หากย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ที่มีดีลการเจรจาซื้อคืน ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับคืนอก เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี

จะเห็นได้ว่าทุกบทสัมภาษณ์จะมีตอนหนึ่งที่พูดถึง ‘เทสโก้ โลตัส’ ที่เปรียบเสมือนลูกรัก แต่ต้องตัดใจขายไปในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และเมื่อวันนึงมีโอกาสซื้อคืนกลับมาก็ย่อมไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป

“ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็พัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0” ธนินท์ กล่าว

นั่นคือคำพูดของเจ้าสัวธนินท์ในอดีต ที่นำมาสู่การควบรวมค้าปลีกขนาดยักษ์ระหว่าง ซีพี-เทสโก้ โลตัส ไว้ด้วยกันในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ด้วยมูลค่าดีลสูงถึง 338,445 ล้านบาท ซี่งหลังจากการควบรวมเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการจะทำให้กลุ่มซีพีได้เทสโก้โลตัส ที่มีสาขาในไทย 2,100 แห่ง และในมาเลเซียอีก 74 แห่ง รวมถึงพนักงานกว่า 60,000 คน

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้สร้างความไม่สบายใจต่อตลาดค้าปลีกไทย โดยเฉพาะรายย่อย ที่เชื่อว่าจะทำให้ทุนใหญ่กระหน่ำตลาดและผูกขาดแบบกินรวบ

ถึงกระนั้น ด้านนักวิเคราะห์ ก็ยังมองว่าดีลดังกล่าวไม่ถึงขั้นผูกขาด โดยแหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า ฝ่ายวิจัยเคยทำการศึกษาภาพรวมส่วนแบ่งตลาดกลุ่มค้าปลีก โดยพิจารณากรณีเครือข่ายที่ CPALL มีในปัจจุบัน (CPALL+MAKRO) แล้ว จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 31.9% และหากรวมกับ Tesco อีกราว 11.6% เข้าไปอีก ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดรวม 43.5%

ทั้งนี้ระดับส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว ไม่ถือเป็นการควบรวมที่อาจเข้าข่ายกรณีผูกขาดตามคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ที่ระบุว่าหลังควบรวมแล้วต้องครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% จึงจะเข้าข่าย

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า หากมองส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มทุนใหญ่ เช่น ซีพี (เทสโก้/แมคโคร) + บิ๊กซี (BJC) และ CRC (เซ็นทรัล) จะสูงมากกว่าครึ่งของตลาด ซึ่งทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยยังรู้สึกถึงอำนาจในการต่อรองตลาดอยู่ดี แม้กลุ่มทุนแต่ละฝ่ายจะชวนให้มองทฤษฏีการแบ่งประเภทตลาด Modern Marketing Concept ที่แต่ละประเภทจะมีส่วนแบ่งการตลาดต่างกัน และกลุ่มเป้าหมายลูกค้าแตกต่างกันก็ตาม