ความสัมพันธ์ 'ไทย-ฝรั่งเศส' จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่การยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2024

จากภาพปรากฏตั้งแต่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบและเข้าทักทายนายกรัฐมนตรีของไทย ด้วยความจริงใจและดูนอบน้อม ในฐานะแขกรับเชิญคนสำคัญจากประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม APEC 2022 หนนี้

ยิ่งทำให้รู้สึกถึงแนวโน้มอันดีงามในการหารือแบบทวิภาคีของ ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ โดยเฉพาะในแง่ของความคืบหน้าการยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024 

โดยเชื่อว่า ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะได้มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการก่อนตามแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (2022-2024) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ กรุงปารีส ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่... การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาชน และประเด็นระดับโลก 

ภาพความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะเป็นเช่นไร อาจจะยังตอบแบบชัดๆ ได้ยาก แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องขอบอกว่า ไทยและฝรั่งเศส มีการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในหลายด้านแล้วด้วย

>> ด้านการทูต : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในปี 2228 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีทางการค้าและการเดินเรือ (Treaty - of Friendship, Commerece and Navigation) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2399 

>> ด้านการเมือง : ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีแผนปฎิบัติการร่วมไทย - ฝรั่งเศส ความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน และสามารถปฎิบัติได้จริงในช่วง 5 ปี ครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และความร่วมมือระหว่างประเทศ ฯลฯ

>> ด้านเศรษฐกิจ : มีการส่งออกของไทย และสินค้าที่นำเข้าจากฝรั่งเศสหลายประการ ได้แก่...
- สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เลนส์แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี เครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว
- สินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง

>> ด้านการร่วมมือด้านการค้า : ในภาครัฐ มีคณะทำงานร่วมด้านการค้าไทย-ฝรั่งเศส และมีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (The High Level Economic Dialogue between Thailand and France) ปี 2553-2557 ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือและส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างสองประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ

>> ด้านการทหารและความมั่นคง : ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกปฎิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาระดับสูง และการลงนามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง และความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์

จากอดีต มาสู่ปัจจุบัน ซึ่งหากลองพิจารณาถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส (2022 - 2024) ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชน และประเด็นประดับโลกนั้น จะมีความน่าสนใจใดให้ติดตามต่อบ้าง...

>> ด้านการเมืองและความมั่นคง : ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมจัดตั้งกลไกการเจรจา 2+2 (กระทรวงการต่างประเทศ + กระทรวงกลาโหม) การสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง สำหรับด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด -แปซิฟิกรวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น

>> ด้านเศรษฐกิจ : ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเห็นพ้องกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

>> ด้านประชาชน : ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำความสำคัญของการเดินทางที่ปลอดภัยโดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การเพิ่มพูนการฝึกอบรมวิชาชีพและการศึกษาให้บุคลากรไทยเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของฝรั่งเศส และยินดีที่ปีหน้ากำหนดให้เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)

>> ด้านการศึกษาและวิชาการ : ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

>> สำหรับประเด็นเร่งด่วนระดับโลก : เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การรับมือกับโรคระบาดรวมถึงย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาทางออกที่สันติผ่านการหารือต่อความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ในยูเครนและในเมียนมา เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลกรวมถึงการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

โดยในส่วนของความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทางนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) อาเซียน - ฝรั่งเศส และอาเซียน - EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU อย่างแข็งขัน

ทั้งนี้การเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของฝรั่งเศสในฐานะแขกของประธาน จะช่วยส่งเสริมวาระของการประชุมฯ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ธีม ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ (Open. Connect. Balance.) โดยเฉพาะการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญในระดับโลกที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปสนับสนุน เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ความยั่งยืนต่อไป

สำหรับการเยือนไทยของประธานาธิบดีฝรั่งเศสในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนไทยของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในรอบ 16 ปี โดยครั้งสุดท้ายคือ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค เมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2549


ที่มา : https://prd.go.th/th/content/category/detail/id/1487/iid/135572
https://www.thaipost.net/hi-light/265151/
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1038447


เรื่อง: มณฑ์ภัสสร ประสิทธิสิน Content editor