Sunday, 12 May 2024
The States Times EconBiz Team

สภาพัฒน์ฯ เผย ตัวเลขแรงงานไทยกว่า 14.5 ล้านคน ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม ระบุ คนกลุ่มนี้แก่ไปจะลำบาก เหตุบั้นปลายชีวิตมีแค่เบี้ยยังชีพจากรัฐบาลเท่านั้น

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. มีความเป็นห่วงเรื่องของรายได้ของผู้สูงอายุหลังเกษียณจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ หลังจากพบข้อมูลว่าในปัจจุบันมีแรงงานอีกกว่า 14.5 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม

ดังนั้นเมื่อเป็นแรงงานกลุ่มนี้มีอายุถึง 60 ปี แล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพียงแค่เดือนละ 600 บาทต่อคนเท่านั้น สวนทางกับค่าใช่จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันแรงงานจะมีช่องทางในการสร้างหลักประกันทางรายได้ เช่น การจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน และสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมีอยู่ 2.4 ล้านคน

แต่สัดส่วนนี้ไม่สมัครเข้าสู่กองทุนการออมที่มีอยู่ อาจเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจพอ เพราะกองทุนยังไม่สามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ให้อย่างเพียงพอ ซึ่งรายได้หลังเกษียณที่เหมาะสมควรมีอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณระหว่าง 50 - 60% แต่ประเทศไทยมีค่าเพียง 37.5% เท่านั้น โดยมีเพียงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเท่านั้นที่มีอัตราการทดแทนรายได้ในระดับที่เพียงพอ

‘รมว.อุตสาหกรรม’ สั่งเร่งรัดจัดทำมาตรฐานสารสกัดจากกัญชง เพื่อยกระดับเป็นสินค้า มอก. พร้อมเล็งส่งขายเชิงพาณิชย์ออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ตามนโยบายเกษตรแปรรูป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เร่งรัดจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าเกษตรแปรรูปจากสมุนไพรไทย โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งเปลือก ,ลำต้น, เส้นใย, กิ่งก้าน และราก โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกร ในการพัฒนาสินค้าจากกัญชงให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างเป็นระบบ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยขณะนี้ได้จัดทำมาตรฐานสารสกัดจากสมุนไพรไทย ตามศักยภาพและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว 29 มาตรฐาน เช่น สารสกัดขมิ้นชันผง, สารสกัดฟ้าทะลายโจรผง ,สารสกัดกระชายดำผง,สารสกัดกระเจี๊ยบแดงผง ,สารสกัดบัวบกผง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 18 มาตรฐาน เช่น น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมไทย สารสกัดมะขามป้อม สารสกัดงาขี้ม่อน สารสกัดน้ำมันถั่วอินคา สารสกัดบุกบง และสารสกัดว่านหางจระเข้ผง เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์

ส่วนมาตรฐานสารสกัดจากกัญชง สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานในชุดของกัญชงซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ สิ่งทอ กระดาษ ยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง โดยบอร์ด สมอ. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา 5 มาตรฐาน ดังนี้

1.) น้ำมันเมล็ดกัญชง (มอก.3171-2564)

2.) สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30 % โดยมวล (มอก.3172-2564)

3.) สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80 % โดยมวล (มอก.3173-2564)

4.) เปลือกกัญชง (มอก.3184-2564)

5.) แกนกัญชง (มอก.3185-2564)

อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 มาตรฐาน คือ เส้นใยกัญชง คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานสารสกัดจากกัญชงแล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานสารสกัดน้ำมันกฤษณา ด้วย

เลขาธิการ สมอ. ย้ำว่า การประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 บอร์ดได้เห็นชอบมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 64 มาตรฐาน ทั้งที่เป็นสินค้าแปรรูปจากสมุนไพร สินค้าทั่วไป และสินค้าที่ สมอ. เตรียมประกาศควบคุมอีก 9 รายการด้วย เช่น ขวดน้ำดื่มพลาสติก เก้าอี้นวดไฟฟ้า เครื่องฟอกอากาศ กล่องพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับการอุ่น และการอุ่นครั้งเดียวในไมโครเวฟ กระทะโลหะและหม้อที่ใช้ความร้อนจากเตาโดยตรง ออกซิเจนทางการแพทย์ และไนทรัสออกไซด์ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

'สมศักดิ์' ชง!! คลายล็อกกีฬาพื้นบ้าน ไก่ชน - มวย - วัว - ม้า เปิดแข่งแบบไม่มีคนดู - ถ่ายสดผ่านไลฟ์ กระตุ้นปากท้องห่วงโซ่ธุรกิจเกี่ยวข้อง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยถึงการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ และหารือถึงการคลายล็อก ซึ่งตนคิดถึงกีฬาพื้นบ้าน เช่น ไก่ชน, มวย, ม้าและวัวชน จึงได้เสนอที่ประชุมให้มีการเปิดการแข่งขัน โดยที่ไม่ต้องมีผู้เข้าชม

โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปไกลแล้ว เราสามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านการไลฟ์สดได้ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเราก็จะค่อย ๆ ทยอยเปิดให้มีผู้เข้าชมในสนามได้ เหมือนการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกและวอลเล่ย์บอล ซึ่งสิ่งที่จะได้ประโยชน์ตามมาคือ คนที่ทำงานในซุ้มไก่จะมีงานทำและมีรายได้ เพราะปัจจุบันพบว่า ใน 1 หมู่บ้านจะมีคนที่ทำงานเกี่ยวกับซุ้มไก่ เช่น คนเลี้ยงไก่ คนให้น้ำไก่ ประมาณหมู่บ้านละ 10 คน ซึ่งหากเราเปิดตรงนี้ได้คาดว่าจะสร้างงานได้ถึง 8 แสนคน นี่ยังไม่รวมกับค่ายมวย สนามม้าและสนามวัวอีกที่มีลักษณะคล้ายกัน

"ท่านนายกฯเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และสั่งการให้ผู้บริหารไปวางแผนและเร่งดำเนินการ อาชีพต่าง ๆ จะต้องไม่ชะงัก สมาคมต่าง ๆ ที่จะเดินทางมาเรียกร้องก็คงไม่ต้องมาแล้ว เพราะท่านนายกฯรับทราบปัญหาและเข้าใจในจุดนี้โดยได้เร่งแก้ไขให้แล้ว แต่ทั้งนี้ หากเปิดให้ทำกิจกรรมแล้ว ทุกคนต้องต้องรักษากฎเกณฑ์ ไม่ให้มีคนดูก็ต้องห้ามเข้าอย่างเด็ดขาด อย่าชุมนุมคนมากมาย เพื่อให้สถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านไปด้วยดี คนที่เลี้ยงม้า เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ ทำค่ายมวย ก็ไม่ตกงาน แต่อาจไม่มีรายได้จากค่าผ่านประตู หรืออาจะมีน้อย ตรงนี้ก็ต้องค่อย ๆ แก้ไขกันไป ซึ่งรัฐบาลพยายามค่อย ๆ ผ่อนคลายเป็นส่วนใหญ่แล้ว"


ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/politic/461530

‘ไรมอน แลนด์’ พลิกโฉมสู่ ‘Super Luxury’ | Game Changer เก่งพลิกเกม EP.4

‘ไรมอน แลนด์’ ในวันที่ต้องการจับ ‘เศรษฐีวัยรุ่น’ ภาพจำ ‘ไรมอน แลนด์’ ที่ผ่านมา คือหนึ่งในผู้นำอสังหาริมทรัพย์หรู (ลักชัวรี่) ที่มีฐานเศรษฐีกระเป๋าหนักทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตบเท้าเข้ามาเป็นลูกค้ามาตลอด 33 ปี ปัจจุบัน ‘ไรมอน แลนด์’ อยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่ม ‘KPN’ ของตระกูล ‘ณรงค์เดช’ หลังเข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน

ปี 2563 ในวันที่โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวะเดียวกัน ‘ไรมอน แลนด์’ เอง ก็ได้เปลี่ยนขุนพล ด้วยการดัน ‘กรณ์ ณรงค์เดช’ ขึ้นมากุมบังเหียน ในฐานะซีอีโอคนล่าสุดของ ‘ไรมอน แลนด์’ ด้วยเช่นเดียวกัน ภารกิจแรก ของกรณ์ ในฐานะซีอีโอ คือการรีแบรนด์ ไรมอน แลนด์ ให้มีความสดกว่า ใหม่กว่า เพื่อเข้าถึงกลุ่ม Young Generation ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ยังคงความเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีของประเทศไทย ที่เป็นจุดแข็งมาตลอด 33 ปี เช่นเดิม

THE STATES TIMES จะพาไปคุยกับ ซีอีโอ หนุ่มไฟแรง ถึงทิศทางของ The Next ไรมอน แลนด์ ที่จะสะท้อนตัวตน หรือ DNA ของไรมอน แลนด์ ที่มีความเป็นลักซ์ชัวรี่ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

.

 

กระทรวงคมนาคม ปักเข็ม 64 เดินหน้าดันโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง มูลค่าโครงการรวมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะผลักดัน 3 โครงการวงเงินรวมประมาณ 83,520 ล้านบาทให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.) โครงการทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม.วงเงินก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ซึ่งครม. อนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทล.วางเป้าหมายเปิดประมูลกลางปีนี้ จะเชื่อมต่อทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ทล. กำลังก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 65

2.) โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงินก่อสร้าง 28,135 ล้านบาท จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) โดยสั่งการให้ ทล. เร่งศึกษาเพื่อขออนุมัติกระทรวงคมนาคมรวมทั้งครม.ภายในปีนี้

และ 3.) โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง18.5 กม. วงเงิน 35,685 ล้านบาท จะเร่งเสนอครม.ภายในปีนี้เช่นกัน โดยใช้หลักการให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชน( PPP ) คาดว่าจะผลักดันให้เดินหน้าได้และตอบโจทย์การจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานประเทศไทยตั้งแต่ครม. ยุคก่อน (ประยุทธ์ 1) จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 6 - 7 ปีแล้ว ต้องการให้เร่งดำเนินโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว และสามารถเปิดบริการได้

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางกลับเข้ามาซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม ดำเนินหลายโครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อาทิ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ที่เตรียมเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบช่วงเดือน พ.ย.64 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายพัทยา - มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการและเก็บค่าผ่านทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘ปิดทองหลังพระ’ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงสร้างรายได้ให้ชุมชน | BizMAX EP.30

จากข่าว "สร้างรายได้จากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ‘ปิดทองหลังพระ’ ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน 426 ล้าน เล็งขยายเพิ่มอีก 9 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบในปีนี้"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021022820 ​

จากเนื้อหาข่าว สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้แก้ปัญหาชุมชนในท้องถิ่น ในพื้นที่ 12 จังหวัด ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม 426 ล้าน เล็งขยายเพิ่มอีก 9 จังหวัดในปีนี้ เศรษฐกิจพอเพียงที่ว่านั้นคืออะไรและมีแนวทางอะไรบ้าง มาร่วมวิเคราะห์กันกับ หยก THE STATES TIMES

.

ธปท.ยันยังไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่รับรอง cryptocurrency ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ลั่น ‘ไทยบาทดิจิทัล -THT’ ผิดกฎหมาย เตือนประชาชนอย่ายุ่งเกี่ยว อาจถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน

จากกรณีที่ Terra Platform เตรียมออก Stablecoin ซึ่งเป็น cryptocurrency อีกชนิดหนึ่ง ในชื่อ THT เปรียบเทียบราคา 1 หน่วยของมูลค่า THT เท่ากับ 1 บาท เพื่อใช้เป็นค่าเงินแลกเปลี่ยนในรูปแบบดิจิทัล

ล่าสุด นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความพยายามในการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีด้วยการอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตรา เพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีประเภทนี้ รู้จักในชื่อว่า "Stablecoin"

ต่อมา ได้มีการพัฒนา Stablecoin ชนิดใหม่ที่ประยุกต์ใช้กลไกสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ในการเทียบมูลค่าให้เท่ากับสกุลเงินตราต่าง ๆ โดยเริ่มมีกระแสข่าวการออก Stablecoin ชนิดหนึ่ง ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท

แม้ในปัจจุบัน THT จะยังไม่ได้ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ถ้า THT หรือ stablecoin ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันถูกนำมาใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง จะทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศไทยออกไปมากกว่าหนึ่งระบบ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็น การทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ วัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตราที่เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

ทั้งนี้ ประชาชนควรระมัดระวังและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรม THT เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ผู้ร่วมก่อตั้ง Terra Blockchain ได้โพสข้อความบนทวิตเตอร์ส่วน โดยกล่าวถึงการที่ ธปท.ออกมาเตือนเรื่อง “ไทยบาทดิจิทัล (THT)” โดยระบุว่า “พวกเขามักจะกลัวคุณ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับคุณ และตอนนี้ก็ทำให้ธนาคารกลางต้องเฝ้าระวัง”

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ย้ำว่า THT จะมีการนำไปใช้งาน ไม่ว่า ธปท. จะชอบหรือไม่ก็ตาม

สำหรับ THT Stablecoin จะออกบนแพลตฟอร์ม Terra ที่มีการผลิตเหรียญ stablecoin อื่น ๆ ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึง TerraUSD ซึ่งออกครั้งแรกในเดือนกันยายน 2020 และ TerraKRW

Terra นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ในเกาหลีใต้ โดยได้รับเงินสนับสนุน 32 ล้านดอลลาร์จาก Binance และ Polychain ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา

เอกชนเริ่มทนไม่ไหว วอนรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนโควิด พร้อมมีแผนดำเนินงานอย่างชัดเจน หลังพบวัคซีนโควิด อืดเป็นเรือเกลือ ลั่นบริษัทเอกชนยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางรอดเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด เรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญต่อการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แต่ไทยเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนได้เพียงแค่ 40,000 โดสในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแผนกระจายของรัฐบาล ทราบว่า ได้ทำสัญญาซื้อไปแล้ว 60 ล้านโดส แต่จะเริ่มฉีดให้กับคนไทยได้อย่างเต็มที่เดือนละ 10 ล้านโดสเริ่มเดือน มิ.ย.64 นั้น ถือว่า ล่าช้ามาก

ทั้งนี้หอการค้าไทยเสนอ 4 แนวทาง คือ

1.)การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยในภาคธุรกิจนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการที่ต้องมีการติดต่อทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้น ๆ

2.) รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.) เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว โดยเอกชนสามารถร่วมทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และบริษัทที่มีกำลังก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

และ 4.) การสื่อสารสร้างความมั่นใจ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น

กรมการจัดหางาน เผยข่าวดี แรงงานไทยเดินทางทำงานไต้หวัน ไม่ต้องจ่ายเงินค่ากักตัว 14 วัน เตือนอย่าหลงเชื่อ จ่ายเงินคนแอบอ้าง

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ล่าสุดกระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้กำหนดให้นายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่ากักตัวให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางไปทำงานไต้หวัน โดยนายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดเตรียมสถานที่กักตัว ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ค่าพาหนะรับ-ส่งจากสนามบินถึงที่พัก

นอกจากนี้ทางการยังกำหนดให้จัดห้องพักให้แรงงานห้องละ 1 คน หากไม่สามารถทำได้จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม 1.5 เมตร และต้องสวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ทั้งนี้หลังจากกักตัวครบ 14 วัน นายจ้าง/บริษัทจัดหางานต้องจัดหารถรับ - ส่งแรงงานไทยเดินทางไปตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลตามที่ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันกำหนด โดยศูนย์ฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค ในส่วนของค่าจ้างระหว่างกักตัว นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันเอง

หากนายจ้างไม่รับผิดชอบ ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้จากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน เฉพาะวันทำงานปกติ โดยมีกำหนดยื่นภายใน 2 ปี หลังสิ้นสุดการกักตัว ยกเว้นผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 17 มีนาคม 2563 และเดินทางกลับมาทำงานที่ไต้หวันอีกครั้ง จะไม่มีสิทธิยื่นขอเงินชดเชยดังกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน/คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานไต้หวันระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ใดเป็นค่ากักตัว 14 วัน และเลือกเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่

1.) บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2.) กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง)

3.) นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ

4.) นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ

5.) คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการตามมาตรฐานที่พึ่งมี และป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการไปทำงานในต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-245-6708-9 ในวันและเวลาราชการ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ไทยครองแชมป์ดื่มเบียร์แห่งเอเชีย หลัง Expensivity เผยรายงาน World Beer Index 2021 หรือดัชนีเบียร์โลก ประจำปี 2021 โดยทำการรีเสิร์ชราคาเบียร์จากซูเปอร์มาเก็ตทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ numbeo.com ว่า…

ใน 5 ประเทศแรกที่มีประชากรดื่มเบียร์มากสุดในเอเชีย ปี 2021 (เกณฑ์วัด: เบียร์ขวด 330 มล.) ผลปรากฎว่า ประเทศไทยครองแชมป์ โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 142 ขวดต่อคนต่อปี ตามมาด้วย 2.) เกาหลีใต้ (130 ขวด/คน/ปี) 3.) จีน (127 ขวด/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (114 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ญี่ปุ่น (88 ขวด/คน/ปี)

ขณะเดียวกันประเทศแรกที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในเอเชีย เฉลี่ย ก็ยังเป็นประเทศไทยที่ครองแชมป์อีกด้วย เฉลี่ย 686 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 2.) เกาหลีใต้ (595 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ญี่ปุ่น (544 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (485 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) สิงคโปร์ (439 ดอลลาร์/คน/ปี)

นอกจากนี้ World Beer Index 2021 ยังมีรายงานผลในส่วนอื่นๆ อีก โดยประชากรดื่มเบียร์มากสุดในโลก ปี 2021 ได้แก่ 1.) สาธารณรัฐเช็ก (468 ขวด/คน/ปี) 2.) สเปน (417 ขวด/คน/ปี) 3.) เยอรมนี (411 ขวด/คน/ปี) 4.) โปแลนด์ (398 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ออสเตรีย (389 ขวด/คน/ปี)

ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในโลก ปี 2021 คือ 1.) เยอรมนี (1,908 ดอลลาร์/คน/ปี) 2.) โปแลนด์ (1,738 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ลิธัวเนีย (1,586 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ออสเตรีย (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) อังกฤษ (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี)

ส่วนประเทศที่มีราคาเบียร์แพงสุดในเอเชีย ปี 2021 ได้แก่ 1.) จีน (7.71 ดอลลาร์/ขวด) 2.) ญี่ปุ่น (6.16 ดอลลาร์/ขวด) 3.) สิงคโปร์ (5.17 ดอลลาร์/ขวด) 4.) ไทย (4.82 ดอลลาร์/ขวด) และ 5.) มาเลเซีย (4.74 ดอลลาร์/ขวด)


ที่มา: https://www.bltbangkok.com/news/33715/?fbclid=IwAR0_lOrfe-mHhG095snyLkaeH4Nh79xYCW5P6SuHLGZDoLjjtpYSusP8RUg


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top