‘สุริยะ’ ชี้ MPI ฝ่าวิกฤตศก. ครึ่งปีโต 0.48% เผยอานิสงส์เปิดประเทศ หนุนปิโตรเลียม – สิ่งทอ ฟื้น
อก. เผย MPI 6 เดือนแรกปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 อานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตฯ น้ำมันปิโตรเลียมและอุตฯ สิ่งทอ ฟื้นต่อเนื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ครึ่งปีแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอบรับสถานการณ์การผลิตกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พร้อมผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หนุนกำลังการบริโภคประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยประมาณการ MPI ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและเพิ่มกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก คาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 ขณะที่เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ในระดับทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.81 ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 98.05 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.41 โดย สศอ. ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 จากการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบประกอบกับประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ ยานยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า กระเป๋า และเบียร์ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบ ประเทศคู่ค้าเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศ อาทิ ศรีลังกา เมียนมาร์ และลาว อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของไทย
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.53 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.26 จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.25 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ เป็นหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมถึงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.03 โดยได้เร่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าสำหรับเก็บเป็นสต๊อกก่อนที่ผู้ผลิตจะปรับราคาจำหน่ายสินค้า
ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.95 โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณฝนมากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงราคาพืชผลเกษตรที่สำคัญอยู่ในระดับสูง