Tuesday, 8 July 2025
NEWS

'วิน วศิน' แซะ!! 'บิ๊กตู่' หลังขึ้นแสดงงานเลี้ยง APEC 2022 เจอชาวเน็ตแคปฯ ทัน แม้เจ้าตัวจะรีบลบจากไอจี

ชาวเน็ตวิจารณ์ไอจีสตอรีของ ‘วิน วศิน พรพงศา’ แชมป์รายการ The Golden Song หลังขึ้นแสดงงานเลี้ยงเอเปก โพสต์เหน็บนายกฯ พูดต้อนรับแขกต่างชาติทั้งหมดเป็นภาษาไทย โต้กลับ หลายชาติก็มีล่ามแปล

วันนี้ (19 พ.ย.65) ในโลกโซเชียลฯ มีการวิจารณ์กรณีที่นายวศิน พรพงศา หรือวิน แชมป์รายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ยกกำลัง 3 ที่ขึ้นแสดงในงานเลี้ยงมื้อค่ำสุดหรูกาลาดินเนอร์ของการประชุมเอเปก 2022 หรือ APEC 2022 ปรากฏว่าเจ้าตัวโพสต์ไอจีสตอรี @winwin_neverlose ระบุข้อความว่า “Mission accomplished ได้ฟังนายกฯ พูดต้อนรับแขกต่างชาติทั้งหมดเป็นภาษาไทยแบบสดๆ!!!!!!” ซึ่งเป็นการกล่าวพาดพิงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในทวิตเตอร์ได้มีการแชร์ภาพแคปฯ หน้าจอจากไอจีสตอรีนายวศิน พร้อมวิจารณ์ว่า “คราวหน้าเวลาคัดคนเข้าร่วมงาน น่าจะเช็กประวัติให้ดีๆ ก่อนนะคะ” ซึ่งปรากฏว่ามีชาวเน็ตเข้ามาวิจารณ์มากมาย เช่น

“คงเป็นครั้งนี้และครั้งเดียวในชีวิตละค่ะที่จะได้โอกาสดีๆ แบบนี้อีก”

“คนมีความสามารถมากกว่านี้ก็มี คัดคนไม่ดูปูมเล้ย”

“เป็นคนไทย อยู่ในไทย ไม่พูดไทยซิแปลก ไม่เห็นต้องกระแดะพูดอังกฤษเลยในเมื่อก็มีล่าม ทีเกาหลีญี่ปุ่นเขาก็ไม่เห็นพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติเลย ว่าแต่ไม่รู้จักนะนักร้องกิตติมศักดิ์คนนี้”

“ทำไมต้องไม่พูดภาษาไทยอะ? พูดไทยน่ะถูกแล้ว หลายๆ ชาติก็ไม่พูดอังกฤษนะ จัดที่ไทยก็พูดไทย ไม่เห็นจะแปลก”

“ไม่รู้เหรอเขามีล่ามแปลหลายคนหลายภาษา เนี่ยล่ะเขาถึงบอก เติมเน็ตแล้วหาความรู้บ้างไม่ใช่แซะอย่างเดียว”

“ปธน.สีจิ้นผิงพูดกับนายกฯ แคนาดายังพูดจีนใส่เลย ล่ามก็แปลทันที”

"โอ้โห ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรงเลยนะ เขาให้เกียรติเชิญไปแสดงในงาน แต่มาแซะแบบโง่ๆ ดีจริงที่ไม่เคยชอบคนนี้เลย"

"การประชุมระดับชาติ ผู้นำประเทศต่างๆ ก็จะพูดด้วยภาษาประเทศตนเองทั้งนั้น โดยมีล่ามแปล ทำตัวไม่สมกับที่ได้รับเกียรติเลย"

ในหลวง-พระราชินี เสด็จออกทรงรับผู้นำเอเปค - คู่สมรส - แขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย. 65) เวลา 17.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกหรือผู้แทน และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน และเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

เอเปค หรือ ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก’ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีสมาชิกผู้ร่วมก่อนตั้ง 12 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในเขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้งด้วย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 9 เขตเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่า 2.9 พันล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าโลก

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เพื่อร่วมขับเคลื่อนการประชุมเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Open. Connect. Balance หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยประเด็นที่ขับเคลื่อนแบ่งเป็นการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคมส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย

รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปค

'บิ๊กตู่' เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันรับ ‘สี จิ้นผิง’ พร้อมหารือข้อราชการต่อ หลังประชุมเอเปค

ประชุมเสร็จแล้ว แต่ยังต้องคุยงานต่อ!!

เสร็จสิ้นไปแล้ว กับการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 19 พ.ย. 65 โดยลำดับถัดไป ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมหารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และร่วมเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันซึ่งนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและภริยา รวมถึงคณะฝ่ายจีน

สำหรับประเด็นที่ผู้นำจีนได้นำเสนอไว้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งการปลุกประชาคมเอเชียแปซิฟิกให้จับมือร่วมกันต่อต้าน 'สงครามเย็นใหม่' ที่ถูกผลักดันโดยมหาอำนาจใหญ่, การกล่าวว่า “ภูมิภาคนี้ไม่ใช่สวนดอกไม้ของใคร อย่าใช้เป็นพื้นที่ถ่วงดุลอำนาจ”, การสร้าง 'ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก' และการย้ำกับสมาชิกเอเปค ให้จับมือฝ่าฟันอุปสรรค-ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ให้ร่วมมือกันอย่างสมัครสมานสามัคคี

ความสัมพันธ์ 'ไทย-ฝรั่งเศส' จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่การยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2024

จากภาพปรากฏตั้งแต่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบและเข้าทักทายนายกรัฐมนตรีของไทย ด้วยความจริงใจและดูนอบน้อม ในฐานะแขกรับเชิญคนสำคัญจากประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม APEC 2022 หนนี้

ยิ่งทำให้รู้สึกถึงแนวโน้มอันดีงามในการหารือแบบทวิภาคีของ ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ โดยเฉพาะในแง่ของความคืบหน้าการยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024 

โดยเชื่อว่า ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะได้มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการก่อนตามแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (2022-2024) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ กรุงปารีส ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่... การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาชน และประเด็นระดับโลก 

ภาพความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะเป็นเช่นไร อาจจะยังตอบแบบชัดๆ ได้ยาก แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องขอบอกว่า ไทยและฝรั่งเศส มีการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในหลายด้านแล้วด้วย

>> ด้านการทูต : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในปี 2228 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีทางการค้าและการเดินเรือ (Treaty - of Friendship, Commerece and Navigation) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2399 

>> ด้านการเมือง : ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีแผนปฎิบัติการร่วมไทย - ฝรั่งเศส ความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน และสามารถปฎิบัติได้จริงในช่วง 5 ปี ครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และความร่วมมือระหว่างประเทศ ฯลฯ

>> ด้านเศรษฐกิจ : มีการส่งออกของไทย และสินค้าที่นำเข้าจากฝรั่งเศสหลายประการ ได้แก่...
- สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เลนส์แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี เครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว
- สินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง

>> ด้านการร่วมมือด้านการค้า : ในภาครัฐ มีคณะทำงานร่วมด้านการค้าไทย-ฝรั่งเศส และมีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (The High Level Economic Dialogue between Thailand and France) ปี 2553-2557 ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือและส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างสองประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ

>> ด้านการทหารและความมั่นคง : ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกปฎิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาระดับสูง และการลงนามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง และความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์

จากอดีต มาสู่ปัจจุบัน ซึ่งหากลองพิจารณาถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส (2022 - 2024) ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชน และประเด็นประดับโลกนั้น จะมีความน่าสนใจใดให้ติดตามต่อบ้าง...

>> ด้านการเมืองและความมั่นคง : ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมจัดตั้งกลไกการเจรจา 2+2 (กระทรวงการต่างประเทศ + กระทรวงกลาโหม) การสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง สำหรับด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด -แปซิฟิกรวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น

>> ด้านเศรษฐกิจ : ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเห็นพ้องกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

>> ด้านประชาชน : ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำความสำคัญของการเดินทางที่ปลอดภัยโดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การเพิ่มพูนการฝึกอบรมวิชาชีพและการศึกษาให้บุคลากรไทยเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของฝรั่งเศส และยินดีที่ปีหน้ากำหนดให้เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)

>> ด้านการศึกษาและวิชาการ : ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

>> สำหรับประเด็นเร่งด่วนระดับโลก : เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การรับมือกับโรคระบาดรวมถึงย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาทางออกที่สันติผ่านการหารือต่อความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ในยูเครนและในเมียนมา เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลกรวมถึงการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเกี่ยวข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรที่ 5 รร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเกี่ยวข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรที่ 5 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.65) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเกี่ยวข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรที่ 5 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินทางไปสนามมวยราชดำเนิน เพื่อชมการสาธิตมวยไทย

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ใช้เวลาว่างช่วงมาร่วมประชุมเอเปก 2022 เดินทางไปสนามมวยราชดำเนิน เพื่อชมการสาธิตมวยไทย

การชมกีฬาหมัดมวยครั้งนี้ มี อองตวน ปินโต อดีตนักมวยไทย สัญชาติฝรั่งเศส ที่มาโด่งดังในแดนสยามให้การต้อนรับด้วย หลังจากนั้น ผู้นำประเทศฝรั่งเศสโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัว เป็นคลิปพร้อมเเคปชัน ว่า “มากกว่ากีฬาประจำชาติ มวยไทยเป็นจุดรวมจิตใจบนพื้นฐานความเคารพ ที่สนามราชดำเนินกับ 2 พี่น้องปินโต”

'บิ๊กตู่' ถกผู้นำชาติมหาอำนาจใน APEC 2022 ไฮไลต์!! หารือข้อราชการแบบเต็มคณะกับ 'สี จิ้นผิง'

กำหนดการ #APEC2022THAILAND 19 พ.ย.65 

ภายหลังจบภารกิจในช่วง 01.15 ของวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีกำหนดการในการประชุม #APEC2022 ของ 19 พ.ย.65 ดังนี้...

เวลา 08.00 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ กับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย 

เวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีแบบสั้น (pull-aside) กับ นางสาวจาชินดา อาร์เดิร์น (The Right Honourable Jacinda Ardern MP) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

เวลา 08.40 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ นางคริสตาลินา กอร์เกียวา (Ms. Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

เวลา 09.15 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (Retreat ช่วงที่ 2) ภายใต้หัวข้อ ‘Sustainable Trade and Investment การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุม Plenary Hall 2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

เวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 

เชียงใหม่-เทศบาลนครเชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าการปรับปรุง “คลองแม่ข่า” พร้อมนำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชมการพัฒนาสองฝั่งคลอง

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 จ.เชียงใหม่ - น้ำแม่ข่า หรือ คลองแม่ข่า แหล่งน้ำสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ตามโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ โดยเริ่มดำเนินการเฟสแรกที่ ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) พร้อมชูแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำ ควบคู่กับการทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง และ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมพูดคุยให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จ.เชียงใหม่ ถึงความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคลองแม่ข่า รวมไปถึงภาพรวมการพัฒนาคลองแม่ข่า ที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่ และการให้ความสำคัญในเรื่องของระบบบำบัดน้ำ ที่จะทำให้ระบบนิเวศน์ ของคลองแม่ข่า กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ซึ่งน้ำแม่ข่า คลองน้ำสายหลักของชาวเชียงใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลองแม่ข่า” มีต้นน้ำเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นคลองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย โดยเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่ ทั้งเป็นเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นทางระบายน้ำ จากเดิม “คลองแม่ข่า” มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และสร้างความชุ่มชื้นให้กับคนเชียงใหม่ แต่เมื่อความเจริญของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้คลองแม่ข่าถูกบุกรุกและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียมานานหลายสิบปี

เทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ระยะทางประมาณ 750 เมตร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน อาทิ การออกแบบของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาร่วมหาวิธีจัดการเรื่องระบบน้ำเสีย สร้างท่อรองรับน้ำทิ้งเพื่อส่งต่อไปบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสีย มีการกวดขันเรื่องการปล่อยน้ำลงในคลองแม่ข่าอย่างเคร่งครัด การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงการวางแผนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชน และที่สำคัญคือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่คลองแม่ข่า เพื่อให้ชุมชนได้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบด้วยตนเอง

ฟ้าเปิด!! สินค้าเกษตรไทย หลังปิดฉาก APEC 2022 คาด!! กลุ่มพรีเมียมมาแรง แซงป้ายเข้าตลาดจีน

เป็นข่าวดีของคนไทยที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนกับกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทย สามารถเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ 

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้พรีเมียมของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน ปัจจุบันจีนมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่มาก โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 77.55 ล้านล้านบาท มียอดผู้ซื้อออนไลน์ประมาณ 842.1 ล้านคน

นี่จึงเป็นสิ่งเราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า หากมีการลงนามเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรไทยควรจะพัฒนาสินค้าเกษตร ที่อยู่ในมือของตัวเองอย่างไรให้พรีเมี่ยม วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพามารู้จักแนวคิด ต้นแบบการทำสินค้าเกษตรไทยให้พรีเมียม โดยคุณวันทนา ศรีอาคาร ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท สหพันธ์ฟู้ดส์ จำกัด ที่นำเอาปลาโอ ปลาทูน่ามาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของทูน่าหยอง ยกระดับสินค้าให้พรีเมียม

โดยจุดเริ่มต้นของการทำทูน่าหยอง เริ่มจากการที่เจ้าของธุรกิจมีแพปลาเป็นของตัวเอง ซึ่งปลาที่นำมาผลิตเป็นปลาทูน่า ปลาโอของไทย และได้นำมาแปรรูปเป็นทูน่าหยองโดยจะมีลักษณะคล้าย หมูหยอง หรือ ไก่หยอง ซึ่งในทูน่าหยองนั้นจะมีโอเมก้าที่ได้จากปลา สามารถตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การผลิตยังใช้เนื้อปลาล้วน 100% รวมถึงแยกก้างปลาออกและเอาแค่เนื้อปลาล้วนมาแปรรูป

ทูน่าหยองถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในไทยยังไม่เคยมีใครทำ นี่ถือว่าเป็นแบรนด์เจ้าแรก ๆ ที่เริ่มผลิตและขาย สำหรับกลยุทธ์ในการทำการตลาดนั้นจะเน้นขายออนไลน์ และเปิดตัวสินค้าตามบูธในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ โดยทางแบรนด์ยังเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ให้การสนับสนุนเรื่อง R&D แนะนำและให้องค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนะนำเรื่องการปรับปรุงแพคเกจจิ้งให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ตั้งแต่ได้รับคำปรึกษาและความรู้เหล่านั้น ทางแบรนด์นำมาปรับปรุงให้สินค้ายกระดับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันทูน่าหยองมีราคากระปุกละ 65 บาท ขนาด 50 กรัม เก็บรักษาได้ประมาณ 4 เดือน

นี่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจให้เกษตรกรไทยนำไปปรับใช้ได้ คือการมองหาสิ่งที่แตกต่าง แปลกใหม่ ดึงจุดเด่นของตัวเองที่ไม่เหมือนกับคนอื่นออกมา 

หรือจะมาดูตัวอย่างสินค้าอีกชนิดที่น่าสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นคือ 'มะพร้าว' คุณรู้หรือเปล่าว่าจีนปลูกมะพร้าวได้ แต่กำลังการผลิตคิดเป็น 10% ของความต้องการบริโภคเท่านั้น สถิติปี 2564 มณฑลไห่หนานมีกำลังการผลิตมะพร้าวได้ 250 ล้านลูก แต่ตลาดจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวสูงถึง 2,600 ล้านลูก ยังไม่รวมความต้องการมะพร้าวเพื่อการแปรรูปอีก 150 ล้านลูก 

เมื่อมามองที่มะพร้าวไทยส่งออกไปจีน พบว่าช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทยไปแล้ว 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.55% (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวน หรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 64.59% (YoY) โดย ‘มะพร้าวไทย’ครองสัดส่วน 48.26% ของปริมาณการนำเข้ารวม และคิดเป็นสัดส่วน 73.38% ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม โดยอินโดนีเซีย (30.77%) เวียดนาม (20.59%) เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่ต้องจับตามอง นี่จึงทำให้เห็นว่าหากเกษตรกรมาจับ ‘มะพร้าวไทย’ แล้วส่งออกไปจีน บอกเลยว่าอนาคตสดใส

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซับน้ำตาผู้ประสบอัคคีภัยบริเวณซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 6 มอบเงินสดและเครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมมอบเงินช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิต

ตามที่ได้เกิดอัคคีภัยบ้านเรือนประชาชนบริเวณซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 6 เขตสาทร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเพลิงไหม้ในครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ  พร้อมด้วย  นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก และคณะกรรมการมูลนิธิฯ นำทีมฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 6 (ซอยพิชัย 1) เขตสาทร จำนวน 29 ครอบครัว 50 คน มอบเงินสดคนละ 3,000 บาท และมอบเงินค่าฌาปนกิจศพให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุอัคคีภัย จำนวน 1 ราย รายละ 20,000 บาท พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภครายครอบครัว 16 ชุด รายบุคคล 13 ชุด ในการนี้ มูลนิธิไกรสิทธิการกุศล มอบเงินสดคนละ 400 บาท จำนวน 50 คน และมูลนิธิพุทธสมาคมปทุมรังษี ได้มอบข้าวสารให้คนละ 10 กิโลกรัม จำนวน 50 คน รวมงบประมาณการช่วยเหลือเป็นเงิน 257,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) โดยมี นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร ร่วมในพิธี  ณ บริเวณชุมชนซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 6 เขตสาทร กรุงเทพฯ

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศ เตรียมจัดฟอรั่ม BRI ปี 66 ฟื้นเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายฐานลงทุน

(18 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งมีแผนจัดฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3' (3rd Belt & Road Forum for International Cooperation) ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกหลังโลกผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ด้วย

โดยโครงการ Belt & Road หรือ BRI เป็นผลงานโดดเด่นที่ริเริ่มโดยประธานสี เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดย ฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ' เคยถูกจัดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วสองหน ในปี ในปี 2560 และ 2562

แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการ 'โควิดเป็นศูนย์' ของจีน ทำให้ห่างหายจากฟอรั่มการประชุมดังกล่าวไป

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้เริ่มผ่อนปรนการใช้นโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวด แม้จะต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดประเทศมากกว่านี้ที่ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ปี 2566

‘ส้มโอทับทิมสยาม’ ผลไม้เลื่องชื่อจากนครศรีธรรมราช 1 ในทูตด้านอาหาร ขึ้นโต๊ะเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปค

APEC 2022 ชาวนครศรีธรรมราชภูมิใจอัญมณีรสเลิศ ‘ส้มโอทับทิมสยาม’ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น หนึ่งในผลไม้ขึ้นโต๊ะเลี้ยงรับรอง คณะผู้นำประเทศที่จะเข้าร่วมประชุมเอเปค 2022

‘ส้มโอทับทิมสยาม’ ผลไม้อันเลื่องชื่อของ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกยกให้เป็น ‘อัญมณี กินได้’ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับการคัดสรรจากทั่วประเทศ เพื่อเลี้ยงรับรองผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 

โดยส้มโอทับทิมสยามที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ มาจาก ‘สวนคำสิงห์’ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

นายโสภิต สิงห์บุญ เจ้าของสวน เปิดเผยว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ผลไม้ของจังหวัดได้เป็นส่วนหนึ่งในการต้อนรับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 

เชื่อว่าเหตุผลที่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากส้มโอที่สวน ปลูกแบบปลอดสารพิษ เนื้อแดงเข้มคล้ายทับทิม รสชาติหวานฉ่ำรูปผลมีจุกหัวแหลม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และได้รับมาตรฐาน GAP

คนบันเทิง-แฟนคลับ ร่วมชื่นชม ‘เบิร์ด ธงไชย’ หลังโชว์ขับร้องเพลง ในงานกาล่าดินเนอร์ผู้นำเอเปค

นับเป็นความภาคภูมิใจของ ‘เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์’ ซูเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งของไทย ที่ได้ร่วมขับร้องเพลงและเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทางวัฒนธรรม ในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Gala Dinner) เมื่อค่ำคืนวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดย ‘เบิร์ด ธงไชย’ ได้โชว์ร้องเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพลง ‘ลอยกระทง’ พร้อมการแสดงประเพณีลอยกระทง ตามประทีป ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของไทย

‘เบิร์ด ธงไชย’ ร่วมถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย โชว์ลูกคอขับขาน งานกาล่าดินเนอร์ผู้นำเอเปค

‘เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์’ ซูเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งของไทย ร่วมขับร้องเพลงและเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทางวัฒนธรรม ในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Gala Dinner) ค่ำคืนวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในนามรัฐบาลไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยง เพื่อต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ หอประชุมกองทัพเรือ ภายในงานได้จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ภายใต้แนวคิดหลักของ APEC Thailand 2022  คือ 'OPEN. CONNECT. BALANCE.  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล' ถ่ายทอดเป็นเรื่องราวที่งดงาม เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยอันทรงคุณค่า ผ่านการแสดงประกอบฉาก แสง สี เสียง ทั้งหมด 3  องก์ ได้แก่ OPEN TO ALL OPPORTUNITIES เปิดรับทุกโอกาส , CONNECT IN ALL DIMENSIONS เชื่อมต่อทุกมิติ และ BALANCE  IN ALL ASPECTS สมดุลในทุกด้าน

ผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรีพร้อมคณะลงพื้นมอบนโยบายแนวทางในการปฏิบัติงานและเน้นย้ำข้อสั่งการ ของ ผบช. พร้อมมอบของบำรุงขวัญเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กำลังพล

วันนี้ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ หลักเขตที่ B/1 เกาะปราสมานา ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.พล.ร.5/ผบ.กกล.เทพสตรีเดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ของ มว.ปล.ที่ 3 ร้อย.ร.5021 และ ชฝต.4301 โดยได้มอบนโยบายแนวทางในการปฏิบัติงานและเน้นย้ำข้อสั่งการ ของ ผบช. พร้อมมอบของบำรุงขวัญเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กำลังพล ณ เกาะปราสมานา ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล โดย พ.อ.เรวัตร เซ่งเข็ม ผบ.ร.5 พัน.2/รอง.ผบ.ฉก.ร.5 ร่วมต้อนรับพร้อมกับหัวหน้าส่วนหลายหน่วยและ ชุดชปพ.ศรชล.ทรภ.3 จ.สตูล,ศรชล.สตล,ตชด.436 สตูล ตำรวจน้ำสตูลทหารกองกำลังเทพสตรีเปิดปฏิบัติการปกป้องชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สตูล พบว่ามีจุดอ่อนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างทางบกและทางทะเล ทำให้ง่ายต่อการกระทำความผิดได้ ทหารต้องเสริมกำลังพลในการปกป้อง ร่วมกับทหารเรือ และบูรณาการกำลังทุกฝ่ายทั้งฝ่ายปกครอง รวมทั้งท้องถิ่นในการเฝ้าระวัง ทั้งทางทะเลและทางบก โดยเน้นการทำงานเชิงรุก ลาดตระเวนตรวจตรา วิเคราะห์เส้นทาง และจุดเสี่ยงง่ายต่อการทำผิดกฎหมาย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top