Saturday, 12 October 2024
The States Times EconBiz Team

ทางออกธุรกิจเพื่อสังคม!! กู้ที่ไหนไม่ได้...ให้มาออมสิน

แม้ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) จะเป็นแนวคิดของการทำธุรกิจที่ดีต่อการแก้ไขปัญหาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ

แต่ปัญหาสำคัญที่จะเรียกว่าปัญหาใหญ่เลยก็ว่าได้ของธุรกิจเพื่อสังคม คือ ความยากในการเข้าถึง "แหล่งเงินทุน" ที่จะนำมาใช้ต่อยอดและหมุนเวียนระบบธุรกิจ

เพราะด้วยเป้าหมายของการสร้างธุรกิจ SE โดยธรรมชาติ จะไม่ได้มองในเรื่องผลกำไรมาเป็นอันดับแรก ทางสถาบันการเงินส่วนใหญ่ จึงปล่อยกู้ให้ยาก แล้วเมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะได้เห็นธุรกิจแนวนี้เติบโตในระยะยาว จึงเป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็มี ธนาคารออมสิน ที่กำลังออกมาอุดช่องโหว่ตรงนี้ ตามนโยบายที่ต้องการเพิ่มบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างแท้จริงตามยุทธศาสตร์ขององค์กร

ล่าสุดธนาคารออมสิน ได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับโครงการโดยเฉพาะได้แก่ "สินเชื่อธุรกิจ ออมสินขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อต่อเติมซ่อมแซมสถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกิจการ" ออกมา

.

โดยสินเชื่อดังกล่าวตอบโจทย์ธุรกิจ SE ดังนี้

  • ให้วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย มีทั้งเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MOR ต่อปี (ปัจจุบัน MOR ของธนาคารฯ = 5.995%)
  • ขณะที่เงินกู้ระยะยาวให้กู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ส่วนปีที่ 3-10 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารฯ = 6.150%)

.

เงื่อนไข

  • วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ใช้บุคคลค้ำประกันร่วมกับ บสย.
  • วงเงินกู้ 3-10 ล้านบาท ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันได้

.

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า "ปัจจุบันทางออมสินได้มีการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมไปแล้วรวมกว่า 17 ล้านบาท และนอกเหนือจากนั้น ทางธนาคารยังได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand) เพื่อช่วยสนับสนุนบริษัทสมาชิก ทั้งด้านการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ และช่วยสร้างองค์ความรู้เพื่อยกระดับกิจการให้สามารถช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย"

ศูนย์วิจัยกสิกร...ชี้!! เม็ดเงินปีใหม่สะพัด 3 หมื่นล้าน

เข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกครั้ง บรรยากาศของการออกมาจับจ่ายใช้สอยจะเป็นภาพที่เห็นกันโดยปกติ เพียงแต่บรรยากาศในปีนี้อาจจะไม่คึกคักจากผลพวงของเศรษฐกิจที่ได้รับการกระทบจากโควิด-19

อย่างไรก็ตามจากแรงหนุนของภาครัฐในการกระตุ้นนโยบายด้านเศรษฐกิจหลาย ๆ ประเภทออกมา ก็เริ่มทำให้บรรยากาศการจับจ่ายของคนไทยเริ่มฟื้นตัวและเป็นอีกตัวแปรที่จะทำให้เม็ดเงินในช่วงปีใหม่นี้สะพัดมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 คาดคนกรุงเทพฯจะมีการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 อยู่ที่ประมาณ 30,050 ล้านบาท ซึ่งจำนวนตัวเลขนี้จะมีความใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้

เหตุผลเพราะแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเจอกับปัญหาด้านกำลังซื้อ และบรรยากาศทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภคเองก็ยังอยากรับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยลดหย่อนค่าใช้จ่ายจากภาครัฐอยู่

อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงปีใหม่ พ.ศ.2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรนั้น เชื่ออีกว่า คนส่วนใหญ่จะลดงบฉลองปีใหม่จากปีที่แล้ว โดยกว่า 42.5% จะเลือกฉลองในกรุงเทพฯ เพราะต้องการหนีปัญหารถติดและเลี่ยงมาฉลองกันตั้งแต่ต้นเดือนธันวาที่มีวันหยุดยาวแทนไปเลย

ส่วนเรื่องจับจ่ายจะมีการวางแผนกิจกรรมและการใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงปีใหม่อย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น มีการทยอยใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ตั้งแต่ช่วงแคมเปญลดราคาอย่าง 11.11 และ 12.12 และใช้สิทธิ์การท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเหล่านี้เป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด

ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเผยอีกว่า ค่าใช้จ่ายรวมในช่วงปีใหม่ พ.ศ.2564 หากไม่มีมาตรการกระตุ้นของรัฐใดๆ ไปมากกว่านี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5,300 บาทต่อคน เพราะคนเริ่มกังวลกับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่

"ชื่อฉัน" นั้นไพเราะที่สุด เรื่องเล็ก ๆ ที่ Starbucks "เสก" ให้เป็นเรื่องใหญ่ได้

เคยแอบสงสัยเล็ก ๆ เวลาไปสั่งกาแฟที่ร้าน Starbucks กันหรือไม่ว่า...ทำไมพนักงาน Starbucks จึงต้องถามชื่อเราว่าชื่ออะไรคะ? ชื่ออะไรครับ? แล้วก็จรดชื่อไว้บนแก้วกาแฟที่สั่ง

ถ้าคิดแบบคนยุคใหม่ ความคิดลึกซึ้ง และลึกล้ำ..."นี่ฉันกำลังจะได้โปรโมชั่น หรือฉันกำลังถูกเก็บข้อมูลป่ะ?"

จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหรอก พนักงานก็คงแค่ตั้งใจเขียนชื่อลูกค้าบนแก้วเพื่อจัดการออเดอร์จำนวนมากให้เป็นระเบียบเท่านั้น

เพียงแต่ในเชิงของธุรกิจ เรื่องเล็ก ๆ ของชื่อบนแก้ว Starbucks นั้น มีนัยยะบางอย่างที่สะท้อนการต่อยอดให้เกิดความผูกพันต่อแบรนด์ Starbucks กับผู้คน จนกลายเป็น "เรื่องใหญ่" ที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย

นัยยะแรก!! ลูกค้าโปรโมท Starbucks ให้ฟรีๆ

ก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้จะมีเหตุการณ์แบบว่า ลูกค้าหลายรายชอบการเห็นชื่อตัวเองบนแก้ว Starbucks แล้วก็ตัดสินใจถ่ายรูปลงโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดียไปอวดเพื่อน ๆ

บางคนถึงกับเล่นตลก แกล้งบอกชื่อปลอมกับพนักงาน เพื่อให้เขียนเป็นชื่อดารา คนดัง คนสวย คนหล่อ และอื่นๆ แล้วตัวเองก็เอาไปโพสต์ ให้เกิดเป็นบทสนทนาสนุกๆ ในโลกออนไลน์

ขณะเดียวกัน ในบางครั้งการที่พนักงานเขียนชื่อลูกค้าผิด ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้งในต่างประเทศ เช่น จาก Jessica เป็น Gezzika จาก John เป็น Gaun นั้น ทาง Starbucks ก็เคยแอบคิดว่าลูกค้าต้องโกรธแน่ ๆ

แต่ในความเป็นจริง ลูกค้ากลับชอบและยิ่งโพสต์ชื่อแปลกๆ ของตัวเองลงโซเชียลกันมากกว่าเดิม สรุปนอกจากจะไม่โกรธแล้ว พวกเขายังมองว่านี่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประสบการณ์ที่ร้าน Starbucks อีกด้วย

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการโพสต์รูปแก้ว Starbucks ที่มีชื่อตัวเองลงไปสารพัดแบบในโลกออนไลน์นั้น ถือเป็นการกระจายความรับรู้แบรนด์ Starbucks ในยุคที่ร้านกาแฟแข่งเดือดได้อย่างมาก เรียกได้ว่า Starbucks ไม่ต้องทุ่มงบโฆษณาสักบาท ก็มีคนมาช่วยโปรโมทแบรนด์กาแฟของพวกเขาให้ฟรี ๆ

นัยยะที่สอง!! ความภูมิใจที่ฉันคือเจ้าของเพียงหนึ่งเดียว

อีกเรื่องที่น่าสนใจมาก คือ การเขียนชื่อลูกค้าลงบนแก้ว ค่อย ๆ พัฒนาความรู้สึกให้ลูกค้าคิดว่า แก้วกาแฟของฉันนั้น "น่าอวด" 

เพราะเดิมคุณค่าของแบรนด์ Starbucks นั้นก็สูงอยู่แล้ว จากราคาต่อแก้วที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป (เดี๋ยวนี้เริ่มมีกาแฟราคาใกล้เคียงเยอะขึ้น) ทำให้การดื่ม Starbucks หรือควงแก้ว Starbucks ไปไหนต่อไป ก็ได้อารมณ์ยังกะหิ้วหลุยส์หรือชาแนล

ยิ่งมีชื่อตัวเองลงไปบนแก้ว Starbucks ยิ่งทำให้รู้สึกว่า "แก้วนี้ทำมาเพื่อฉันคนเดียวในโลก" ซึ่งไอ้ความรู้สึกเหล่านี้ มันสำคัญมากกว่าราคาหลักร้อยต่อแก้วที่ต้องจ่าย เพราะสิ่งที่ลูกค้าจ่ายมันได้รสนิยมที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้พ่วงกลับมา จนลูกค้าเก่าต้องกลับมาซื้อซ้ำ ส่วนลูกค้าใหม่ก็อยากลองสัมผัสประสบการณ์นี้

นัยยะสุดท้าย!! สายใยที่เกิดขึ้นจากคนแปลกหน้า

เป็นเรื่องปกติที่ทุก ๆ ร้านกาแฟ มักจะมีการถามว่า "เอาหวานน้อย หวานปกติ รับแก้วไซส์ไหน ใส่วิปครีมไหมคะ"

แต่การเขียนชื่อลงไปบนแก้วนั้น จะทำให้พนักงาน Starbucks จำชื่อลูกค้าที่เข้าร้านเป็นประจำได้ ทำให้ครั้งต่อไปสามารถทักทายลูกค้าด้วยชื่อโดยไม่ต้องถามได้อีกด้วย

และยิ่งไปกว่านั้น ตามหลักจิตวิทยาแล้ว การเรียกชื่อใครได้แบบคุ้นเคย ยังถือเป็นการทำลายกำแพงของความแปลกหน้า ที่สามารถเปลี่ยนคนไม่คุ้นตามาเป็นคนคุ้นเคยแบบคนในครอบครัว Starbucks ได้ง่ายกว่าเดิม

เหล่านี้คือเรื่องเล็กๆ ที่เริ่มจากการเขียนชื่อลูกค้าลงบนแก้วกาแฟ Starbucks ที่ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็น "ประสบการณ์สไตล์ Starbucks" ที่ยากจะหาใครเลียนแบบ

ความรู้สึกนี้มันช่างหอมหวานมิได้ด้อยกว่ารสชาติกาแฟเลยจริงๆ 

ก็อย่างว่า "ชื่อของเรา" มันช่างไพเราะสุด ๆ @Starbucks นินา!!

"คนละครึ่ง" งานดี!! ดัน "ดัชนี" ดีดตัว

นาทีนี้ "โครงการคนละครึ่ง" กลายเป็นพระเอกสร้างชื่อให้กับรัฐบาล สร้างผลงานดี จนส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกันมาก หมุนวนจนระบบเศรษฐกิจเริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า "แต้มบุญของโครงการคนละครึ่ง ทำให้เกษตรกรได้หายใจหายคอกันบ้าง เนื่องจากโครงการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและปศุสัตว์ สร้างกำลังซื้อในหลายจังหวัดให้ดีดตัวขึ้นไปตาม ๆ กัน"

แรงบวกของโครงการดังกล่าวสะท้อนไปสู่ตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ ของประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค" เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่สำรวจจากประชาชน 2,241 คน ทั่วประเทศ ซึ่ง "ดีดตัว" ขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่ 2 และถือเป็นการดีดตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เป็นสัญญาณดีที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง

ธนวรรธน์ กล่าวถึงดัชนี้ในส่วนอื่น ๆ อีกว่า…

- ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมก่อนหน้า คือ 43.9 ดีดขึ้นเป็น 45.6 ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2563

- ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานก่อนหน้านี้อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นเป็น 50.0

- ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตจาก 59.9 ดีดมาอยู่ที่ 61.6 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนมาถึง "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค" ที่เคยอยู่ที่ 50.9 ดีดตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 52.4

- คิดเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันจาก 35.1 ขึ้นมาอยู่ที่ 36.3

- และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตจาก 58.5 ขึ้นมาที่ 60.1

ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่ดัชนีทุกรายการที่จะขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของดัชนีความเห็นทางการเมืองนั้นกลับอยู่ที่ 23.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 14 ปี 3 เดือน เห็นได้ชัดเลยว่าผู้บริโภคมองการเมืองขาดเสถียรภาพอยู่มาก

อย่างไรเสีย แม้ดัชนีจะดีดตัวขึ้นในทุกรายการก็ตาม แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับปกติที่อยู่ในระดับ 100 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองเศรษฐกิจในมุมลบจากปัญหาการเมืองในประเทศ และวิกฤต โควิด-19 ทั่วโลกอยู่

อังกฤษไฟเขียววัคซีนโควิด-19 "ไฟเซอร์" พร้อมฉีดจริงสัปดาห์หน้า...เพียงพอ 20 ล้านคน

หลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในปีนี้ ได้ทุบเศรษฐกิจโลกพังยับเยิน รวมถึงมีผู้สังเวยโรคร้ายดังกล่าวไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก

นั่นจึงทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างรอคอยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ปัจจุบันวัคซีนที่กำลังเป็นที่จับตาเป็นของ "ไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเทค" และวัคซีนจาก "โมเดอร์นา" ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ ได้รับการยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงกว่า 90% โดยทั้ง 2 ชนิดต่างเป็นวัคซีนแบบตัดต่อสารพันธุกรรมหรือที่เรียกกันว่า RNA (mRNA)

ล่าสุดอังกฤษกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทเวชภัณฑ์ไฟเซอร์ (Pfizer) และ ไบโอเอ็นเทค (BioNTech)

โดยรัฐบาลอังกฤษ เห็นพ้องตามคำแนะนำจากสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและยา (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency - MHRA) และรับรองการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทดังกล่าว

ด้าน แม็ตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ยอมรับว่า นี่เป็นข่าวดีมาก พร้อมประกาศว่าโครงการแจกวัคซีน โควิด-19 จะเริ่มแจกจ่ายทั่วสหราชอาณาจักรตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้า โดยโรงพยาบาลทั่วอังกฤษมีความพร้อมที่จะทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งเพียงพอสำหรับ 20 ล้านคน หลังจากรัฐบาลอังกฤษได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์จำนวน 40 ล้านโดส

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการด้านวัคซีนจะพิจารณาว่าคนกลุ่มใดที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ตามสถานสงเคราะห์, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, ผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ต่อไป


ที่มา: รอยเตอร์, BBC

"MTL – BDMS - Pfizer" ผนึกกำลังยกระดับสิทธิประโยชน์ เสิร์ฟลูกค้าไทยประกัน 4 ล้านราย

ถ้าจะทำธุรกิจแบบเดินเดี่ยว (Stand Alone) สายป่านไม่ดีจริง หรือฐานลูกค้าไม่ภักดีจริง อาจจะเหนื่อยนักในยุคนี้ แม้แต่จะเป็นธุรกิจใหญ่ก็ตาม

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา การจับมือกันทางธุรกิจ จึงเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะจับกับแบบ "ข้ามธุรกิจ" แล้วเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ล่าสุด 3 บริษัทใหญ่อย่าง บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกโครงการใหม่ร่วมกันโดยใช้ชื่อว่า "MTL Health Buddy"

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MTL เผยว่า "โครงการนี้เป็นการนำร่องเพื่อยกระดับระบบนิเวศน์ของวงการสุขภาพ (Health Ecosystem) ที่ลูกค้าของเมืองไทยฯ จะได้รับความสิทธิประโยชน์จากการที่เราได้ร่วมมือกับทั้ง BDMS และไฟเซอร์ โดยทาง BDMS จะทำหน้าที่ผู้ช่วยด้านสุขภาพ พร้อมให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ค้นหาศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ค้นหาแพทย์ที่เหมาะกับโรค ทำการนัดหมาย ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และสิทธิพิเศษอื่น ๆ ให้กับ "ลูกค้าของเมืองไทยประกันชีวิต" กว่า 4 ล้านคน"

"ขณะเดียวกัน ทาง ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ในการเข้าถึงการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และหากได้รับผลตอบรับที่ดี หลังจากนี้จะมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเตรียมขยายสิทธิประโยชน์การรักษากลุ่มโรคอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็ง ลำไส้ เป็นต้น"

ด้าน พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 BDMS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบริษัทฯ จะให้บริการการปรึกษาแพทย์แบบ Teleconsultation ทั้งการปรึกษาปัญหาสุขภาพจากอาการป่วย หรือการวางแผนสุขภาพเชิงป้องกัน รวมไปถึงการหา Second opinion

โดยมีทีมแพทย์จากศูนย์แห่งความเป็นเลิศ Center of Excellence ในสาขาต่างๆ ร่วมให้คำปรึกษา อาทิ โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง กระดูก หรืออุบัติเหตุ การเจ็บป่วยที่รุนแรง ฯลฯ หากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม จะมีการดูแลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคมะเร็ง พร้อมแนะนำการเลือกใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งได้ร่วมมือกับทางไฟเซอร์ในการให้ยามุ่งเป้าเพื่อการรักษาในระยะยาวอีกด้วย

.

ปัจจุบัน การรักษาด้วยโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า หรือ Targeted Therapy ในคนไข้ทั่วไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อการรับยา 1 ครั้ง และบางคนต้องรับยาเดือนละหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และหากการรักษายาวนานเป็นปี คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาท

.

แต่หากลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิต ที่มีประกันสุขภาพอีลิทเฮลท์ (Elite Health) ที่มีวงเงินความคุ้มครอง 20 - 100 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาแบบ Targeted Therapy ทันที ส่วนลูกค้าประกันมะเร็ง (CI) อื่น ๆ แม้ไม่ได้รับสิทธิ์นี้ แต่จะได้รับสิทธิ์เป็นส่วนลดค่ายานวัตกรรมจากไฟเซอร์แทน เช่น เดือนนี้จ่าย แต่เดือนหน้าฟรีค่ายา เป็นต้น

.

Did you know

- มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง

- มะเร็งเต้านม เป็นอันดับ 2 ของยอดผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

- ปีค.ศ.2018 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใหม่กว่า 2 ล้านคนทั่วโลก

- ยอดผู้เสียชีวิต 6.3 แสนคนทั่วโลก

- ในไทย มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 1.9 หมื่นคนต่อปี

- คนไทย เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 5,900 คนต่อปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top