Sunday, 13 October 2024
The States Times EconBiz Team

‘สุริยะ’ ผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เพื่อการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ของรัฐบาล ตั้งเป้าภายในปี 2568 โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 70,000 โรง ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG โมเดล ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเป้ายกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่สากล ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยเพื่อชุมชน ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน

“ได้สั่งการให้ กรอ. เดินหน้าผลักดันให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมในกำกับที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 71,130 โรง ทั่วประเทศ พัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรงต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ.2564 - 2580) เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ สร้างการรับรู้และเข้าใจในอุตสาหกรรมสีเขียว และมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและนานาชาติในที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบกิจการโรงงานสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วประมาณ 20,000 ราย โดยมีสถานประกอบการที่ขอใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียวบนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว จำนวน 110 ราย เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ข้อมูล ณ 31 มกราคม 2564)

สำหรับปี 2564 กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการ 3 โครงการหลักเพื่อการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ประกอบด้วย

1.) โครงการส่งเสริมสถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

2.) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดระดับรายสาขา การลดปริมาณน้ำในโรงานอุตสาหกรรม และส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และโรงงานที่มีการใช้น้ำมากหรืออยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

และ 3.) โครงการส่งเสริมการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ รอ. ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานประกอบการ ด้วยการจัดทำระบบการเรียนรู้และอบรมออนไลน์ (E-learning) และคู่มืออุตสาหกรรมสีเขียว ที่รวบรวมหลักการดำเนินงาน หลักเกณฑ์และเงื่อนไข พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยที่ผู้ประกอบกิจการสามารถสมัครและขอใบรับรองผ่านระบบออนไลน์

กัญชงต้องเกิด!! ‘ก.อุตฯ’ ผลักดันธุรกิจไทยแปรรูป ‘กัญชง’ สู่ ‘พาณิชย์’ ปั้นไทยผู้นำ ‘ผลิต - ส่งออก’ สินค้ากัญชงแห่งอาเซียนใน 5 ปี

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ผลักดันผู้ประกอบการแปรรูปกัญชงสู่พาณิชย์รองรับ BCG Model จัดประชุมสร้างความร่วมมือ ‘การพัฒนาและส่งเสริม อุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์’ ร่วม 3 สถาบันเครือข่าย >> สถาบันอาหาร (สอห.) / สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) และ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ผลักดันกัญชงให้ใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม หลังกฎหมายอนุญาตให้ผลิตนำเข้า - ส่งออก หวังไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปี

นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิด การประชุมและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเพื่อตอบสนอง ‘เศรษฐกิจชีวภาพ’ (Bioeconomy) ของกระทรวงอุตสาหกรรม’ ในงานการประชุมสร้างความร่วมมือ เรื่อง ‘การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์’ ภายใต้โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์

เพื่อสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานพืชกัญชงทบทวนและพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีการ แปรรูปพืชกัญชง และการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ สิ่งทอจากเส้นด้ายกัญชง ผลิตภัณฑ์คอมโพสิต และอาหารสัตว์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนในการยกระดับเทคโนโลยีการแปรรูป และนำทุกส่วนของพืชกัญชงมาแปรรูปเป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบ สำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในงาน และประชุมผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พืชกัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เห็นได้จากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลกในปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 4,410 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 16.21 ต่อปี โดยคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะมีมูลค่ากว่า 14,670 ล้าน เหรียญสหรัฐ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปใช้แปรรูปได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ วัสดุคอมโพสิต พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนการนำเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้เพื่อการบริโภค โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป

สำหรับมูลค่าตลาดทั่วโลกของสารสกัด CBD (Cannabidiol เป็นสารสกัดจากกัญชง) ที่มีฤทธิ์ระงับประสาท ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และบรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมทั้งคุณประโยชน์ที่หลากหลายของ CBD เมื่ออยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร ซึ่งในปี 2562 มีมูลค่า 553.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 33.5 ต่อปี คาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะมีมูลค่ากว่า 4,268.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการเปิดกว้างโดยการปลดล็อคทางกฎหมาย ทั้งด้านการผลิตและการจำหน่ายที่มีมากขึ้นในประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ ประเทศไทยกัญชงได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นช่อดอกที่ยังเป็นยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 หากประชาชนหรือผู้ประกอบการสนใจผลิตหรือนำเข้ากัญชงจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉพาะกลุ่มและวัตถุประสงค์ที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีบทบาทต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมในระดับสูง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนต่างๆ ของกัญชง ประกอบกับมีพื้นที่ว่างทางการเกษตรที่สามารถเพาะปลูกกัญชงได้ รวมทั้งกฎหมายได้เปิดกว้างให้ภาคธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน เชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนา พืชกัญชงอย่างครบวงจร จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากต้นกัญชง ได้ครบทุกส่วน

ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาเมล็ดเพื่อใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Healthy Food/Drink) แกนแห้ง นำไปใช้ทำพื้นรองเท้าและยางคอมปาวด์ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางถอนขนไก่ เปลือกนำไปใช้ทำ สิ่งทอเป็นเส้นด้ายกัญชงผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติ Anti Bacteria และผลิตภัณฑ์คอมโพสิต เช่น กันชนรถยนต์ และสเก็ตบอร์ด ใบใช้ประโยชน์ทำเครื่องสำอาง เช่น Skin Care และ Anti-aging ก้านใบและใบนำไปใช้เป็น ส่วนผสมของอาหารสัตว์อีกทั้งช่อดอกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบสนองนโยบาย BCG Model ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ อก. โดย สมอ. ได้เร่งเตรียมความพร้อมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพืชกัญชง โดยจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการผลิตสินค้ากึ่ง วัตถุดิบจากพืชกัญชงจำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ น้ำมันเมล็ดกัญชง, น้ำมันกัญชง และสารสกัด CBD จากกัญชง คาดว่าจะทยอยประกาศใช้ภายใน ปี 2564 ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเหล่านี้ อก. คาดว่าจะช่วยให้ เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มมูลค่าการ ส่งออกของไทย ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชง และพร้อมเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากกัญชง เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแปรรูปกัญชงของอาเซียนภายใน 5 ปี

อดีตเลขาฯ อังก์ถัด ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ ชี้ รัฐบาลกู้หนี้สู้วิกฤติโควิด เต็มเพดาน 60% ของจีดีพี ยังไม่น่ากังวล เหตุรัฐบาลทั่วโลกกู้เหมือนกันหมด ระบุ สัดส่วนยังต่ำกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบเรียบ ๆ เพราะหลายประเทศยังต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะเป็นเศรษฐกิจในรูปแบบที่เรียกว่าเซอร์ไววัล หรือเศรษฐกิจที่จำเป็นจะต้องหาทางบริหารให้อยู่รอด

นายศุภชัย กล่าวว่า การทำเศรษฐกิจให้อยู่รอดแม้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาหนี้แต่ก็มีความจำเป็น เพราะทางเลือกในการแก้ปัญหามีไม่มาก ซึ่งการกู้เงินมาใช้ต่อสู้กับวิกฤต ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทั่วโลกก็โดนโจมตีเหมือนกันหมดว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่ากู้มากหรือกู้น้อย และการกู้มาต้องใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ และใช้ในสิ่งที่เหมาะสม ล่าสุดทั้งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างก็เปิดช่องให้หลายประเทศกู้เงินในเงื่อนไขพิเศษทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก

ทั้งนี้การกู้เงินมาสู้กับวิกฤตครั้งนี้ มองว่า แม้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แต่ก็ไม่อยากให้กังวลใจมาก เพราะสัดส่วนยังต่ำกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนหนี้สูงกว่านี้มาก

ยอดขายของร้านหนังสือในจีน ยอดเติบโตก้าวกระโดดช่วงหยุดยาวตรุษจีนที่ผ่านมา เฉพาะที่เซี่ยงไฮ้ ทะลุ 8.5 ล้านหยวน ตอกย้ำ ‘ร้านหนังสือไม่มีวันตายในจีน’

ธุรกิจหนังสือและร้านหนังสือในจีน ยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถทำเงินได้ ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่โดยส่วนใหญ่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์โดน Disrupt ด้วยสื่อและหนังสือแบบดิจิทัล

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะ?

เนื่องจากคนจีนเองถูกปลูกฝังให้รักการอ่านและคุ้นชินกับการอ่านหนังสือเป็นเล่มมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงการปรับตัวของร้านหนังสือ ที่ไม่ได้เป็นแค่ร้านหนังสือ แต่เป็นเหมือนสถานที่พักผ่อน พบปะ และสามารถท่องเที่ยวได้ด้วย เห็นได้จากคนจีน โดยเฉพาะคนที่มีลูก จะพาครอบครัวมาเที่ยวร้านหนังสือในช่วงวันหยุด

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจเลบว่า ทำไมช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน 12 ก.พ.64 ที่ผ่านมา ยอดขายหนังสือในร้านหนังสือจีน เฉพาะที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ถึงทะลุ 8.5 ล้านหยวน หรือมากกว่า 2 เท่าของยอดขายหนังสือแบบออนไลน์

ยิ่งไปกว่านั้นยอดขายที่มากมาย ก็ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ร้านหนังสือต่างๆ จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน โดยลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนที่รับได้ เนื่องจากต้องป้องกัน COVID-19 แต่ก็ยังมีคนจีนหลั่งไหลมาซื้อหนังสืออ่านกัน

สำหรับหนังสือที่เป็นนิยมมากที่สุดในกลุ่มชาวเซี่ยงไฮ้ ได้แก่

- หนังสือสายสังคมวิทยา

- หนังสือเด็ก

- หนังสือแนววัฒนธรรม

- หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์


ที่มา: อ้ายจงเล่าเรื่องจาก China Daily

https://www.facebook.com/348166825314887/posts/2160116784119873/

คลังเผย! กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน - พิเศษ ที่ลงทะเบียนเราชนะกลุ่มแรก รับเงินงวดแรกวันนี้ 4,000 บาท พร้อมรองวดต่อไป12 - 19 - 26 มี.ค. รวม 7,000 ส่วนกลุ่มสอง รอคัดกรองสิทธ์ิ 19 มี.ค. รอรับงวดแรก 6,000 บาท !

หลังจากที่กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือ กลุ่มพิเศษเปิดให้ ลงทะเบียนร่วมโครงการเราชนะ โดยไม่ต้องลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ - 21 ก.พ. กระทรวงการคลัง ได้แจ้งว่ามีผู้ผ่านการคัดกรองแล้วจำนวน 5 แสนคน

ดังนั้นในวันนี้ กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือ กลุ่มพิเศษ ที่ลงทะเบียนในโครงการเราชนะตั้งแต่วันที่ 15 - 21 ก.พ. ซึ่งเป็นกลุ่มรอบแรก ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองแล้วจะรับเงินงวดที่ 1 จำนวน 4,000 บาทหลังจากนั้นทุกวันศุกร์ กระทรวงการคลัง โอนเงินเพิ่มอีก 1,000 บาท ในวันที่12 มีนาคม , วันที่19 มีนาคม และ วันที่ 26 มี.ค. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,000 บาท

โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ดังกล่าวผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ผ่านผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการเราชนะได้เลย สำหรับกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนเราชนะ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ. - 5 มี.ค. รับทราบผลการคัดกรองสิทธิ์ครั้งแรกในวันที่ 19 มี.ค. กลุ่มที่ 2 เมื่อผ่านการคัดกรองได้รับเงิน ครั้งแรกจำนวน 6,000 บาท หลังจากนั้นก็จะได้รับเงินในวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. อีกจำนวน 1,000 บาท

ปัจจุบันการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีอายุได้ยาวนานเป็นสิบปี ก็เรียกว่าเก่ง แต่ถ้าเป็นร้อยปี นี่ถือว่าหาได้ยากมาก ๆ แต่เชื่อไหมว่า ในโลกนี้มีธุรกิจที่มีอายุยาวนานถึง 1,400 ปีอยู่

และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ บริษัทนี้ทำธุรกิจแบบเดียวกับที่ทำในอดีต มาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

คงโงกูมิ (Kongō Gumi : 金剛組) หรือ ‘บริษัท คงโงกูมิ จำกัด’ คือ บริษัทที่ว่า...

คงโงกูมิ เป็นบริษัทรับจ้างก่อสร้างวัดและศาลเจ้า ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ปีพุทธศักราช 1121 โดยช่างไม้ชื่อ Shigemitsu Kongo จุดเริ่มต้น คือ เขาได้รับว่าจ้างจากราชสำนักให้สร้างวัดพุทธขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาก็ได้สร้างวัดวัดชิเทนโนจิ ในจังหวัดโอซาก้าขึ้นมา และผลงานดังกล่าว ก็เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท คงโงกูมิ เพื่อรับงานสร้างวัดอย่างจริงจัง

นับจากวันนั้น ศาสนาพุทธก็แพร่หลายในญี่ปุ่น ธุรกิจ คงโงกูมิ จึงมีงานสร้างวัด ศาลเจ้า และปราสาทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ตลอด ด้วยความที่ผลงานเป็นที่ประจักษ์ คงโงกูมิ เลยมีงานให้ทำไม่หยุดหย่อน ยิ่งคนญี่ปุ่นมีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนามากขึ้นเท่าไร ธุรกิจของ คงโงกูมิ ก็ยิ่งเจริญเติบโตมากขึ้นเท่านั้น วัดชื่อดังหลายแห่งในญี่ปุ่นก็เป็นผลงานของพวกเขา รวมถึงปราสาทโอซาก้าที่เป็นจุดท่องเที่ยวยอดฮิตด้วย

คงโงกูมิ ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน สืบทอดมาถึง 40 รุ่น มีการคัดเลือกทายาทที่เหมาะสม มีทั้งผู้สืบทอดที่เป็นลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการพิจารณาว่ามีภาวะผู้นำที่ดี และบริษัทยังมีการปรับตัวในยุควิกฤต เช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนไม่สนใจจะสร้างวัด บริษัทก็หันมาต่อหีบศพขายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด พอเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ พวกเขาก็เริ่มสร้างวัดด้วยคอนกรีตแทนไม้ โดยยังคงความงามของศิลปะดั้งเดิมไว้อยู่

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมบริษัทรับสร้างวัด จึงอยู่มาได้นานขนาดนี้?

มีการวิเคราะห์กันว่ามาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบด้วย...

1.) ผู้นำที่ดี

ความน่าสนใจ ก็คือ การสืบทอดกิจการกันในครอบครัว ที่ไม่ได้ยึดติดกับ ‘ลูกคนโต’ มาสืบทอดงานตามปกติเหมือนธุรกิจอื่น ๆ แต่บริษัท คงโงกูมิ จะคัดเลือกผู้สืบทอดจากทายาทที่เหมาะสม โดยไม่สนทั้งอายุและเพศ ทำให้ผู้นำของบริษัทสามารถเป็นได้ทั้งลูกชาย ลูกสาว หรือแม้แต่ลูกเขย ที่แต่งเข้ามาก็ได้ ขอแค่พวกเขารักในงาน อยากสืบทอดกิจการ และมีความสามารถ ซึ่งนั่นทำให้ผู้นำบริษัท มักมีภาวะผู้นำที่ดีอยู่เสมอ

2.) สินค้ามีความต้องการอยู่ตลอดเวลา

บริษัท คงโงกูมิ ทำงานเกี่ยวข้องกับศาสนา ที่มีผู้คนศรัทธานับล้านคน ทำให้ตลอดพันปีที่ผ่านมา ความศรัทธานั้นก็ยังคงอยู่ พวกเขาจึงมีงานสร้างวัดอยู่เสมอ ๆ พอวัดใหม่ถูกสร้าง วัดเก่าก็ต้องการการปรับปรุง แล้วงบก็จะมาจากทั้งการว่าจ้างของเอกชน การระดมทุนของชุมชน หรือกระทั่งรัฐบาลสนับสนุนเงิน ทำให้มีเงินเข้ามาอยู่ตลอด ฉะนั้นลองคิดดูว่าใครที่ก่อสร้างวัด หรือปรับปรุงวัด ก็ต้องเรียกหา ‘คงโงกูมิ’ เป็นลำดับแรกๆ จนเรียกว่าเป็นเจ้าตลาด ในตลาดที่มีลูกค้าคอยใช้บริการอยู่ตลอด ก็ไม่ผิดนัก

3.) ความยืดหยุ่นของบริษัท

บริษัท คงโงกูมิ นับว่าเป็นบริษัทที่ผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายมามากที่สุดบริษัทหนึ่งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นพวกเขาจึงมีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น…

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พวกเขาแทบไม่มีงานก่อสร้างวัดเลย เพราะนอกจากผู้คนจะยากลำบาก งบทุกอย่างยังต้องทุ่มไปที่สงครามด้วย แต่ผู้นำบริษัทในตอนนั้นก็ไม่อยู่นิ่ง เมื่อสงครามทำให้คนตายมหาศาล บริษัทก็ผันตัวไปผลิตโลงศพ เพื่อพยุงกิจการไว้

แถมหลังสงคราม พวกเขาก็กลับมารับหน้าที่บูรณะวัดที่ถูกทำลายจากช่วงสงครามได้อีกครั้ง

พอในยุคหลัง บริษัทยังเลือกที่จะเปลี่ยนจากการสร้างวัดด้วยไม้ ไปเป็นคอนกรีต เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ลดความเสี่ยงไฟไหม้ และทำให้บริการพวกเขาน่าสนใจกว่าคู่แข่งอีก

อย่างไรก็ตาม แม้ คงโงกูมิ จะมีชื่อเสียงทั้งเรื่องความมั่นคง และการปรับตัวแค่ไหน แต่พวกเขาก็ต้องพบปัญหาใหญ่!!

ในช่วงยุคปี 2523 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเฟื่องฟู บริษัทแห่งนี้ จึงเริ่มหันมาจับงานด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และเพื่อขยายกิจการ ทางบริษัท จึงตัดสินใจได้กู้เงินก้อนใหญ่มาเพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ

ทว่าพวกเขากู้เงินมาลงทุน ในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยจะเหมาะเท่าไร และอย่างที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์ฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นช่วงปี 2532 เป็นความบอบช้ำเหมือนต้มยำกุ้งที่คนไทยต้องเผชิญ ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลงไป และนั่นก็ทำให้ คงโงกูมิ ต้องประสบกับภาวะที่ลำบาก

แม้ คงโงกูมิ จะไม่ถึงขั้นต้องปิดบริษัทในตอนนั้น แต่ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ดันเข้ามาพร้อม ‘การถดถอยของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น’ ทำให้รายได้ของบริษัทเริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจาก 80% ของรายได้บริษัทแห่งนี้ ล้วนแต่มาจากการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมวัดแทบทั้งสิ้น

บริษัท คงโงกูมิ ใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยมีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 2,200 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็กลับมีหนี้มหาศาล เกินกว่าที่จะจ่ายได้

จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 เมื่อเห็นท่าว่าจะไปต่อไม่ไหว คงโงกูมิ จึงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และขายให้กับ ‘บริษัททากามัตสึ’ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ไป

และนั่นก็ทำให้ ธุรกิจของตระกูลคงโง กับคงโงกูมิ ต้องยุติธุรกิจลงที่อายุ 1,428 ปี

แม้บทบาทของคนในตระกูลจะจบลง แต่อย่างไรก็ตาม คงโงกูมิ ก็เกิดใหม่ภายใต้บริษัททากามัตสึ ที่มีความเคารพในเกียรติยศของบริษัทที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าแบรนด์ คงโงกูมิ ยังขายต่อไปได้

โดยทางบริษัททากามัตสึอนุญาต จึงคงชื่อ คงโงกูมิ ไว้ และไม่มีการยุบหรือควบรวมเข้ามาเป็นบริษัทเดียวกัน และยังให้คนในตระกูลคงโงสามารถทำงานได้ภายใต้ชื่อของบริษัทคงโงกูมิ สืบมาจนถึงทุกวันนี้...


ที่มา

https://www.facebook.com/331394447302302/posts/1166482313793507/

https://www.facebook.com/powersmethai/photos/a.1125773347499569/2573378549405701/?type=3&theater

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย สถิติการค้าของไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA เดือนม.ค.64 มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โต 3% พบส่งออกสินค้าเกษตร มาแรง พุ่ง! 19% ตลาดอาเซียน จีน และฮ่องกง เติบโตดี ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม โต 5%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วงเดือนมกราคม 2564 พบว่า การค้าของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) 18 ประเทศ มีมูลค่า 25,571.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.31% จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 64.55% ของการค้าไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 12,162.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.04%) คิดเป็นสัดส่วน 61.72% ของการส่งออกทั้งหมด และเป็นการนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่ารวม 13,409.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2.66%) คิดเป็นสัดส่วน 67.35% ของการนำเข้าทั้งหมด

นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทยมีการเติบโตในหลายรายการ อาทิ สินค้าเกษตร (กสิกรรม ปศุสัตว์และประมง) โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 1,288 ล้านเหรียญสหรัฐ (+19.4%) คิดเป็นสัดส่วน 72.16% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการขยายตัว ได้แก่ อาเซียน (+13%) อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และเมียนมา จีน (+40%) ฮ่องกง (+24%) เกาหลีใต้ (+2%) อินเดีย (+63%) และเปรู (+768%)

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และวงจรไฟฟ้า โดยมีการส่งออก มูลค่า 9,446.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+5.14%) คิดเป็นสัดส่วน 59.31% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม (+16%) มาเลเซีย (+41%) ลาว (+4%) เมียนมา (+2%) จีน (+3%) ญี่ปุ่น (+6%) ฮ่องกง (+23%) เกาหลีใต้ (+23%) ออสเตรเลีย (+35%) นิวซีแลนด์ (+50%) และเปรู (+19%)

สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย แม้การส่งออกจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีมูลค่า 829.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-5.57%) แต่การส่งออกในหลายตลาดคู่เอฟทีเอยังคงสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะอาเซียน (+1.4%) อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว และบรูไน ซึ่งจากเดิมในปี 2563 การส่งออกมีการหดตัวมาโดยตลอด นอกจากนี้ ฮ่องกง และชิลี มีการนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปจากไทยเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม

นางอรมน เพิ่มเติมว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2563 จากปัจจัยบวก อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง และการเริ่มกระจายการฉีดวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต พบว่า มีโอกาสสูงที่การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความพร้อมของไทยที่สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัวและปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้รับการลดและยกเว้นภาษีนำเข้ากับกลุ่มประเทศคู่เอฟทีเอ เป็นต้น

เศรษฐกิจร้อนๆ !! ที่ 'รัฐบาล' ขอตอบนอกสภา | BizMAX EP.28

จากข่าว "ขอแจงนอกสภา !!! 'สุพัฒน์พงษ์' ร่ายยาว แจงเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ คัดเน้น ๆ 8 เรื่องคาใจเศรษฐกิจไทย โต้ฝ่ายค้าน"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021022302 ​

จาก 8 ข้อที่คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กออกมาโต้แย้ง เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่ทางฝ่ายค้านออกมาพูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังล้มเหลว มาร่วมวิเคราะห์กันกับ หยก THE STATES TIMES

.

เผยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมลดลงมากถึง 2.18 ล้านล้านบาท หรือลดลงมากถึง 72.79% เมื่อเทียบกับปีก่อน ธุรกิจที่พักหนักสุดหายวับ 5.6 แสนล้าน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมลดลงมากถึง 2.18 ล้านล้านบาท หรือลดลงมากถึง 72.79% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดปรับลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะธุรกิจที่พักมีรายได้ปรับลดลงมากที่สุด โดยลดลงจาก 7.71 แสนล้านบาทในปีก่อน เหลือแค่ 2.05 แสนล้านบาทเท่านั้น หรือลดลงมากถึง 5.66 แสนล้านบาท

ส่วนในปี 2564 นี้ยังมีความท้าทายว่ารายได้จะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

ส่วนธุรกิจที่มีรายได้ปรับลดลงรองลงมา คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่วยสินค้าและของที่ระลึก มีค่าใช้จ่ายลดลงจาก 7.05 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 1.75 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงจาก 6.48 แสนล้านบาท เหลือ 1.82 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง ลดลงจาก 3.49 แสนล้านบาท เหลือ 9.6 หมื่นล้านบาท ค่าพาหนะเดินทางในประเทศ ลดลงจาก 2.97 แสนล้านบาท เหลือ 8.4 หมื่นล้านบาท ค่าบริการท่องเที่ยว ลดลงจาก 1.55 แสนล้านบาท เหลือ 4.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ลดลงจาก 6.9 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.3 หมื่นล้านบาท

แม้จะดูเป็นขนมธรรมดา ๆ สำหรับขนมข้าวโพดอบกรอบใส่ซองห่อละ 5 บาท ที่ใช้ชื่ือว่า ‘นมแท่ง’ แต่ใครจะรู้ว่าขนมดังกล่าวมีส่วนช่วยสร้างรายได้เฉียดพันล้านบาทให้กับบริษัทสายเลือดไทย ‘ไพบูลย์ โปรดักส์ จำกัด’ ได้อย่างน่าสนใจ

ขนมข้าวโพดอบกรอบ ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ‘นมแท่ง’ เกิดขึ้นเมื่อ 27 ปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากบริษัท ไพบูลย์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งมี ‘ไพบูลย์ พัฒนวานิชกิจกุล’ และ ‘ขวัญจิตร ยั่งยืน’ เป็นผู้ก่อตั้ง

เป้าหมายของทั้งสองคนในตอนนั้น คือ ต้องการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้รับซื้อข้าวโพด แล้วนำมาแปรรูปให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม

ความโชคดีอย่างมาก คือ สินค้าแรกของทางบริษัทอย่างขนมข้าวโพดอบกรอบ ‘นมแท่ง’ นั้นได้รับผลตอบรับที่ดีเลย

แต่ถึงกระนั้น ทางบริษัท ก็ยังได้หาช่องทางขยายการเติบโตของธุรกิจเพิ่มเติม โดยการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง, เวเฟอร์, บิสกิต และคุกกี้ รวมถึงขยายตลาดออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV, ตะวันออกกลาง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลี และจีน

สำหรับผลประกอบการ บริษัท ไพบูลย์ โปรดักส์ จำกัด นั้นเติบโตจนน่าสนใจ

- ปี 2560 รายได้ 520 ล้านบาท กำไร 2 ล้านบาท

- ปี 2561 รายได้ 656 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท

- ปี 2562 รายได้ 942 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท

อะไรที่ทำให้ขนมห่อเล็ก ๆ นี้สามารถสร้างรายได้ได้มากขนาดนั้น

ปัจจัยแรก คือ คุณภาพของสินค้า ผู้ที่จะอยู่รอดในตลาดได้ สินค้าจะต้องมีคุณภาพที่ดี สามารถทำให้ลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว เกิดความพึงพอใจและกลับมาซื้อซ้ำอีกครั้ง ทุกๆ การผลิตสินค้าแต่ละชนิดของบริษัท จึงต้องคัดสรรวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปอย่างดี

อย่างกรณีของขนมข้าวโพดอบกรอบนั้น ก็ได้เลือกข้าวโพดอย่างดีนำมาแปรรูป โดยไม่ใส่สารปรุงแต่งใด ๆ

ทำให้มีรสชาติที่ดี และมีความหอมมันตามธรรมชาติ จุดนี้เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจในคุณภาพของสินค้า และ กลับมาซื้อซ้ำ

ปัจจัยต่อมา คือ ความแตกต่าง ซึ่งในการผลิตขนม ธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันกันสูง หากไม่สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต ก็แทบจะมองไม่เห็น

อย่างกรณี ขนมประเภทข้าวเกรียบ ทางบริษัทก็ได้สร้างความแตกต่างด้วยการทำขนมข้าวเกรียบที่มีน้ำจิ้มอยู่ในซอง และมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ หรือในส่วนของ เวเฟอร์ ก็ถือได้ว่า เป็นเจ้าแรกๆ ที่ผสมโยเกิร์ตลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสินค้ามีคุณภาพ ตลาดยอมรับ ลูกค้าติด ก็ย่อมมีคู่แข่งที่อยากจะผลิตสินค้าแบบเดียวกันออกมา ทางบริษัทจึงต้องคิดค้น หรือหาทางพัฒนาสินค้าของตัวเองอยู่เสมอ

หรือก็คือ ต่อให้สินค้าที่มีอยู่จะได้รับผลดีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ทางบริษัท ก็ยังได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกมาอยู่เสมอ เช่น การแตกไลน์การผลิตมาทำ เวเฟอร์, บิสกิต และคุกกี้

ขณะเดียวกัน ก็พยายามมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายการเติบโต เช่น การตัดสินใจขยายธุรกิจ ออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี และจีน

นี่คือตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่หลายคนอาจจะมองข้าม แต่ถ้าใส่ใจและให้ความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ก็พร้อมที่เปลี่ยนเงินหลักหน่วย ให้กลายเป็นเงินหลักล้านได้ เหมือนกับ ‘นมแท่ง’ ก็ได้


ที่มา: https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/3673619242730440/

https://www.paiboonpro.com/th/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top