กระทรวงการคลัง แนะผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 2 รีบยืนยันตัวตนด่วน ภายในวันที่ 14 มกราคม 2564 ก่อนจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ พร้อมจ่อเปิดลงทะเบียน รอบใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวน 5 ล้านสิทธิ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563

โดยผู้รับสิทธิจะต้องรีบยืนยันตัวตนโดยเร็ว เพราะเมื่อได้รับข้อความ SMS แจ้งยืนยันสิทธิ ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และยืนยันตัวตนครบถ้วนตามขั้นตอน เพื่อจะได้ใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันนี้ พบว่า มีผู้เข้ามายืนยันตัวตนสำเร็จแล้วประมาณ 75% ซึ่งยังเหลืออีกเกือบล้านคน ที่ยังไม่ได้มายืนยันตัวตนให้ครบตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลายช่องทางตามความสะดวก ได้แก่

1.) ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

2.) ยืนยันตัวตน ณ สาขาธนาคารกรุงไทย หรือ

3.) ยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชน ณ ตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทย

ภายหลังจากยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ภายใน 14 วัน คือ ภายในวันที่ 14 มกราคม 2564 มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ

น.ส.กุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ขณะนี้ มียอดผู้ลงทะเบียนมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ของรัฐบาลที่ไม่ผ่านคุณสมบัติอยู่จำนวน 4.9 แสนราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5 ล้านราย และในจำนวน 4.9 แสนรายนี้ ทางรัฐบาลจะนำมาพิจารณาเปิดให้มีการลงทะเบียนในรอบต่อไป โดยจะนำมารวมกับยอดที่เหลือจากคนละครึ่งในเฟสแรกอีกจำนวน 4.3 แสนราย และ รวมกับ ผู้ที่ลงทะเบียนในเฟสที่สองแต่ไม่ใช้สิทธิ์ภายใน 14 วันนับจากวันที่ 1 มกราคม 2564 อีกด้วย"

"เบื้องต้น เรามีจำนวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาเปิดรอบใหม่อีกประมาณ 1 ล้านราย โดยเป็นสิทธิที่เกิดจากการขาดคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนคนละครึ่งในเฟสแรกและเฟสสอง ถ้าหากจะมีมากกว่านี้ ก็จะเป็นยอดของผู้ที่ไม่มาใช้จ่ายตามกำหนดภายใน 14 วันทำการ ซึ่งจะถือว่า เป็นการสละสิทธิ์ เราจะเริ่มรู้ยอดดังกล่าวนับจากวันที่ 14 ม.ค.เป็นต้นไป หลังจากนั้น เราจะพิจารณาว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนรอบต่อไปอีกเมื่อไหร่"

สำหรับ ด้านความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคนละครึ่ง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2563 เวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9,565,644 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 49,049.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,100.5 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 23,949.2 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง