'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว