‘รมว.ปุ้ย’ ดึง ‘อุตฯ พลังงานสะอาดญี่ปุ่น’ ลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม เสริมบริการสาธารณูปโภคสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

(11 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองพร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เลขานุการรัฐมนตรีฯ ประธานกรรมการ กนอ. ผู้ว่าการ (กนอ.) และรองผู้ว่าการ กนอ. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ตนยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ ‘การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว’ โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต 

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ…

ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) 
ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ 
และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) 

ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง