Saturday, 12 October 2024
The States Times EconBiz Team

การบินไทย ประกาศขายทรัพย์สิน 4 รายการ ทั้งหุ้น - เครื่องบิน - ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ หลังศาลล้มละลายฯ ไฟเขียว หวังนำมาเพิ่มกระแสเงินสด พร้อมสำรองใช้ดำเนินธุรกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ทุกสายการบิน รวมถึงการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจการบินทั่วโลกเผชิญอยู่กับวิกฤตการหดตัวอย่างรุนแรง จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอที่บริษัทฯ จะกลับมาเริ่มทำการบินได้

ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการหารายได้จากหลายๆ ทาง เช่น การจัดให้มีเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน เที่ยวบินขนส่งสินค้า และการหารายได้เสริมจากหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Air) อาทิ รายได้จากธุรกิจภัตตาคารของฝ่ายครัวการบิน การให้บริการสายการบินลูกค้าของฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นและฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง รวมทั้งรายได้จากการขายสินค้าใน Thai Shop และทัวร์เอื้องหลวงของสายการพาณิชย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขออนุญาตขายทรัพย์สินบางรายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบินของลูกหนี้ หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หรือหากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง ตลอดจนก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 รายการ ได้แก่

1.) หุ้นสายการบินนกแอร์

2.) หุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

3.) เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน (จำนวน 5 เครื่องยนต์)

และ 4.) อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ซึ่งศาลล้มละลายฯได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า "บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องประกาศขายอาคารศูนย์ฝึกอบรม หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากในการทำการบินในแต่ละเที่ยวบินนั้น บริษัทฯจำเป็นต้องมีเงินจำนวนหนึ่ง พร้อมไว้เพื่อชำระให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำการบินในเที่ยวบินนั้น ๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง และข้อจำกัดด้านการเปิดน่านฟ้าของประเทศไทยและต่างประเทศเอื้ออำนวยจนมีการอนุญาตให้ทำการบิน"

ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ นอกจากบริษัทฯ จะเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทฯ มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ยังอาจเสียสิทธิการบินและตารางการบิน (Flight Slot) ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อันเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการของบริษัทฯ

หากปล่อยให้เกิดความเสียหายดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทฯ สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันไปอย่างถาวร และมีผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อย่างแน่นอน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยากที่จะเยียวยาได้ ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ หรือนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ขอบเขตที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายต่อไป

สำหรับอาคารสำนักงานศูนย์ฝึกอบรมบริเวณหลักสี่ ก็เป็นทรัพย์สินรายการหนึ่งที่ได้ขายตามคำสั่งอนุญาตของศาลล้มละลายในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยจะดำเนินการขายด้วยวิธียื่นซองเสนอราคา ซึ่งบริษัทฯ เสนอขายที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ แบบไม่รวมสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและอาคาร และไม่รวมสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของบริษัทฯ ที่อยู่ในบริเวณอาคาร โดยเสนอขายในลักษณะและสภาพปัจจุบัน ("as is-where is") กล่าวคือ ผู้เสนอราคาจะต้องไม่เรียกร้องให้บริษัทฯ ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดบนที่ดินและศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่

ทั้งนี้ อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 425 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา หรือ 7,926 ตารางวา ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ TOR ได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 กุมภาพันธ์ 2564 และระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 ทางอีเมล [email protected] และสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าดูพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ได้ ระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 และจะจัดให้มีการยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 9.00 - 16.00 น. ณ ศูนย์บริการงานจัดซื้อ อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การบินไทย และจะประกาศผลการคัดเลือกให้ทราบในวันที่ 16 เมษายน 2564 ต่อไป


ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/646196

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติฉีดวัคซีนเดินทางเข้าประเทศ ฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คาดเริ่มเปิดรับได้ตั้งแต่ไตรมาส 3

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยว ได้สั่งให้ ททท. ทำแผนในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3

ล่าสุด ททท.ได้สั่งให้ทุกสำนักงานต่างประเทศของ ททท.แจ้งข้อมูลและสถานการณ์ของประเทศต้นทางทุก 2 สัปดาห์ ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าใด รวมถึงแนวทางการเปิดประเทศว่าประเทศที่ดูแลนั้นมีนโยบายเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ เพื่อให้ ททท. กำหนดแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมาย

นายฉัตรทันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ททท.ได้หารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ถึงแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปดูแนวทางและเตรียมทำแผนออกมาโดยเร็ว เพื่อให้ ททท. กลับไปวางแผนดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เร็วมากขึ้น พร้อมทั้งจะได้ไปหารือกับเอกชนภาคการท่องเที่ยว เพื่อออกแพ็คเกจท่องเที่ยว ให้ตรงกับตลาดนักท่องเที่ยวได้ด้วย

ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางเอาไว้ 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรก คือ แนวทางการดึงนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มคณะ จะเดินทางเข้ามาได้หรือไม่ และต้องมีเอกสารอะไรประกอบบ้าง ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีการฉีด ตัวอย่างที่สอง คือ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทางที่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว จะเข้ามาได้อย่างไร และตัวอย่างสุดท้าย คือ กรณีที่ทั้งประเทศไทย และประเทศต้นทางมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว คนที่เดินทางเจ้ามาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุข จะสรุปมาอีกครั้ง

“การดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากนี้เป็นต้นไป จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ คนฉีดวัคซีนมาก่อนให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เช่น เข้าได้อย่างไร ต้องกักตัวกี่วัน ใช้เอกสารอะไร ใช้ประกันอะไรหรือไม่ เป็นสิ่งที่ ททท. ถามไปแล้ว และรอสาธารณสุขตอบกลับมา”

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยก 8 ประเด็นคาใจแจงฝ่ายค้าน ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 64 ในหัวข้อ “เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย” โดยชี้แจง 8 ประเด็นข้อสงสัยของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ยืนยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา มีเนื้อหาดังนี้...

#เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย

จบลงไปแล้วนะครับสำหรับการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 5 ท่าน ซึ่งผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภาครับ

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค. มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10 %, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2. การว่างงาน

ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฎออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ

3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า

ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6. แบงก์จะล้มไหม

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด

วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็กเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม. อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

8. ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด

มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


เครดิตเพจ : https://www.facebook.com/supattanapongp/photos/pcb.175498857710644/175479794379217/

กรมการค้าภายใน ชี้ราคาน้ำมันปาล์มปรับขึ้นจริง แต่เชื่อมีนาคมนี้เริ่มปรับราคาลง หลังผลปาล์มฤดูใหม่ทยอยออกทำให้มีผลผลิตเพียงพอ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีปัญหาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดราคาแพงและขาดแคลน ว่า ในเดือน มี.ค.64 คาดว่า สถานการณ์น้ำมันปาล์มจะเริ่มคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ โดยผลผลิตปาล์มจะทยอยออกสู่ตลาดอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันลำข้าวไปก่อน

ส่วนราคาการขายในตอนนี้ พบว่ามีราคาปรับขึ้นจริง แต่ยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาการขาดแคลน โดยบางพื้นที่มีการจำกัดการซื้อ ก็เพื่อต้องการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง โดยในกรณีที่น้ำมันปาล์มขวด ตามร้านโชห่วย ร้านค้าในตลาดสดขายขึ้นเป็นขวด 60 บาท กรมฯ ได้ขอความร่วมมือสมาคมตลาดสดไทยดูแลไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาเกินจริงจนทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า น้ำมันปาล์มแพงเป็นปัญหาระยะสั้น ๆ และหลังจากนี้น่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อยากขอให้ชาวบ้านช่วยเห็นใจแก่เกษตรกรบ้าง เพราะที่ผ่านมาราคาผลปาล์มสดตกต่ำมานาน และเพิ่งกลับมีราคาสูงขึ้นช่วงนี้ จึงขอโอกาสให้เกษตรกรได้ขายผลปาล์มราคาดีบ้าง เพราะในเดือนมีนาคม เมื่อผลปาล์มฤดูใหม่ทยอยออกมา น่าจะทำให้มีผลผลิตเพียงพอ และทำให้ราคาปาล์มขวดลดลง

ออมสินปิดลงทะเบียนสินเชื่อ "SMEs มีที่ มีเงิน" เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ชั่วคราว หลังมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,500 ราย เต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาทแล้ว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น โดยมอบหมายธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนยื่นกู้ทางเว็บไชต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดลงทะเบียนไม่นานก็มีผู้แจ้งความประสงค์ยื่นกู้แล้วกว่า 1,500 ราย ขณะนี้เต็มวงเงินแล้ว ธนาคารจึงขอปิดระบบรับลงทะเบียนไว้ก่อน

โดยการลงทะเบียนนี้ เป็นเพียงการแจ้งความประสงค์เพื่อจองวงเงินขอกู้เท่านั้น จากนี้ธนาคารขอเวลาพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ตามหลักเกณฑ์โครงการ ที่ต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา รวมถึงพิจารณาคุณภาพของหลักประกัน เป็นต้น

สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่า หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือเพื่อไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯ ให้วงเงินสินเชื่อต่อราย ไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99% ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99% ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาจำนวนเงินให้กู้ 1 - 10 ล้านบาท นิติบุคคลจำนวนเงินให้กู้ 1-50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th

“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ของธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ได้เตรียมวงเงินโครงการเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท ต้องขยายเพิ่มเติมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับวงเงินใหม่ 10,000 ล้านบาทนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้จากคุณภาพของหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

คลังเตรียมทบทวนสิทธิคนถือบัตรคนจน 13.8 ล้านปีนี้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมทบทวนสิทธิของผู้ถือ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'​ ใหม่ในปีนี้ อัพเดตข้อมูลของประชาชน หลังจากที่ผ่านไม่ได้มีการเปิดทบทวนสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการมานานกว่า 2 - 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13.8 ล้านคน 

ทั้งนี้​ คลังจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นการลงทะเบียนโครงการเราชนะ​ ช่วงเดือนมี.ค.64 ไปแล้ว โดยจะเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการเดิม และประชาชนทั่วไป เข้ามาสมัครเข้าร่วมโรงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ได้ และหลังจากนั้นคลังจะมีการทบทวนข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการทุกๆ ปี

สำหรับการทบทวนเรื่องนี้ กระทรวงการคลังจะกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการรับสิทธิใหม่ โดยดูเรื่องเกณฑ์รายได้ครัวเรือนเป็นหลัก ต่างจากการรับสิทธิบัตรสวัสดิการที่ผ่านมา ที่พิจารณาเกณฑ์รายได้เป็นรายบุคคล เช่น ภรรยาในครอบครัวนั้น เป็นผู้ไม่มีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สามีเป็นผู้มีเงินได้จำนวนมาก​ ก็อาจจะไม่ได้รับ ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาเมื่อภรรยาไม่มีรายได้ก็จะได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเกณฑ์ขั้นต่ำที่พิจารณารายได้ของครอบครัวนั้น ยังไม่สรุปจะมีการหารือเพื่อสรุปต่อไป

“เมื่อปรับเกณฑ์ดูรายครอบครัวแล้ว จะทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ โดยจะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการเปิดลงทะเบียนที่ผ่านมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ก็จะมีทั้งคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และคนที่ได้รับผลกระทบแล้วทำให้รายได้ลดลงก็มี ซึ่งจะต้องมาดูกันอีกครั้ง"

พรุ่งนี้อย่าลืม ! 21 กุมภา 64 ลงทะเบียน 'ม33 เรารักกัน' รับเงินเยียวยา 4,000 บาท ไม่ได้รับสิทธิ์ขอทบทวนสิทธิ์ได้

พรุ่งนี้แล้ว​ (21 ก.พ.64)​ ที่โครงการ 'ม.33 เรารักกัน'​ จะเปิดให้ลงทะเบียน​ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19​ คาดว่า​ จะมีผู้เข้าข่ายมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยารายละ 4,000 บาท ใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจในขั้นตอนการลงทะเบียนและทบทวนสิทธิ์ 'โครงการ ม.33 เรารักกัน'​ นั้น​ สามารถติดตามได้ดังนี้...

***การลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์...

วันที่ 21 ก.พ. - 7 มี.ค. 2564​ >> ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

วันที่ 8-14 มี.ค. 2564​ >> ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรอง

วันที่ 15-21 มี.ค. 2564​ >> ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง'

วันที่ 22, 29 มี.ค. และ 5, 12 เม.ย. 2564 >>

ผู้ได้รับสิทธิ์ จะได้วงเงินผ่าน 'เป๋าตัง'​ ครั้งละ 1,000 บาท

วันที่ 22 มี.ค. - 31 พ.ค. 2564​ >> เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ภายใต้ร้านธงฟ้าที่ใช้แอปฯ 'ถุงเงิน'​/ โครงการ '​คนละครึ่ง'​ / โครงการ 'เราชนะ'​

***การขอทบทวนสิทธิ์

วันที่ 15 - 28 มี.ค. 2564​ >> เปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

วันที่ 29 มี.ค. - 4 เม.ย. 2564​ >> ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรอง

วันที่ 5-11 เม.ย. 2564​ >> ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง'​

วันที่ 12, 19 เม.ย. 2564 >> ผู้ได้รับสิทธิ์ จะได้วงเงินผ่าน 'เป๋าตัง'​ ครั้งละ 2,000 บาท

วันที่ 12 เม.ย. - 31 พ.ค. 2564​ >> เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ภายใต้ร้านธงฟ้าที่ใช้แอปฯ 'ถุงเงิน'​/ โครงการ 'คนละครึ่ง' / โครงการ 'เราชนะ'​


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/2036116

TMB มองปี 64 หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัว แต่รายได้ยังต่ำกว่าภาวะปกติ เผยกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพฟื้นแล้ว แต่สิ่งพิมพ์ อสังหา ท่องเที่ยว ยังร่อแร่ แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (TMB Analytics) คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยในปี 64 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ 2.1% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ถึง -14.6% โดยคาดว่าธุรกิจที่ฟื้นแล้วจะขยายตัวจากปีก่อน 2.8% และธุรกิจที่กำลังฟื้นจะขยายตัวจากปีก่อน 2.5% ในขณะที่ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นจะหดตัวจากปีก่อน -1.2%

ด้านแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจที่วิเคราะห์ด้วยการใช้เกณฑ์เปรียบเทียบแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในปี 64 กับรายได้ธุรกิจปี 62 ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นแล้ว (รายได้ธุรกิจปี 64 สูงกว่าปี 62) ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพมากขึ้น

กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่าปี 62 ระหว่าง 80-100%) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้มีทิศทางฟื้นตัวตามทิศทางการการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการส่งออก และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่จะฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงเสียก่อน

กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 62 ) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ในหมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อัตราการฉีดจะยังไม่ทั่วถึงในปีนี้ นอกจากนี้หลังจากฉีดไปแล้วยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้

จากข้อมูลดังกล่าวแนะนำให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากธุรกิจของตนเอง โดยการประเมินปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์บ้าง และพิจารณาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน และซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มแรงสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมถึงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป สินค้าเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวภาครัฐสามารถช่วยประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ ด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง

ก.คลัง เผยความคืบหน้าการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ของกลุ่มประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ พบผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 10,544,909 คน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ของกลุ่มประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ว่ามีผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ ผ่านแถบ (Banner) โครงการ ‘เราชนะ’ ในแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ แล้ว จำนวน 10,544,909 คน (ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. วันที่ 18 ก.พ. 2564)

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก มีผู้ประสงค์ยืนยันตัวตนเข้าโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ จำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อระบบของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทางธนาคารฯ จึงปิดระบบดังกล่าวชั่วคราวจนถึงเวลา 20.00 น. และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถทยอยดำเนินการยืนยันตัวตนได้ และจะได้รับวงเงินสิทธิ์ภายหลังจากการยืนยันตัวตน โดยจะได้รับวงเงินสิทธิ์เพิ่มเป็นรายสัปดาห์ทุกวันพฤหัสบดีจนวงเงินสิทธิ์ครบ 7,000 บาท โดยสามารถสะสมวงเงินสิทธิ์และใช้จ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการ / ร้านค้าและบริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงการเปิดจุดรับลงทะเบียน ณ สาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2564 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ได้ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง

โดยจากข้อมูลล่าสุดมีประชาชนกลุ่มดังกล่าวลงทะเบียนผ่านสาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทยแล้ว จำนวน 455,354 คน และกระทรวงการคลังจะมีการเปิดจุดรับลงทะเบียนโครงการฯ ผ่านสาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับธนาคารทั้ง 3 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่รับลงทะเบียนให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีข่าวปลอม (Fake News) จากสังคมออนไลน์ (Social Media) เกี่ยวกับโครงการฯ ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโครงการฯ โปรดอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมจากช่องทางดังกล่าว และขอความร่วมมือประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ จากช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการจากทางราชการ ได้แก่ www.เราชนะ.com / www.mof.go.th / www.fpo.go.th และ Facebook Fanpage ‘สถานีข่าวกระทรวงการคลัง’ และ ‘สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง: Fiscal Policy Office’

สุดท้ายนี้ กระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ของร้านค้าตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ด้วย และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

กระทรวงการคลังจึงขอความร่วมมือประชาชนรักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแสรวมถึงส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ ถึง “คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ” ทางไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

นักทวีตปั่นราคาเหรียญดิจิทัลสกุล MarsCoin (MARS) กันสุดมันส์ หลังจาก Elon Musk ได้ออกมากล่าวถึงเหรียญตัวนี้ จนส่งผลทำให้ราคาของเหรียญ MarsCoin ที่มีอยู่ในตลาด ราคาพุ่งขึ้นกว่า 1,000%

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในปี 2014 เหรียญดิจิทัล Marscoin ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระนามว่า Lennart Lopin มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคาร เพื่อให้มนุษย์อาศัยและเจริญรุ่งเรืองนอกโลก อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ

โดยจะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้บนดาวอังคารไม่ว่าจะเป็น ระบบการเงิน การสื่อสาร การลงคะแนนโหวต การใช้ Smart contract เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะตอบสนองความต้องการตั้งถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์บนดาวอังคาร ที่สำคัญอาจมีการนำ MarsCoin ไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกบนดาวอังคาร

ทว่าเหรียญดังกล่าวก็ยังไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก จนกระทั่งเกิดแรงปั่นจากผู้รวยที่สุดในโลกอย่างนาย ‘Elon Musk’ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ที่มีความมุ่งมั่นจะนำพามวลมนุษยชาติไปดาวอังคาร หลังจากได้มีการทวิตเตอร์บทสนทนาระหว่าง CEO ของ Binance นาย Changpeng Zhao กับนายElon Musk ซึ่งนาย Zhao ได้ถามนาย Musk ว่าจะมีเหรียญดิจิทัลที่ถูกนำไปใช้บนดาวอังคารหรือไม่ หรือมันอาจจะถูกเรียกว่าเหรียญ MarsCoin

ภายหลังจากนั้นไม่นาน Musk ก็ตอบกลับว่า...“มันจะต้องมีเหรียญ MarsCoin แน่นอน”

ทวิตฯ ดังกล่าวทำให้เหรียญ Marscoin ที่อยู่ในตลาดมาแล้วตั้งแต่ปี 2014 และมีราคาซื้อขายอยู่ต่ำกว่า 0.2 ดอลลาร์มาเป็นเวลาหลายปี ได้พุ่งไปแตะ 2.5 ดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ก่อนที่จะร่วงกลับไปอยู่ที่ 1.02 ดอลลาร์

ทีมนักพัฒนาเหรียญ Marscoin นั้นดูเหมือนว่าจะมีเป้าหมายเดียวกับ Musk คือช่วยให้ทุนแก่มนุษย์ที่ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร โดยมีการเสนอให้ผู้คนทำการขุดเหรียญ Marscoin บนโลกนี้ก่อน และเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ก็จะมีการส่งตัวสำเนา Blockchain ของ Marscoin ไปยังดาวอังคาร

อย่างไรก็ตาม Elon Musk ก็ไม่ได้มีเกียวข้องกับเหรียญดาวอังคารอย่าง Marscoin แต่อย่างใด เพียงแต่การกล่าวถึงเหรียญดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้คนและนักวิเคราะห์คาดการณ์กันไปต่างๆ นาๆ ว่าเป็นผู้สร้างเหรียญบ้าง เป็นผู้ถือเหรียญบ้าง และส่งผลให้ราคามีการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อเขาออกมาพูดถึงนั่นเอง


ที่มา: https://siamblockchain.com/2021/02/17/marscoin-elon-musk-tweet/?fbclid=IwAR0GOSWghr_VwdGplH93o_vDTrMjSUrpc6GAyiZ5swgbyGnhmSGiU7SxOiU

https://siamblockchain.com/2021/02/17/is-elon-musk-behind-marcois/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top