Monday, 20 May 2024
นิคมอุตสาหกรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

“โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก” จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1

บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด เดินหน้าแผนการจัดตั้ง “โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก” บนพื้นที่ 1,546.55 ไร่ โดยมอบหมายให้บริษัท โฟร์เทียร์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเต็มรูปแบบครั้งที่ 1 เตรียมรวบรวมข้อมูลรายละเอียดจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองละลอก จ.ระยอง

วันนี้ (2 สิงหาคม 2565) นายจ้าว ปิง กรรมการบริหาร บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด เปิดเผยว่า “วันนี้ได้มอบหมายให้ บริษัท โฟร์เทียร์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ  รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีนายวิจิตร พาผลงาม ปลัดอาวุโส อำเภอบ้านค่าย ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการประชุม ณ. อาคารเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเต็มรูปแบบ  เพื่อความสมบูรณ์ในการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก  ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)”

“ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นและส่งรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนชื่อโครงการจากสวนอุตสาหกรรม เอส เอส พี ระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ให้แก่ สผ. เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง สผ. ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่บริษัทฯ ว่าบริษัทฯ ควรจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก เฉพาะบนพื้นที่ 1,546.55 ไร่ เท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัทฯ ที่ได้ซื้อมาเพียงบางส่วนจากโครงการ สวนอุตสาหกรรม เอส เอส พี ระยอง เดิมที่มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2,000 ไร่” นายจ้าว ปิง กล่าว

‘สุริยะ’ เผย ‘ไดกิ้น’ พร้อมใช้ไทยเป็น ‘ฮับ’ อาเซียน โชว์ศักยภาพนิคมฯ ‘สมาร์ท ปาร์ค’ รองรับทุกการลงทุน

'สุริยะ' แย้มข่าวดี 'ไดกิ้น' ยืนยันใช้ไทยเป็น 'ฮับ' ในอาเซียน โชว์ความพร้อมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับนักลงทุนญี่ปุ่นทุกรูปแบบ ล็อคเป้า 'นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) - ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2)'

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2566 มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Co.,Ltd. ที่นครโอซาก้า เพื่อหารือถึงการพัฒนาบริษัท Daikin ในประเทศไทย ซึ่งบริษัท Daikin ระบุว่า มีแผนที่จะพัฒนาบริษัท Daikin ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นฮับของอาเซียน ที่คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน โดยบริษัท Daikin ปีนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น รองจากบริษัทโซนี่อีกด้วย

“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทาง บริษัท Daikin เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฮับของอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Daikin ประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) 4 โรงงาน และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อีก 1 โรงงานอีกด้วย” นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ ได้หารือกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ (Mr. Matsuo Takehiko) อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Director General, Trade Policy Bureau Ministry of Economy, Trade and Industry : METI ) ถึงประเด็นการสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park  โดย กนอ.ได้ย้ำถึงการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด และแผนการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถรับส่งแรงงาน/พนักงานภายในนิคมอุตสาหกรรม การใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนด้านพลังงาน การสร้างสังคมปราศจากคาร์บอนโดยการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนขยายผลเทคโนโลยีรถยนต์พลังงาน รวมถึงการตั้งโรงงานเพื่อผลิตไฮโดรเจน 

ทั้งนี้ กนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) การศึกษาเพื่อพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Industrial Estate) ในพื้นที่มาบตาพุด” ร่วมกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ 7 ราย เพื่อสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับการใช้งาน และการกักเก็บพลังงานหมุนเวียน เพื่อพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล  ขณะเดียวกัน องค์การส่งเสริมการต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายในการขอทุนจากองค์กรพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ในการพัฒนาและลงทุนไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ดึง ‘อุตฯ พลังงานสะอาดญี่ปุ่น’ ลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม เสริมบริการสาธารณูปโภคสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

(11 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองพร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เลขานุการรัฐมนตรีฯ ประธานกรรมการ กนอ. ผู้ว่าการ (กนอ.) และรองผู้ว่าการ กนอ. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ตนยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ ‘การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว’ โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต 

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ…

ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) 
ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ 
และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) 

ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

'ไทย-จีน' ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ใต้กรอบความร่วมมือ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง - 2 ประเทศ 2 นิคม'

(30 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย 

สำหรับ เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน นั้น ปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว ยังมีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่าง ๆ 6 แห่ง เป็น 'เส้นทางสายไหมทั้งสี่' ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล ขณะที่สนามบินเจิ้งโจว ก็ยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการ สร้าง 'เส้นทางสายไหมทางอากาศ' เจิ้งโจว-อาเซียน และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย 'Thai Heartbeat' เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว) 

"ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 'สองประเทศ สองนิคมฯ' ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win" นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ อีกด้วย

"กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว

ฟาก นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน 

"เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ 'สองประเทศ สองนิคม' สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ 'แกนคู่' โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ 'สองประเทศ สองนิคม' ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน" ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้...

1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 

2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  

3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 

4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา 

และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

ป.ป.ส. จับมือ 7 หน่วยงานภาคี ลง MOU ร่วมมือปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด พร้อมเปิดโอกาสผู้ผ่านการบำบัดเข้าทำงาน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ส. โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ ปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด โดยมี นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามข้อตกลง ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.

โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดไม่ให้แพร่ระบาดเข้าสู่สถานประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบดูแล ช่วยเหลือ ลูกจ้าง นำลูกจ้างเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด และรับกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดมีโอกาสเข้าทำงาน ซึ่งการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการที่นับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติ จึงกำหนดให้มีการขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย ระหว่าง 7 หน่วยงานขึ้น

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนับเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญยิ่ง ในการพัฒนาประเทศชาติปัจจุบันมีแรงงานในระบบจำนวน 19.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเพื่อให้เกิดมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 7 หน่วยงานจึงได้มีข้อตกลงที่จะให้เกิด โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด ขึ้น ซึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายโครงการ คือ สถานประกอบการในทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และเกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล แต่ละหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะขับเคลื่อนงานในบทบาทของหน่วย คือ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถือเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลแรงงาน และ ยังเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะมีบทบาทสำคัญในการประสาน ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และปลุกพลังให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานร่วมกัน ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการร่วมดำเนินการค้นหา เฝ้าระวัง และสร้างการมีส่วนร่วมของ ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในการร่วมเฝ้าระวังปัญหา ยาเสพติดในพื้นที่นิคม อุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ โดยมีหน่วยงานสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ ให้การสนับสนุน ให้ค้นหา คัดกรอง และให้คำปรึกษาแนะนำในการประสาน ส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติดให้ได้เข้ารับ การบำบัดอย่างเหมาะสม - สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือ พร้อม ให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในการดำเนินงาน ทั้งในระดับนโยบาย และมี สำนักงาน ปปส.ภาค 1 – 9 / กทม. สนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้เน้นให้เจ้าของสถานประกอบการดำเนินการค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมให้เข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม ที่สำคัญอีกอย่างคือการสนับสนุนให้สถานประกอบการให้โอกาสแก่ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดกลับเข้าทำงาน โดยในอดีต ผู้เสพยาเสพติดมักถูกตีตราและไม่ได้รับโอกาสให้เข้าทำงานในสถานประกอบการ ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา คือ การกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ ปัญหาครอบครัวขาดรายได้ การผันตัวจากผู้เสพไปเป็นผู้ค้าเสียเอง ซึ่งตามนโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องแบ่งประเภทระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าซึ่งผู้เสพคือผู้ป่วยเน้นการรักษา และให้โอกาสเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ในขณะที่ผู้ค้ายาเสพติด ที่เป็นต้นตอของปัญหา ต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top