้จัดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม’ ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ สมอ. ครบรอบ 55 ปี และสืบทอดเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐาน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยนำผู้ประกอบการกว่า 50 ราย 92 บูธ ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐาน ในราคาโรงงาน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด 20 - 50% ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม ลำโพง เครื่องเสียง หลอดไฟ โคมไฟ ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงค์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมี รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ภาชนะเมลามีน ภาชนะพลาสติก ภาชนะเทฟลอน ของเล่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำตาลทราย รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และงานบริการที่ได้รับการรับรอง มอก. S จึงขอเชิญชวนประชาชนมาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพมาตรฐานภายในงาน รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด ตั้งแต่วันที่ 25 - 29 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 - 18.00 น. ณ บริเวณโดยรอบอาคาร สมอ. ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ (เยื้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)

'กรมโรงงานฯ' รับนโยบาย 'รมว.ปุ้ย' อำนวยความสะดวกนักลงทุน  ใช้ระบบออนไลน์อนุมัติ ร.ง.4 ชู!! เร็ว โปร่งใส ดันภาค อุตฯ ไทยโตต่อเนื่อง

(1 เม.ย.67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในปี 2565-2566 พบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่จำนวนกว่า 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 

โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) จำนวน 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน สอดรับกับการที่บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมไปแล้วกว่า 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 ก็พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมเจรจาด้านความร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการพบปะหารือกับภาคธุรกิจ ชักชวนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

นายจุลพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ขับเคลื่อนนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้มุ่งยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้สั่งการให้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน

"ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นขอให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ และพร้อมส่งเสริมการตั้งโรงงานที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ขีดเส้น!! 10 เม.ย.นี้ ปัญหาขอใบ ร.ง.4 ต้องจบ สั่ง ‘กรอ-สอจ.’ เช็กขั้นตอนรายละเอียดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

(3 เม.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ภาคเอกชนร้องเรียนว่า มีความล่าช้าอย่างมาก เป็นตัวถ่วงการลงทุนว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อาทิ ปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจราชการ และอธิบดีทุกกรม ซึ่งบรรยากาศภายในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด

เนื่องจากการแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เช่น โยนเรื่องที่ค้างจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กลับไปที่อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดบางจังหวัดก็ระบุว่า ก่อนหน้านี้ยื่นเรื่องเข้าไปกว่า 6-7 เดือน แต่กลับโยนเรื่องกลับมาแล้วสั่งให้ตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้องภายใน 15 วัน

นางสาวพิมพ์ภัทราจึงได้สั่งการให้ กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัด กลับไปทำข้อมูลให้ชัดเจนทั้งหมดว่า แต่ละรายยังติดปัญหาอะไร ติดที่ใคร อย่างไร และต่อไปจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

“เรื่องนี้รัฐมนตรีบอกในที่ประชุมว่า ตอนนี้ยังได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จนภาคเอกชนนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา เพราะนายกฯ เดินสายพบนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดึงเข้ามาลงทุนในไทย แต่จะไม่มีผลเลย ถ้ามาติดปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต ร.ง.4

จึงเป็นเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงและเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปพบ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง และขอให้ติดตามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เสียบรรยากาศของการลงทุน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พูดกลางที่ประชุมตรง ๆ เลยว่า นักลงทุน มาพูดกับตนว่า ปัญหาการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เวลานี้ คือ คุยแล้วไม่จบ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้มาก ๆ ต้องเร่งแก้ให้เร็วที่สุด”

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่คาดว่าทำให้การอนุมัติใบ ร.ง.4 ล่าช้า คือ เมื่อปลายปี 2565 ได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงในกรมรายหนึ่ง ออกคำสั่งแนวทางการดำเนินงานในการขอใบอนุญาต ให้กองที่รับผิดชอบดำเนินงานเสนอการขอใบอนุญาต ต้องเสนอเรื่องให้ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งเห็นชอบ ก่อนที่จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มองว่าเป็นกระบวนการซ้ำซ้อน เสียเวลา ต้องรอให้คนคนเดียวตรวจสอบ เหมือนสมัยก่อนที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานฯ ทำให้ล่าช้า ถูกร้องเรียนเชิงลบอย่างหนัก จนต้องยุบออกไป

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาการออกใบอนุญาต ร.ง. 4 ล่าสุด ยังพบปัญหาช่องว่างระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) กรณีที่ สอจ.ต้องตรวจสอบคำขออนุญาตพร้อมข้อมูลที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ระบุไว้ เพื่อส่งให้ กรอ. พิจารณาอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่ กรอ. อาจขอข้อมูลหรือคำชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นคำขออนุญาตอีก ส่วนมากจะขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ตรงจุดนี้ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสน และเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการได้ ต่อไปต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนได้ให้ทุกฝ่ายกลับไปเช็กขั้นตอนรายละเอียดทั้งหมด และอะไรที่ยังเป็นปัญหา เพื่อให้ขั้นตอนทุกอย่างเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ขั้นตอนอนุมัติเร็วขึ้น โดยให้เสนอกลับมาในที่ประชุมวันที่ 10 เมษายนนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาถึงต้นตอ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก

“ตนได้ย้ำกับผู้บริหารกระทรวงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาให้ทำการปรับลดขั้นตอนการอนุญาตให้รวดเร็ว เน้นการบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีได้ชักชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องรับไม้ต่อในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ได้สั่งการให้เร่งเคลียร์คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบให้หมดภายใน 30 วัน และให้ผู้ตรวจราชการทุกท่าน ตรวจสอบคำขออนุญาตในทุกจังหวัดว่ายังหลงเหลืออยู่จำนวนเท่าใด ติดขัดในขั้นตอนไหน ให้รีบแก้ไขเพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตโรงงานได้โดยเร็ว

เรื่องนี้ตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการทุกคน แต่ก่อนตนเคยมาขอใบอนุญาตที่ กรอ. เคยประสบปัญหาความล่าช้ามาก่อน เข้าใจความรู้สึกดี และต้องไม่ให้เกิดในยุคของตน”

‘รมว.ปุ้ย’ จี้แก้ปมกากแร่พิษหมื่นตัน จ.สมุทรสาคร สั่งระงับการขนย้าย ให้นำฝังกลบตามมาตรฐานฯ

(5 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในพื้นที่จังหวัดตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจากกากแร่ดังกล่าวอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้นั้น 

ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งอายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าว พร้อมทั้งสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระบวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมแร่สังกะสี และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอย โลหะแคดเมียม และผลิตโลหะทองแดง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยการฝังกลบ (Landfill) กากแร่ ซึ่งอยู่ในรูปของโลหะผสมกับปูนซีเมนต์และยึดเกาะกันเป็นเนื้อแน่นไว้ในบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งปูพื้นและปิดทับด้วยวัสดุกันซึม (HDPE) และคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทได้ทำการขนย้ายกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากโรงงานเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS) และได้เริ่มทำการขนย้ายกากที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 13,450 ตัน

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตรวจสอบโรงงานดังกล่าว พบว่า มีการดำเนินการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้อายัดกากแคดเมียม กากสังกะสี และส่วนของอื่น ๆ ไว้เพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว 

ส่วนบริษัทในพื้นที่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อเก็บตัวอย่างกากแคดเมียม กากสังกะสี มาตรวจวิเคราะห์ และสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการในส่วนของนำกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกนอกบริเวณโรงงาน และให้นำกลับมาดำเนินการให้เป็นตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยเร่งด่วนต่อไป

“เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา กรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ตัวแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทนอธิบดีกรมอนามัย และผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) มาให้ข้อมูลจึงทราบว่าก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้อายัดกากแร่ดังกล่าวไว้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งดิฉันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดพร้อมทั้งให้รายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' ชี้ กรณี กากแคดเมียม ต้องมีคนรับผิดชอบ เตรียมใช้กฎหมาย ลงโทษ ผู้กระทำความผิด!!

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวง ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปติดตามเรื่องขนย้ายกากแร่แคดเมียมมาที่สมุทรสาคร ที่โรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ในสมุทรสาคร

ทั้งนี้ รมว.ปุ้ย ได้เรียกประชุมด่วนและสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งอายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่ปรากฏ พร้อมทั้งสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอายัดกากแร่นี้มาตั้งแต่มีนาคมแล้ว

ในวันเดียวกัน รมว.ปุ้ย ยังได้สั่งการให้มีการเร่งแก้ปัญหาในทุกด้านอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ตรวจสอบโรงงานประเภท 106 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม และโรงงานประเภท 59 และ 60 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการหล่อหลอมโลหะในพื้นที่สมุทรสาครทั้งหมด หากโรงงานใดไม่ปฏิบัติตาม พรบ.โรงงาน และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะต้องถูกดำเนินคดีทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีบทลงโทษขั้นสูงสุดตามบัญญัติ

สำหรับการลงพื้นที่ไปยังโรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ที่สมุทรสาคร พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวนราว 2,440 ตัน ส่วนที่เหลือได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร อยู่ในพื้นที่เฉพาะตามกำหนดหรือไม่ ขณะที่ในส่วนที่ปรากฏอยู่นี้จะต้องขนย้ายไปยังจุดฝัง ภายใน 7 วัน และให้ฝังกลบให้เสร็จในที่เฉพาะภายใน 15 วัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอยู่ในกรอบมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ รมว.ปุ้ย ยังได้ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ หากมีการอนุญาตให้เคลื่อนย้าย โดยทราบว่าขณะนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดต้นทางย้ายมาช่วยราชการ ที่สำนักงานกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อย

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งปลัดอุตฯ-อธิบดีกรมโรงงาน เร่งฝังกลบ ‘กากแคดเมียม’  กำชับ!! ต้องตรวจสอบให้ละเอียด เพื่อความปลอดภัย ของประชาชน

(7 เม.ย.67) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่ากากแคดเมียมจากโรงงานในจังหวัดตากจำนวน 13,000 ตันเศษ ถูกขนออกจากพื้นที่ และพบกากแคดเมียมที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครจำนวนประมาณ 2,500 ตัน ที่เหลืออีกกว่า 10,000 ตัน ไม่พบในบริเวณโรงงาน 

ซึ่งเรื่องดังกล่าว นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ตรวจสอบข้อมูลการขนย้ายตลอดจนแหล่งปลายทางการขนย้ายทั้งหมด เพื่อให้สามารถติดตามและนำกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบที่ต้นทางจังหวัดตาก นั้น

ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ (6 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ บก.ปทส. ว่าตรวจพบถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก กระจายอยู่ในพื้นที่โรงเรือน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี คาดว่าจะเป็นกองกากแคดเมียมที่มาจากโรงงานที่สมุทรสาคร โดยขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. กรมโรงงาน อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กำลังตรวจสอบกองกากดังกล่าว เบื้องต้น นับได้ประมาณ 4,200 ถุง คาดว่าน่าจะมีน้ำหนักรวม ประมาณ 6,720 ตัน และได้ทำการยึดอายัดไว้เป็นที่เรียบร้อย

“ดิฉันจะได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงาน อุตสาหกรรมเร่งจัดการนำกากแคดเมียมทั้งหมด กลับไปฝังกลบยังแหล่งต้นทางให้เร็วและปลอดภัยที่สุด พร้อมทั้งต้องตรวจสอบว่ายังคงมีกากแคดเมียม หลงเหลือในพื้นที่อื่นอีกหรือไม่ เพื่อคลายความกังวลให้กับประชาชน ซึ่งในวันนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์โรงงานที่สมุทรสาครไว้กับ บก.ปทส.เรียบร้อยแล้ว” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งการดีพร้อม ดึงโตโยต้า นำ ‘คาราคูริ ไคเซน’ มาประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรไทย ไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่

(7 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือ (DIPROM Connection) ผนึกกำลังกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)สู่ชุมชน เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติ ดึงกลไกคาราคูริ ไคเซน (Karakuri Kaizen) เพิ่มประสิทธิภาพ
กระบวนการผลิตและลดต้นทุน หวังเพิ่มศักยภาพธุรกิจชุมชนผ่านแนวคิดชุมชนเปลี่ยน พร้อมชูต้นแบบเครื่องทุ่นแรงให้กลุ่มผู้สูงอายุ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการมอบเครื่องลำเลียงกล้วยหอมทองให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถผลิตและส่งออกอาหารได้หลายประเภท อีกทั้ง ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและ อาหารแปรรูปด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในระบบการผลิตภาคเกษตรเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อกระบวนการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต หรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ประกอบกับรัฐบาลเร่งหาแนวการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผ่านนโยบายเร่งด่วนต่าง ๆ เชิงพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ที่เติมเต็มองค์ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพภาคเกษตรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่แต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยสนับสนุนองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติควบคู่ทักษะที่จำเป็นด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และ มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนากระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

นายภาสกร ชัยรัตน์ กล่าวว่า จากข้อสั่งการของ รมว.อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อมได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชุมพร และได้รับทราบข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษไปยังประเทศญี่ปุ่น ว่าปัจจุบันได้ประสบปัญหาการลำเลียงกล้วย เนื่องจากทางกลุ่มมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และการลำเลียงกล้วยมีลักษณะที่ใช้เป็นรางลาก ซึ่งต้องใช้แรงจำนวนมากในการเคลื่อนย้าย ส่งผลให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามกำลังการผลิตที่ควรจะเป็น จึงมีความต้องการขอรับการสนับสนุนด้านกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมถึงระบบการผลิต ลำเลียง และคัดแยกกล้วยหอมทองควบคู่กับการใช้แรงงานคนอีกด้วย

ดีพร้อม จึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ด้วยการมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) และบูรณาการความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัดผ่านโครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตกล้วยหอมทอง โดยการนำหลักการคาราคูริ (Karakuri) ซึ่งเป็นระบบกลไกอัตโนมัติที่ใช้หลักกลศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ หรือกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อันจะช่วยผ่อนแรงการทำงานได้เป็นอย่างดี

นายภาสกร กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในการพัฒนาระบบลำเลียงกล้วยผ่านการใช้กลไกคาราคูริ ไคเซน (Karakuri Kaizen) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การลำเลียง และทุ่นแรงขนย้ายกล้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาต้นแบบเครื่องลำเลียงกล้วยหอมทอง ซึ่งใช้หลักการทำงานของคาราคุริ (Karakuri) ในการลำเลียงกล้วยจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้แรงในการลากทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองจากเดิมใช้ระยะเวลาการลำเลียงกล้วยหอมทอง 400 เครือ ต่อ 8 ชั่วโมง มาเป็นลำเลียงได้ 400 เครือ ต่อ 4 ชั่วโมง แทน รวมถึงสามารถลดเวลา ช่วยในการผ่อนแรงสำหรับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่าร้อยละ 30 – 50 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรในหลักสูตร “คาราคุริและการประยุกต์ใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา” เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายขยายผลการบูรณาการความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชนด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม และพัฒนาทักษะการประกอบการในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40 ล้านบาท นายภาสกร กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top