หอการค้าไทย - จีน ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจหอการค้าไทย - จีน ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการหอการค้าไทย - จีน และสมาคมธุรกิจ รวม 409 คน ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยสำรวจในระหว่างวันที่ 18 - 26 ก.พ.2564 พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย - จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย - จีน จะทำหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้รีบดำเนินมาตรการออก ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ให้เร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค.2564 หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการออกวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว ศบค.ควรกำหนดให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนพาสปอร์ต ไม่ต้องกักตัวแล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องกักตัวแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าในจำนวน 8 ล้านคน จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านคน
“หอการค้าไทย - จีน อยากให้รัฐบาลรีบดำเนินการเรื่องของวัคซีน พาสสปอร์ต ให้เร็วที่สุด เพราะหากช้าไทยสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งขณะนี้คนจีนมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศมาก ประเทศที่เป็นตัวเลือกก็คือ เอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยปลอดภัย”
นอกจากนี้ หากมีวัคซีนพาสปอร์ต ออกมาภายในเดือน มี.ค. คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้อย่างช้าสุดภายในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี หรือประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566
ส่วนการชุมนุมทางการเมืองจะกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนไม่กังวล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็ไปท่องเที่ยวตามหัวเมืองหลักของประเทศ โดยจังหวัดหลักที่นักท่องเที่ยวต้องการไป คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจหอการค้าไทย - จีน พบว่า 60% มั่นใจเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในไตรมาส 2 จะเติบโตต่อเนื่อง แม้จะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในส่วนของการส่งออกของไทยไปจีน ผลสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง และการนำเข้าของไทยจากจีนก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน รวมทั้งแนวโน้มการลงทุนในไทยของนักลงทุนจีนจะไม่ลดลงและมีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้าประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากมาตรการการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการมีวัคซีน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้เริ่มมีการฉีดให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หอการค้าไทย - จีน คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 1.5 - 2.5% เพราะยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ปัญหาเสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจโลกที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ภาครัฐและหนี้ครัวเรือนของไทย และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยกำลังทยอยฉีดว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งผลสำรวจยังเห็นว่า การฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย และเห็นด้วยว่าหากต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว โดยเฉพาะจะช่วยหนุนภาคท่องเที่ยวของไทยที่รับผลกระทบหนัก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ดังนั้นจึงสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และต้องการเข้ามาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย โดยขอให้ภาครัฐเร่งรัดการออกนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีเวลาเตรียมตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้วางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า
“ดัชนีเชื่อมั่นในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เห็นแนวโน้มการขยายตัวทางการค้าไทยและจีน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในเดือน ม.ค.2564 และการค้าไทยและจีนมีมูลค่า 7,579 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.11% ซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่มองการส่งออกไปจีนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการเศรษฐกิจจีนปีนี้เติบโต 8.1% เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทย”
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจรายสาขาที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังคงเป็นธุรกิจออนไลน์มากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจพืชผลเกษตร โลจิสติกส์ ธุรกิจบริการสุขภาพ และเกษตรแปรรูป ในขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/926950