ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของ Covid-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ไทยได้แสดงให้นานาชาติเห็นถึงศักยภาพด้านการแพทย์ ตอกย้ำความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังส่งผลบวกเชื่อมโยงไปยังหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดยองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย คือ 1.) ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub)
2.) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)
3.) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub)
และ 4.) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
"เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า บริการทางการแพทย์ของไทย มีความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมการเป็น Medical Hub สะท้อนจากความมีชื่อเสียงด้านคุณภาพการรักษาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งหากผนวกเข้ากับเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ จะยิ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการรักษาของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศที่มีวิทยาการด้านการแพทย์ชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป"
สำหรับเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่จะส่งเสริมให้ไทยเข้าใกล้ความฝันการเป็น Medical Hub ประกอบด้วย
1.) การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) หรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถนำข้อมูลทางพันธุกรรมมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การรักษา การเลือกใช้ยา การทำนายผลการรักษา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคาดว่าจะมีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 4.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ.2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.7%
2.) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) หรือการแพทย์เชิงฟื้นฟู เป็นการแพทย์สมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการทดแทน การซ่อมเสริม การฟื้นฟูเซลล์และเนื้อเยื่อ รวมถึงอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมถอยจากอายุที่มากขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ.2564 จะมีมูลค่าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปี พ.ศ.2562 แตะระดับ 7.68 หมื่นล้านเหรียญฯ เติบโตเฉลี่ยถึง 19.8% ต่อปี และ
3.) เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ (Reproductive Medicine) เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ IVF, ICSI, IUI ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ.2568 จะมีมูลค่าตลาดโลกกว่า 2.29 หมื่นล้านเหรียญฯ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ การทำเด็กหลอดแก้ว โดยไทยมีชื่อเสียงด้านนี้อยู่พอสมควร
ปัจจุบันประเทศไทย ยังมีส่วนแบ่งตลาดในการให้บริการทางการแพทย์ทั้ง 3 ด้านนี้ไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาการแพทย์ทั้ง 3 ด้านดังกล่าวให้ทัดเทียมประเทศชั้นนำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการรักษา และใช้ประโยชน์จากความมีชื่อเสียงและการเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก ในการดึงดูดเม็ดเงินจากการบริการด้านการแพทย์ให้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น
ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย และคาดว่าจะช่วยผลักดันให้มูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยแตะระดับ 5 แสนล้านบาทในปี พ.ศ.2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.7%