Sunday, 12 May 2024
WORLD

‘แซม แบงก์แมน-ฟรายด์’ เจ้าของ FTX บริจาคเงินหนุน ‘เดโมแครต’ มากเป็นอันดับ 2

(14 พ.ย. 65) เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘The Structure’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ Sam เจ้าของ FTX โดยระบุว่า…

รู้หรือไม่? Sam เจ้าของ FTX คือผู้บริจาคเงินให้กับพรรคเดโมแครตมากเป็นอันดับ 2 รองจาก George Sors มหาเศรษฐีเฮดจ์ฟันด์

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย Forbes และ Financial Times ระบุว่า แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) เจ้าของแพลตฟอร์มเทรดคริปโตชื่อดัง FTX ที่เพิ่งยื่นล้มละลาย ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญกับการเมืองในสหรัฐอเมริกา 

เนื่องจากเขาคือคนที่บริจาคเงินให้กับพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมเป็นเงินจำนวนถึง 40 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.4 พันล้านบาท โดยเป็นการบริจาคผ่านคณะกรรมาธิการ 3 ชุด 

นอกจากนี้เพื่อนร่วมทีมของแซมในบริษัท FTX ยังบริจาคให้อีก 29 ล้านดอลลาร์ ทำให้ FTX เป็นผู้บริจาคเงินถึง 69 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.48 พันล้านบาท) ให้กับพรรคเดโมแครต

เจอะเจอคุณอา เมื่อความเกรงใจแบบคนไทย ต้องแพ้พ่ายต่อที่พักที่เกินจะรับไหว

หลังจากที่คุณอาผู้หญิงได้ยินชื่อเต็มซึ่งรวมทั้งนามสกุลของเราท่านก็บอกโอเปอเรเตอร์ว่า ท่านยินยอมจ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่จะคุยกับเรา ทางโอเปอเรเตอร์เลยสับสายให้เราได้คุยกับคุณอา คุณอาเริ่มต้นบทสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของครอบครัวเราและตัวเรา 

สุดท้ายท่านถามว่าเราพักอยู่ที่ไหน เราตอบท่านตรงๆ ว่าเราอยู่หอพักนักศึกษา แต่ต้องแบ่งห้องกับรุ่นน้องที่เรียนปริญญาตรีที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จัก ท่านถามต่อว่าเราซื้อฟูกนอนแล้วหรือ เราก็งงเต็กนึกว่าทางมหาวิทยาลัยจะจัดที่นอนให้เรียบร้อยเหมือนโรงแรม เพราะเราแค่เข้าไปนอน 

คุณอาบอกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องซื้อฟูก หมอน และผ้าห่ม เราก็เลยยอมรับกับท่านไปว่า เราโง่สนิทไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่าเราต้องเตรียมเครื่องนอนก่อนที่จะเข้าหอพัก ท่านเลยอาสาว่าท่านกับสามีจะมารับเราไปซื้อของเข้าห้อง แต่ก่อนวางสายท่านถามเราว่าจะมาอยู่กับท่านก่อนไหม แล้วค่อยย้ายออกเมื่อเราเจอที่พักที่ถูกใจ 

เราเพิ่งมาจากประเทศไทย ก็ติดนิสัยเกรงใจกลัวว่าเราจะกวนท่านและครอบครัว เลยอ้ำอึ้ง ตอบท่านอย่างกระอ้อมกระแอ้มว่า ไม่เป็นไรเราอยู่หอพักได้ ท่านคงจับความลังเลในน้ำเสียงของเราได้ ท่านเลยบอกว่าท่านมาอยู่ที่อเมริกาเกินกว่า 20 ปีแล้ว ท่านคิดอย่างคนอเมริกัน เราต้องการอะไรอย่าอ้อมค้อมเพราะความเกรงใจ ตอบมาตรงๆ ท่านจะได้ทราบความจริงแล้วจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะดึกเกินไป 

เมื่อได้ยินท่านพูดเช่นนั้น เราเลยยอมรับกับท่านไปว่า สงสัยจะอยู่หอพักไม่ได้ เพราะกลัวการแชร์ห้องน้ำกับคนอื่น แถมห้องนอนก็ทั้งเล็กทั้งเก่า ท่านเลยให้เราไปรอท่านมารับหน้าหอพัก

ประมาณ 30 นาทีผ่านไป ก็มีรถเก๋ง 4 ประตูสีขาวมาจอด สตรีชาวเอเชียผมม้าเต่อใส่แว่นเปิดประตูรถลงมาแล้วมองรอบๆ แบบงงๆ เนื่องจากเราเจอคุณอาครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่วนคุณอาก็เจอเราตอนที่เราอายุ 14 ช่วงที่กำลังอวบสุดๆ น้ำหนักประมาณ 90 กิโล ตอนที่เรามาถึงบอสตันเราน้ำหนักประมาณ 70 

ทั้งเราทั้งคุณอาก็ต่างจำกันไม่ได้ เราเดาๆ ว่าสตรีผู้นั้นน่าจะใช่คุณอา เลยเดินเข้าไปไหว้ทัก โชคดีที่ใช่คุณอา เลยต่างคนต่างดีใจที่ได้เจอกัน คุณอาได้แนะนำให้รู้จักกับสามีท่าน เมื่อทักทายกันพอหอมปากหอมคอแล้วคุณอาทั้งสองท่านก็พาไปทานอาหารไทยในไชน่าทาวน์ สมัยนั้นร้านไทยชื่อสยามสแควร์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยร้านเดียวในไชน่าทาวน์และเป็นที่รู้จักดีของเหล่าคนไทยในบอสตัน เพราะทำอาหารไทยรสชาติแบบคนไทยทาน

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์แบบไหน ภายใต้ความท้าทายของอังกฤษยุคใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ของอังกฤษ ที่เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้จะมีทิศทางในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ท่านจะดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระมารดาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ หรือจะทรงมีแนวทางของพระองค์เอง

จากที่ได้อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษมา พอจะประมวลได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่ท่านคงจะมีกุศโลบายของพระองค์เองเป็นหลัก และดำเนินรอยตามพระมารดาในสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นผลดีอยู่แล้ว เห็นมีการวิเคราะห์กันว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่คงจะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่น ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะทรงรั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาอย่างยาวนานที่สุดถึง ๕๒ ปี อย่าลืมกันนะคะว่า ปีนี้พระชนมายุ ๗๓ พรรษาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นและทรงเจอกับปัญหาทั้งบวกและลบมาพอสมควร 

ประกอบกับระยะเวลาอันยาวนานที่พระมารดาดำรงฐานะพระประมุขของประเทศถึง ๗๐ ปี ทรงพบปะเจอะเจอกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเองถึง ๑๕ คนและประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๑๔ คน และผู้นำของประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงทรงได้เรียนรู้การงานภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างเต็มที่แล้วและจากนี้ต่อไปการที่จะต้องทรงงานด้วยพระองค์เอง คงทรงทำได้และอาจทำได้ดีอีกด้วย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปได้ทราบหรือคนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทราบกันดีคือ พระนิสัยที่ทรงชอบวิจารณ์หรือเสนอแนะในเรื่องต่างๆต่อรัฐบาลอังกฤษ มีหลายเรื่องหลายประเด็นเช่นการเกษตร ท่านสนับสนุนการเกษตรอินทรีจนมีโครงการของตัวเอง,เรื่องผังเมือง,สถาปัตยกรรม,การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องการสงวนรักษาพันธุ์ปลา ดังนั้นเมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐบาลอีกหรือไม่

แน่นอน แต่อาจจะเปลี่ยนจากการส่งโน๊ตไปถึง แต่ท่านจะสามารถพูดโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้เลย เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ ในการเข้าเฝ้านั้นพอที่จะทราบกันว่าจะต้องเป็นการหารือข้อราชการงานเมืองทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีอาจจกราบทูลในเรื่องต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินควรทรงทราบและพระองค์ท่านก็จะทรงแสดงความคิดเห็น ส่วนรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ ก็ได้เพราะอำนาจในการบริหารเป็นของรัฐบาล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของการหารือนะคะ ไม่มีใครทราบ

ทีนี้สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารท่านกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรทำหรือจัดการกับเรื่องนั้นหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทรงอยากจะเสนอแนะในเรื่องใดจะทรงส่งลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ไปถึงรัฐมนตรีคนนั้นจนมีการเอ่ยกันในรัฐบาลว่ามีใครได้รับ “Black Spider Memos” บ้าง

อันหมายถึงลายพระหัตถ์ยุ่งๆเหมือนใยแมงมุมนั่นเอง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านมีความมั่นพระทัยมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น ทีนี้มี reaction ต่อ Black Spider Memos นี้กันอย่างไร ตามที่บทความบีบีซีภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาบอกว่า การที่ได้รับจดหมายข้อความจากท่าน เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน แต่เห็นว่าเป็นเพียงความต้องการที่อยากจะให้เกิดการกระทำในเรื่องนั้นเท่านั้น และไม่ใช่การที่จะนำไปสู่การขัดแย้งใด เป็นเพียงการเสนอความเห็นของพระองค์และ ไม่เป็นการแทรกแซงหรือบังคับ

ในตอนนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล เมื่อนักข่าวทูลสัมภาษณ์ท่านประเด็นนี้ ท่านตอบดีมาก คือ “ถ้าหากเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ฉันก็ภูมิในทีเดียว”

“If that's meddling, I'm very proud of it." But he acknowledged that he was in "a no-win situation.”

แต่ก็ทรงยอมรับว่าท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายหรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงทราบดีว่าพระองค์อยู่ในฐานะพระประมุขเท่านั้น แต่ท่านก็พูดเหมือนจะประชดประชันในทีครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนก็จะบ่นว่าไม่ทำอะไร แต่ถ้าพยายามหรือยืนกรานที่จะช่วยทำอะไรในสิ่งที่เห็น อีกนั่นแหละก็จะถูกบ่นว่าเช่นกัน”

ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งคนละเวลานะคะ ทรงบอกว่า พระองค์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองของพรรคต่างๆ คือไม่สนับสนุนหรือติเตียนพรรคใด แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องพูดออกไปในปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าใจสังคมอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดีก็มีนักการเมืองบางคนที่เข้าใจในความคิดของเจ้าชายอยู่เหมือนกัน  อดีตรัฐมนตรีของพรรคเลเบอ คนหนึ่งเล่าว่าหลังจากที่เขาได้สนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าท่านมีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องที่คิดและยินดีที่จะเสี่ยงที่จะแหย่เท้า (พระบาท)เข้าไปในเรื่องที่ทรงเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่โชคไม่ดีมีปัญหา, ไม่พอใจกับชีวิตหรือการสิ้นหวัง มีพระประสงค์ที่จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีพรรคเลเบอคนนี้บอกว่า เขาประทับใจกับการใส่พระทัยในปัญหาวัยรุ่นของพระองค์มากทีเดียว ซึ่งอันที่จริงเขาบอกว่าในตำแหน่งมกุฎราชกุมารอาจจะไม่ต้องสนใจในเรื่องเหล่านี้ก็ได้สามารถดำรงตำแหน่งสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแก้ไขไป
แต่ท่านก็ไม่ยอมอยู่สบายๆ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือองค์ประธานองค์กรต่างๆ ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง และองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์อย่างมากคือ การตั้ง the Prince’s Trust อันเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือวัยรุ่นโดยเฉพาะขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ที่ได้จากกองทัพเรือมาตั้งกองทุนนี้

The Prince’s trust ช่วยวัยรุ่นด้อยโอกาสจากพื้นที่ที่ยากจนทั่วประเทศในด้านการประกอบอาชีพ มาแล้ว ๙ แสนกว่าคน การตั้งองค์กรนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระอิสริยยสในขณะนั้นเห็นปัญหาที่หลากหลายของสังคมของประเทศของพระองค์โดยตรง แต่ทรงเล่าว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้ความเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงมหาดไทยนัก เพราะมหาดไทยเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การช่วยเหลือนี้สำเร็จได้เพราะเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงท้อถอย ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงบอกว่า ท่านประสูติในฐานะเจ้าฟ้าชายและต่อมาเป็นมกุฎราชกุมาร ดังนั้นจึงทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและจะทำทุกอย่างที่ทรงทำได้

แน่นอนคนอาจจะเห็นว่า คำพูดจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านทำจริง ตามที่เป็นข่าวจะเห็นว่าทรงแสดงความเห็นถึงการเป็นนักปฏิรูปที่อึดอัดกับการที่เห็นบางชุมชนถูกปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งให้ล้าหลังไม่มีการพัฒนา ซึ่งการที่ท่านพูดแต่ละทีก็เป็นข่าวกระตุ้นได้บ้างเหมือนกัน

การให้ความสำคัญต่อส่วนรวมไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น มีคนที่ทำงานกับท่านคนหนึ่งเล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากท่านตอนราว ๓ ทุ่มเมื่อทรงทราบข่าวน้ำท่วมในปากีสถาน
Hitan Mehta, ฮิทาน เมตตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยท่านตั้งองค์กรที่เรียกว่า The British Asian Trust คือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอังกฤษกับประเทศในเอเชีย เธอเล่าว่าในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง ราวสามทุ่มได้รับโทรศัพท์จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงบอกว่าพระองค์ทราบข่าวเกิดน้ำท่วมในปากีสถานและถามเธอว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เมตตาบอกว่าท่านมีงานอื่นมากมายแต่ก็ยังเมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนในปากีสถานและแม้จะมืดค่ำก็ยังทรงถามไถ่เธอมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ท่านเป็นคนที่มีมนุษยธรรมอย่างจริงใจ

ความจริงจังและจริงใจนี้เมื่อฟังเจ้าชายแฮรี่พระโอรสเล่าถึงพระบิดาได้ฟังแล้วก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เจ้าชายแฮรี่บอกว่า พระบิดามักจะเสวยพระกระยาหารค่ำค่อนข้างดึก หลังจากเสวยเสร็จก็จะเสด็จไปที่โต๊ะทรงงาน แล้วก็จะหลับคาสมุดโน้ตของพระองค์

อีกด้านหนึ่ง  พระราชินีคามิล่าได้เล่าในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในวันครบรอบวันประสูติ ๗๐ ชันษาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๓ ว่า ท่านเป็นคนที่พระทัยร้อนมาก ถ้ามีพระประสงค์จะทรงงานอันใดแล้ว คืองานนั้นต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือใจร้อนจนรอให้งานเสร็จวันนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรให้เสร็จโดยเร็วนั่นเอง
แต่ว่าเมื่ออยู่กับหลานๆ คือพระโอรสธิดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมจะทรงหลอกล้อกับเด็กๆ หรืออ่านแฮรี่ พอตเตอร์ให้ฟัง ทรงทำเสียงตามตัวละครให้ด้วย

อังกฤษในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง มีประชากรหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บร็อคดานอร์ Vernon Bogdanor ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ คาดว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะสามารถเข้าถึงประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อถือได้อย่างดีเพราะทรงคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานและจะทรงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศได้ และจะสามารถเชื่อมกลุ่มชนที่ด้อยทางสังคมหรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ก้อมีการคาดหวังอีกด้วยว่าในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ, ด้านดนตรีและวัฒนธรรม งานเหล่านี้คงอยู่ในสายพระเนตรที่จะได้รับความสนใจและสนับสนุน แต่คาดกันว่าเรื่องม้าแข่งอาจจะไม่มากเท่ากับสมเด็จพระมารดาค่ะ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะไม่ทอดทิ้งเพราะอยู่ในความสนพระทัยมากและมานานแล้วคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เรื่องนี้พูดกันว่าพระองค์ได้แสดงความห่วงใยและพูดถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาก่อนคนอื่นๆ ทรงเป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาร่วมมือกันแก้ไข เมื่อปีที่แล้วได้ทรงเข้าร่วมการประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ทรงพบกับประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทูลว่าให้พระองค์ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

Sir Lloyd Dorfman ผู้ที่ถวายงานมานานเห็นว่าเรื่อง Climate change นี่พระองค์อาจจะยังคงผลักดันต่อไปแต่อาจจะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเหมือนที่ผ่านมา

แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ เมื่อแฮมเบอร์เกอร์ เมนูเด็ดของประเทศสหรัฐฯ เจอข้อหาไม่เป็นอเมริกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ใครๆ ก็รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ อาหารยอดนิยมของอเมริกัน แต่น้อยคนจะรู้ว่าครั้งหนึ่งแฮมเบอร์เกอร์เจอข้อหาว่า ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลอเมริกันพยายามเปลี่ยนชื่อแฮมเบอร์เกอร์เป็น 'แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ'

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โลกถูกฉีกออกเป็นสองฝั่งแล้วยกพวกตีกัน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางหรือฝ่ายอักษะ มีเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี และบัลแกเรีย ส่วนฝ่ายพันธมิตรมีฝรั่งเศส, รัสเซีย, อังกฤษ, เซอร์เบีย, อิตาลี, อเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น เป็นหลัก  

ลุงแซมโกรธแค้นเยอรมันอยู่ก่อนแล้ว เพราะเยอรมันเปิดศึกใต้มหาสมุทร ส่งเรือดำน้ำถล่มชาติอื่นอย่างเมามัน หนหนึ่งโจมตีเรือโดยสารลูสิตาเนีย ซึ่งเป็นเรือโดยสารที่ไม่ติดอาวุธของอังกฤษ จมลงใกล้ฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ ในเรือมีคนอเมริกันรวมอยู่ด้วยและเสียชีวิต 139 คน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1915 อเมริกาจึงประท้วงเยอรมนีรัวๆ

ความแค้นฝังหุ่นยังไม่จบง่ายๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีชวนเม็กซิโกกับญี่ปุ่นให้ร่วมทำสงครามกับอเมริกา โดยเม็กซิโกจะได้รับผลตอบแทนคือรัฐนิวเม็กซิโก, เท็กซัส และแอริโซนาคืนจากอเมริกา จึงทำให้อเมริกาไม่พอใจถึงขั้นหนวดกระดิก  

อเมริกานั้นชำนาญเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อมานานแล้ว เลยใช้โอกาสนี้เปลี่ยนชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีสำเนียงหรือสุ้มเสียงไปทางเยอรมันให้เป็นอเมริกันให้หมด สุดท้ายแฮมเบอร์เกอร์เลยกลายเป็น 'แซนด์วิชเสรีภาพ'
 

73% นศ.มะกัน ตะลุย 'ช้อปหรู-เที่ยวสนั่น' หลังรัฐบาล 'ไบเดน' ยกหนี้ กยศ. ให้

นักศึกษาอเมริกันทั่วประเทศเริงร่า หลังจากที่โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศว่ายกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้นักศึกษาทั่วประเทศสูงสุดถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อคน รอเพียงการพิจารณาจากศาลสูงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เท่านั้น 

ด้วยนโยบายนี้ นักศึกษาในระบบกู้ยืมเงินด้านการศึกษาจะได้รับสิทธิ์ และมีการคำนวนยอดหนี้กันใหม่ทั้งหมด ที่จะทำให้มีภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนน้อยลงสูงสุดถึง 300 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่านักศึกษาเหล่านี้จะมีเงินเหลือไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่าเดิม 

แต่ทว่า จากการสำรวจพบว่า มีนักศึกษา กยศ. สหรัฐฯ มากถึง 73% ตอบว่า เขาตั้งใจจะใช้จ่ายเงินที่เหลือจากการยกหนี้กู้ยืมเรียนของรัฐบาลไปช้อปปิ้ง ซื้อของฟุ่มเฟือย ดินเนอร์หรู ซื้อสินค้าไอทีใหม่ๆ หรือไม่ก็เอาเงินไปเที่ยวกันเสียมากกว่า แม้จะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และรู้สึกผิดก็ตาม แต่ก็จะเอาเงินไปใช้ในเรื่องกิน-เที่ยวอยู่ดี 

ขณะที่มีนักศึกษาเพียง 37% เท่านั้น ที่วางแผนว่าจะสำรองเงินส่วนนี้ไว้สำหรับค่าเช่าบ้าน และ ค่ากินอยู่ เพราะถึงแม้ว่าเงินกู้ยืมจะลดลง แต่ค่าครองชีพนั้นสูงขึ้นมาก การใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่ได้สบายกว่าเดิมสักกี่มากน้อย 

นี่จึงเป็นสาเหตุให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายยกหนี้ กยศ. ของโจ ไบเดน ด้วยเหตุผลว่า เป็นการใช้ภาษีประชาชนชาวอเมริกันในทางที่ผิด เพราะเป็นการผลักภาระหนี้สินของคนกู้เงิน มาใช้ชาวอเมริกันผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กู้เป็นผู้จ่าย 

ความจริง!! จากปากคนแคลิฟอร์เนีย เมื่อ ‘สหรัฐอเมริกา’ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ โลกออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอ (https://fb.watch/gINmbtDpUc/) ของ ‘น้องแตงโม’ หรือ ‘จูเลียน’ หนุ่มหล่อชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในไทย กว่า 5 ปี ผู้มีพื้นเพเป็นชาวเมืองซานฟานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเขาชื่อเล่น ‘แตงโม’ ให้กับตัวเอง เพราะเรียกง่าย พร้อมเล่นมุกว่า "ไม่อยากเป็นฝรั่งแล้ว อยากเป็นแตงโมแทน" จนกลายเป็นที่ติดตามของคนไทยในโลกโซเชียลเป็นจำนวนมาก

โดยคลิปดังกล่าวพาดหัวข้อว่า ‘แตงโมรู้สึกยังไงบ้างที่ได้กลับมาไทยหลังจากกลับไปเมกามา 2 เดือน’ ซึ่งในคลิปนั้นมีการพูดถึงความรู้สึกของ แตงโม ที่ทำให้เขารู้สึกหมดหวังกับการใช้ชีวิตที่ประเทศบ้านเกิด และมองว่าประเทศไทย สังคมไทย คนไทย เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว

“ถามว่าคิดถึงไหม คิดถึงแน่นอน เพราะไม่ได้กลับอเมริกามา 4 ปี แต่ว่ารอบล่าสุดที่โมกลับอเมริกา กูว่าไม่มีความหวังกับประเทศกูแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีหวังอยู่นิดนึง แต่กลับไป กูได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง แบบทำไมเป็นอย่างงี้วะ

เป็นเพราะว่า ล่าสุดอยู่อเมริกา กูยังเด็ก กูยังไม่รู้เรื่องอะไร หรือว่าเพราะเป็นบ้านเมืองแย่ลง ก็มีส่วนแหละ

ผู้นำตอนนี้ก็หลาย ๆ เรื่อง เรื่องการเมือง เรื่องค่าครองชีพ อาหารก็แพง ที่ไทยก็แพงขึ้น แต่ที่อเมริกาก็แพงขึ้นหลาย ๆ เท่า 

อย่างที่บ้านกู เอาง่าย ๆ โจรก็เยอะขึ้น ค่ารองชีพก็แพงขึ้น กฎหมายก็เข้มขึ้น คนไร้บ้านก็เยอะขึ้น เหมือนความยุติธรรม ความเสรีที่เป็นของอเมริกา (Freedom) มันแทบจะไม่มีแล้ว 

อันนี้เราพูดถึง แคลิฟอร์เนีย หรือ นิวยอร์ก หรือพวกรัฐใหญ่ ๆ ดัง ๆ จะแย่กว่ารัฐกลาง ๆ ที่ยังมีความ slow life อยู่ แต่เชื่อเถอะว่า อีกไม่นาน ทุกรัฐก็จะแย่ตาม เพราะแต่ละรัฐมีผู้นำแยกกันไปอีก 

เอาเป็นว่า กูไม่มีความหวังกับประเทศกูแล้ว มันไม่น่าอยู่เลย บ้านกูอ่ะ กลับกันไม่มีอะไรที่กู ทำในไทยไม่ได้ เผลอ ๆ ในไทยอาจจะมีกิจกรรมให้ทำเยอะกว่า ไทยเสรีกว่า น่าอยู่มาก

กูไม่เอ่ยชื่อนะ มีรุ่นพี่อยู่คนนึง ไปมาหลายประเทศแล้ว เขาพูดอังกฤษได้ เขาพูดไทยได้ เขาก็เก่งแล้ว เขาก็ไปหลายที่ เขายังบอกอยู่ว่า ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดแล้ว

เขาเคยไปอเมริกา เขาบอกว่า อเมริกาไม่เหมือนอย่างที่คิด ไม่เห็นอย่างที่เหมือนใน Social พวก YouTuber ที่ไปถ่าย สุดท้ายเขาบอกว่า ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดแล้ว

คนอเมริกาเขาเก่ง ฝรั่งเขาเก่ง สิ่งที่เห็นใน Social เป็นด้านแบบ โลกสวย!!

ส่วนคนไทยที่ไป Work and Travel อยู่กับ Agency ก็จะอยู่กับคนไทย และทำงานร้านอาหารไทย เค้าจะอยู่แบบรัฐกึ่ง ๆ กลาง ๆ ซึ่งความจริงในความคิดเห็นส่วนตัว คุณไม่ได้ Experience อเมริกาของจริง มันก็เหมือนกับ ฝรั่งที่ย้ายมาอยู่ไทยแล้วอยู่สุขุมวิท ก็อยู่แต่ตรงนั้น หรือ พัทยา คือ เขาอยู่แค่ตรงนั้น จะไม่ได้สัมผัสกับ Culture ที่แท้จริงของอเมริกา

แต่ถ้าลองไปอยู่จริง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะคิดเหมือนกัน คือ คุณจะคิดถึงไทย เพราะตอนผมกลับไปค่าครองชีพตกวันละ 60-100 เหรียญ ผมใช้เงินวันละร่วม 3 พันบาท แต่อย่าไปอ้างว่าที่นั่นให้เงินเดือนเยอะนะ มันไม่เกี่ยวกันเลย ตอนนี้มันแพงจริง แต่ก่อนข้าวจานนึงแค่ 10 เหรียญ ประมาณ 200 – 300 บาท อันนั้นเข้าใจ เอาเป็นว่าอยู่เมืองไทยเงิน 1 พันบาท กูอยู่ได่ 2-3 วัน

เอาง่าย ๆ ตอนนี้ ขนาดคนอเมริกายังเดือดร้อน อย่างคนบ้านกูอ่ะ คนย้ายออกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปรัฐอื่น ที่ภาษีลดลง แต่ทุกรัฐจะพังทลายไปหมด เชื่อกูดิ กูมั่นใจอีก 5 ปี นอกจากเปลี่ยนผู้นำ คนที่ไม่ใช่ ‘ไบเดน’ คนที่ดีกว่านั้น กูพูดงี้เลย ไปเที่ยวยุโรปก่อน 

ฉะนั้นสำคัญคนไทยที่อยากไปอเมริกา ก็พูดยาก ถ้าอยากหาประสบการณ์ที่อเมริกา เพื่อที่จะฝึกภาษา หาเพื่อนใหม่ หางาน มันก็ได้แหละ แต่ความเป็นจริง คุณต้องนึกถึงตั้งหลายอย่าง เรื่องความปลอดภัยของคุณ ที่อเมริกา ก็ไม่ได้ปลอดภัยตอนนี้

Crypto ร่วงแรง!! หลังนักลงทุนหวั่น FTX ล้มละลาย ฉุดราคา 'BTC-ETH' หลุดต่ำสุดใหม่ในรอบปีนี้

ราคา Crypto กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักมาจากการที่นักลงทุนกังวลต่อการล้มละลายของ FTX และสถานะของเงินทุนของลูกค้า ฉุดให้ราคา BTC และ ETH ร่วงลงอย่างรุนแรง สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปีนี้

จากการเปิดเผยของ cointelegraph ระบุว่าราคา Crypto ลดลงทั่วทุกกระดานเทรดในวันที่ 8 พฤศจิกายน เนื่องจากความกังวลในกระแสข่าวการล่มสลายของ FTX กระดานเทรดคริปโตชื่อดังที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะประเด็นการโต้เถียงของเหรียญ FTT ซึ่งเป็นเหรียญคู่บุญประจำกระดานของ FTX และการออกมาให้ข้อมูลของ Alameda ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาด crypto ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ในวันนั้น Bitcoin (BTC), Binance coin (BNB), Ethereum (ETH), FTX token (FTT) และ Solana (SOL) กลับขึ้นมารีบาวด์ได้ในช่วงสั้น ๆ หลังจากมีข่าวว่า Binance จะเข้าซื้อกิจการของ FTX แต่การเด้งกลับเกิดขึ้นมานั้นก็ยังคงแกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง

ในขณะที่เขียน FTT ตกลงต่ำกว่าเครื่องหมาย 7 ดอลลาร์ซึ่งขาดทุน 70% ในวันนั้น ขณะที่ราคาโซลานายังอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยต้องเผชิญกับการปรับฐาน 18% เนื่องจากซื้อขายต่ำกว่า 25 ดอลลาร์ หลังจากข่าว Binance จะซื้อกิจการ FTX ขณะที่ BNB ดูเหมือนจะเป็นเหรียญเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบในวันนี้ อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของตลาดไม่ได้สำรองโทเค็นการแลกเปลี่ยนซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ 328 ดอลลาร์ซึ่งสะท้อนถึงการสูญเสีย 2.6%

นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับงบดุล FTX ได้ทำให้ตลาดมีการพลิกกลับอย่างรวดเร็วหลังจากที่ Binance ประกาศเข้าซื้อกิจการของ FTX ซึ่งทำให้ตลาดปรับตัวสูงขึ้น โดยจากรายงานพบว่า FTX มีความพยายามในการระดมทุนมากถึง 6 พันล้านดอลลาร์เพื่อโปะช่องว่างในงบดุล ซึ่งทำให้ข้อตกลง และสถานะทางบัญชีตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์กำลังเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่างการดำเนินการของ FTX ในปัจจุบัน ซึ่งมีช่องว่างด้านงบประมาณขนาดใหญ่ และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกับ Terra Luna ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมากเมื่อช่วงกลางปี โดยความหวาดกลัวเหล่านี้ได้เพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุนจำนวนมาก เกี่ยวกับอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีโดยรวม

>> ภัยคุกคามจากกฎระเบียบเขย่าตลาดคริปโตอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีและหน่วยงานกำกับดูแลมีประวัติที่ไม่สอดคล้องกันเนื่องจากความเข้าใจผิดต่าง ๆ หรือไม่ไว้วางใจในกรณีการใช้งานจริงของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหากไม่มีกรอบการทำงานสำหรับกฎระเบียบของภาค crypto ในประเทศและรัฐต่าง ๆ มีนโยบายที่ขัดแย้งกันมากมาย เกี่ยวกับวิธีการจัดประเภท cryptocurrencies เป็นสินทรัพย์และสิ่งที่ถือเป็นระบบการชำระเงินทางกฎหมาย

อย่างไรก็ดีการขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ ส่งผลต่อการเติบโตและนวัตกรรมภายในภาคส่วน และนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าการรวมกลุ่มของ cryptocurrencies หลักๆไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนกว่าจะมีการออกกฎหมายที่เข้าใจกันในระดับสากลและเข้าใจมากขึ้น

'ซัคเคอร์เบิร์ก' ยอมรับ Meta ไล่พนักงาน 10,000 ราย เพราะบริหารงานพลาด เหตุนำเงินไปจมอยู่กับ Metaverse

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Meta ได้ประกาศไล่พนักงาน 10,000 คนออกจากบริษัท ซึ่งคิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด และถือเป็นการลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ 

โดยที่ปัญหาใหญ่เกิดจากการนำงบประมาณไปทุ่มให้กับ Metaverse ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดโฆษณาที่อ่อนตัวลงจนทำให้กำไรของบริษัทหดหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ซัคเคอร์เบิร์ค CEO ของ Meta ได้อธิบายว่า "ไม่เพียงแต่ตลาดการค้าออนไลน์กำลังปรับตัวสู่แนวโน้มก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เศรษฐกิจมหภาคมีการถดถอย การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้จากโฆษณาของเราต่ำกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้"

"เรื่องนี้ผมผิดเอง และผมขอรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"

อย่างไรก็ตาม Meta จะได้ทำการชดเชยให้พนักงาน เป็นเงินเดือน 4 เดือน รวมโบนัสตลอดระยะเวลาที่พนักงานร่วมทำงานกับบริษัท ปีละ 2 สัปดาห์ และสวัสดิการอื่นเช่น ประกันสุขภาพให้อีก 6 เดือน

เคเอฟซีเยอรมนี พลาดมหันต์ ปล่อย AI โปรโมตมั่ว เชิญ 'กินไก่ทอด' ฉลองวันนาซีสังหารหมู่ยิว

(10 พ.ย. 65) กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ หลังไก่ทอดเจ้าดังในเยอรมนี ปล่อยให้เจ้าระบบปัญญาประดิษฐ์โพสต์ข้อความสุดสยองเชิญชวนให้คนกินไก่ทอดในวันสังหารหมู่ยิว

โดยเพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' ได้นำเรื่องราวนี้มาเผยแพร่ ระบุว่า...

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 1938 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เรียกว่า Kristallnacht หรือ Reichspogromnacht ซึ่งนาซีบุกสังหารหมู่ยิว เป็นบาดแผลฝังใจ

แต่ แอปฯ เคเอฟซี เยอรมัน ดันพลาดมหันต์ ระบบกึ่งอัตโนมัติ (Ai) ดันโฆษณาให้กินไก่ทอดเฉลิมฉลองถึงวันอันโหดเหี้ยมนี้

ทัวร์ลงสิครับ!!

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าทำไมพวกระบบประดานี้ ต้องมี ‘คน’ คอยตรวจตราเป็นด่านสุดท้าย ก่อนจะออกสู่สายตาประชาชี

หรือที่จริง ก็ไม่จำเป็น หากก่อนหน้านั้น ‘คน’ รอบคอบรัดกุมทดสอบมันให้ดีก่อนแอปฯ จะออกสู่ตลาด (หน้าที่ของ Quality Assurance Engineer)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จุดจบแห่งรัชสมัยที่มาก่อนเวลาอันควร เหตุไม่ประนีประนอม ‘กาลเวลา-รัฐสภา’ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ 1600-1649

ถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านพระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินของอังกฤษจะเห็นว่าหลายพระองค์มีวิถีชีวิตที่ถูกเอ่ยขานถึงด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างแปลกแต่จริงอย่างเช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หรือพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มักจะถูกนำมาเล่าถึงกันบ่อยๆ แต่ยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่เส้นทางชีวิตของพระองค์ท่านก็ประหลาดและน่าฉงนอยู่มากทีเดียวและจุดจบของพระองค์ที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย

กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ชีวิตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีความขัดแย้งกันหลายอย่างแม้แต่ดิฉันเองเมื่อได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวพระราชประวัติของพระองค์ก็อดที่จะตื่นตาตื่นใจไปกับความเป็นไปของชีวิตของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์มาแล้วเป็นเวลา 373 ปี แต่เรื่องราวของพระองค์ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงจนปัจจุบัน และแม้ระยะเวลาการครองราชย์สมบัติของพระองค์จะไม่ยาวนักเพียง 24 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชสมัยของพระองค์วุ่นวาย, เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับพระเจ้าแผ่นดินจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์กับผู้ต่อต้าน, หรือความขัดแย้งทางศาสนา, ความกระด้างกระเดื่องของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์และการรีดนาภาษีจากประชาชน จนท้ายที่สุดพระองค์ต้องถูกตัดพระเศียรเพราะความผิดฐานกบฏ และทำให้อังกฤษต้องว่างเว้นการมีพระเจ้าแผ่นดินไประยะหนึ่ง คงพูดได้ว่าตลอดเวลา 24 ปีที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองแผ่นดินนั้นประเทศวุ่นวายที่สุด

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหลายในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 อย่างชัดเจนและไม่สับสนเพราะมีประเด็นสำคัญเกิดขึ้นมากมายจนนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ เราจะเริ่มจากพระนิสัยและบุคลิกของพระองค์กันก่อน จากข้อมูลที่บันทึกกันไว้ จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักเกิดจากตัวของพระเจ้าชาร์ลส์เสียเองมากกว่า และถัดไปจะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประสูติในปี ค.ศ. 1600 ที่สกอตแลนด์ ในขณะที่สมเด็จพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ปกครองสก็อตแลนด์อยู่ เมื่อตอนประสูติทรงเป็นเด็กที่อ่อนแอและขี้โรคมาก แม้พระชนมายุ 2 ปีแล้วก็ยังเดินหรือพูดไม่ได้ และเมื่อสามารถเดินได้ก็ต้องใช้เครื่องพยุงที่ข้อพระบาททั้งสองข้างเพราะพระชงค์หรือขาไม่มีแรงนั่นเอง เมื่อพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง พระองค์จึงต้องเสด็จมาประทับที่ลอนดอน ต้องทรงทิ้งให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประทับอยู่ที่สก๊อตแลนด์กับพระพี่เลี้ยงก่อน เพื่อให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงพอที่จะเดินทางไกลได้ในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเติบโตมาด้วยพระวรกายที่เล็ก, อ้อนแอ่นและยังทรงพูดติดอ่าง แม้เมื่อเจริญพระชนม์พรรษามากขึ้นได้พยายามที่จะแก้ไขการติดอ่างนี้, นอกจากจะพูดติดอ่างท่านยังมีสำเนียงสกอตอีกด้วย, ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่งคือทรงขี้อายอย่างมาก จึงไม่ชอบสุงสิงกับใคร เมื่อทรงพระชันษามากขึ้นคนจะเห็นว่าทรงเย่อหยิ่งไม่พูดคุย ที่จริงเพราะทรงขี้อายมากๆ นั่นเอง

ที่จริงท่านไม่น่าที่จะมีโอกาสได้เป็นพระมหากษัตริย์เลยเพราะทรงมีพระเชษฐา คือ เจ้าชายเฮนรี่ ที่ทรงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปมีบุคลิกร่าเริงร่างกายแข็งแรง แต่ด่วนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ ไทฟอยด์ไปเสียก่อนเมื่อพระชนม์พรรษาเพียง 18 ปี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงสนิทสนมเสน่ห์หากับพระเชษฐาพระองค์นี้มากทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายเฮนรี่สิ้นพระชนม์ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 12 ปี และต้องทรงโดดเดียวมากขึ้นอีกเมื่อพระพี่นางเอลิซาเบธทรงเสกสมรสและต้องเดินทางไปประทับที่เยอรมนี

แม้จะทรงขี้โรคและเหงาหงอย แต่ก็ทรงเติบใหญ่มาจนพระชนมายุ 25 ปี เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่พร้อมที่จะแบกรับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินได้พอดี เมื่อพระบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์และเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ สวรรคต

เมื่อเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 หน้าที่สำคัญอันดับแรกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คือ ต้องตั้งครอบครัว ดังนั้นก็ต้องเสาะหาพระชายา ครั้งแรกทรงมุ่งไปที่สเปนหมายมั่นจะอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินสเปน  แต่ฝ่ายสเปนมีเงื่อนไขที่ทรงยอมรับไม่ได้ เลยเบี่ยงเข็มมาที่ฝรั่งเศส ในที่สุดทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง เฮนเรียตต้า มาเรีย พระน้องนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ศาสนาคือเจ้าหญิงเฮนเรียตต้า มาเรีย ทรงเป็นคาทอลิคแต่อังกฤษเป็นโปรแตสแตน

เรื่องศาสนาของพระชายานี่ทำให้สภาอังกฤษและคนอังกฤษคลางแคลงใจว่าอาจจะนำปัญหามาสู่อังกฤษแต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงให้คำมั่นต่อสภาอังกฤษว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อจำกัดของนิกายโรมันคาทอลิคในประเทศแต่อย่างใด  และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่วิหารเวสมินสเตอร์ พระชายา-พระราชินี ก็ไม่ได้เสด็จมาร่วมด้วยตามบันทึกเพราะทรงไม่ยอมรับพิธีของนิกายโปรแตสแตน

รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นด้วยปัญหาทางศาสนาเป็นอันดับแรกเลย และตามด้วยความไม่พอใจในความประพฤติของพระสหายสนิทคือ ดยุคแห่งบัคกิ่งแฮม ที่คนเห็นว่ามีอิทธิพลและอำนาจมากไป จนเขาถูกกำจัดไปในที่สุด และปัญหาอื่นๆ ก็ตามมา

แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและความดื้อรั้นของพระองค์เอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ Divine Right of King และนี่ก็เป็นความเชื่อของราชวงศ์สจ๊วต ทั้งมวลที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นผู้ปกครอง และมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะล้มล้างกษัตริย์ได้ 

และพระองค์ยังเชื่อต่อไปอีกว่าเพียงพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะกำหนดกฎหมายปกครองประเทศ ถ้าผู้ใดต่อต้านก็เท่ากับทำบาปที่ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า และความเชื่ออีกอันหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีกคือ ทรงเชื่อว่าอำนาจเผด็จการเท่านั้นคือรูปแบบของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าสภาผู้แทนอย่ามายุ่ง

สิ่งนี่แหละที่ทำให้พระองค์ต้องขัดแย้งกับรัฐสภาอย่างยาวนานและรุนแรง ความเชื่อในเรื่องนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีปรากฏในจดหมายที่ยังหลงเหลืออยู่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่เขียนว่า “ไม่ทรงไว้วางใจสภาที่ดื้อด้านแห่งนี้เลยและไม่สามารถที่จะยอมรับสภานี้ได้”

ด้วยความถือมั่นในตนเองและไม่ทรงประนีประนอม จึงทำให้การประชุมสภาในนัดแรกๆ ในตอนเริ่มต้นรัชกาลมีปัญหามาก บวกกับการที่พระองค์ไม่สามารถที่จะอดทนอธิบายชี้แจงให้สมาชิกสภาเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำได้จึงนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคม, การเมือง และศาสนาภายในประเทศในเวลาต่อมา

มีการบันทึกว่าหลังจากการประชุมสภาในสามนัดแรกเมื่อตอนต้นรัชกาล ทั้งสภาและพระเจ้าชาร์ลส์ไม่สามารถที่จะหารือและตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆ ในการประชุมนัดแรกก็ขัดแย้งกันในเรื่องการเก็บภาษี, ประชุมครั้งที่สองยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อพระองค์พยายามที่จะปกป้องคนสนิทคือดยุคแห่งบัคกิ่งแฮมให้พ้นผิด 

เมื่อสภาต้องการให้ลงโทษ พระเจ้าชาร์ลส์ก็สั่งให้ปิดการประชุมทันที และขณะนั้นอังกฤษก็ทำสงครามกับทั้งฝรั่งเศสและสเปนอีกด้วย พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต้องการเงินมาอุดหนุนการสงครามของพระองค์ทรงให้บังคับให้มีการกู้ยืมเงินโดยใช้เครื่องเพชรพลอยของราชบัลลังค์ค้ำประกัน แต่ฝ่ายยุติธรรมเห็นว่าผิดกฎหมาย ท่านก็สั่งจับหัวหน้าผู้พิพากษา และสั่งจับอัศวินและขุนนางอีกกว่า 70 คนที่ไม่ยอมให้เงิน
เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับสภาชัดเจนขึ้น 

จะขอเล่าเพิ่มอีกในการประชุมสภาครั้งที่สี่นี้เป็นเรื่องราวกันใหญ่โตทีเดียว เพราะสภาเสนอที่จะ ‘จำกัด’ พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินโดยออกคำร้องที่เรียกว่า ข้อเรียกร้องสิทธิ์ the Petition of Right สี่อย่างคือ หนึ่ง. ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยสภาไม่อนุมัติ, สอง. ไม่สามารถจองจำคนได้โดยไม่มีสาเหตุ, สาม.ไม่สามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ในเวลาที่บ้านเมืองสงบและ  สี่. ไม่สามารถที่จะบังคับให้เจ้าของบ้านรับทหารเข้าไปพักอาศัยในบ้านได้โดยเจ้าของไม่ยอมรับ

ข้อเรียกร้องสิทธิ์ ทั้ง 4 นี้ พระเจ้าชาร์ลส์ ไม่ทรงเห็นด้วยกับสภาแต่จำใจต้องยอมรับ และในการประชุมสภาครั้งที่สี่ สภาก็ขัดแย้งกับการที่รื้อฟื้นหลักปฏิบัติของพระในโบสถ์และการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกของเจ้าหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

เรื่องนี้พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงไม่เห็นด้วยกับสภาอย่างยิ่งทรงสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ก่อนที่จะปิดประชุมปรากฏว่า ประธานสภาถูกบังคับให้นั่งอยู่กับที่ และสภาได้อ่านประกาศผ่านญัตติประณามการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งทรงเห็นว่านั่นเป็นการปฏิวัติของสภา ดังนั้นในเวลา 11 ปีต่อมาพระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยการไม่เรียกประชุมสภาเลย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าราชสำนักและสภาจะสามารถลืมเลือนและลงรอยกันได้ สงครามระหว่างราชสำนักและสภาสงบไประยะหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ก็ไปเปิดศึกกับสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์อีกต่อไป อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาอีกพระเจ้าชาร์ลส์ทรงยอมอ่อนข้อต่อสภาลงบ้าง แต่ทว่าในการประชุมสภาในปลายปี ค.ศ. 1641 เป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียวนะคะ เมื่อสภาเอาเรื่องกับพระเจ้าแผ่นดินด้วยการผ่านรายงานที่เรียกกันว่า Grand  Remonstance โดยเป็นรายงานที่เขียนถึงการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 นับแต่ขึ้นครองราชย์ที่สภาเห็นว่าไม่ถูกต้อง  การกระทำของสภาดังกล่าวในครั้งนี้เป็นการแตกหักระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์กับสภา และเป็นการมัดมือชกกับพระองค์ เพราะก่อนที่จะนำมาทูลให้ทรงทราบและยอมรับ ปรากฏว่าสภาได้ผ่านรายงานเรื่องนี้ก่อนที่จะเปิดการประชุมกับพระเจ้าชาร์ลส์เสียก่อนคือไม่สนใจว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์นี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยึดเยื้อของอังกฤษในเวลาต่อมา

ขออธิบายเพิ่มตรงนี้อีกหน่อย ท่ามกลางความวุ่นวาย ก็ได้เกิดเหตุการณ์ คือในระหว่างการประชุมสภา ก็มีข่าวการกบฏของพวกไอร์แลนด์ สภาเห็นว่าจะต้องมีการเกณท์กำลังทหารเพื่อปราบกบฏกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันสภาก็กลัวว่าการเกณท์ทหารนี้พระเจ้าชาร์ลส์อาจจะใช้กำลังทหารนี้มาปราบสมาชิกสภาด้วย ก็เลยขอให้พระองค์ลงพระนามในร่างกฎหมายทหารอาสา ซึ่งเท่ากับเป็นการริดรอนพระราชอำนาจในการสั่งการของกองทัพ พระเจ้าชาร์ลส์จึงสั่งให้จับสมาชิกสภาขุนนางคนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนอีกห้าคนในข้อหากบฏและทรงนำกำลังทหารไปจับสมาชิกดังกล่าวด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้เสด็จออกจากลอนดอน ไปตั้งมั่นในทางเหนือของประเทศ

มีการเจรจาระหว่างราชสำนักและสภาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันอยู่ แต่ในที่สุดสงครามกลางเมืองของอังกฤษก็เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1642

พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงตั้งมั่นของกองทัพของพระองค์ในทางเหนือและตอนกลางของประเทศในการรบครั้งแรกๆกองทัพของพระองค์ที่สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินมีชัยเหนือพวกที่สนับสนุนสภา แต่เมื่อการรบมาถึงปีค.ศ. 1646 กองทัพของพระองค์ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล และผู้บัญหาการทหาร เซอร์ โทมัส แฟร์เฟตท์ที่ทำการรบที่เข็มแข็งขึ้น พระเจ้าชาร์ลส์ทรงหนีด้วยการปลอมพระองค์ไปกับผู้ติดตามสองคนขึ้นสก็อตแลนด์ แต่ก็ถูกพวกสก็อตจับตัวส่งลงมาให้กองกำลังสภา
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดียวของพระองค์อย่างไม่มีเหตุผล ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอของสภาที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างถูกจับก็ทรงพยายามที่จะวางแผนเพื่อที่จะหาทางกลับมาปกครองประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกกลุ่มนายทหารหนุ่มจับตัว ส่งกลับมายังลอนดอน

‘ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล’ แจ็กพอร์ตแตกแล้ว!! ผู้โชคดีจากแคลิฟอร์เนีย รับเน้น ๆ 2.04 พันล้านดอลฯ

(9 พ.ย. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ‘ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล’ ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีผู้โชคดีติดต่อมาแล้วกว่า 40 งวด จนทำให้เงินรางวัลทบไปเรื่อย ๆ จนแตะอยู่ที่ 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล ‘แจ็กพอตแตก’ โดยมีผู้ถูกรางวัล 1 คน จากรัฐแคลิฟอร์เนีย รับคนเดียวเน้น ๆ มูลค่า 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยเลขรางวัลพาวเวอร์บอลงวดล่าสุดคือ 10-33-41-47-56 และเลขพาวเวอร์บอลคือ 10

‘NASA’ ค้นพบ ‘ดาวเคราะห์น้อยทองคำ 16 Psyche’ คาด!! มูลค่ามากกว่า ‘GDP’ ของคนทั้งโลกรวมกัน

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ ‘NASA’ ได้เผยข้อมูลการค้นพบ ‘ดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche’ ที่มีวงโคจรในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส แม้จะเป็นเพียงแค่หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่อย่างมากมายในวงโคจรแถบนี้ แต่ 16 Psyche มีความพิเศษจากดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ คือมีมวลที่อัดแน่นไปด้วยแร่โลหะที่มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะ ‘แร่ทองคำ’ อีกทั้งยังมี เหล็ก นิกเกิล

ด้วยขนาดของดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 225 กิโลเมตร จึงได้มีการตีราคาแร่ที่มีอยู่ ซึ่งตีเป็นมูลค่าบนโลกมนุษย์ได้ประมาณ 10,000 ล้านล้านเหรียญ และมากกว่า GDP ของประชากรทั้งโลกรวมกันเสียอีก (อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลก GDP ของทั้งโลกเราอยู่ที่ 85.6 ล้านล้านเหรียญ)

ในอนาคต ทาง NASA ได้มีการเผยว่า มีแผนการจะส่งกระสวยเข้าไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche ภายในปีหน้านี้ ซึ่งนอกเหนือจากสำรวจแร่โลหะมูลค่ามหาศาลภายในแล้ว อาจจะพบความลับของการถือกำเนิดดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงโลกด้วย ซึ่งตามแผนการที่ได้วางไว้ NASA ตั้งเป้าไว้ว่า จะส่งกระสวยออกไปภายในเดือนสิงหาคม ปี 2022 นี้ แต่ด้วยการทำงานผิดพลาดของซอฟต์แวร์ และปัญหาต่าง ๆ ทำให้แผนการต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคม ปี 2023 แทน 

คะแนนนิยม ‘ไบเดน’ ดิ่ง!! แตะ 39% รับเลือกตั้งกลางเทอม ส่อแวว!! ส่ง ‘รีพับลิกัน’ แลนด์สไลด์ทั้งสภา ‘ล่าง-บน’

ผลสำรวจล่าสุดเผยคะแนนนิยมของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลดลงไปอยู่ที่ 39% เกือบแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เป็นผู้นำสหรัฐฯ มา สะท้อนมุมมองนักวิเคราะห์ว่าศึกเลือกตั้งกลางเทอมวันที่ 8 พ.ย. น่าจะเป็นศึกหนักที่ทำให้พรรคเดโมแครตของ ไบเดน เข้าขั้น ‘สะบักสะบอม’

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอสซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) พบว่า คะแนนนิยมในการทำงานของ ไบเดน ลดลงไปอีก 1 จุด ใกล้แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายยิ่งเชื่อว่ารีพับลิกันมีโอกาสสูงมากที่จะพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่กระทั่งวุฒิสภาด้วยในวันอังคาร (8 พ.ย.)

ศูนย์เพื่อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคาดการณ์ว่า พรรครีพับลิกันจะเป็นฝ่ายชนะได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง โดยมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น 24 ที่นั่ง และอาจกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาแบบปริ่ม ๆ น้ำได้ด้วย

ทั้งนี้ หากได้คุมเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะสภาใดสภาหนึ่งหรือทั้ง 2 สภา ย่อมจะทำให้พรรครีพับลิกันมีอำนาจพอที่จะขัดขวางร่างกฎหมายสำคัญ ๆ ที่เสนอโดยคณะบริหารของไบเดน

‘แล็บอังกฤษ’ ทดลองถ่ายเลือดเทียมในคนครั้งแรก กรุยทางผลิตเลือดกรุ๊ปหายาก ลดปัญหาขาดแคลน

นักวิจัยสหราชอาณาจักรได้นำเลือดเทียมที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิต เพื่อทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกของโลก

เลือดเทียมที่ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ในการทดลองครั้งนี้ มีปริมาณเพียงน้อยนิด เทียบเท่าปริมาณ 2-3 ช้อนชาเท่านั้น โดยเป็นการทดลองเพื่อตรวจสอบว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้เหมือนเลือดจริงในตัวมนุษย์หรือไม่

เป้าหมายสูงสุดของการสังเคราะห์เลือดเทียมในห้องทดลอง คือ การผลิตเลือดกรุ๊ปที่หายากมาก ๆ ที่แทบหาผู้บริจาคเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้โรคโลหิตจาง ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ
คนไข้ที่มีเลือดกรุ๊ปหายากนั้น หากได้รับเลือดที่ร่างกายไม่ตอบรับ อาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้ เลือดที่ต้องเข้ากันได้ถึงในระดับเนื้อเยื่อ ไม่ใช่เลือดกลุ่มทั่วไป เช่น เอ บี เอบี และโอ

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยอมรับว่า เลือดที่ใช้ในทางการแพทย์ทั่วไปนั้น ยังต้องพึ่งพาการบริจาคเลือดของประชาชนต่อไป แม้จะผลิตเลือดเทียมที่ใช้งานได้จริงสำเร็จแล้วก็ตาม

ศาสตราจารย์ แอชลีย์ โทเย จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักรระบุว่า เลือดบางกลุ่ม “หายากมาก ๆ” ในสหราชอาณาจักร “อาจมีแค่ 10 คน” ที่บริจาคได้ยกตัวอย่าง เลือดกลุ่ม ‘บอมเบย์’ ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีเลือดเพียง 3 ยูนิตอยู่ในคลังเลือดของสหราชอาณาจักร

>> สังเคราะห์เลือดเทียมอย่างไร
การเพาะเลือดเทียมนี้ เป็นความร่วมมือของทีมงานในเมืองบริสตอล เมืองเคมบริดจ์ กรุงลอนดอน และหน่วยเลือดและการปลูกถ่าย ของระบบประกันสุขภาพสหราชอาณาจักร (NHS) โดยมุ่งเน้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเทียมที่สามารถนำพาออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

กระบวนการผลิตเลือดเทียม มีขั้นตอน ดังนี้

- ทีมวิจัยเริ่มจากเลือดปริมาณ 470 มิลลิลิตรที่ได้รับบริจาค
- ใช้อนุภาคแม่เล็กเพื่อดึงสเต็มเซลล์ ที่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ออกมา
- เพาะสเต็มเซลล์เหล่านี้ จนเติบโตในปริมาณมากในห้องทดลอง
- กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เพาะไว้ ให้กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง

กระบวนการเพาะเลือดเทียมใช้เวลาปริมาณ 3 สัปดาห์ โดยสามารถเพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ 50 ล้านเซลล์ ต่อสเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้ราว 5 ล้านเซลล์

จากนั้น ทีมวิจัยจะคัดแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงราว 15 ล้านเซลล์ ที่พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ได้

“เราต้องการสร้างเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต ในจินตนาการของผม มองเห็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตเลือดออกมาต่อเนื่องจากเลือดที่ได้รับบริจาค” ศ.โทเย บอกกับบีบีซี

ทริปเยือนปักกิ่งสุดแปลกของ 'โอลัฟ ช็อลทซ์' เมื่อเยอรมนีเล่นบทแยกหมู่ เพื่อหวังความอยู่รอด

เมื่อวันศุกร์ (3 พฤศจิกายน 2022) โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำของเยอรมนี ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดยุค Covid-19 เป็นต้นมา ทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ส่งผู้นำมาเยือนปักกิ่ง และยังเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจตะวันตกคนแรกจริงๆ ที่มาหาลุงสี จิ้นผิง ถึงบ้าน ในยุค 'สี เทอม 3'

ดังนั้นอย่าแปลกใจเลยว่า ทำไมทริปของ โอลัฟ ช็อลทซ์ ถึงถูกวิจารณ์หนักทั้งจากในบ้าน และ พันธมิตรนอกบ้าน ว่าผู้นำเยอรมนี ประเทศเสาหลัก EU อยู่ดี ๆ มารับบท 'นายย้อนแย้ง' ที่ปากก็บอกว่าจะพยายามให้เศรษฐกิจเยอรมนีพึ่งพาจีนน้อยลง เพราะเข็ดแล้วกับการที่เยอรมนีไปพึ่งพาน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียมาหลายสิบปี พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เดือดร้อนด้านพลังงานกันไปหมด 

แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้นำเยอรมนี พาคณะนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ทั้ง Volkswagen/ Deutsche Bank/ Siemens ฯลฯ บินลัดฟ้าไปหาลุงสี่ถึงปักกิ่ง ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกัน

แถมก่อนหน้านี้ รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งอนุมัติให้ COSCO  บริษัทชิปปิ้งของรัฐบาลจีนสามารถถือหุ้นในท่าเรือฮัมเบิร์ก ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีได้ถึง 24.9% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รัฐบาลเยอรมนีให้สุดเพดานได้เท่านี้ เพราะจีนเคยเสนอขอซื้อหุ้นท่าเรือเยอรมนีถึง 35% และเพิ่งจะปิดดีลซื้อหุ้นท่าเรือกันแค่สัปดาห์เดียวก่อนที่ผู้นำเยอรมนีจะมาเยือนจีน จนชาวเยอรมนีชักจะงงแล้วว่า ตกลงว่าเราจะพึ่งจีนน้อยลงแน่นะ โอลัฟ????

ความประหลาดของโอลัฟ ทริป ยังไม่หมดแค่นี้!!

การไปเยือนจีนของผู้นำเยอรมนีไม่ได้เป็นความลับ พันธมิตรผู้ใกล้ชิดอย่างฝรั่งเศสก็รู้ว่าทริปนี้จะต้องเกิดขึ้นสักวันแน่ ๆ แต่ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเคยติงว่า ถ้าโอลัฟ จะไป ยูว์อย่าไปคนเดียว ฝรั่งเศสขอไปด้วย เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมพันธมิตรยุโรป อำนาจการต่อรองก็มีน้ำหนักขึ้น 

แต่สุดท้าย โอลัฟ ช็อลทซ์ ก็เลือกฉายเดียวมาจีนคนเดียว ทิ้งให้เอมานูเอล มาครง เหวออยู่ในทำเนียบที่ปาแลเดอเลลีเช่ 

แล้วก็เป็นการมาเยือนอย่างเป็นทางการที่สุดแสนจะแปลก อุตสาห์บินกันมาจากเบอร์ลินทั้งที แต่กลับจัดให้เป็นการมาเยือนแค่ One Day Trip 

โดยก่อนขึ้นเครื่องบิน คณะเดินทางต้องตรวจ PCR-Test กันถึง 2 รอบ พอลงเครื่องที่ปักกิ่ง ต้องตรวจ Covid ที่จีนอีก 1 รอบ ยกเว้นผู้นำเยอรมนี ที่ขอใช้ชุดตรวจของเยอรมนีเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่จีนสังเกตการณ์ 

แล้วผู้นำเยอรมัน และตัวแทนนักธุรกิจก็มาพบปะ พูดคุยกันที่ทำเนียบจีน ปิดดีลเสร็จภายในวันเดียวแล้วบินกลับเลย ซึ่งสื่อเยอรมนีลงความเห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องค้างคืนข้ามวันในโรงแรมที่พักของจีน 

และแน่นอนว่าก่อนขึ้นเครื่องกลับ ต้องถูกจับตรวจ Covid กันอีกรอบ และถ้าเกิดมีใครสักคนในคณะมีผลเป็นบวกขึ้นมาหละก็ ทุกคนในคณะต้องร่วมกันเซ็นรับรองที่จะยอมรับความเสี่ยงว่าต้องพาผู้ที่มีผลตรวจไม่ผ่านขึ้นเครื่องบินกลับมาพร้อมกันทั้งหมด เพื่อไม่ทิ้งให้ผู้ร่วมคณะต้องถูกกักตัวไว้ที่เมืองจีนสักคน 

แล้วก็ไม่ได้บินตรงจากปักกิ่ง กลับเบอร์ลินเลยนะ  ต้องมาเปลี่ยนเครื่องใหม่กันที่เกาหลีใต้ก่อนค่อยบินกลับอีกต่างหาก 

เรียกว่าไม่ไว้ใจกันขนาด.. แต่ก็ยังต้องยอมไปคุยเพื่อความอยู่รอด แล้วก็ไม่สนใจว่าทางรัฐบาลจีนจะรู้สึกอย่างไร ที่เห็นว่าผู้นำเยอรมันทำเหมือนอยากจะมาหานะ แต่ไม่อยากอยู่ คุยนานไม่ได้ ยังไม่ทันเปิดโต๊ะจีนเลี้ยงก็สั่งลาซะแล้ว เพราะระแวงโรค ระแวงสปาย ระแวงไปหมด😑

ทำให้ทริปไปจีนของ โอลัฟ ช็อลทซ์ ดูประดัก ประเดิด ไม่รู้จะไปสุดที่ตรงไหน จะไปเพื่อข้อตกลงทางการค้า เวลาพบหน้ากันก็น้อยเกินไป จะไปสานสัมพันธ์ทางการทูต ยิ่งดูพังไปกันใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน ลุงสี คงนึกด่าอยู่ในใจว่าถ้าจะมาล่กๆ แบบนี้ วิดิโอคอล คุยกันก็ได้มั้ง 5G ของจีนก็ไวอยู่ ประชุมทีละพันคนยังไหว

ด้านพันธมิตรยุโรปก็เริ่มสงสัยว่า เยอรมันจะหาทางตัดช่องน้อย แยกวงเอาตัวรอดไปคนเดียวแล้วกระมัง ส่วนการเมืองภายในบ้านไม่ต้องพูดถึง โดนทั้งพรรคร่วม และฝ่ายค้านโจมตีหนักมากว่า โอลัฟ ช็อลทซ์ เดินทางไปเป็นตรายางรับรองรัฐบาลสี่ จิ้นผิง 3 ให้ถึงที่ ทั้งๆ ที่จีนมีประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง ซึ่งขัดกับหลักการ และจุดยืนของทางเยอรมันเขา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top