Saturday, 20 April 2024
พลังงานสะอาด

หัวรถไฟ EV ถึงไทยแล้ว ความสำเร็จของ EA และ CRRC Dalian อีกหนึ่งก้าวสำคัญขนส่งทางรางประเทศไทย

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญของระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ภายหลังจาก EA นำทางด้าน Green Energy รายใหญ่ของประเทศไทย ได้จับมือกับ บริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ร่วมพัฒนาหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 

ล่าสุดหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าของบริษัท CRRC Dalian ส่งตรงมาถึงไทยแล้ว เตรียมทดสอบสับเปลี่ยนขบวนที่สถานีบางซื่อภายในปีนี้ 

จุดเด่นของหัวรถจักรรุ่นนี้ สามารถวิ่งได้ระยะ 150-200 กม. ประหยัดต้นทุนพลังงานได้กว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถไฟดีเซล สอดรับยุทธศาสตร์ Asian Logistics Hub ของไทยและภูมิภาค

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้จัดส่งหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV มายังประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท เอเซียเอนจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด (AES) ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงรถไฟ เพื่อประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่ 

โดยหัวรถจักร EV คันนี้เป็นรถจักรคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ Battery Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งทาง EA ได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้นโยบาย EV on Train ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับภาควิชาการ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มทร. อีสาน ในการเตรียมทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ที่สถานีบางซื่อภายในปีนี้

'ส.อ.ท.' จับมือ 'อบก.' สร้างศูนย์ซื้อขาย 'คาร์บอนเครดิต' พร้อมเปิดตัว 'FTIX' แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน 'ลงมือทำ ลดโลกร้อน : ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย' Take Climate Action : Save The Earth, Prosper All ในวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว 

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศ

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของการลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้

ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

การจัดงานนี้เป็นไปในรูปแบบของ Green Event โดยมีการควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงขอให้ผู้เข้าร่วมงานงดการใส่สูท และเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ้ตฮาวายและเสื้อยืดแทน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก 'โครงการเซ็นทรัลทำ' ของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบก. ในการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนในงานนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) และกลุ่มบริษัทซุปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี บริจาคคาร์บอนเครดิตรวมกันเป็นจำนวน 260 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งสามารถ Offset หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการจัดงานนี้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นงานที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Event อีกด้วย 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ 'ภาครัฐ ประสาน ภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน' โดยกล่าวถึง ประเด็นผลกระทบที่ทั่วโลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้ และปากีสถาน โดยที่ประเทศไทยนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก (ประมาณ 0.8% ของโลก) และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด

จากถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608” ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุง 'ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย' หรือ LT-LEDS ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศสามารถดำเนินการได้เอง 30% และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศอีก 10% 

ปตท. ผุด ‘on-ion’ สถานีชาร์จไฟรถยนต์ EV เต็มรูปแบบ นำร่อง 17 สาขา ศูนย์การค้าเซ็นทรัล

ออน-ไอออน เปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟ EV ด้วยพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบแล้ววันนี้ ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล 17 สาขา พร้อมเชื่อมต่อความสุข ให้ทุกการเดินทางไม่สะดุด ด้วยจุดบริการทั่วไทย

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค. 66) นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายโทรณ หงศ์ลดารมภ์ Head of EV Charger Business บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ร่วมพิธีเปิดให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion EV Charging Station) ในพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พร้อมให้บริการชาร์จไฟแก่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด เชื่อมต่อความสุข เดินทางไม่สะดุด จุดบริการทั่วไทย ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

on-ion EV Charging Station พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 17 สาขาได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต, เซ็นทรัล อยุธยา, เซ็นทรัลบางนา, เซ็นทรัล พระราม 2, เซ็นทรัล วิลเลจ สุวรรณภูมิ, เซ็นทรัล เวสต์เกต, เซ็นทรัล อุดรธานี, เซ็นทรัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัล โคราช, เซ็นทรัล พระราม 3 และ เซ็นทรัล พระราม 9 และพร้อมให้บริการอีก 20 สาขาทั่วประเทศเร็ว ๆ นี้

กฟผ.- เชลล์ หนุนนโยบายโลกลดการปล่อยคาร์บอน ร่วมศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการกักเก็บคาร์บอน

กฟผ. และ บ. เชลล์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนและศึกษา Clean Energy Development มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ. นนทบุรี

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065  เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. ได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือก และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่ และการศึกษาเทคโนโลยี CCUS และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียว และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

เติมอากาศ (ดี) ให้เพื่อนบ้าน EA 'เซ็น MOA - ร่วมมือ' รัฐบาลแห่ง สปป.ลาว 'ยกระดับ-พัฒนา EV' ช่วยลาวเดินหน้าสู่สังคมไร้มลพิษ

EA ร่วมมือรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว เซ็น MOA เพิ่มขีดความสามารถพลังงานสะอาด และพัฒนาระบบขนส่ง EV เชิงพาณิชย์ครบวงจร ยกระดับ สปป.ลาว สู่สังคมไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ (10 มี.ค.66) ได้มีการจัดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement) ว่าด้วย ความร่วมมือเพื่อการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงการเงิน (กระทรวงการคลัง) แห่ง สปป.ลาว จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างสายส่ง และพัฒนาระบบขนส่ง EV เชิงพาณิชย์ของ สปป.ลาว อย่างครบวงจร เพื่อยกระดับสู่สังคมไร้มลพิษ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ท่านสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ของ สปป. ลาว เป็นประธานในพิธี โดยมี ดร. ภูทนูเพชร ไซสมบัตร รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน (กระทรวงการคลัง) และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)  ร่วมในพิธีลงนาม ณ โรงแรม ลาว พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว 

ดร. ภูทนูเพชร ไซสมบัตร รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน (กระทรวงการคลัง) สปป. ลาว ได้กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นขีดหมายสำคัญระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถทางด้านพลังงานและระบบขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสิทธิบัตรที่หลากหลายในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจน้ำมันชีวภาพ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงการพาณิชย์แบบครบวงจรทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานที่ทันสมัย โดยพัฒนานวัตกรรม Ultra Fast Charge Technology ที่สามารถอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ทุกชนิด 80% ในระยะเวลาเพียง 15-20 นาที บริษัทฯ มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว จะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้ สปป.ลาว ก้าวสู่สังคมไร้มลพิษในอนาคตอันใกล้”

ไขข้อสงสัย!! เหตุ ‘ลุงตู่’ อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ร่ายเหตุผล ปทท.มีแผน 'เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด' ผลักดัน Net-Zero

(23 เม.ย.66) ผู้ใช้บัญชี ‘Supote Laocharoen’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

ลุงตู่อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกทำไม?

... ถ้าคนมันจะพูดให้เป็นเรื่อง ก็จะพูดแค่ "ลุงตู่อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่มีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากมาย จนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงอยู่ตอนนี้" พูดเพียงเท่านี้ ลุงตู่ก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยขึ้นมาทันทีว่า เพราะอะไร มีผลประโยชน์กับเอกชนหรือไม่ บลาๆๆๆๆๆๆ

... แต่ถ้าหาข่าวหาข้อเท็จจริง ก็จะเข้าใจได้ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาตั้งแต่ 2562 ตามโครงการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ไม่ได้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล

... ประเทศไทยมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานสะอาด เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ของประเทศไทยให้ได้ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุม COP26 โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงแดด หรือใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ระบบไฟฟ้าฐานเข้าไม่ถึง จะได้มีไฟฟ้าใช้ในการดำเนินชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงเริ่มนำโมเดลเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้าน คือ ชีวภาพ (Bio) หมุนเวียน (circular) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือ BCG 

... นี่คือเหตุผลที่ กพช. มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมันคนละเรื่องกับไฟฟ้าที่ได้มีการทำสัญญารับซื้อไว้สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัญหาเดิม มันแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อนาคตของประเทศไทยก็ต้องเดินต่อไป ถ้าเราเดินช้าก็จะล้าหลัง


ที่มา : https://www.facebook.com/100000780943116/posts/pfbid0FEmT6eHCs4tN9KpzKf64QmJAv2ynS3zFWvmZw1XusxXvy9vFyhsh3YGQGGkSk1dhl/?mibextid=unz460

'พรรคเพื่อไทย' หารือ 'สมาคมพลังงานลม' ร่วมผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด

(24 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย นำโดย จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าคณะทำงานด้านนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่, กฤชนนท์ อัยยปัญญา, วิกรม เตชะธีราวัฒน์, รัฐพงศ์ ระหงษ์, สิริพัชรระ จึงธีรพานิช, พงศภัค นครศรี และศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ให้การต้อนรับตัวแทนสมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย) ประกอบด้วย อิศเรศร์ ภมรนิยม ประธานสมาคม, วรวิทย์ วิสูตรชัย กรรมการ, โทมัส ลีโอนาร์ด กรรมการ และคณะ ร่วมหารือผลักดันนโยบายพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีวันหมดไป

ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการใช้ประโยชน์จากการใช้พลังงานลมเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่ยังอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยจะมีการผลักดันให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้จัดทำเป็นนโยบายและเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงพรรคเพื่อไทยก็เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้พลังงานดังกล่าวเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนด้วยเช่นกัน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘ซีพี’ ผนึก ‘อัลเตอร์วิม’ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร สานต่อภารกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593

(28 พ.ย.66) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (ALTERVIM) ธุรกิจในเครือฯ ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เปิดตัว ‘Total Clean Energy Solution’ โครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร นำร่องที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งถือเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์เป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้มากที่สุด โดยภายในงานมีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้เปิดงาน และนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของอัลเตอร์วิม เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ รวมทั้งผู้บริหารในเครือซีพี และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ ‘โลกร้อน’ คือ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นภารกิจสำคัญในกระบวนการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2573 

ทั้งนี้เครือซีพีได้ผลักดัน สนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยยกระดับแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โครงการต้นแบบการบูรณาการการจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ณ สถาบันผู้นำฯ ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้พลังงานสะอาด

“เครือฯ มีความมุ่งมั่นจะขยายผลโครงการบูรณาการ การจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจรไปยังทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ รวมถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน สังคมและประเทศไทย” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัลเตอร์วิม กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยอัลเตอร์วิมก็เป็นบริษัทที่ยึดมั่นในเรื่องค่านิยม 3 ประโยชน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ และมองว่าจะนำพลังงานสะอาดมาใช้อย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งสร้างรูปแบบการให้บริการซึ่งสามารถให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ต้องมีต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงง่าย และมีรูปแบบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ แล้วถึงคิดในเรื่องขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

โดยโครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร (Total Clean Energy Solutions) ซึ่งทางอัลเตอร์วิมได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาจากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นกลางในปี 2573 รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนั้น ทางทีมงานได้ลงลึกศึกษาและร่วมมือกับทางสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการนำนโยบายมาต่อยอดเป็นโครงการจริง

นายสมบูรณ์ ขยายความถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

1.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 832 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า 670 ครัวเรือน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 ล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,500 ตันตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นต้นน้ำในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อนำมาใช้ภายในสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งหมด

2. สถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงเริ่มต้นเรามีการติดตั้งเครื่องชาร์จแบบที่เหมาะกับการใช้งานของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับรถที่ใช้ไฟฟ้า 100% จำนวน 4 ช่องจอด และเครื่องชาร์จที่รองรับรถไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า จำนวน 2 ช่องจอด รวมเป็น 6 ช่องจอด ซึ่งคิดเป็น 7% จากพื้นที่ที่จอดรถทั้งหมดภายในอาคาร และมีแผนในการติดตั้งเพิ่มเติมตามสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในปีหน้า

และ 3. พัฒนาระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปัจจุบันใช้ระบบจัดการวางแผน การผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบตรวจติดตามประสิทธิภาพ และการจัดการงานซ่อมบำรุงรักษาของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำในโครงการนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ที่พัฒนาบนเมฆ และทางอัลเตอร์วิมมีการใช้งานจริงสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศไทย

สำหรับเครือซีพีได้ออกแบบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim) เป็นบริษัทพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือฯ ซึ่งมีปณิธานที่จะจัดหาโซลูชันแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition) และทำให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น เช่น

การติดตั้งระบบจัดการพลังงานผ่านระบบอัจฉริยะเรียลไทม์บนคลาวด์ การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Altervim Super Charge ทั่วประเทศกว่า 100 สถานี ผ่านการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน Altervim Super Charge เป็นแอปที่ไว้สำหรับใช้ติดต่อสื่อสาร และควบคุมระบบสถานีจ่ายไฟฟ้า สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งแอปมากกว่า 2 หมื่นรายจากผู้ใช้รถมากกว่า 7 คัน

‘GULF-AIS’ ลุย ‘ติดแผงโซลาร์-ต่อเสาสื่อสาร’ ให้ชุมชนห่างไกล หวังเพิ่มโอกาส ‘ทางการศึกษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’

(21 ธ.ค. 66) นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ GULF X AIS SOLAR SYNERGY: A SPARK OF GREEN ENERGY NETWORK ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่ชุมชนห่างไกล นำร่องที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ ‘แพทย์ทางไกล’ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด

แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง”

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top