‘สุริยะ’ เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย เน้นสอดรับแผนพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

กอช. เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน เน้นบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 มีการพิจารณา 4 เรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิตเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมีทิศทางที่สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับ รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็วภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างรอบด้าน ครอบคลุม ตลอดห่วงโซ่มูลค่าในทุกมิติ โดยที่ประชุม กอช. ได้มีมติเห็นชอบใน 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)  โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 : ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มาตรการที่ 2 : กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และมาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สําหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) และมอบหมายให้ อก. นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)/ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570)
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566- 2570) โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรม  แห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN)  ภายใน 5 ปี ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง 2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ 3) ส่งเสริมด้านการตลาด และ 4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ โดยแบ่งการดําเนินการเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะ 1 ปี : เร่งสร้าง Enabling และความมั่นคงทางวัตถุดิบ 2. ระยะ 3 ปี : ยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กัญชง และ 3. ระยะ 5 ปี : สนับสนุนการผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ระยะ 5 ปี

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายให้ อก. นํา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอ สศช./ ครม. เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

3. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ กรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนระดับ 3 ด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย ภายใต้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 กระทรวง 2. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แก้ไขปัญหาการกระทําผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินช่วยเหลือ อุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการเกิดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570 และแนวทางการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

4. กลไกขับเคลื่อนการดําเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ 
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการดําเนินงานของ กอช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อก. จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้ กอช. เพื่อทําหน้าที่กําหนดกรอบและแนวทางการดําเนินงาน จัดทําและเสนอแนะนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประสานและบูรณาการการดําเนินงานในประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อ กอช. เป็นระยะ ตามความเหมาะสม ประกอบด้วย 3 กลไกสำคัญ ดังนี้

(1) คณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน อว./ ผู้แทน พณ. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 21 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ

(2) คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน ทส./ ผู้แทน มท. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 21 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ

(3) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และการอํานวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมาย และรองปลัดกระทรวงการคลัง (กลุ่มภารกิจด้านรายได้) เป็นรองประธาน ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน พณ./ ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 18 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. อนุมัติการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบและอํานาจหน้าที่ตามที่เสนอ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในระยะต่อไปที่ชัดเจน ครอบคลุมและรอบด้าน สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรมสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงต่อไป