Sunday, 12 May 2024
The States Times EconBiz Team

ธนาคารทหารไทย เผยชื่อใหม่หลังควบรวมกับธนาคารธนชาตเสร็จสิ้น เป็น 'ธนาคารทหารไทยธนชาต'​ ชื่อย่อหลักทรัพย์เปลี่ยนเป็น TTB

ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคารและแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ

ทั้งนี้ จะแก้ไขชื่อเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TMBThanachart Bank เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนภาพของแบรนด์ หรือ Rebranding ของธนาคารภายหลังการดำเนินการตามโครงการซื้อหุ้นเพื่อการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมดของธนาคารธนชาต มายังธนาคารทหารไทย

นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนจะเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์จาก TMB เป็น TTB ต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนชื่อธนาคาร และนายทะเบียนมหาชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารได้มีมติเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 454,937,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.95 บาท ดังนี้

- จำนวนไม่เกิน 305 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.95 บาท เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานของธนาคาร และธนาคารธนชาต (TBANK) ภายใต้โครงการ 2021 TMB Stock Retention Program และ

- จำนวนไม่เกิน 149,937,500 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.95 บาท เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร และ TBANK ภายใต้โครงการ 2019 TMB Stock Retention Program ที่ยังคงมีผลอยู่


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/stocks-gold/2039937

รับจ้างทำบุญ รีวิวรูปถ่ายและวีดีโอรายงานผล เหมือนทำบุญด้วยตัวเอง 

เดี๋ยวนี้ธุรกิจบุญแตกหน่อไปไกล​ ล่าสุดเพจ​ 'บุญบังใบ​ สังฆภัณฑ์'​ ได้เปิดรับบริการใหม่​ สำหรับสายบุญที่ไม่มีเวลา​ โดยโพสต์ว่า... 

•• รับจ้างตื่นมาตักบาตร ••

อยากตักบาตรแต่ไม่ชอบตื่น อยากตักบาตรแต่อยู่ต่างประเทศ อยากตักบาตรแต่ตื่นไม่ไหวเพราะเมาค้าง อยากตักบาตรแต่ธุรกิจรัดตัว อยากตักบาตรแต่แถวบ้านไม่มีวัด
อยากตักบาตรแต่ยังอยากหลับตาอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้น ฝันถึงเทอเรื่อยปัยยย เพราะว่าความจริงไม่มีทางใด ทำให้เราได้รักกัน เอ้า!!! ร้องได้ช่วยกันร้องหน่อยค้าาาา ทางซ้ายหละ เอ้า ทางขวาบ้างงงง 

เพียงแค่คุณลูกค้าโอนเงินมา พร้อมแจ้งชื่อนามสกุล เรามีทีมงานที่พร้อมทำทุกอย่างให้
พร้อมรูปถ่ายและวีดีโอรายงานผล เห็นทุกสิ่งเหมือนไปตักด้วยตัวเอง เหลือแค่ตื่นมากรวดน้ำ 

ถ้าตื่นเองได้ ไปตักเองดีที่สุด
แต่ถ้าไม่สะดวกตื่น ทักค่อฟฟฟฟฟฟ !!!!

????ราคา : ชุดละ99บาท???? 
(อาหาร1อย่าง+ข้าวสวย+ขนม+น้ำ)
* เพิ่มดอกไม้ชุดละ9บาท เป็นชุดละ108บาท 
** ไม่มีขั้นต่ำ หนึ่งชุดก็รับ
*** แพคเกจ​ 3​ วัน​ 5​ วัน​ 10​ วันได้หมดค้าาา


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=190101016208436&id=100362425182296
 

รฟม.เตรียมเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีส้มรอบใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) 1 มี.ค. นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ประชุมได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ และงานติดตั้งระบบเดินรถทั้งเส้นทางมีนบุรี - บางขุนนนท์ ซึ่ง รฟม.ได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการยกเลิกประกวดราคา เพื่อต้องการเร่งรัดให้โครงการสามารถเปิดบริการตามเป้าหมาย 

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 1 มี.ค.นี้ รฟม.จะเริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคารอบใหม่ โดยจะประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยจะรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป ในประเด็นอาทิ เงื่อนไขประมูล การแบ่งซองประมูล รวมไปถึงการคำนวณคะแนนเพื่อพิจารณาข้อเสนอคควรเป็นอย่างไร โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนเสนอความเห็นอีก 3 วัน 

ทั้งนี้เบื้องต้นประเมินว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ RFP จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ หากไม่มีปัญหาติดขัด คาดว่าจะสามารถประกาศขายซองข้อเสนอได้ภายในเดือน เม.ย.2564 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเสนอ แล้วเสร็จเพื่อเสนอผลประมูลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ส.ค.นี้ โดยหากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ รฟม.คาดว่าจะสามารถเร่งรัดให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันทีภายในปีนี้ 

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆอสังหาริมทรัพย์ในโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีพระนั่งเกล้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อรถ ราง เรือ รวมทั้งเป็นการพัฒนาท่าเรือพระนั่งเกล้าฯโดยจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1 เดือน 

"ส่วนรูปแบบการให้เอกชนลงทุนโครงการฯ ขอดูรายละเอียดเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะที่อายุสัญญาขึ้นอยู่กับเอกชนที่ให้ความสนใจ คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการปลายเดือนเม.ย. - ต้นเดือน พ.ค.2564 หาก ครม.เห็นชอบในช่วงแรกจะเปิดให้บริการท่าเรือพระนั่งเกล้าไปก่อน หลังจากนั้นค่อยให้สิทธิเอกชนเข้ามาบริหารอาคารผู้โดยสารและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการจัดทำสัญญาเช่าต่อไป"นายภคพงศ์ กล่าว 

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าว จำนวน 2,100 ตารางเมตร มูลค่า 33 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้าฯ และพื้นที่บริเวณไทรม้า ทั้งนี้ตามพรบ.รฟม. มาตรา 75 (6) กำหนดว่าการให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ของโครงการที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท จำเป็นต้องเสนอให้ครม.เห็นชอบ 

ในส่วนของความคืบหน้าผลการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา - ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทานให้ที่ประชุมรับทราบ เนื่องจากทาง EBM ได้ทำหนังสือถึง รฟม. โดยยืนยันชัดเจนว่า ไม่สามารถรับภาระค่าชดเชยรายได้จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ตามที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำหนังสือถึง รฟม. ขอให้เจรจากับ EBM 

"ที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยเพิ่มเติมให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในครั้งถัดไป. เราต้องประมาณการในส่วนที่ต้องรับภาระค่าชดเชยตามที่ BEM เรียกร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนจะมีการเจรจาเพิ่มเติมกับ EBM หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติบอร์ดรฟม.เป็นผู้พิจารณา" นายภคพงศ กล่าว 

สำหรับความคืบหน้าทำทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ​ (สายสีแดง) โดยภายในเดือน มีนาคม นี้จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งเป็นการทุบทางเชื่อม​ 2 จุด จุดละ 10 ล้านบาท รวม 20 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้  โดยรฟม.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก่อน จากนั้น รฟท. จะจัดหางบประมาณมาชำระคืนภายหลัง 

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับการก่อสร้างและเจาะกำแพงเชื่อมต่อโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน และแล้วเสร็จทันต่อการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน มีกำหนดจะเปิดรอบปฐมฤกษ์ วันที่ 26 มี.ค. 64 ให้ประชาชนร่วมใช้บริการเป็นบางสถานีเป็นรอบ จากนั้นจะทดสอบเดินรถเสมือนจริง (trail run) และเปิดทดลองใช้ฟรี วันที่ 28 ก.ค.ถึงปลายเดือน พ.ย.64 
 

คนไทยสุดล้ำ ยืนหนึ่งระดับโลก ทำการเงินผ่านมือถือ | BizMAX EP.27

จากข่าว "ไทยล้ำที่สุดในโลก!!! ยืนหนึ่งทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ พ่วงช้อปสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021021203

จากการเปิดสถิติธุรกรรมการเงินในช่วงยุคโควิด พบว่าคนไทยใช้โมบายแบงก์กิ้งอันดับหนึ่งของโลก ธุรกิจออนไลน์กำลังรุ่งเรืองอย่างมาก ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างไรและวิธีการสร้างมูลค่า สร้างกำไรให้กับแบรนด์ตัวเองในช่วงยุคโควิด มีวิธีการอย่างไรกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

‘บิ๊กตู่’ เชื่อราคายางพาราทั้งปีเฉลี่ย กก.ละ 60 บาท หลังความต้องการยางพาราเพิ่มต่อเนื่อง ทั้งตลาดต่างประเทศและไทย ระบุ อุตสาหกรรมรถยนต์จีน - ถุงมือยาง ช่วยหนุนราคาบวกต่อเนื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พอใจสถานการณ์ยางพาราที่มีแนวโน้มราคาบวกอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปีราคายางแผ่นดิบทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ราคา 60 บาท/กก. จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่ให้แนวทางการใช้ยางพาราผลิตเป็นเสาหลักนำทางและแบริเออร์นั้น ทำให้มีความต้องการยางพาราและน้ำยางพาราเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเม็ดเงินที่ถึงเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคายางพารามีแนวโน้มอยู่ในทิศทางบวกตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราทั้งจากต่างประเทศมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน การกระตุ้นเศรษฐกิจหลังช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ในหลายมณฑลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าล้อยางรถยนต์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางพารามากยิ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ยางภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมถุงมือยางจากผู้ประกอบการเดิมและรายใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 1 เท่าตัว จาก 4,000 ล้านชิ้น เป็น 8,000 ล้านชิ้น

ที่สำคัญคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งการนำยางพารามาใช้ในด้านความปลอดภัยทางถนน แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ ช่วยดึงยางออกจากระบบ ทำให้ราคายางพาราแผ่นดิบและน้ำยางพาราสามารถยืนอยู่เหนือ 60 บาท/กก. ได้

"นายกฯ ได้มอบนโยบายการเกษตร BCG แบบยั่งยืน ด้วยการเกษตรผสมผสาน ลดความเสี่ยงด้านผลผลิต รวมทั้งโครงการแปลงใหญ่ เน้นให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ให้ความรู้สนับสนุนเงินทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตทั้งในรูปแบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีแทนการขายวัตถุดิบ ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร"

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชี้! ต่างชาติอยากเที่ยวเมืองไทยหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 พร้อมดึงนักท่องเที่ยวจิ้มเข็มแล้วเข้าไทยไตรมาส 3 ปี 64 นี้

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานต่างประเทศของ ททท. ถึงแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเที่ยวหลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในตลาดยุโรป ซึ่ง ททท. จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมและสรุปแนวทางการดูแล โดยตั้งเป้าหมายว่า จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาได้ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้

“ภายในเดือนมีนาคมทุกอย่างต้องออกมาชัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ฝ่ายขายของททท. ได้ไปสำรวจตลาดแล้วพบว่า มีความต้องการมากและกำลังคุยกันซื้อจองของล่วงหน้า เช่น ตลาดกอล์ฟควอรันทีน ในตลาดระยะไกลมีนักกอล์ฟจากประเทศสวีเดนสนใจมาก รวมทั้งฟินแลนด์ มีจองเข้ามาแล้ว 20 คน ตั้งใจจะเดินทางใน เดือนกุมภาพันธ์นี้แต่ขอเลื่อนไปก่อน เพราะเรื่องการกักตัวที่ยังไม่ชัด

“เช่นเดียวกับตลาดตะวันออกกลาง ตอนนี้มีสัญญาณที่ดี เพราะกำลังจะเข้าช่วงเดือนรอมฎอน ทำให้หลายประเทศเร่งการฉีดวัคซีน เพื่อให้เดินทางได้ ซึ่งช่วงเวลาอย่างนี้ ไทยต้องเร่งเตรียมตัวรองรับความต้องการที่มีอยู่ และหวังว่า จะมีแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องนี้ออกมาโดยเร็ว”

ทั้งนี้จากผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในตลาดต่าง ๆ เช่น ททท. ลอนดอน แจ้งว่า นักท่องเที่ยวกว่า 75% มีการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว และยินดีเข้ารับการฉีดวัคซีน โดย 41% วางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ ส่วนใหญ่อยากให้กักตัวไม่เกิน 5 วัน โดย 9 % หรือประมาณ 6 ล้านคน สนใจเลือกเดินทางมาประเทศไทยในปีนี้

เช่นเดียวกัน ททท. สต็อกโฮล์ม สำรวจชาวฟินแลนด์ 62% สนใจเดินทางมาเที่ยวไทยในช่วงฤดูหนาวปีนี้และปีหน้า โดยจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และเขาหลักยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แต่ส่วนใหญ่จะยังไม่ตัดสินใจเดินทางหากมีเงื่อนไขการกักตัว รวมทั้งชาวฝรั่งเศสเองก็ค้นหากรุงเทพฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่มีคนค้นหาข้อมูลรองลงมาจากดูไบ และมาราเกซ

‘คมนาคม’ ชงแผนฟื้นฟู ขสมก. เล็งเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู แบ่งตั๋ว 3 ประเภท ‘รายเที่ยว - รายวัน - ประเภทเฉพาะ’ คาดช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราค่าโดยสารของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านขนส่ง) เป็นประธานฯ เพื่อกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสาร ที่จะจัดนำมาใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง หรือตามกิโลเมตร (กม.) ประกอบกับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ก่อนที่จะคำนวณเป็นค่าโดยสารที่แท้จริง

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาและกำหนดมาตรฐานเรื่องอัตราค่าโดยสารแล้วนั้น ขสมก.จะรวบรวมข้อมูล และจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ให้พิจารณาตามกระบวนการ

ซึ่งคาดว่า ขสมก. จะส่งรายละเอียดดังกล่าวไปยังสภาพัฒน์ภายใน มี.ค. 2564 ส่วนจะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ว่าจะตอบกลับมายังกระทรวงคมนาคมหรือแล้วเสร็จเมื่อไร

นายสรพงศ์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่แผนฟื้นฟู ขสมก. กำหนด ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1.) ตั๋วรายเที่ยว ราคา 15 บาท/เที่ยว

2.) ตั๋วรายวัน (One Day Pass) ราคา 30 บาท/วัน

3.) ตั๋วประเภทเฉพาะ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารตามระยะทางในปัจจุบัน ที่จัดเก็บ 15 - 20 - 25 บาทนั้น ยังคงเก็บตามเดิมอยู่ จนกว่า ครม. จะมีมติอนุมัติปรับอัตราค่าโดยสารทั้ง 3 ประเภทข้างต้น

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลผลการศึกษาของ ขสมก. ยังได้ระบุไว้ว่า เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในการจ่ายค่าโดยสารที่ถูกลงประมาณ 72% เทียบกับการเดินทางตามระยะทาง เนื่องจากในแผนฟื้นฟูได้กำหนดต้นทุนพลังงานการเดินรถของรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.63 บาท/กิโลเมตร (กม.) ในส่วนของรถโดยสารเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) จะอยู่ที่ 10 บาท/กม.

ทั้งนี้ ขสมก. ยืนยันว่า หากดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะสามารถเดินหน้าประกอบกิจการได้ และจะมีอัตราการเติบโตปีละ 3% อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก.ดังกล่าว ถือเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการปฏิรูปเส้นทางของ ขสมก. จำนวน 108 เส้นทาง ภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งให้เส้นทางการเดินรถไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้ ขสมก. จะต้องไปรวบรวมและทบทวนแผนฟื้นฟู ขสมก. จากนั้นจะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายฯ ขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายศักดิ์สยาม เป็นประธานพิจารณา ก่อนที่ ขสมก. จะเสนอไปยังสภาพัฒน์ฯ และ ครม.ต่อไป

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม ส่งสัญญาณชะลอตัว ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ขณะที่ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ม.ค.2564 และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ.2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ. 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาติดลบน้อยลง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะผู้บริโภคมีความกังวลเศรษฐกิจและการจ้างงาน ด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

ขณะที่เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด

หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจช่วงหยุดยาววันมาฆบูชา เชื่อตัวเลขตกเหลือ 2.3 พันล้าน ลดลง 9.38% จากเดิม 2,601 ล้านบาท คาดคนกลัวโควิด แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังดีกว่าช่วง ‘ตรุษจีน - วาเลนไทน์’

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ โควิด-19 ทุบเศรษฐกิจเหลือ 2.3พันล้าน หลังประเมินทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้คนในช่วงวันมาฆบูชา

จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,215 ตัวอย่าง สำรวจตั้งแต่วันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะเดินทางไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชา 40% ไม่ไป 37.3% และไม่แน่ใจ 22.7% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่ไป ส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าเงินสะพัดวันมาฆบูชาในปี 2564 นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,360 ล้านบาท หรือลดลงติดลบ 9.38% ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินสะพัดประมาณ 2,601 ล้านบาท ถือว่ามีเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากการใช้จ่ายยังติดลบทุกรายการ อาทิ การทำบุญ และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งโดยรวมประชาชนมีการใช้จ่ายประมาณ 1,311 บาทต่อคน เท่านั้น

“แม้ในวันมาฆบูชาในครั้งนี้ จะได้หยุดยาว 3 วันแต่ประชาชนยังมีความกังวลกับโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้เงินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่ควร แต่เศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวและเติบโตดีกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพราะในครั้งนี้ยังมีประชาชนที่ออกมาใช้จ่าย อาทิ ซื้อสัมฆภัณฑ์ ทำบุญ เวียนเทียน และทำทาน กันมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในวันมาฆบูชาไม่ได้สาหัสมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top