Friday, 13 December 2024
The States Times EconBiz Team

หากจะพูดถึง หุ้นที่ร้อนแรงที่สุดประจำปี 2563 ถ้าในต่างตลาดประเทศ คนอาจจะโฟกัสไปที่หุ้นรถยนต์ไฟฟ้า TESLA แต่ถ้าเมืองไทยชั่วโมงนี้ต้องยกให้ DELTA ที่ขี่พายุทะลุฟ้า ราคาทะยานในรอบ 1 ปี ถึง 3,000% !!!

กระแสความร้อนแรงของหุ้น TESLA ที่ทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ นิวไฮ ที่ 695 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค ที่ผ่านมา ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบปี ที่ 70 เหรียญ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ช่วงที่โควิด -19 เริ่มระบาดและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ TESLA ก็สามารถทะยานขึ้นมาเกือบ 1,000% หรือ 10 เท่าภายในเวลา 9 เดือนอย่างสวยงาม อาจจะไม่ได้สร้างความฮือฮามากนัก

แต่เมื่อย้อน กลับมามองตลาดหุ้นไทย ที่ต้องยกตำแหน่งหุ้นร้อนแรงแห่งปีให้กับหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน จากราคาที่ลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปต่ำสุดในรอบปีที่ 969 จุด เช่นกัน

แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น DELTA เริ่มพุ่งทะยานจนขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายของวันที่ 28 ธันวาคม โดยพุ่งขึ้นไปยืนที่ 838 บาท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์สุดยอดหุ้นแห่งปีที่คนในวงการหุ้นต้องกล่าวถึง

เพราะเมื่อเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นปี 2562 กับจุดสูงสุดที่ 838 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 784.50 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,466.35% หรือ 14.66 เท่า

แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 27 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 811 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,003.70% หรือ 30.03 เท่ากันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงภายใน 1 ปี สร้างผลตอบแทนถึง 14 เท่า ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นกันได้ง่าย ๆ ว่ากันว่านักลงทุนบางคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ DELTA เป็นหุ้นตัวแรกที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเกินกว่า 1,000% ภายใน 1 ปีก็ได้

สำหรับ DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5.46 แสนล้านบาท (ณ ราคาปิด วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ) และเมื่อคำนวณจากราคาสูงสุด 838 บาท จะมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.04 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่เพียงปตท. เท่านั้น (ปัจจุบัน มาร์เก็ตแคป อันดับ 1 คือ PTT 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนอันดับ 2 คือ AOT 8.78 แสนล้าน)

แต่อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของ DELTA อาจปิดฉากลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งมาราธอน จนสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ราคา 838 บาท จากนั้นก็ถูกเทขายอย่างหนักกระทั่งราคาร่วงอย่างหนัก โดยราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 63 ลงมาที่ 438 บาท เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด 838 บาท เท่ากับว่าราคาร่วงไปแล้ว 47%

ซึ่งอาจมองได้ว่าราคาหุ้น DELTA อาจจะหมดรอบแล้วก็เป็นได้ เพราะราคาเริ่มสะท้อนความเป็นจริง หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามไปยังผู้บริหาร DELTA ว่า บริษัทมีพัฒนาการด้านใดเป็นพิเศษที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร DELTA ที่ส่งเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดที่ส่งผลต่อการซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA ก็ดิ่งเหวทันที

อย่างไรก็ตาม การลากราคาหุ้น DELTA และทิ้งดิ่งเหวในครั้งนี้ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการทำราคาของกองทุนขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงกองทุนต่างประเทศ ที่พากันลากขึ้นมา เพราะปีหน้า DELTA จะถูกดันเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET 50 ที่จะทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

บทเรียนจากราคาหุ้นที่ร้อนแรงแห่งปี ทั้ง TESLA และ DELTA ทำให้นักลงทุนทั้งมือเก่าและมือใหม่ ได้เรียนรู้ว่า หุ้นที่ขึ้นมาจากพื้นฐานธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนอย่าง TESLA มักจะทำราคาสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องและราคาจะไม่ร่วงดิ่งเหว ผิดกับ DELTA ที่ราคาขึ้นอย่างร้อนแรง โดยไม่มีเหตุผลและพื้นฐานทางธุรกิจรองรับ เมื่อถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ราคาจึงสะท้อนให้เห็นดังเช่น 2 วันที่ผ่านมานั่นเอง

ครม.อนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน พร้อมขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยปรับคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาปี 2562 เป็นต้นไป

ส่วนเงื่อนไขสำหรับนายจ้าง ปรับใหม่เป็น ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือน ไม่เกิน 50% ต่อคนต่อเดือน

โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท ปวช. ไม่เกิน 4,700 และ ม.6 ไม่เกิน 4,345 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ คือ ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 15,000 บาท ปวส. ไม่เกิน 11,500 บาท ปวช. ไม่เกิน 9,400 และ ม.6 ไม่เกิน 8,690 บาท

ทั้งนี้เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง ปรับใหม่เป็น ‘รัฐจ่ายเงินอุดหนุน 3 ครั้งต่อเดือน’ จากเดิมที่กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการจ่ายเงินค่าจ้างของนายจ้าง ดังนี้

1.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างภายในสิ้นเดือน รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

2.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างหลังสิ้นเดือน (ภายในวันที่ 1-5 ของเดือนถัดไป) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

และ 3.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามข้อ 1 และ ข้อ 2 แต่การจัดทำเอกสารในระบบไม่สมบูรณ์ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ จากเดิม คือ ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน (ปีงบประมาณ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564) ขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน ระยะเวลาการจ้างงานครบ 12 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564

Forbes ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ทำรายได้สูงสุดบนYouTube ออกมา โดยผู้ที่ทำรายได้สูงสุดนั่นก็คือ ‘Ryan Kaji’ จากช่อง ‘Ryan’s World’ ที่อายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น

คลิปวิดีโอส่วนใหญ่ของ ‘Ryan Kaji’ จะเป็นการเปิดกล่องของเล่น หรือไม่ก็เป็นการเล่าเรื่องราวชวนให้อบอุ่นใจซะมากกว่า ซึ่งคอนเทนต์รูปแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมบนYouTube เลยเอื้อโอกาสที่จะทำรายได้ได้ดีมากขึ้นไปอีก

สำหรับในปีนี้ 2020 นี้ ‘Ryan Kaji’ สามารถทำรายได้ไปกว่า 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 885 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าปีที่ก่อนหน้าที่ทำได้อยู่ที่ 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


ที่มา: Social Media Today

อสังหาฯ 64 ยังเหนื่อย หลัง 63 ค้างสต๊อกเพียบ คาดยอดรวมทั่วประเทศพุ่ง 3.39 แสนหน่วย มูลค่าเหลือค้าง 1.5 ล้านล้านบาท แต่เชื่อปี 64 โอกาสบวกทั้งยอดขาย - จำนวนเปิดใหม่ ยังมี

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 จะยังเจอปัญหาที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต็อกจำนวนมาก

โดยยอดรวมทั่วประเทศจะเหลือมากถึง 3.39 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อน มีมูลค่าเหลือค้างที่ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน โดยสต๊อกส่วนใหญ่เกิดจากคอนโดมิเนียมที่มีเหลือขาย 1.52 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น 16.5% หรือมีมูลค่า 6.84 แสนล้านบาท ขณะที่สต๊อกบ้านจัดสรรมีแนวโน้มลดลง 1% เหลือ 1.86 แสนหน่วย หรือคิดเป็น 8.18 แสนล้านบาท

ส่วนยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ปี 2564 คาดจะกลับมาเป็นบวกได้ เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ที่ติดลบมากถึง 25.2% รวมมีมูลค่ากลับมาเป็นบวกเช่นกัน โดยคาดที่อยู่อาศัยใหม่ที่ขายได้ทั่วประเทศปี 64 อยู่ที่ 94,072 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อนหน้า

แบ่งเป็นบ้านจัดสรรขายได้ 60,191 หน่วย เพิ่มขึ้น 2% อาคารชุด 33,881 หน่วย เพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งดีกว่าปี 63 ที่ติดลบถึง 47.9% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ 4.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% แยกเป็นบ้านจัดสรร 2.56 แสนล้านบาท และคอนโดมิเนียม 1.48 แสนล้านบาท

ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่ปี 64 จะขยายตัวเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากปี 63 ติดลบ 46.6% และปี 62 ติดลบ 13% โดยในปี 64จะมียอดเปิดตัวโครงการใหม่ 88,828 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.9% แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 52,044 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% คอนโดมิเนียม 36,784 หน่วย เพิ่ม 25.1% ขณะที่มูลค่ามีการเติบโตเช่นกันอยู่ที่ 4.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 2.35 แสนล้านบาท ลดลง 12% คอนโดมิเนียม 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.5%

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้ที่ประชุมครม. เดินหน้าโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลหนุนค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 5,000 บาท หวังกระตุ้นสูงวัยเที่ยวเพิ่มปีหน้า

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการประชุมจะพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า วงเงิน 5,000 ล้านบาท

เพื่อสนับสนุนนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัย อายุ 55-75 ปี จำนวน 1 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาผ่านบริษัททัวร์ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 5,000 บาท ให้เดินทางไปเที่ยวกระตุ้นการเดินทางในปีหน้า

ส่วนกระทรวงพาณิชย์เสนอการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมในโครการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค โครงการที่ 2 เพื่อยุติโครการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

โครงการที่ 2 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และเสนอการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2564 - 2566 สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป

ขณะที่กระทรวงการคลัง เสนอขอถอนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก รวม 2 ฉบับ พร้อมทั้งรายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

กระทรวงการคลัง แนะผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 2 รีบยืนยันตัวตนด่วน ภายในวันที่ 14 มกราคม 2564 ก่อนจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ พร้อมจ่อเปิดลงทะเบียน รอบใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวน 5 ล้านสิทธิ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563

โดยผู้รับสิทธิจะต้องรีบยืนยันตัวตนโดยเร็ว เพราะเมื่อได้รับข้อความ SMS แจ้งยืนยันสิทธิ ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และยืนยันตัวตนครบถ้วนตามขั้นตอน เพื่อจะได้ใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันนี้ พบว่า มีผู้เข้ามายืนยันตัวตนสำเร็จแล้วประมาณ 75% ซึ่งยังเหลืออีกเกือบล้านคน ที่ยังไม่ได้มายืนยันตัวตนให้ครบตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลายช่องทางตามความสะดวก ได้แก่

1.) ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

2.) ยืนยันตัวตน ณ สาขาธนาคารกรุงไทย หรือ

3.) ยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชน ณ ตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทย

ภายหลังจากยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ภายใน 14 วัน คือ ภายในวันที่ 14 มกราคม 2564 มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ

น.ส.กุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ขณะนี้ มียอดผู้ลงทะเบียนมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ของรัฐบาลที่ไม่ผ่านคุณสมบัติอยู่จำนวน 4.9 แสนราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5 ล้านราย และในจำนวน 4.9 แสนรายนี้ ทางรัฐบาลจะนำมาพิจารณาเปิดให้มีการลงทะเบียนในรอบต่อไป โดยจะนำมารวมกับยอดที่เหลือจากคนละครึ่งในเฟสแรกอีกจำนวน 4.3 แสนราย และ รวมกับ ผู้ที่ลงทะเบียนในเฟสที่สองแต่ไม่ใช้สิทธิ์ภายใน 14 วันนับจากวันที่ 1 มกราคม 2564 อีกด้วย"

"เบื้องต้น เรามีจำนวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาเปิดรอบใหม่อีกประมาณ 1 ล้านราย โดยเป็นสิทธิที่เกิดจากการขาดคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนคนละครึ่งในเฟสแรกและเฟสสอง ถ้าหากจะมีมากกว่านี้ ก็จะเป็นยอดของผู้ที่ไม่มาใช้จ่ายตามกำหนดภายใน 14 วันทำการ ซึ่งจะถือว่า เป็นการสละสิทธิ์ เราจะเริ่มรู้ยอดดังกล่าวนับจากวันที่ 14 ม.ค.เป็นต้นไป หลังจากนั้น เราจะพิจารณาว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนรอบต่อไปอีกเมื่อไหร่"

สำหรับ ด้านความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคนละครึ่ง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2563 เวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9,565,644 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 49,049.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,100.5 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 23,949.2 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

บอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เคาะแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี กรอบ 2 ปี จำนวน 114 โครงการ ใช้งบประมาณ 5,334 ล้านบาท หวังช่วยเพิ่มสภาพคล่อง - ฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี ปี 64-65 มีสาระสำคัญ คือ ช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

โดยมีแนวทาง คือ การบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น ส่งเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ,สร้างความพร้อมให้เอสเอ็มอีด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ และปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวก โดยเฉพาะปรับแก้กฎหมายเพื่อลดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอี ปี 64 - 65 และข้อเสนอโครงการและงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ 65 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหาร สสว. เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 จำนวน 114 โครงการ งบประมาณ 5,334 ล้านบาท

พร้อมกับเห็นชอบเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินสนับสนุนงบประมาณโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย จากเดิมที่จัดสรรงบประมาณให้เอสเอ็มอีโดยตรง เป็นจัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด ! หลังจากที่ Ant Group ของ Jack Ma เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซจีน ถูกระงับ IPO ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านฟินเทคจีน โดนเรียกเข้าให้ข้อมูลต่อหน่วยงานกำกับฯ พร้อมขอให้กลับไปโฟกัสธุรกิจบริการจ่ายเงินเท่านั้น

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีน ได้เรียกให้ตัวแทนของ Ant Group เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Alipay เข้าพูดคุยในเรื่องของการผูกขาดทางธุรกิจ โดยได้ให้กลับไปปฏิรูปธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท เช่น ธุรกิจให้สินเชื่อ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดและบริหารจัดการความเสี่ยงให้มากขึ้น และหากเป็นไปได้ขอให้กลับไปทำแค่ธุรกิจผู้ให้บริการธุรกรรมการชำระเงินเท่านั้น

โดยหน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้ขอให้ Ant Group ทำตามกฏระเบียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการผูกขาดทางการค้าหลังจากที่ Alibaba ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ก็กำลังโดนสอบสวนข้อหานี้อยู่เช่นกัน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทาง Jack Ma ประกาศว่า จะให้ทางการจีนใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของ Ant Group เท่าที่ต้องการได้อย่างเต็มที่ เพื่อพยายามรอมชอมขอคืนดีกับรัฐบาลจีนรวมถึงเปิดทางให้ Ant Group สามารถ IPO ได้สำเร็จ

แต่สัญญาณที่ส่งไป กลับไม่ได้รับความใยดี เมื่อทางการจีน ยังไม่หยุดไล่เบี้ยกับธุรกิจของ Jack Ma ทั้ง Alibaba และ Ant Group อย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่า เรื่องยุ่งยากทั้งหมด เริ่มจากการที่ Jack Ma ได้เคยออกความเห็นวิจารณ์กฎเกณฑ์การควบคุมระบบการเงินแบบเดิมๆของรัฐบาลจีนว่า

"กฎเกณฑ์ของธนาคารจีนเดิมๆ ไม่เหมาะสมกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าทางธนาคารไม่ยอมปรับปรุง เราก็จะใช้นวัตกรรมใหม่ๆมาแก้ปัญหาระบบการเงินกันเอง"

คำกล่าวนั้น เหมือนเป็นการราดน้ำมันในกองไฟ ทำให้รัฐบาลจีน ตัดสินใจระงับการออก IPO ของ Ant กลางอากาศ ที่สำคัญมันได้สร้างความเสียหายให้บริษัท Alibaba ไปแล้วกว่า 10 ล้านล้านบาทในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้จากราคาหุ้นที่ตกลงไป - 32%

และถ้าหาก Ant Group สามารถทำ IPO ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จ จะทำให้กลายเป็น IPO ใหญ่ที่สุดในโลกทันที ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เอาชนะ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของซาอุดิอาระเบียทันที

การที่ Ant Group มีมูลค่าธุรกิจค่อนข้างสูง เพราะไม่ได้มีเพียง Alipay แพลตฟอร์มการชำระเงินเท่านั้น แต่ยังมีบริการทางการเงินอื่นๆ อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น

1.) ธุรกิจชำระเงิน (Payment) - Alipay

2.) ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ( Wealth Management) – Yu’s Bao, Ant Fortune

3.) ธุรกิจกู้ยืม ( Lending) – Mybank, Zhao Cai Bao, Ant Cash Now

4.) ธุรกิจประกันภัย (Insurance) – Ant Insurance

5.) ธุรกิจตรวจสอบเครดิต (Credit Reference) – Zhima Credit

จากธุรกิจที่หลากหลายของ Ant Group ข้างต้น ทำให้ถูกประเมินมูลค่าเอาไว้สูงมาก

อย่างไรก็ตาม การที่ Ant Group มีอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็ว และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ขยายไปในทุกกลุ่มธุรกิจ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีน หวั่นว่าจะทำให้เกิดการผูกขาด โดยอาศัยความเป็นผู้นำตลาดสกัดคู่แข่งรายอื่น ๆ

ต้องติดตามดูว่า Jack Ma จะแก้เกมอย่างไร และจะสามารถรอมชอมกับทางการจีนได้หรือไม่ เพราะหากว่า ถูกระงับการให้บริการทางการเงินทั้งหมด เหลือเพียง Alipay เท่านั้น ไม่เพียงดับฝันการทำ IPO แต่ยังจะทำให้มูลค่าธุรกิจของ Ant Group และ Alibaba เสียหายอย่างมหาศาล


ที่มา : https://www.scmp.com/business/companies/article/3115466/beij

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าผลักดันสินค้าไทย ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เล็ง ‘ปลาทูแม่กลอง -เนื้อโคขุน’ อยู่ในลิสต์ขึ้นทะเบียนปีหน้า

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพิ่มขึ้น อีก 48 สินค้า จาก 31 จังหวัด ในปี 2564  หลังจากได้รับการส่งรายชื่อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นที่คาดว่าจะขึ้นทะเบียนเป็นจีไอ จากพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศมาแล้ว 168 สินค้า จาก 50 จังหวัด เพราะเห็นว่าในปี 64 ยังมีสินค้าท้องถิ่นที่มีโอกาสผลักดันขึ้นเป็นสินค้าทะเบียนจีไออีกมาก ดังนั้นจะลงพื้นที่เพื่อไปให้คำแนะนำ และจะเร่งทำการคัดเลือก ก่อนผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอต่อไป

ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ให้คำแนะนำไปแล้ว 20 สินค้า 7 จังหวัด ได้แก่ 1.น้ำตาลมะพร้าวแม่กลอง ปลาทูแม่กลอง และเกลือสมุทรแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม 2.ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า และจักสานไม้ไผ่บางเจ้าฉ่า จ.อ่างทอง 3.เสื่อกกนาหมอม้า ข้าวสินเหล็ก ข้าวหอมมะลิอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ 4.กล้วยตากเขมราฐ จ.อุบลราชธานี 5.เนื้อโคขุนกำแพงแสน และมะพร้าวน้ำหอมสามพราน จ.นครปฐม 6.สับปะรดน้ำหนาว น้ำผึ้งดอกมะขามเพชรบูรณ์ ทุเรียนน้ำหนาว ข้าวพญาลืมแกงน้ำหนาว และลิ้นจี่ป้าชิดเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และ 7.มะขามหวานศรีภักดี กล้วยหอมทองหนองบัวแดง และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านโหล่น จ.ชัยภูมิ  

ปัจจุบันมีสินค้าจีไอที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 151 สินค้า แบ่งเป็นจีไอไทยจำนวน 134 สินค้า และจีไอต่างประเทศ จำนวน 17 สินค้า สินค้าใหม่ที่ขึ้นทะเบียนล่าสุด 2 สินค้า ได้แก่ ส้มแม่สิน จ.สุโขทัย และข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ และได้ตั้งเป้าหมายปี 2564 จะมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไออย่างน้อย 18 สินค้า

รองนายกรัฐมนตรี ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยันเศรษฐกิจไทยไม่เจอผลกระทบมาก จากการระบาดโควิดรอบใหม่ มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 64 โตกว่า 4% หลังจากมีพัฒนาการวัคซีนโควิด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไม่มากนัก เพราะสถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัดและรัฐบาลยังควบคุมสถานการณ์ได้และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 กว่าวันเท่านั้น

แม้จะมีการประเมินว่าการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาครจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมีการประเมินว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประมาณ 4 - 5 หมื่นล้านบาทนั้น ยังถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดประมาณ 12.6 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเท่าเดิมคืออยู่ที่ประมาณลบ 6% ตามการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ส่วนในปี 64 มองว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้เกินกว่า 4% เนื่องจากเมื่อมีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาแล้วจะทำให้สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ และในตอนนี้มีหลายประเทศที่ต้องการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย

ส่วนการทำงานยังต้องปรับแผนการขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่นั้น ยืนยันว่า รัฐบาลยังคงเน้นในเรื่องของการลงทุนและการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยในเรื่องของงบประมาณมีวงเงินอยู่กว่า 3.2 ล้านล้านบาทก็จะช่วยในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของการลงทุนจะเน้นเรื่องความร่วมมือให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี) มากขึ้น

โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่จะมีความต่อเนื่องไปถึงปี 65 ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง “แนวโน้มน่าจะดีกว่าคาด เดี๋ยวมีวัคซีนแล้วคนก็เดินทางได้ ต่างชาติที่เข้ามาก็ถือหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนมายืนยัน ครึ่งปีแรกแค่ประคับประคองไว้ ครึ่งปีหลังฟื้นแน่นอน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top