พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จุดจบแห่งรัชสมัยที่มาก่อนเวลาอันควร เหตุไม่ประนีประนอม ‘กาลเวลา-รัฐสภา’ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ 1600-1649

ถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านพระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินของอังกฤษจะเห็นว่าหลายพระองค์มีวิถีชีวิตที่ถูกเอ่ยขานถึงด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างแปลกแต่จริงอย่างเช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หรือพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มักจะถูกนำมาเล่าถึงกันบ่อยๆ แต่ยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่เส้นทางชีวิตของพระองค์ท่านก็ประหลาดและน่าฉงนอยู่มากทีเดียวและจุดจบของพระองค์ที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย

กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ชีวิตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีความขัดแย้งกันหลายอย่างแม้แต่ดิฉันเองเมื่อได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวพระราชประวัติของพระองค์ก็อดที่จะตื่นตาตื่นใจไปกับความเป็นไปของชีวิตของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์มาแล้วเป็นเวลา 373 ปี แต่เรื่องราวของพระองค์ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงจนปัจจุบัน และแม้ระยะเวลาการครองราชย์สมบัติของพระองค์จะไม่ยาวนักเพียง 24 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชสมัยของพระองค์วุ่นวาย, เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับพระเจ้าแผ่นดินจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์กับผู้ต่อต้าน, หรือความขัดแย้งทางศาสนา, ความกระด้างกระเดื่องของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์และการรีดนาภาษีจากประชาชน จนท้ายที่สุดพระองค์ต้องถูกตัดพระเศียรเพราะความผิดฐานกบฏ และทำให้อังกฤษต้องว่างเว้นการมีพระเจ้าแผ่นดินไประยะหนึ่ง คงพูดได้ว่าตลอดเวลา 24 ปีที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองแผ่นดินนั้นประเทศวุ่นวายที่สุด

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหลายในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 อย่างชัดเจนและไม่สับสนเพราะมีประเด็นสำคัญเกิดขึ้นมากมายจนนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ เราจะเริ่มจากพระนิสัยและบุคลิกของพระองค์กันก่อน จากข้อมูลที่บันทึกกันไว้ จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักเกิดจากตัวของพระเจ้าชาร์ลส์เสียเองมากกว่า และถัดไปจะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประสูติในปี ค.ศ. 1600 ที่สกอตแลนด์ ในขณะที่สมเด็จพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ปกครองสก็อตแลนด์อยู่ เมื่อตอนประสูติทรงเป็นเด็กที่อ่อนแอและขี้โรคมาก แม้พระชนมายุ 2 ปีแล้วก็ยังเดินหรือพูดไม่ได้ และเมื่อสามารถเดินได้ก็ต้องใช้เครื่องพยุงที่ข้อพระบาททั้งสองข้างเพราะพระชงค์หรือขาไม่มีแรงนั่นเอง เมื่อพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง พระองค์จึงต้องเสด็จมาประทับที่ลอนดอน ต้องทรงทิ้งให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประทับอยู่ที่สก๊อตแลนด์กับพระพี่เลี้ยงก่อน เพื่อให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงพอที่จะเดินทางไกลได้ในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเติบโตมาด้วยพระวรกายที่เล็ก, อ้อนแอ่นและยังทรงพูดติดอ่าง แม้เมื่อเจริญพระชนม์พรรษามากขึ้นได้พยายามที่จะแก้ไขการติดอ่างนี้, นอกจากจะพูดติดอ่างท่านยังมีสำเนียงสกอตอีกด้วย, ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่งคือทรงขี้อายอย่างมาก จึงไม่ชอบสุงสิงกับใคร เมื่อทรงพระชันษามากขึ้นคนจะเห็นว่าทรงเย่อหยิ่งไม่พูดคุย ที่จริงเพราะทรงขี้อายมากๆ นั่นเอง

ที่จริงท่านไม่น่าที่จะมีโอกาสได้เป็นพระมหากษัตริย์เลยเพราะทรงมีพระเชษฐา คือ เจ้าชายเฮนรี่ ที่ทรงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปมีบุคลิกร่าเริงร่างกายแข็งแรง แต่ด่วนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ ไทฟอยด์ไปเสียก่อนเมื่อพระชนม์พรรษาเพียง 18 ปี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงสนิทสนมเสน่ห์หากับพระเชษฐาพระองค์นี้มากทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายเฮนรี่สิ้นพระชนม์ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 12 ปี และต้องทรงโดดเดียวมากขึ้นอีกเมื่อพระพี่นางเอลิซาเบธทรงเสกสมรสและต้องเดินทางไปประทับที่เยอรมนี

แม้จะทรงขี้โรคและเหงาหงอย แต่ก็ทรงเติบใหญ่มาจนพระชนมายุ 25 ปี เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่พร้อมที่จะแบกรับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินได้พอดี เมื่อพระบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์และเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ สวรรคต

เมื่อเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 หน้าที่สำคัญอันดับแรกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คือ ต้องตั้งครอบครัว ดังนั้นก็ต้องเสาะหาพระชายา ครั้งแรกทรงมุ่งไปที่สเปนหมายมั่นจะอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินสเปน  แต่ฝ่ายสเปนมีเงื่อนไขที่ทรงยอมรับไม่ได้ เลยเบี่ยงเข็มมาที่ฝรั่งเศส ในที่สุดทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง เฮนเรียตต้า มาเรีย พระน้องนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ศาสนาคือเจ้าหญิงเฮนเรียตต้า มาเรีย ทรงเป็นคาทอลิคแต่อังกฤษเป็นโปรแตสแตน

เรื่องศาสนาของพระชายานี่ทำให้สภาอังกฤษและคนอังกฤษคลางแคลงใจว่าอาจจะนำปัญหามาสู่อังกฤษแต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงให้คำมั่นต่อสภาอังกฤษว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อจำกัดของนิกายโรมันคาทอลิคในประเทศแต่อย่างใด  และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่วิหารเวสมินสเตอร์ พระชายา-พระราชินี ก็ไม่ได้เสด็จมาร่วมด้วยตามบันทึกเพราะทรงไม่ยอมรับพิธีของนิกายโปรแตสแตน

รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นด้วยปัญหาทางศาสนาเป็นอันดับแรกเลย และตามด้วยความไม่พอใจในความประพฤติของพระสหายสนิทคือ ดยุคแห่งบัคกิ่งแฮม ที่คนเห็นว่ามีอิทธิพลและอำนาจมากไป จนเขาถูกกำจัดไปในที่สุด และปัญหาอื่นๆ ก็ตามมา

แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและความดื้อรั้นของพระองค์เอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ Divine Right of King และนี่ก็เป็นความเชื่อของราชวงศ์สจ๊วต ทั้งมวลที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นผู้ปกครอง และมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะล้มล้างกษัตริย์ได้ 

และพระองค์ยังเชื่อต่อไปอีกว่าเพียงพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะกำหนดกฎหมายปกครองประเทศ ถ้าผู้ใดต่อต้านก็เท่ากับทำบาปที่ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า และความเชื่ออีกอันหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีกคือ ทรงเชื่อว่าอำนาจเผด็จการเท่านั้นคือรูปแบบของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าสภาผู้แทนอย่ามายุ่ง

สิ่งนี่แหละที่ทำให้พระองค์ต้องขัดแย้งกับรัฐสภาอย่างยาวนานและรุนแรง ความเชื่อในเรื่องนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีปรากฏในจดหมายที่ยังหลงเหลืออยู่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่เขียนว่า “ไม่ทรงไว้วางใจสภาที่ดื้อด้านแห่งนี้เลยและไม่สามารถที่จะยอมรับสภานี้ได้”

ด้วยความถือมั่นในตนเองและไม่ทรงประนีประนอม จึงทำให้การประชุมสภาในนัดแรกๆ ในตอนเริ่มต้นรัชกาลมีปัญหามาก บวกกับการที่พระองค์ไม่สามารถที่จะอดทนอธิบายชี้แจงให้สมาชิกสภาเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำได้จึงนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคม, การเมือง และศาสนาภายในประเทศในเวลาต่อมา

มีการบันทึกว่าหลังจากการประชุมสภาในสามนัดแรกเมื่อตอนต้นรัชกาล ทั้งสภาและพระเจ้าชาร์ลส์ไม่สามารถที่จะหารือและตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆ ในการประชุมนัดแรกก็ขัดแย้งกันในเรื่องการเก็บภาษี, ประชุมครั้งที่สองยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อพระองค์พยายามที่จะปกป้องคนสนิทคือดยุคแห่งบัคกิ่งแฮมให้พ้นผิด 

เมื่อสภาต้องการให้ลงโทษ พระเจ้าชาร์ลส์ก็สั่งให้ปิดการประชุมทันที และขณะนั้นอังกฤษก็ทำสงครามกับทั้งฝรั่งเศสและสเปนอีกด้วย พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต้องการเงินมาอุดหนุนการสงครามของพระองค์ทรงให้บังคับให้มีการกู้ยืมเงินโดยใช้เครื่องเพชรพลอยของราชบัลลังค์ค้ำประกัน แต่ฝ่ายยุติธรรมเห็นว่าผิดกฎหมาย ท่านก็สั่งจับหัวหน้าผู้พิพากษา และสั่งจับอัศวินและขุนนางอีกกว่า 70 คนที่ไม่ยอมให้เงิน
เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับสภาชัดเจนขึ้น 

จะขอเล่าเพิ่มอีกในการประชุมสภาครั้งที่สี่นี้เป็นเรื่องราวกันใหญ่โตทีเดียว เพราะสภาเสนอที่จะ ‘จำกัด’ พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินโดยออกคำร้องที่เรียกว่า ข้อเรียกร้องสิทธิ์ the Petition of Right สี่อย่างคือ หนึ่ง. ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยสภาไม่อนุมัติ, สอง. ไม่สามารถจองจำคนได้โดยไม่มีสาเหตุ, สาม.ไม่สามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ในเวลาที่บ้านเมืองสงบและ  สี่. ไม่สามารถที่จะบังคับให้เจ้าของบ้านรับทหารเข้าไปพักอาศัยในบ้านได้โดยเจ้าของไม่ยอมรับ

ข้อเรียกร้องสิทธิ์ ทั้ง 4 นี้ พระเจ้าชาร์ลส์ ไม่ทรงเห็นด้วยกับสภาแต่จำใจต้องยอมรับ และในการประชุมสภาครั้งที่สี่ สภาก็ขัดแย้งกับการที่รื้อฟื้นหลักปฏิบัติของพระในโบสถ์และการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกของเจ้าหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

เรื่องนี้พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงไม่เห็นด้วยกับสภาอย่างยิ่งทรงสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ก่อนที่จะปิดประชุมปรากฏว่า ประธานสภาถูกบังคับให้นั่งอยู่กับที่ และสภาได้อ่านประกาศผ่านญัตติประณามการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งทรงเห็นว่านั่นเป็นการปฏิวัติของสภา ดังนั้นในเวลา 11 ปีต่อมาพระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยการไม่เรียกประชุมสภาเลย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าราชสำนักและสภาจะสามารถลืมเลือนและลงรอยกันได้ สงครามระหว่างราชสำนักและสภาสงบไประยะหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ก็ไปเปิดศึกกับสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์อีกต่อไป อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาอีกพระเจ้าชาร์ลส์ทรงยอมอ่อนข้อต่อสภาลงบ้าง แต่ทว่าในการประชุมสภาในปลายปี ค.ศ. 1641 เป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียวนะคะ เมื่อสภาเอาเรื่องกับพระเจ้าแผ่นดินด้วยการผ่านรายงานที่เรียกกันว่า Grand  Remonstance โดยเป็นรายงานที่เขียนถึงการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 นับแต่ขึ้นครองราชย์ที่สภาเห็นว่าไม่ถูกต้อง  การกระทำของสภาดังกล่าวในครั้งนี้เป็นการแตกหักระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์กับสภา และเป็นการมัดมือชกกับพระองค์ เพราะก่อนที่จะนำมาทูลให้ทรงทราบและยอมรับ ปรากฏว่าสภาได้ผ่านรายงานเรื่องนี้ก่อนที่จะเปิดการประชุมกับพระเจ้าชาร์ลส์เสียก่อนคือไม่สนใจว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์นี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยึดเยื้อของอังกฤษในเวลาต่อมา

ขออธิบายเพิ่มตรงนี้อีกหน่อย ท่ามกลางความวุ่นวาย ก็ได้เกิดเหตุการณ์ คือในระหว่างการประชุมสภา ก็มีข่าวการกบฏของพวกไอร์แลนด์ สภาเห็นว่าจะต้องมีการเกณท์กำลังทหารเพื่อปราบกบฏกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันสภาก็กลัวว่าการเกณท์ทหารนี้พระเจ้าชาร์ลส์อาจจะใช้กำลังทหารนี้มาปราบสมาชิกสภาด้วย ก็เลยขอให้พระองค์ลงพระนามในร่างกฎหมายทหารอาสา ซึ่งเท่ากับเป็นการริดรอนพระราชอำนาจในการสั่งการของกองทัพ พระเจ้าชาร์ลส์จึงสั่งให้จับสมาชิกสภาขุนนางคนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนอีกห้าคนในข้อหากบฏและทรงนำกำลังทหารไปจับสมาชิกดังกล่าวด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้เสด็จออกจากลอนดอน ไปตั้งมั่นในทางเหนือของประเทศ

มีการเจรจาระหว่างราชสำนักและสภาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันอยู่ แต่ในที่สุดสงครามกลางเมืองของอังกฤษก็เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1642

พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงตั้งมั่นของกองทัพของพระองค์ในทางเหนือและตอนกลางของประเทศในการรบครั้งแรกๆกองทัพของพระองค์ที่สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินมีชัยเหนือพวกที่สนับสนุนสภา แต่เมื่อการรบมาถึงปีค.ศ. 1646 กองทัพของพระองค์ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล และผู้บัญหาการทหาร เซอร์ โทมัส แฟร์เฟตท์ที่ทำการรบที่เข็มแข็งขึ้น พระเจ้าชาร์ลส์ทรงหนีด้วยการปลอมพระองค์ไปกับผู้ติดตามสองคนขึ้นสก็อตแลนด์ แต่ก็ถูกพวกสก็อตจับตัวส่งลงมาให้กองกำลังสภา
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดียวของพระองค์อย่างไม่มีเหตุผล ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอของสภาที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างถูกจับก็ทรงพยายามที่จะวางแผนเพื่อที่จะหาทางกลับมาปกครองประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกกลุ่มนายทหารหนุ่มจับตัว ส่งกลับมายังลอนดอน

ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1649 พระเจ้าชาร์ลส์ทรงถูกศาลพิเศษพิจารณาโทษ ในข้อหาความผิดที่เป็นกบฏและความผิดทางอาญาต่อประเทศ  ในวันที่ 27 มกราคมพระองค์ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยความผิดคือเป็นเผด็จการ, คนทรยศ, ฆาตกรและศัตรูของสังคม คำตัดสินนี้ถูกอ่านที่หน้าตึกแบงเค็จติ่ง ฮอลล์ Bangueting hall ใจกลางกรุงลอนดอน และพระองค์ถูกตัดพระเศียรในตอนเช้าของวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 สิริพระชนมายุเพียง 49 ปี

พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ได้ทรงยอมรับการตัดสินของศาลด้วยเหตุผลที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถที่จะถูกดำเนินคดีในศาลของแผ่นดินได้ จึงไม่ร้องขออภัยให้ลดหย่อนผ่อนโทษต่อพระองค์แต่อย่างใด ในเช้าของวันประหารอากาศที่หนาวแนบท่ามกลางฤดูหนาวได้เสด็จมาที่แท่นประหารอย่างไม่สะทกสะท้าน เพียงแต่ทรงร้องขอเสื้ออีกตัวหนึ่งมาสวมทับเพราะไม่ต้องการให้คนเห็นว่าพระองค์หนาวสั่นด้วยความกลัว หลังการประหารพระศพถูกนำไปที่วังวินด์เซอร์โดยเร็วและโอลิเวอร์ ครอมเวล ได้อนุญาตให้มีการเย็บพระเศียรกับพระองค์ก่อนที่จะมีการฝังอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กลุ่มที่สวามิภักดิ์ดำเนินการใดๆ

ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีความขัดแย้งในพระองค์เอง เช่นทรงขี้อายอย่างมาก พระวรกายอ่อนแอ แต่มีใจเด็ดเดียวในการต่อสู้กับรัฐสภา เป็นนักรบทรงออกรบในสงครามกลางเมือง  แต่ในอีกด้านหนึ่งทรงเป็นพระบิดาที่ดีเลิศทรงมีพระโอรสธิดาถึงเก้าพระองค์แต่เหลือรอดมาเพียงสี่พระองค์ และทรงมีความชอบในศิลปะภาพวาดและพรมทอติดผนัง ยังมีภาพวาดที่ขึ้นชื่อที่ทรงสะสมและโปรดให้วาดขึ้นโดยช่างที่มีชื่อเสียงให้ชมที่ลอนดอนขณะนี้ 

มีการวิจารณ์ว่ารัชสมัยของพระองค์สิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร เพียงพระองค์จะทรงปรับเปลี่ยนความคิดให้เข้ากับกาลเวลา ประนีประนอมกับรัฐสภา ความวุ่นวายอาจระงับได้และไม่ต้องเสียพระชนม์ชีพเช่นนี้

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล


อ้างอิง: Britannica : Charles I, King of Great Britain and Ireland.
: Historic Royal Palace: the Execution of Charles I, killing of a Treasonous king
: Historic UK: King Charles I by Jessica Brain