Sunday, 5 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ.สำรวจความพร้อมรับมือน้ำท่วม คลายกังวลให้นักลงทุน - ชุมชนใกล้เคียงนิคมฯ

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ.สำรวจความพร้อมรับมือน้ำท่วมในทุกนิคมฯ อย่างใกล้ชิด ด้าน ‘วีริศ’ มั่นใจ ทุกนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการสถานการณ์ได้ แม้ปีนี้มีแนวโน้มปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วม เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่พื้นที่อยู่ใกล้ทะเล อาจจะเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง และยังอยู่ใกล้กับชุมชนอีกด้วย

“ผมได้สั่งการไปยัง กนอ.ให้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม รวมถึงกรณีที่อาจมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุน ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องเดินทางมาทำงานในนิคมฯ นั้น ต้องหาแนวทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้เท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ได้รับรายงานจาก กนอ.ว่าแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างชัดเจน และบางนิคมอุตสาหกรรมยังมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้มีการติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุริยะ กล่าว

ก.อุตฯ เดินหน้ากระจายความสุขให้คนไทย 'หนุน SMEs - ส่งเสริมรถยนต์ EV - ลดต้นทุนปุ๋ยแพง'

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระจายความสุขสู่ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่านแคมเปญเด่น 3 โครงการ ส่งเสริมสนับสนุน SMEs เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของประชาชนระดับชุมชนและประชาชนทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV หลังความต้องการใช้ของประชาชนเพิ่มขึ้น และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วยการลดต้นทุนจากสถานการณ์ราคาปุ๋ยแพง ด้วยการเพิ่มศักยภาพ 'แร่โพแทช' นำมาสกัดเป็น 'ปุ๋ยโพแทช'  เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านรายการ 'คุยเรื่องบ้าน เรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี' ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากซึ่งก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถกระจายรายได้อย่างทั่วถึงทุกท้องที่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในระดับชุมชนและประชาชนทั่วไปครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการฟื้นฟูผู้ประกอบการ สร้างทักษะจำเป็นให้กับแรงงาน เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจและสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้ได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการดำเนินโครงการ 'พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม' หรือ 'โครงการอาชีพดีพร้อม' นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์, ชัยนาท, ชลบุรี, สงขลา และยะลา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถบรรเทาปัญหาปากท้องของประชาชนที่ขาดแคลนรายได้จากการว่างงานและยังเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีให้ได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา และจากความสำเร็จดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณ 1,249 ล้านบาท ให้แก่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยภายใต้ 'โครงการอาชีพดีพร้อม' กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ดำเนิน 'โครงการอาชีพดีพร้อม' เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงสิ้นปีนี้ โดยมี 4 หลักสูตร ได้แก่...

1.พัฒนาทักษะด้านการผลิต ประกอบด้วย ทักษะอาชีพลดรายจ่าย และทักษะอาชีพเพิ่มรายได้

2.พัฒนาทักษะด้านการบริการ อาทิ กลุ่มอาชีพช่าง หรือกลุ่มอาชีพบริการ

3.พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ต้นทุนอัตลักษณ์เดิมในชุมชน ให้ตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน

และ 4. พัฒนาต่อยอดทักษะจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การบริหารด้านการเงิน และการสร้างแบรนด์สินค้า 

"โครงการนี้ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างอาชีพเสริมที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนรวม 700,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท เชื่อว่าการดำเนิน 'โครงการอาชีพดีพร้อม' ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูบานใหม่ ให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงโอกาส ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประโยชน์ทั้งหมด จะกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนฐานรากซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย 

"ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชน สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ" นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังผลักดันส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมีการใช้ในจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์ EV เป็นเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และปัญหาความผันผวนของราคาพลังงาน รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่ EV 

โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 (30 แอท 30) หรือ การผลิต EV ให้ได้ร้อยละ30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ออกนโยบายสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น มาตรการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station ให้ครอบคลุมการใช้งานมากที่สุด โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านลดอากรนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ปรากฎว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก จากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการจดทะเบียน EV เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งปี โดยคาดการณ์ว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV ทั้งปี 2565 อาจสูงถึง 10,000 คัน 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญต่อมาตรฐานและความปลอดภัยของรถยนต์ EV โดยได้ก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ATTRIC (แอททริค) และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน และนวัตกรรม และต่อยอดอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานรถยนต์ EV และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการใช้พลังงาน มาตรฐานแบตเตอรี่ มาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในการใช้ EV ที่ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อไปด้วยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งราคาปุ๋ยเคมีเริ่มมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การหาทางออกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย ด้วยการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีระยะยาวคือ โครงการเหมือนแร่โพแทช เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา โดยการนำแร่โพแทช มาสกัดเป็นปุ๋ยโพแทชซึ่ง เป็น 1 ใน 3 ของธาตุอาหารหลักของพืชใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยในปีนี้ (2565) ราคาปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ ปรับขึ้นจากตันละ 9,000 บาท เป็นตันละ 25,600 บาท และมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก

‘สุริยะ’ เผย ก.อุตฯ เร่งผลักดันอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ มุ่งสู่มาตรฐาน IEC ลดข้อกีดกันทางการค้าผู้ส่งออก

“ก.อุตฯ” เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ตาม IEC ลดข้อกีดกันทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission – IEC)  ที่จะประกาศใช้ต้นปี 2566 โดยยังคงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน BCG Economy Model และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลทัดเทียมกับประชาคมโลกได้ โดยที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องไม่เสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคทางไฟฟ้าระหว่างประเทศ (บอร์ด กมฟท.) กล่าวว่า บอร์ด กมฟท. ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนางานมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ IEC เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งในการประชุมประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ให้รองรับสังคมดิจิทัลที่มีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสาขาอัจฉริยะ (SMART) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2566 จะเชิญผู้แทนจาก IEC มานำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของ IEC เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยด้วย

‘ดร.ตั้น’รุดตรวจรง.สารเคมีรั่ว ย้ำรง.ต้องรับผิดชอบปชช. ที่ได้รับผลกระทบ แม้พบว่า สารเคมีที่รั่วมีความเป็นพิษต่ำ

ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรางอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบการการรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยระบุว่า สารเคมีที่รั่วออกมานั้น เป็นโรงงานย่านพุทธมณฑลสาย 7 จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า สารเคมีที่รั่วไหลนั้นมีชื่อว่า สารไดฟีนีลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) 73% และสารไบฟีนีล (Biphenyl) 27% ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตโดยตรง แต่เป็นสารที่เกิดจาก Hot Oil หรือน้ำมันถ่ายเทร้อนเกิดการรั่วไหล ทำให้เกิดกลิ่นฉุน และเหม็นเปรี้ยวกระจายไปยังพื้นที่รอบๆ ในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้ปิดวาล์วเพื่อควบคุมการรั่วไหล และหยุดสายพานการผลิตเรียบร้อยแล้ว

ดร.กฤชนนท์ ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากการผุกร่อนของท่อส่งสารเคมี และสารเคมีที่รั่วออกมานั้นปริมาณอยู่ที่ราว 30 ลิตร และเนื่องจากเป็นสารที่มีน้ำหนักเบา ทำให้ลอยไปในอากาศได้ไกล แต่จากสารดังกล่าวเป็นสารที่ระเหยได้เร็ว ในช่วงแรกที่เกิดการรั่วไหลจะมีกลิ่นรุนแรง แต่ก็จะระเหยไปอย่างรวดเร็วเมื่อลอยขึ้นสู่อากาศ จัดอยู่ในกลุ่มพี่มีพิษต่ำ อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่คอ ตา และแสบจมูกบ้างหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก

'โรงไฟฟ้าขนอม' คว้ารางวัล The Prime Minister’s Industry Award 2022 สาขาความรับผิดชอบต่อสังคม ต้นแบบอุตฯ อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในกลุ่มบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม ประจำปี 2565 (The Prime Minister’s Industry Award 2022) ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ตอกย้ำเจตจำนงของโรงไฟฟ้าขนอมที่มุ่งมั่น 'เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน' 

โดย นายโกศล ศิริวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด เข้ารับโล่รางวัลจาก พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้

นายโกศล ศิริวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด เปิดเผยว่า “โรงไฟฟ้าขนอม ในฐานะโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้และมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศมานานกว่า 4 ทศวรรษ ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การยอมรับและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน บริษัทจึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกมิติและอยู่ร่วมกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเกื้อกูล โดยมีผู้บริหารเป็นแบบอย่างในการดำเนินกิจกรรม เพื่อชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกับพนักงานทุกระดับ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมกันทั้งองค์กร ส่งผลให้การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของพนักงานทุกคน” 

นอกจากภารกิจผลิตไฟฟ้าแล้ว โรงไฟฟ้าขนอมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนและอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ 'ขนอมโมเดล' ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการสาธิตเกษตรอินทรีย์แบบ Smart Farm เพื่อสร้างวงจรการผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนขนอมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน 

‘สุริยะ’ ลุยยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรม มุ่งเติบโตอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

‘สุริยะ’ เดินหน้ายกระดับผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย พร้อมเพิ่มขีดแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด - 19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมไทยในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศหรือเป็นห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมศักยภาพ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในอัตราร้อยละ 4.6 และมีการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอัตราร้อยละ 2.2

‘สุริยะ’ สั่งอุ้มโรงงานรับผลกระทบวิกฤตน้ำท่วม งัดมาตรการ ‘ป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู’ เร่งด่วน

‘สุริยะ’ สั่งการกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ ย้ำให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู ช่วยเหลือโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต พร้อมจัดม้าเร็วในการติดตาม ประสานงานสถานการณ์ในพื้นที่แบบทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นได้รับรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, สิงห์บุรี, ปราจีนบุรี, หนองบัวลำภู, มหาสารคาม, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 55 ราย เหมืองแร่ 1 ราย และวิสาหกิจชุมชน 3 ราย ซึ่งได้ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเร่งด่วนสำหรับประเมินสถานการณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้ความช่วยเหลือได้ในทันที

พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในด้านต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การจัดทีมงานทำความสะอาดและซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ และการจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้มาตรการ 3 ระยะ ‘ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู’ 

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมแผนการรับมือไว้แล้วตามนโยบายของรัฐมนตรีฯ สุริยะ ตามมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่... 

‘สุริยะ’ แนะคนไทย ‘ลอยกระทง’ ด้วยวัสดุธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม แถมช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ชวนคนไทยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน มผช. ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ที่จะมาถึงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมขอเชิญชวนคนไทยเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงเปลือกข้าวโพด และกะลามะพร้าวที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ของไทยเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าของคนไทย ช่วยกระจายรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชนอีกด้วย

“กระทงจากเปลือกข้าวโพด และกระทงจากกะลามะพร้าว เป็นสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นของสารเคมีสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และนอกจากจะแนะนำให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติในเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผมขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย เพราะโคมลอยที่ได้มาตรฐาน ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิง ไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไมให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” นายสุริยะฯ กล่าว

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มกระทงทรงธรรม 2) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ 3) นางเตือนคนึง ราชา และ 1) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตกระทงจากกะลามะพร้าวที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 40 ราย

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตัวชี้วัดภาคการผลิตของไทยที่ยัง ขยายตัวต่อเนื่อง

ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า MPI เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่งผลให้ 9 เดือนแรก MPI ขยายตัวร้อยละ 2.83 ส่วนการส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 รับผลบวกจากรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 

'สุริยะ' สั่งกรมโรงงานฯ เดินหน้าตรวจโรงงานเชิงรุก ช่วยรับมือ PM 2.5 ย้ำ!! ไม่ปรับปรุง สั่งปิดทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มอบนโยบายดำเนินการต่อเนื่องตาม 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งปรับปรุงแก้ไขทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายสู่การดำเนินการอย่างบูรณาการ และให้เน้นตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top