Saturday, 4 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

ขยายตัวต่อเนื่อง!! ‘สุริยะ’ เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ม.ค. โต 99% รับอานิสงส์ผ่อนคลายล็อกดาวน์ - เปิดประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 104.42 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 จากเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.04 รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคมปี 2565 อยู่ที่ 104.42 ขยายตัวร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในสถานประกอบการยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนมกราคมปี 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.04 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.91

เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ แม้หลายประเทศจะเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครน ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและนโยบายการเปิดประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแน้วโน้มขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกอาจจะกลับมาสะดุดอีกครั้งหากสงครามยืดเยื้อ

ก.อุตฯ เร่งออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ‘สุริยะ’ สั่งเดินหน้าหนุนนโยบาย EV เต็มสูบ

“สุริยะ” เร่ง สมอ. ออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า เดินหน้านโยบาย EV เต็มสูบ ล่าสุดบอร์ด สมอ. ไฟเขียวเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน คาดประกาศใช้ภายในปีนี้ รองรับเทคโนโลยีวีทูจี (Vehicle to Grid - V2G) ให้รถยนต์อีวีเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรอง  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยการจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการประกาศใช้แล้วจำนวน 116 มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองที่มีความพร้อม เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน EV ให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV ลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งลดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ด้วย

'สุริยะ' สั่ง 'ดีพร้อม' ปั้น CIV Leader รับวิถี Now Normal คิกออฟ 'บ้านปลายบาง' ต้นแบบชุมชนนำร่องการท่องเที่ยว

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมสั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พัฒนาต่อยอดผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader นำร่อง 20 ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนของชุมชน และศักยภาพของแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมลูกค้า พร้อมชู “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านปลายบาง” ตัวอย่างชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวไว พลิกวิกฤตพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศถือได้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอัตราการเข้าพักในโรงแรมในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามสำหรับหลายกิจการที่รอคอยให้เครื่องจักรการท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขยายผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้มั่นคงให้กับ 250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ในปีนี้ ดีพร้อมเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่จะลงลึกถึงความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมการส่งเสริมที่ตรงจุด ด้วยทีมบุคลลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญองค์ความรู้ในด้านการจัดการอุตสาหกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อีกทั้ง ได้ปรับรูปแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) ประกอบด้วย... 

>> Now Village หรือ การส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพความเป็นปัจจุบัน คือ การสำรวจความพร้อมและผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเดิมในการพัฒนา และการสำรวจต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมามีแรงงานฝีมือจำนวนมากที่ตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หากสามารถใช้ศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จะทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต 

>> Now Customer หรือ การส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการการควบคุมโรค ที่เข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนงดการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าชุมชน หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าและบริการในความปกติปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 

'สมอ.'​ เข้ม!! มาตรฐาน 'หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว'​ ป้องกันแพร่เชื้อ​ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล

สมอ. เข้ม!! มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ให้สอดคล้องตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง หากมาตรฐานฉบับใดไม่ทันสมัยก็ให้ทบทวนแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยให้ครอบคลุมการใช้งานทุกประเภท ทั้งเพื่อป้องกันฝุ่น pm 2.5 ป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน หน้ากากอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่ต้องใส่เมื่อออกนอกเคหสถาน ทำให้ปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx ที่ สมอ. ได้แก้ไขใหม่ จากมาตรฐานเดิม มอก.2424-2562 เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายประเภท รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในอนาคต โดยเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมในคราวเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้ 

นอกจากนี้ กมอ. ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 49 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานมือจับประตูและราวจับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เครื่องชั่งและบรรจุข้าวสาร เครื่องเรียงขวดพลาสติก ดวงโดมไฟฟ้า สายไฟฟ้าสำหรับอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานฉบับเดิม มอก.2424-2562 ครอบคลุมเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวที่ใช้ป้องกันอนุภาค เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง ได้แก้ไขเป็น มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจีบ แบบถุงหรือแบบปากเป็ด และแบบถ้วย โดยเพิ่มความเข้มข้นรายการทดสอบประสิทธิภาพการหายใจมากขึ้น และมีการแบ่งประเภทและระดับการป้องกันใหม่ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน  

อนาคตสดใส!!  เกาะรั้ว 'มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43'​ กระแสยานยนต์ไฟฟ้าคึกคัก ขานรับนโยบายรัฐดันไทยสู่ฮับผลิต​ EV​ แห่งอาเซียน

'รมว.สุริยะ'​ พอใจภาพรวมงาน 'มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43'​ เผยรัฐบาลเตรียมมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หลังพบยอดการใช้งานสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

(27 มีนาคม 2565​)​ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ซึ่งจัดขึ้นที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2565 โดยมีนายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงอุตสาหกรรม, ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม​ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายชาญ ตุลยะเสถียร, นายโสภณ ตันประสิทธิกุล, ดร.สฤษฎเกียรติ แจ่มสมบูรณ์, นายชัชวัฏ สุวรรณโณ, นายกฤตณ์พัทธ์ กังสุวรรณ, นายธีระ บัวประดับกุล คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารบริษัทยานยนต์ชั้นนำ เข้าร่วม

งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก้าวด้วยกัน ไปด้วยใจ ไปได้ไกล” หรือ “KEEP MOVING FORWARD TOGETHER” โดยบริษัทกรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานหลัก โดยมี 27 บริษัทรถยนต์ 8 บริษัทรถจักรยานยนต์ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านยานยนต์เข้าร่วมจัดแสดงบนพื้นที่กว่า 170,960 ตารางเมตร 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชื่นชมคณะผู้จัดงานที่เตรียมพร้อมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี และดีใจที่ประชาชนให้ความสนใจการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์​ เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศหลักที่ผลิตรถยนต์ของโลก โดยในประเทศอาเซียน ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งในปีนี้มีการประกอบรถยนต์ในประเทศไทยประมาณ 1,800,000 คัน ขณะที่การจัดงานในปีนี้ พบว่า มีบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน โดยแบ่งเป็นใช้ในประเทศ 260,000 คัน และส่งออก 100,000 คัน 
 

สมอ. คุมเข้ม!! ‘หลอดไฟแอลอีดี - ยางหล่อดอกซ้ำ’ ย้ำต้องได้มาตรฐาน มีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้

สมอ. ควบคุมหลอดไฟแอลอีดี และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก ต้องได้มาตรฐาน มอก. มีผลบังคับใช้ 29 มีนาคม 2565 และ 5 พฤษภาคม 2565 เตือนผู้ประกอบการทุกราย ก่อนทำ นำเข้า ต้องขออนุญาตจาก สมอ.  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญและได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

“การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งผมได้กำชับกับสมอ. ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนให้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเป็นอันดับแรก” นายสุริยะฯ กล่าว

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ดำเนินงานตามนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด โดยประกาศควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนแล้วจำนวน 127 รายการ รวมถึงสินค้า 3 รายการ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ได้แก่ หลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่ มอก.2779-2562 และหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัว มอก.2780-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 มีนาคม 2565 และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก รถบัส และรถพ่วง มอก.2979-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นี้ด้วย 

ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายที่จะทำ หรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย โดยสินค้าทุกชิ้นจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับคู่กับ QR code เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้รับใบอนุญาตได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ผู้ทำหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวต่อว่า มาตรฐานหลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่ ซึ่งโดยทั่วไปอาจเรียกว่า หลอดแอลอีดีชนิด T5, T8 หรือ หลอดแอลอีดีแบบยาว จะควบคุมเรื่องความปลอดภัยในขณะใช้งาน เพื่อป้องกันไฟรั่ว  ไฟดูด ควบคุมอุณหภูมิของขั้วหลอดในภาวะไฟฟ้าวิกฤติ และการติดไฟ เป็นต้น ขณะนี้มีผู้ยื่นขออนุญาตแล้วจำนวน 3 ราย เป็นผู้ทำ 1 ราย ผู้นำเข้า 2 ราย  

‘สุริยะ’ ปลื้มยอดจอง EV ในมอเตอร์โชว์สูง สั่งหนุนเต็มสูบ ดันไทยเป็นฮับผลิต EV

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองภายในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 รวมทั้งสิ้น 3,000 คัน สั่งเร่งเครื่องสนับสนุนเต็มสูบ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 หรือ งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 33,936 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13.6% โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารวมประมาณ 3,000 คัน คิดเป็น 10% โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับรถยนต์และรถยนต์จักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำในช่วงงาน รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของค่ายรถ ขณะที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานด้านความปลอดภัยของการจัดงานทำให้มีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1,578,898 คน

นอกจากนี้ การจัดงานปีนี้มีบริษัทผู้ประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของ GDP ของประเทศ ในปี 64 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวม 1.7 ล้านคัน และคาดว่าปี 65 ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นรวม 1.8 ล้านคัน

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 68 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 73 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 73 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

‘ดีพร้อม’ ขยายผล นโยบาย ‘ดีพร้อมแคร์’ ปั้นรายได้ภาคใต้ตอนบนแล้วกว่า 269 ลบ. 

(29 เม.ย. 65) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ผ่านการดำเนินนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนมีความพร้อมในทุกมิติ ชูตัวอย่างผลสำเร็จการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับผ่านการดำเนินงานของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 10 (DIPROM CENTER 10) อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรชุมชน การยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการประมงในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนเพิ่มขึ้น 15 เท่าจากงบประมาณที่ได้รับคิดเป็นมูลค่ากว่า 269 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องกระจายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจภูมิภาค อันจะเป็นฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบแนวทางให้ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ที่ได้ปรับประยุกต์การดำเนินการให้สอดคล้องบริบทของพื้นที่ โดยการปรับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 เป็น ‘ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 10’ (DIPROM CENTER 10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นในทุกระดับมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้กระจายการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 269 ล้านบาท คิดเป็น 15 เท่าจากงบประมาณดำเนินการ ประกอบด้วย…

>> ยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ผ่านการดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำธุรกิจพันธุ์ดีพร้อม (DIPROM HEROES) สร้างเครือข่ายผู้นำในชุมชนได้กว่า 25 ราย โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) หรือ DIPROM MINI MBA ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการพร้อมกับสามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการให้มีเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ให้มีโอกาสทางธุรกิจผ่านการอบรมเชิงลึกในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการปูพื้นฐานไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีศักยภาพ

>> เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ผ่านการดำเนินการของศูนย์แปรรูปเกษตรอุตสาหกรรมและศูนย์ออกแบบดีพร้อมที่มุ่งเน้นการให้บริการเครื่องจักร เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดอย่างครบครัน ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใช้บริการ รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI ในทุกกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้าถึงเครื่องจักรกลที่ทันสมัย 

>> พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชนให้แสดงถึงอัตลักษณ์และสามารถเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

ก.อุตฯ เผยผลศึกษาผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมปี 2564 ยังแกร่งฝ่าโควิด-19 จากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการ พร้อมเดินหน้าปี 2565 เสริมความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรมไทย ยกระดับผลิตภาพการผลิต 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตอย่างใกล้ชิด โดยจากการสำรวจข้อมูลประจำปี 2564 ได้นำแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี (ร.ง.9) มาวิเคราะห์ความสามารถในการผลิตและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความแข็งแกร่งจากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 0.34 และ 1.70 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่เป็นภูมิคุ้มกันหลักให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ที่ยากจะควบคุมของผลกระทบห่วงโซ่การผลิตโลกที่หยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

การที่จะรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก โรคระบาด หรือสงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมี 5 กลไกสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง คือ...

1. การพัฒนาทักษะแรงงาน 
2. การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/ กึ่งอัตโนมัติ 
3. การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน 
4. การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ODM) และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ (OBM) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น 
และ 5. การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่างๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้กับสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศ 

'สุริยะ' ดัน DIPROM Community ชุบชีวิต ศก.ฐานราก ชี้!! ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่ม 7 พันล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านการ Kick Off พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม สั่งการอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนเปลี่ยนผ่านจากยุคที่ 3 หมู่บ้าน CIV ก้าวไปสู่ยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community อย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย คาดกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 7,000 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เป็นวิกฤติการณ์ระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

นายสุริยะ จึงได้สั่งการให้ดีพร้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ดำเนินโครงการเพื่อเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ภาคเกษตรอุตสาหกรรม, ภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการของชุมชน ให้สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ปกติโดยเร็ว ผ่านนโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่เน้นการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อมุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนก้าวไปสู่ยุคที่ 4 

โดยพัฒนาจาก “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้านซีไอวี (CIV)” ในยุคที่ 3 สู่กลไกใหม่ในยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community” ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการพัฒนาที่ครบถ้วนใน 7 มิติที่ดีพร้อม ทั้ง แผนชุมชน, คนชุมชน, แบรนด์ชุมชน, ผลิตภัณฑ์ชุมชน, เครื่องจักรชุมชน, ตลาดชุมชน และเงินหมุนเวียนในชุมชน 

ถือเป็นการ “เปลี่ยนวิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้ดีพร้อมอย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย คาดกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 7,000 ล้านบาท 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top