ผลงานชัด!! ‘ต่อยอดรถ EV-ดันฮาลาล-สานทุนนอกลงทุนไทย’ ‘รมว.ปุ้ย’ รัฐมนตรีผู้นอบน้อม ขยัน และใส่ใจผู้คน

ส่องผลงานรัฐมนตรี New Gen ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ กับบทบาท รมว.อุตสาหกรรม หลังผ่าน 90 วันแรก พบผลงานเพียบไม่เป็นรองใคร หลังผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายรุดหน้า ทั้ง EV, อาหารฮาลาล และการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เน้นทำงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามสไตล์ ‘ทำงานเงียบ ๆ แต่ใส่ใจ ไม่โอ้อวด’ 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘รัฐบาล’ ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 จะเป็นรัฐบาลที่ถูกจับตาดูการทำงานอย่างหนัก เพราะเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมาก อีกทั้งยั้งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัว ขณะเดียวกัน ‘รัฐมนตรี’ ที่รับผิดชอบในแต่ละกระทรวง ก็จะถูกจับตาและติดตามการทำงานอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐมนตรีหน้าใหม่สมัยแรก ที่ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามี ‘ฝีมือ’ และ ‘กึ๋น’ มากพอหรือไม่ เพราะต้องทำงานประสานกับข้าราชการประจำ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม

และหนึ่งในรัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่ถูกจับตาอย่างมากก็คือ ‘รมว.ปุ้ย’ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะไม่เพียงแต่เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่สมัยแรกเท่านั้น แต่ยังเป็นการบริหารกระทรวงใหญ่ ที่ต้องขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละด้านนั้น ล้วนเป็นความคาดหวังของชาวบ้านและภาคธุรกิจ และด้วยบุคลิกที่เป็นคนเรียบง่าย หลายฝ่ายจึงกังวลในเรื่องการทำงานที่ต้องประสานและบริหารข้าราชการประจำ ที่มีจำนวนมาก เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ จึงหวั่นว่าไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ตามเป้าหมาย

แต่ทว่า หลังผ่าน 90 วันแรก ด้วยสไตล์การทำงานที่ขยัน ทำงานอย่างไม่รู้เหนื่อย ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้เป็นอย่างดี เพราะมีผลงานที่เริ่มเป็นรูปธรรมออกมาให้เห็นอย่างไม่ขาดสาย ภายใต้เป้าหมายการบริหารอย่างเร่งด่วน (Quick Win) ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ด้วยเป้าหมายผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจ พลิกฟื้นรายได้ให้กับประเทศ 

>>ส่องผลงาน 90 วันแรก รมว.อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การทำงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา ในช่วง 90 วันแรก ได้จัดรูปแบบการบริหารอย่างเป็นระบบ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังได้แบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีภารกิจหลักคือลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลกอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ ในส่วนงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ได้จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’

ด้านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในส่วนนี้ทาง ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและการคุ้มครองผู้บริโภค ในช่วงที่ผ่านมา จึงมีการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และในปี 2567 มีเป้าหมายกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power

โดยเฉพาะในส่วนของ EV ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศในอนาคตนั้น ซึ่งถือเป็นอีกผลงานเด่นของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในมิติด้านการดึงดูดนักลงทุน โดยมีค่ายผู้ผลิต EV และแบตเตอรี่ ทยอยเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันในมิติมาตรฐานสินค้า ยังได้กำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จไปแล้ว 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน 

และในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานนางสาวพิมพ์ภัทรา ให้ความสำคัญยิ่ง โดยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตามเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และเร็ว ๆ นี้ เตรียมทำ MOU กับ องค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (SASO) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในอนาคต

แน่นอนว่าผลงานทั้งหมดที่ยกมานั้น เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนและบริหารงาน โดยผู้หญิงที่มีบุคลิกอ่อนหวาน ยิ้มง่าย แต่เมื่อถึงเวลาต้องลงมือทำงาน แม้จะทำแบบเงียบ ๆ ก็ทุ่มสุดตัวแบบสุดตัวเต็มที่และจริงจัง ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากผลงานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 90 วันแรกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา หลังจากนี้จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลงานตามที่คาดหวัง ได้มากน้อยเพียงใด.

>> เปิดประวัติ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

สำหรับ พิมพ์ภัทรา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เป็นบุตรสาวของ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล กับนางสำรวย วิชัยกุล เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย พิมพ์ภัทรา สมรสกับนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

พิมพ์ภัทรา เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมทั้งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลชุดล่าสุด