Sunday, 12 May 2024
The States Times EconBiz Team

กรมบังคับคดีจัดโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทยช่วยลูกหนี้จากโควิด-19 ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 91.51% ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงผลการช่วยเหลือลูกหนี้ในกระบวนการบังคับคดี จากการจัดโครงการ ‘ไกล่เกลี่ยทั่วไทยร่วมใจช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019’ ตามข้อสั่งการของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสร้างสังคมที่เป็นสุข

สำหรับโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทยร่วมใจช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโคโรน่า 2019 จะช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งกรมบังคับคดีได้จัดให้มีโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 - 31 มี.ค. 2564 ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดีและสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ 116 แห่ง โดยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจากัน ให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต้องถูกบังคับคดีหรือถูกฟ้องล้มละลาย

นางอรัญญา กล่าวอีกว่า กรมบังคับคดี ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน บริษัทบัตรเครดิต บริษัทลิสซิ่งเช่าซื้อ โดยผลการจัดโครงการดังกล่าว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 459 เรื่อง ทุนทรัพย์ 214,489,235.06 บาท ผลไกล่เกลี่ยสำเร็จ 345 เรื่อง ทุนทรัพย์ 147,935,604.71 บาท ความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยฯ คิดเป็นร้อยละ 91.51

ทั้งนี้กรมบังคับคดียังได้ยกระดับการให้บริการ ด้วยการเปิดบริการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี www.led.go.th การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Session Call โดยผู้ประสงค์จะเข้าไกล่เกลี่ยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรมบังคับคดี หมายเลขโทรศัพท์ 02 881 4840,02881 4940 , 02887 5072 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

‘จุรินทร์’ เตรียม "ลงนามข้อตกลงขายข้าว 1 ล้านตันต่อปี" หลังครม.อนุมัติร่าง MOU การค้าข้าว ไทย - อินโดนีเซีย เพิ่มโอกาสส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอินโด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำ MOU ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ของไทย กับ กระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์ขอจัดทำ MOU และได้ประชุมหารือประเด็นดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 โดยสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อขายข้าวปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเจรจาและทำสัญญากันต่อไป โดยที่ MOU ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี

"รัฐบาลอินโดนีเซียขอทำ MOU โดยเป็นข้าว 15% - 25% กับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสำรองข้าว เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (self-sufficiency policy) ส่งเสริมการปลูกข้าวภายในประเทศ เพื่อให้เพียงพอและนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่ในบางปีอินโดนีเซียประสบปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อบริโภคและเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ "

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การทำข้อตกลง หรือ MOU ดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางการค้าข้าวอันดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย

ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวไป อินโดนีเซีย ปริมาณ 89,406 ตัน มูลค่า 2,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 46.23

ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หวังช่วยลดภาระลูกหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร จากอัตรา 7.5% เป็น 3% ต่อปี กรณีผิดชำระลดจาก 7.5% เป็น 5% ต่อปี เตรียมส่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับสำคัญของประเทศ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร ด้วยการออกเป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย

โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยมากขึ้นหลังจากกฎหมายฉบับเดิมมีผลบังคับใช้มานานกว่า 95 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2468 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ตามกฎหมายเดิม ซึ่งมีผลบังคับใช้มาเกือบ 100 ปีนั้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ 7.5% ต่อปีนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้ง ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร ,เจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจน กำหนดให้ลูกหนี้เมื่อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด ,สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมและ และมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวม ดังนั้น จึงได้เสนอครม. เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของลูกหนี้จากการชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย แยกเป็น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด โดยจะแก้ไข มาตรา 7 ด้วยการปรับลดจากอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลัง จะทบทวนทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยจะแก้ไข มาตรา 224 ด้วยการปรับลดจาก 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้ เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี

ญี่ปุ่นจ่อพัฒนา ‘Gatebox’ เพื่อนสาวเสมือนจริง ขนาดเท่าคน ตอบโจทย์คนเหงา = ธุรกิจบริการ คาดเปิดขายช่วงแรกให้ฟากธุรกิจก่อน แต่ก็อาจจะขายให้คนทั่วไปด้วย

เว็บไซต์ SoraNews24 นำเสนอข่าวว่า Gatebox หรือเพื่อนสาวเสมือนกำลังจะถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่เท่าขนาดคนจริง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Gatebox บริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า Gatebox หรือ ‘อุปกรณ์อัญเชิญตัวละคร’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเครื่องชงกาแฟขนาดกะทัดรัด สามารถตั้งบนโต๊ะทำงานของคุณได้ โดย GateBox จะสร้างภาพ 3 มิติของตัวละครที่คุณชอบ มาคอยดูแลและให้กำลังใจคุณ (ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่ม ๆ) ในทุก ๆ วัน เช่น ปลุกคุณในตอนเช้า เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และสามารถสนทนาโต้ตอบกับคุณได้ตลอดทั้งวัน

ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ GateBox ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และล่าสุดทางบริษัทฯ มีแผนจะเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของ Gatebox ที่ใช้ชื่อว่า ‘Gatebox Grande’ ซึ่งเป็น Gate box ที่เพิ่มขนาดขึ้น ให้มีความสูงราว 165 เซนติเมตร หรือเท่าขนาดคนจริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของ Gatebox Grande ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gatebox รุ่นเดิม โดยมีระบบแสดงผลขนาดใหญ่ และมีขนาดเครื่องที่สูงราว 2 เมตร น่าจะเหมาะกับภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ต้อนรับเสมือนจริง เช่น ติดตั้งในร้านค้า สถานบันเทิง พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดงานต่างๆ และธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันดับแรก

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดขายให้กับคนทั่วไปที่มีกำลังทรัพย์และพื้นที่เหลือเฟือ (ภายในอพาร์ตเมนต์ของคนโสด) เพราะคาดว่าจะมีราคาที่สูงมากเช่นกัน (ราคารุ่นแรกร่วม 5 หมื่นบาท)

สำหรับ Gatebox เวอร์ชั่นก่อนหน้าไซส์ จะเป็นตัวการ์ตูนสาวที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในแท่งแก้ว สามารถโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี AI ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมประจำวันของเรา รวมถึงตัวเสื้อผ้าที่สวมใส่ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาในแต่ละวันได้เองอัตโนมัติ แถมยังสามารถรายงานสภาพอากาศ, เป็นนาฬิกาปลุก และควบคุมการเปิดปิดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านตามเวลาที่กำหนด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้คุณสามารถติดต่อสื่อสารกับ Gatebox ได้เหมือนมีเพื่อนสาวจริง ๆ แม้จะอยู่นอกบ้าน ซึ่งจะคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและอยู่ข้าง ๆ คุณในทุกช่วงเวลา

ส่วน GateboxGrande ก็มีความสามารถคล้ายกัน เช่น สามารถตรวจจับมนุษย์ได้และตัวละครสามารถตอบโต้กับผู้คนได้ เช่น กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนเมื่อพวกเขาเข้าใกล้ และขอบคุณพวกเขาเมื่อพวกเขาออกจากร้านไป เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามีตัวละครอยู่จริง ไม่ใช่แค่วิดีโอที่ถูกบันทึกไว้


ที่มา : 

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6096297

https://soranews24.com/2021/03/08/virtual-anime-wife-gadgets-go-life-size-with-gatebox-grande

รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ กลางปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 - 80 สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย

โดย คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น สสว. จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service: BDS) โดยสสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลง ซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

มือถือโนเกีย เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ Nokia 1.4 เล็งเจาะตลาดคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน ชูจุดขายรองรับแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ได้ ดีเดย์วางขายวันแรก 10 มีนา ราคา 2,690 บาท

นายราวี คุณวา ผู้จัดการทั่วไปของภูมิภาคแพนเอเชีย เอชเอ็มดี โกลบอล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญสำหรับธุรกิจมือถือ Nokia เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น และตลาดลูกค้าฟีเจอร์โฟนที่จะอัพเกรดมาใช้สมาร์ทโฟน เนื่องจากการเรียนออนไลน์และการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ ซึ่งความปกติใหม่นี้ยังส่งผลเร่งอัตราการใช้สมาร์ทโฟน เนื่องจากผู้บริโภคต้องการสมาร์ทโฟนเพื่อใช้เช็คอิน QR code ผ่านทางแอปฯ ‘ไทยชนะ’ ในการติดตามการติดต่อ

นอกจากนี้ ยังรองรับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ด้วยความสามารถใช้งานแอปฯ อื่น ๆ เช่น โมบายแบงก์กิ้ง หรือการทำธุรกรรมทางการเงินยบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น โดยมีประสิทธิภาพการสแกนใบหน้าและการสแกนคิวอาร์โค้ด ด้วยกล้องมาโคร สามารถจับภาพระยะใกล้ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารต่าง ๆ ง่ายขึ้น พร้อมจุดเด่นแบตเตอรี่สามารถใช้ได้นานถึง 2 วัน

ด้าน ภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล กล่าวเสริม Nokia 1.4 ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันในยุคที่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อการเช็คอินโลเคชั่นบนแอปฯ ‘ไทยชนะ’ ‘หมอชนะ’ ตามมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 แอปฯ เป๋าตัง ทั้งการสแกนหน้ายืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและเยียวยาต่าง ๆ รวมถึงการโอนเงิน เติมเงิน และจ่ายเงิน ผ่านแอปฯ ของธนาคาร ช่วยให้ใช้งานแอปฯ ที่กล่าวมาได้แบบไม่ติดขัด

สำหรับ Nokia 1.4 เริ่มจำหน่ายในประเทศไทยในวันที่ 10 มีนาคม 2564 มีให้เลือก 2 สี คือ สี Fjord (สีฟ้า) และ สี Charcoal (สีเทาดำ) ในราคา 2,690 บาท

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขาดทุนหนัก หลังผลผลิตล้นตลาดวันละกว่า 4 ล้านฟอง เหตุผลหลักนักท่องเที่ยวหายจากสถานการณ์โควิด ส่งผลราคาปรับลงต่อเนื่อง เหลือ 2.50 บาทต่อฟอง ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 2.58 บาทต่อฟอง

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาไข่ไก่ได้ปรับลดลงต่อเนื่อง จนไข่คละหน้าฟาร์มเหลือเพียงฟอง 2.50 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงไข่ไก่ที่ฟองละ 2.58 บาท และราคาที่ผู้เลี้ยงไข่ไก่ควรจะขายได้อยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาตกต่ำ

ซึ่งมีสาเหตุมาจากในช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดได้ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดอย่างมากถึงวันละ 4 ล้านฟอง จากปกติมีผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 42 ล้านฟองต่อวัน แต่กลับมีการบริโภคเพียง 38 ล้านฟอง

ทั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และยังเผชิญปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดอีกด้วย ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่มีการบริโภคอยู่ถึงวันละ 2 ล้านฟอง ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจำนวนนี้หายไปทำให้ไข่ไก่ส่วนเกินจึงเข้ามาในตลาดเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจึงมีมติมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไข่ไก่ราคาตกต่ำ โดยได้ประสานสถานีบริการน้ำมันทั้งพีทีที และบางจาก ช่วยนำไข่สดไปตั้งขายภายในสถานีน้ำมันเป้าหมาย 20 ล้านฟอง โดยจะนำไข่ไก่เบอร์ 3 ขายแผง 30 ฟอง ราคา 70 บาท รวมถึงจะเร่งผลักดันไข่ไก่ 200 ล้านฟองออกจากตลาด ด้วยการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยรัฐบาลจะสนับสนุเงินชดเชยให้เอกชน 100 ล้านฟองแรก ในราคาฟองละ 50 สตางค์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

วัยรุ่นเตรียมเฮ ททท.ปรับเกณฑ์หนุนท่องเที่ยวไทย เล็งเสนอโครงการใหม่ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ แจก 5,000 บ. ช่วยค่าเที่ยว ผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยวในราคาแพคเกจขั้นต่ำ 12,500 บาท เป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน แทนที่ ‘เที่ยวไทยวัยเก๋า’

รัฐบาลแจกเก่ง ล่าสุดเตรียมสนับสนุนให้คนไทยออกมาเที่ยวช่วงสงกรานต์ โดยเพจ ‘เราชนะ’ ได้ออกมาโพสต์ว่า

เตรียมเฮกันเลย จัดให้ทั้งวันหยุดและเงินเที่ยว สงกรานต์ปีนี้ หยุดยาว 6 วัน (10 - 15 เม.ย)

แต่เท่านั้นยังไม่พอ จัดให้อีกต่อ เตรียมเปิดโครงการใหม่ "ทัวร์เที่ยวไทย" แจก 5,000 บ. ช่วยค่าเที่ยว เพียงอายุ 18 ปีขึ้นไป แทนที่เที่ยวไทยวัยเก๋าที่กำหนดอายุ 55 ปีขึ้นไป (รอรายละเอียดเต็มหลังมติ ครม.)

รายละเอียดเบื้องต้น

- อายุ 18 ปีขึ้นไป

- สมทบเงินสูงสุด 5,000 บ./คน ให้ออกเดินทางเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ (โดยจะสมทบเงินให้ 40% ของแพคเกจ)

** สำหรับรายละเอียดทัวร์เที่ยวไทยเต็ม ๆ ต้องรอสรุป มติ ครม.คาดว่าจะออกมาเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยความคืบหน้าโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และเที่ยวไทยวัยเก๋า ว่า ทาง ททท.จะหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมามากขึ้น และหากผ่านการพิจารณาของสศช. จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อย ภายใต้ชื่อ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ ที่จะขยายกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมระดับอายุมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้สูงวัยเท่านั้น โดยจะสมทบเงินให้ 40% หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยวในราคาแพคเกจขั้นต่ำ 12,500 บาท เป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน

ซึ่งจะทำให้บริษัททัวร์ รับคนเข้าร่วมโครงการได้จำนวน 3,000 คนต่อ 1 บริษัท รวมบริษัททัวร์ประมาณ 300 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 เดือน ซึ่งขณะนี้ยังต้องหารือกันอีกครั้งว่า สรุปแล้วเงินที่รัฐบาลจะสมทบให้นั้น จะส่งตรงไปยังผู้ใด ระหว่างบริษัทหรือผู้ใช้สิทธิ

ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้แนวทางมาว่า ควรส่งตรงไปยังบริษัทมากกว่า เพราะจำนวนน้อยกว่าประชาชนใช้สิทธิ รวมถึงหากมีการผิดปกติหรือต้องดำเนินการตรวจสอบใด ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายกว่าด้วย

ขณะเดียวกัน ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ รัฐบาลประกาศหยุดยาว 6 วันตั้งแต่วันที่ 10 - 15 เมษายน 2564 ททท.ยืนยันว่าในปีนี้มีการจัดงานสงกรานต์แน่นอน ส่วนการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวจะออกมาในรูปแบบใดยังต้องพิจารณาในระยะใกล้ ๆ อีกครั้ง เพราะมีหลากหลายวิธี อาทิ การเล่นน้ำสงกรานต์แบบวัฒนธรรมดั้งเดิม การฉีดน้ำได้หรือไม่ได้ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง


ที่มา : 

https://web.facebook.com/105309981534467/photos/a.105323294866469/120967176635414/

https://www.matichon.co.th/economy/news_2608546

‘สุริยะ’ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยกระดับการตรวจโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายแบบทางไกล (Remote Inspection) เน้นอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้วิถีปกติใหม่ (New Normal) โดยเริ่มให้บริการนำร่องโรงงานกว่า 5,000 โรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล

ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการออกใบอนุญาต และได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตโรงงาน

ล่าสุดได้สั่งการให้ กรอ. ยกระดับการให้บริการด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ตรวจโรงงานทางออนไลน์ เพื่อให้การกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ได้อย่างทั่วถึง

รวมทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้บริการนำร่องโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ กทม. กว่า 5,000 โรงงาน เริ่มดำเนินการตั้งเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงาน อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการออกประกาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยการตรวจสอบโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายแบบทางไกล (Remote Inspection)

โดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจโรงงานแทนการลงพื้นที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภัยธรรมชาติ หรือจากสถานการณ์อื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่จะประสานงานการตรวจแบบ ทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น

“ประกาศของ กรอ. ในเรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน หรือผู้ที่ครอบครองวัตถุอันตราย ต้องจัดส่งรายงานการตรวจประเมินแบบทางไกล หรือแบบฟอร์มการตรวจติดตามสถานที่ เก็บวัตถุอันตรายทาง E-mail, Line

ซึ่งหาก กรอ. พิจารณาแล้วเห็นว่ารายงานดังกล่าว มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือ การประกอบกิจการไม่สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด อาจให้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น Zoom, Skype, Microsoft Teams, Line VDO Call เพื่อให้สามารถเห็นภาพการประกอบกิจการได้ชัดเจน หรือหากมีข้อสงสัยก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว โดยเริ่มนำร่องในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ กทม. จำนวน 5,592 โรงงานก่อน และจะขยายผลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย

พลิกเกมธุรกิจ ‘เชฟชุมพล’ จากเชฟห้องครัว สู่เชฟครัวโลก | Game Changer เก่งพลิกเกม EP.3

หลายคนอาจจะรู้จัก เชฟชุมพล - ชุมพล แจ้งไพร หรือ เชฟกระทะ ในบทบาทของเชฟอาหารไทยระดับประเทศ แต่น้อยคนนักจะทราบว่า ตัวเขาเองก็มีหมวกอีกใบในการเป็นนักธุรกิจตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่การทำธุรกิจแผงหนังสือ จนก้าวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยทั้งในไทยและต่างประเทศ

แต่ในวันนี้ วันที่โควิด-19 ได้ลุกลามอุตสาหกรรมร้านอาหารแบบวงกว้าง เขาก็ต้องหาทางพลิกเกมเพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไป

เจาะ 3 ธุรกิจใหม่ ‘เชฟชุมพล’ พลิกบทบาท จากเชฟห้องครัว สู่เชฟครัวโลก เพื่อตอบโจทย์โลกแห่งธุรกิจการอาหารยุคใหม่ เขาจะมีอะไรมาให้เซอร์ไพรซ์ไปติดตามกันได้ใน Game Changer เก่งพลิกเกม EP.3

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top