ฟ้าเปิด!! สินค้าเกษตรไทย หลังปิดฉาก APEC 2022 คาด!! กลุ่มพรีเมียมมาแรง แซงป้ายเข้าตลาดจีน

เป็นข่าวดีของคนไทยที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนกับกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทย สามารถเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ 

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้พรีเมียมของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน ปัจจุบันจีนมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่มาก โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 77.55 ล้านล้านบาท มียอดผู้ซื้อออนไลน์ประมาณ 842.1 ล้านคน

นี่จึงเป็นสิ่งเราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า หากมีการลงนามเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรไทยควรจะพัฒนาสินค้าเกษตร ที่อยู่ในมือของตัวเองอย่างไรให้พรีเมี่ยม วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพามารู้จักแนวคิด ต้นแบบการทำสินค้าเกษตรไทยให้พรีเมียม โดยคุณวันทนา ศรีอาคาร ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท สหพันธ์ฟู้ดส์ จำกัด ที่นำเอาปลาโอ ปลาทูน่ามาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของทูน่าหยอง ยกระดับสินค้าให้พรีเมียม

โดยจุดเริ่มต้นของการทำทูน่าหยอง เริ่มจากการที่เจ้าของธุรกิจมีแพปลาเป็นของตัวเอง ซึ่งปลาที่นำมาผลิตเป็นปลาทูน่า ปลาโอของไทย และได้นำมาแปรรูปเป็นทูน่าหยองโดยจะมีลักษณะคล้าย หมูหยอง หรือ ไก่หยอง ซึ่งในทูน่าหยองนั้นจะมีโอเมก้าที่ได้จากปลา สามารถตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การผลิตยังใช้เนื้อปลาล้วน 100% รวมถึงแยกก้างปลาออกและเอาแค่เนื้อปลาล้วนมาแปรรูป

ทูน่าหยองถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในไทยยังไม่เคยมีใครทำ นี่ถือว่าเป็นแบรนด์เจ้าแรก ๆ ที่เริ่มผลิตและขาย สำหรับกลยุทธ์ในการทำการตลาดนั้นจะเน้นขายออนไลน์ และเปิดตัวสินค้าตามบูธในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ โดยทางแบรนด์ยังเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ให้การสนับสนุนเรื่อง R&D แนะนำและให้องค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนะนำเรื่องการปรับปรุงแพคเกจจิ้งให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ตั้งแต่ได้รับคำปรึกษาและความรู้เหล่านั้น ทางแบรนด์นำมาปรับปรุงให้สินค้ายกระดับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันทูน่าหยองมีราคากระปุกละ 65 บาท ขนาด 50 กรัม เก็บรักษาได้ประมาณ 4 เดือน

นี่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจให้เกษตรกรไทยนำไปปรับใช้ได้ คือการมองหาสิ่งที่แตกต่าง แปลกใหม่ ดึงจุดเด่นของตัวเองที่ไม่เหมือนกับคนอื่นออกมา 

หรือจะมาดูตัวอย่างสินค้าอีกชนิดที่น่าสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นคือ 'มะพร้าว' คุณรู้หรือเปล่าว่าจีนปลูกมะพร้าวได้ แต่กำลังการผลิตคิดเป็น 10% ของความต้องการบริโภคเท่านั้น สถิติปี 2564 มณฑลไห่หนานมีกำลังการผลิตมะพร้าวได้ 250 ล้านลูก แต่ตลาดจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวสูงถึง 2,600 ล้านลูก ยังไม่รวมความต้องการมะพร้าวเพื่อการแปรรูปอีก 150 ล้านลูก 

เมื่อมามองที่มะพร้าวไทยส่งออกไปจีน พบว่าช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทยไปแล้ว 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.55% (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวน หรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 64.59% (YoY) โดย ‘มะพร้าวไทย’ครองสัดส่วน 48.26% ของปริมาณการนำเข้ารวม และคิดเป็นสัดส่วน 73.38% ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม โดยอินโดนีเซีย (30.77%) เวียดนาม (20.59%) เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่ต้องจับตามอง นี่จึงทำให้เห็นว่าหากเกษตรกรมาจับ ‘มะพร้าวไทย’ แล้วส่งออกไปจีน บอกเลยว่าอนาคตสดใส

แล้วเราจะทำยังไงให้พัฒนาสินค้ามะพร้าวตอบโจทย์คนจีน...

1. รักษามาตรฐานด้านสุขอนามัย ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ

2. พัฒนาและรักษาคุณภาพผลผลิตให้คง ‘อัตลักษณ์’ ของมะพร้าวน้ำหอมไทย ทั้งกลิ่นรสชาติ ความหอมหวาน หากเกษตรกรไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร สามารถปรึกษากับทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ในหลายจังหวัดได้

3. ยกระดับอุตสาหกรรม ‘มะพร้าวไทย’ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาตลาดไว้ เช่น การทำผลิตภัณฑ์มะพร้าวตัดแต่ง ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์มะพร้าวให้ดื่ม กินง่าย นี่เป็นอีกเหตุผลที่คนจีนจะตัดสินใจซื้อ

4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ไอศกรีมกะทิสด น้ำมะพร้าวพาสเจอไรซ์ 100% วุ้นในลูกมะพร้าว และนมมะพร้าว 

5. นำมะพร้าวไปเสริมกับผลิตภัณฑ์สำหรับคนรักสุขภาพ เพราะตอนนี้คนจีนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น อาจจะทำเครื่องดื่มผสมมะพร้าวไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย หรือไร้น้ำตาล

เรื่อง: วายุ เอี่ยมรัมย์ Content Editor


ที่มา: salika / mgronline / bangkokbiznews