นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 – 2568) รายละเอียด ดังนี้
1.) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 ในปี 2567 และร้อยละ 3.2-4.2 ในปี 2568 ตามลำดับ
2.) สถานะและประมาณการการคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2565 - 2568 จะอยู่ที่ 2,400,000 ล้านบาท 2,490,000 ล้านบาท 2,619,500 ล้านบาทและ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ โดยประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service)
รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)
สำหรับประมาณการงบประมาณรายจ่าย ปี 2565-2568 อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท 3,200,000 ล้านบาท 3,310,00 ล้านบาท และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 เป็นต้น
ดังนั้น รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 710,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 690,500 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 669,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 จำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับร้อยละ 57.6, 58.6, 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ
3.) เป้าหมายและนโยบายการคลัง เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด
พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย
(1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้
(2) Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ
(3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย