Monday, 13 May 2024
อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ (ยีนส์)

สหรัฐฯ อ่วม!! ประสบปัญหา 'สมองไหล' นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิ ย้ายหนีกลับจีน

สหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ระดับมันสมองไปต่างประเทศเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน จีนกลับได้อานิสงส์จากกระแสย้ายถิ่นของนักวิชาการจากอเมริกาเพิ่มขึ้นหลายเท่าในรอบทศวรรษ

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับรัฐบาลเปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกากำลังเสียนักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิ ที่ต่างเคยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำนับพันคนให้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะ ‘จีน’ ที่กำลังอัดฉีดแคมเปญดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ระดับสูง ให้มาร่วมงานกับสถาบันการศึกษาของจีนเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างตัวเลขที่มีการเปิดเผยว่า ในปี 2021 ปีเดียว จีนได้ตัวนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศไปร่วมงานราว ๆ 2,408 คน แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่ว้าวอะไร แต่หากเทียบกับข้อมูลในปี 2017 จะพบว่า สหรัฐอเมริกาสามารถดึงนักวิจัยต่างชาติได้ถึง 4,292 คน ในขณะที่จีนได้เพียง 116 คน เท่านั้น 

เท่ากับจีน มีตัวเลขนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติที่ก้าวกระโดดหลายเท่าตัว กลับกันกับสหรัฐฯ ที่นอกจากจะสูญเสีย ‘เสน่ห์’ ในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแล้ว ยังเสี่ยงเจอปัญหาสมองไหล ถูกต่างชาติดึงตัวนักวิจัยเก่ง ๆ ไปด้วย

กระแสสมองไหลในอเมริกา เริ่มเกิดขึ้นก่อนจะเกิดวิกฤติการระบาด Covid-19 ในโลกเสียอีก โดยมีเหตุและปัจจัยจากนโยบายของอดีตผู้นำสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จุดประกายสงครามการค้ากับจีน ซึ่งช่วงเวลานั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้กฎหมายเล่นงานนักวิชาการจากจีน ด้วยข้อหาละเมิดสิทธิทางปัญญา ไปจนถึงการเป็นสายลับ จารกรรมข้อมูล

ด้วยการดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อจีน มีส่วนกดดันสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับนักวิชาการจีน หรือเพียงแค่มีเชื้อสายจีน มีการข่มขู่ คุกคามที่จะฟ้องร้อง ดำเนินคดีนักวิชาการเหล่านั้น หรือตัดสิทธิ์นักศึกษาจีนไม่ให้เข้าเรียนในสถาบันของสหรัฐฯ ได้

นับเป็นช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างนักวิชาการเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ โดยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติเปิดเผยว่า มีการไล่นักวิชาการจีนมากกว่า 100 คน รวมถึงการปิดศูนย์วิจัยกว่า 150 โครงการ ซึ่งกว่า 80% เป็นงานของนักวิจัยเชื้อสาย ‘เอเชีย’ 

แอนดรูส์ อี. เลลลิง อัยการสหรัฐฯ ยอมรับว่า การกดดันทางกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมา สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในแวดวงวิชาการสหรัฐฯ อย่างมาก และสร้างความอึดอัดใจในการทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศทั่วโลก ที่ล้วนมีนักวิจัยจากหลากหลายเชื้อชาติ หรือเคยรับทุนวิจัยส่วนหนึ่งจากรัฐบาลจีนมาก่อน

‘สหรัฐฯ’ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ หลังสภาพคล่องติดขัด เงินสดเหลือใช้ไม่ถึงกลางปี 66 ลุ้น!! นโยบายยืดชีวิต

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกอาการหวั่นวิตก ว่าเงินคงคลังในประเทศกำลังหมด ซึ่งอาจนำไปสู่สัญญาณอันตรายว่าสหรัฐฯ มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก เสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้ หากสภาคองเกรซไม่เร่งพิจารณานโยบายเพิ่มเพดานหนี้ หรือ ระงับอำนาจในการกู้เงินในประเทศ ก่อนภาคธุรกิจการเงินของโลกจะปั่นป่วนรุนแรง 

ทั้งนี้ เจเน็ต ยังได้ส่งจดหมายตรงถึงทั้งประธานสภาผู้แทน และ วุฒิสภา ให้เร่งพิจารณานโยบายดังกล่าวเพื่อปกป้องศรัทธา และความน่าเชื่อมั่นของสหรัฐอเมริกาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยได้อ้างถึงแผนการจำกัดวงเงินกู้จำนวน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นอำนาจการกู้เงินตามกฎหมาย

รัฐมนตรีคลังหญิง หนักใจกับความหนักหนาสาหัสของสภาพคล่องในกองคลังของสหรัฐฯ ถึงขนาดกล่าวออกมาว่า ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เงินสดจะหมดคลังสหรัฐฯ เมื่อไหร่ แต่หากประเมินจากรายได้ภาษีในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และ ระดับค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง คาดว่ามีกระแสเงินสดใช้จ่ายได้ถึงแค่ต้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น

‘เนเธอร์แลนด์’ ผุดแคมเปญไล่นักท่องเที่ยวตลาดล่าง อย่ามาอัมสเตอร์ดัม ทำภาพลักษณ์เมืองเสียหาย

ในขณะที่หลายประเทศในโลก พยายามอัดแคมเปญส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในบ้านเยอะๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ก็มีบางประเทศที่ทำตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ถึงขนาดออกแคมเปญไล่นักท่องเที่ยว โดยเจาะจงไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดล่าง ที่เข้ามารบกวน ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของเมือง

ประเทศที่ว่า ก็คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยที่กรุงอัมสเตอร์ดัมตอนนี้ มีแคมเปญใหม่ล่าสุด เป็นการขึ้นป้ายบิลบอร์ด ไล่นักท่องเที่ยวกันซึ่งๆ หน้าว่า "หากคุณกำลังวางแผนเที่ยวแบบหัวราน้ำที่อัมสเตอร์ดัมอยู่ล่ะก็ ขอให้คิดใหม่ เพราะเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์แห่งนี้ ไม่ต้อนรับพวกคุณ"

นอกจากนี้ยังมีการทำคลิปโฆษณา จำลองเหตุการณ์ตำรวจจับนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่เมา โวยวายตามสถานบันเทิงยามค่ำคืน ชาวต่างชาติที่เสพยาเกินขนาดจนต้องหามส่งโรงพยาบาล หรือนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาโรงแรมถูกๆในอัมสเตอร์ดัมเพื่อมาหาเพื่อนสายปาร์ตี้เอาดาบหน้าที่อัมสเตอร์ดัม  พร้อมขึ้นคำเตือนว่า "อยากมาลองเมาเละที่อัมสเตอร์ดัม = โทษปรับ 140 ยูโร + ติดประวัติอาชญากรรม?" 

นายโซฟอัน มบาร์กี รองผู้ว่าการกรุงอัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแคมเปญ ‘Stay Away - ไปให้ห่างจากอัมสเตอร์ดัม’ ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าชาวกรุงอัมสเตอร์ดัม ไม่อยากได้นักท่องเที่ยว เพียงแต่เราไม่ต้องการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไร้คุณภาพ มีเป้าหมายเพียงเพื่อมาหาที่เมา ที่เสพ และอาละวาด เสียงดังจนชาวบ้านเดือดร้อน เรายอมจำกัดการเติบโตด้านการท่องเที่ยวดีกว่า เพื่อแลกกับบรรยากาศเมืองที่น่าอยู่

สิ่งที่น่าแปลก แต่จริง ก็คือ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ทำให้ทางการอัมสเตอร์ดัมต้องหาทำแคมเปญไล่นักท่องเที่ยวในครั้งนี้ คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชายชาวอังกฤษ อายุตั้งแต่ 18-35 ปี ที่หลายครั้งพบว่ามา สร้างปัญหาเมื่อข้ามฝั่งมาเที่ยวที่เนเธอร์แลนด์

ชาวมุสลิมเชื้อสายปากีฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ เตรียมนั่งแท่นนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์

หลังจากที่อังกฤษเพิ่งได้ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่มีเชื้อสายอินเดียคนแรกไปแล้ว คราวนี้ ที่สกอตแลนด์ ก็กำลังจะได้ผู้นำที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียอีกคน นั่นคือ 'ฮัมซา ยูซาฟ' นักการเมืองดาวรุ่งวัยเพียง 37 ปี เชื้อสายปากีสถาน หลังคว้าชัยการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของพรรคชาติสกอต (SNP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลสกอตแลนด์ 

และทำให้นาย ฮัมซา ยูซาฟ ขึ้นแท่นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสกอตแลนด์ ต่อจาก นิโคลา สเตอร์เจียน อดีตหัวหน้าพรรค SNP และผู้นำสกอตแลนด์ ที่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี

ฮัมซา ยูซาฟ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งที่สนับสนุน นิโคลา สเตอร์เจียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบายการพาชาติสกอตแลนด์เป็นเอกราช ไม่รวมเป็นส่วนหนึ่งกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป และเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจะผลักดันให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ ฮัมซา ยูซาฟ ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงการจัดลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่

ฮัมซา ยูซาฟ เกิดและเติบโตที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ บิดาของเขาเป็นชาวปัญจาบ จากปากีสถาน มารดาเป็นชาวเคนยา ทั้งคู่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในสกอตแลนด์ โดยบิดาของยูซาฟ ทำงานเป็นนักบัญชี และพยายามส่งเสริมให้เขาได้เรียนโรงเรียนชั้นดี อย่าง Hutchesons' Grammar School หนึ่งในโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก โดยหวังให้เขาเลือกเรียนสายวิชาชีพระดับสูง เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ หรือนักบัญชีอย่างบิดา

แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของ ฮัมซา ยูซาฟ เกิดขึ้นในวันที่สหรัฐอเมริกาถูกก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 9/11 เขาถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนมองเขาในสายตาที่เปลี่ยนไป และเข้ามาเค้นหาคำตอบจากเขาว่าทำไมชาวมุสลิมถึงเกลียดได้สหรัฐอเมริกาขนาดนี้

จากวันนั้นทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างมาก และเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ทำกิจกรรมด้านสังคมมาโดยตลอด เป็นประธานสมาคมนักศึกษามุสลิม และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค SNP ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

'สาวเกาหลีใต้' แอบปลอมใบเกิดเพื่อเข้าโรงเรียนมัธยม โหยหาชีวิตในรั้ว หลังชีวิตนอกรั้วไม่รื่นรมย์อย่างที่ฝัน

โลกโซเชียลสหรัฐฯ ฮือฮา เมื่อพบสาวใหญ่วัย 29 ปีสัญชาติเกาหลีใต้ ปลอมตัวเป็นเด็กสาววัยรุ่น เพื่อสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐนิว เจอร์ซีย์ แถมยังได้นั่งเรียนในชั้นเรียนจริง แลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์กับเพื่อนร่วมชั้น และยังได้นัดคุยกับอาจารย์แนะแนว ปรึกษาปัญหาชีวิตกันนานเกือบสัปดาห์กว่าทางโรงเรียนจะจับได้ว่าเธอใช้ใบเกิดปลอมเพื่อสมัครเข้ามาเป็นนักเรียนมัธยม

ชิน ฮเย-จอง สาวชาวเกาหลีใต้ สาวใหญ่ หัวใจมัธยม ปัจจุบันยังถือสัญชาติเกาหลีใต้ แต่ย้ายมาเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาด้วยตัวคนเดียวตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี โดยเธอเคยเข้าโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในรัฐนิว เจอร์ซีย์ ก่อนที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Rutgers University จนจบการศึกษา 

แต่ชีวิตนอกรั้วสถาบันการศึกษาไม่ได้รื่นรมย์ดังที่ฝัน ชิน ฮเย-จอง พบกับความผิดหวัง จบชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง ต้องอยู่อย่างเงียบเหงาห่างไกลครอบครัวที่บ้านเกิด ทำให้เธอโหยหาชีวิตที่เคยสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในรั้วโรงเรียน และต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นอีกสักครั้ง เธอจึงตัดสินใจปลอมใบเกิด และสมัครเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาใหม่อีกครั้ง ในสถานะเด็กวัยรุ่น อายุ 16 ปี 

และสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่ New Brunswick High School ได้จริงๆ เธอตอบรับเข้าเรียน แต่งตัวมาโรงเรียน เข้าชั้นเรียน นัดพบอาจารย์แนะแนว แลกเบอร์โทรกับเพื่อนใหม่ๆ ในชั้น และกำลังจะมีนัดสังสรรค์นอกเวลาเรียนกับเพื่อนในห้องด้วย 

‘ผอ.CIA’ เย้ย ‘จีน’ ยากยึดไต้หวันภายในปี 2027 ฟาก ‘จีน’ เชื่อ!! ไต้หวัน ไม่เหมือน ยูเครน!!

(28 ก.พ. 66) ไม่นานมานี้ วิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการสำนักหน่วยข่าวกรองสหรัฐ (CIA) ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ (26 ก.พ. 66) ว่า สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่เตรียมจะยกพลบุกไต้หวันอย่างแน่นอนภายในปี 2027 นั้น เริ่มกังวลถึงแสนยานุภาพของกองทัพจีนว่าจะทำสำเร็จหรือไม่?

แม้ทุกคนรู้ว่า จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และต้องการผนวกดินแดนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2027 ในยุคสมัยของ สี จิ้นผิง แต่สิ่งที่ ผอ. CIA คนนี้ได้ตั้งข้อสงสัยว่า หาก สี จิ้นผิง มีความคิดที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดครองไต้หวันจริง ๆ ผู้นำจีนจะยังมั่นใจอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ ที่กองทัพจีนจะสามารถยึดไต้หวันได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ 

เพราะจากตัวอย่าง สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ที่ผ่านมา ซึ่งเคยคาดว่า กองทัพรัสเซียจะสามารถยึดเมืองเคียฟได้อย่างง่ายดาย แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเสียแล้ว จากความช่วยเหลือด้านอาวุธของสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก ที่เสริมให้กองทัพยูเครนมีศักยภาพเพียงพอที่จะยื้อการสู้รบกับกองทัพรัสเซียได้นานเป็นปี และสร้างความบอบช้ำให้กับรัสเซีย ทั้งในด้านการทหาร และเศรษฐกิจอย่างมาก 

ผ.อ. CIA ผู้นี้ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำชัดอีกว่า จากผลลัพธ์ของสงครามในยูเครน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะไม่ยอมให้จีนยกกองทัพรุกรานไต้หวันอย่างเด็ดขาด และพร้อมจะใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงเหมือนกัน ถ้าเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว 

วิลเลียม เบิร์นส มั่นใจ ว่าหากสหรัฐอเมริกาแสดงจุดยืนแข็งกร้าวกับจีนในข้อพิพาทไต้หวัน จะทำให้จีนต้องกลับมาประเมินศักยภาพกองทัพตัวเองใหม่ เพราะการเปิดศึกครั้งนี้ จะไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลจีนคิดอีกต่อไป 

ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวัน เกิดขึ้นในปี 1949 เมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์จีน ของ เหมา เจ๋อตุง ชนะสงครามกลางเมืองและจัดตั้งรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง พรรคก๊กมินตั๋งของ เจียง ไคเช็ก จึงลี้ภัยมาจัดตั้งรัฐบาลของตนเองบนเกาะไต้หวัน 

แล้วหลังจากนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ประกาศตนเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนใหญ่บนเวทีโลก แต่สุดท้ายในปี 1978 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศรับรองรัฐบาลปักกิ่งเป็นรัฐบาลจีนเดียว ตามมาด้วยการถอนการรับรองสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในสมัยของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ที่ทำให้ไต้หวันถูกลดบทบาท กลายเป็นดินแดนปกครองตนเองที่ถูกจีนอ้างสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจีนเดียวนับแต่นั้นมา

สหรัฐฯ เดือด!! ปูติน เปิดทำเนียบรับ ‘หวังอี้’ พร้อมชวน ‘สีจิ้นผิง’ เยือนยกระดับความสัมพันธ์

ท่ามกลางความตึงเครียดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่นโยบายด้านการต่างประเทศก็ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งวันนี้ (23 ก.พ.66) วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้เปิดทำเนียบต้อนรับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากจีน ที่ได้มาเยือนกรุงมอสโก ก่อนวันครบรอบ 1 ปี วันเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนเพียงวันเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง จีน และ รัสเซีย ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

โดย นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้กล่าวกับปูติน ว่า จีน และ รัสเซีย พร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ และ เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม และคาดหวังว่าจะได้ฉันทามติในข้อตกลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ด้าน ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้กล่าวกับตัวแทนจากจีนว่า ความร่วมมือด้านการค้าระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดมาก ทำรายได้โตขึ้นถึงเกือบ 2 แสนล้านเหรียญ คาดว่าน่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาที่ 1.85 แสนล้านเหรียญอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ปูติน ยังกล่าวกับ หวัง อี้ อีกด้วยว่า ทางรัฐบาลรัสเซียรอคอยการมาเยือนของผู้นำจีน ที่เคยมีกระแสข่าวว่ามีแผนการเยือนรัสเซียในเร็วๆนี้ เพื่อหารือข้อตกลงใหม่ๆ โดยย้ำว่าข้อตกลงที่ผ่านมาล้วนคืบหน้าไปด้วยดี และราบรื่น รวมถึงความร่วมมือระหว่างจีน และ รัสเซีย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสถียรภาพในสถานการณ์ของโลกในวันนี้ 

หากมองดูให้ดีแล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของผู้นำชาติมหาอำนาจอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟแบบ Surprise Visit เป็นการตอกย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งได้มาเยือนกรุงมอสโก ก็สร้างความวิตกกังวลกับนานาชาติว่า ความขัดแย้งจะเพิ่มดีกรีให้ร้อนแรงขึ้นจนเลยขีดความสงครามเย็น จนกลายเป็นสงครามโลกหรือไม่ 

นี่ยังไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง จากกรณีพบบอลลูนสัญชาติจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ 

เกี่ยวกับกรณีนี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า จีนกำลังเตรียมที่จะส่งอาวุธสนับสนุนให้กับฝ่ายรัสเซีย เพื่อใช้ในการสู้รบที่ยูเครน ตามมาด้วยคำขู่ของ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนที่ออกมาโจมตีว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนส่งอาวุธสนับสนุนรัสเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 และรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ชาวอเมริกัน เซ็ง!! ผู้นำละเลยปัญหาในประเทศ หลังเห็น ‘ไบเดน’ โผล่ไป Surprise Visit ที่ยูเครน

เมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ. 66) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เดินทางไปพบ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนถึงกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนแบบไม่แจ้งกำหนดการณ์ล่วงหน้า หรือ Surprise Visit และกลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ที่เห็นผู้นำสหรัฐสวมหัวใจเด็ด เดินทางไปเยือนประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ที่มีขีปนาวุธของรัสเซียล็อกเป้าจ่ออยู่หน้าบ้าน 

ซึ่งการมาเยือนยูเครน ของผู้นำสหรัฐในวันนี้ มีนัยทางการเมืองที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากใกล้วันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียเริ่มแผนปฏิบัติการทหารในยูเครนวันแรก - 24 กุมภาพันธ์ 2565 - โดยฝ่ายกลาโหมของยูเครนเคยออกมารายงานว่า รัสเซียมีแผนที่จะโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้งในวันครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน อ้างอิงจากข้อมูลการเกณฑ์กำลังพลเพิ่มจากทั่วประเทศ และการเร่งยึดครองพื้นที่ในเขตยูเครนตะวันออก  

การมาเยือนของไบเดน จึงเป็นการสื่อสารโดยตรงกับฝ่ายรัสเซีย และพันธมิตรชาติตะวันตกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2 สหรัฐอเมริกายังคงอยู่สนับสนุนยูเครนต่ออย่างเปิดเผย และไบเดนยังประกาศอีกด้วยว่า สหรัฐจะอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือยูเครนเพิ่มให้อีก 500 ล้านดอลลาร์ จากงบเดิมที่เคยอนุมัติมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่ส่งทั้งเงิน และ ยุทโธปกรณ์สนับสนุนฝ่ายยูเครนมากที่สุด และมากกว่ากลุ่มพันธมิตรชาติยุโรปรวมกันเสียอีก 

แต่ทว่า การที่โจ ไบเดน เลือกที่จะมาเยือนยูเครนในวันนี้ ก็มีนัยยะบางอย่างกับชาวอเมริกันเหมือนกัน เนื่องจากว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นั้นตรงกับวันสำคัญที่เรียกว่า ‘วันประธานาธิบดี’ ของสหรัฐฯ วันที่ระลึกถึง จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นำกองทัพเอาชนะสงครามปฏิวัติอเมริกา และสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ 

แต่โจ ไบเดน กลับเลือกเอาวันนี้มา Surprise Visit ที่ยูเครนแทน จึงทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนมองว่าโจ ไบเดน เลือกให้ความสำคัญกับยูเครนมากกว่าชาวอเมริกันเสียแล้ว 

สมาชิกสภาผู้แทนจากพรรครีพับลิกันหลายคนออกมาโจมตี โจ ไบเดน ว่าผู้นำสหรัฐฯ ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง อีสต์ ปาเลสไตน์ ในรัฐโอไฮโอ เมืองที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสารเคมีตกรางกว่า 10 ขบวน และปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นในเขตชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยเลือกที่จะเดินทางไปยูเครนแทน ในวันประธานาธิบดีแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญกับชาวอเมริกันเช่นกัน

'จีน' หัวใส นำ ‘กากไขมัน’ จากเหลาหม้อไฟ ส่งให้ยุโรปไปผลิตน้ำมันเติมเครื่องบิน

บริษัทจีนหัวใส นำไขมันเหลือทิ้งจากหม้อไฟกว่า 1.2 หมื่นตันในแต่ละเดือน ส่งออกเป็นพลังงานเครื่องบินได้

หม่าล่าหม้อไฟเสฉวน ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน นอกจากรสชาติจะเข้มข้น เผ็ดร้อน ยังอุดมไปด้วยไขมันจากพืช และ สัตว์ ที่ช่วยให้รสชาติกลมกล่อม และนุ่มนวลขึ้น เป็นที่ถูกใจชาวจีนอย่างยิ่ง จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นร้านหม้อไฟอยู่ทุกหน ทุกแห่ง ในประเทศจีน 

และในแต่ละปี ก็จะมีไขมันเหลือทิ้งจากภัตตาคารหม้อไฟเป็นจำนวนมาก เฉพาะในนครเฉิงตูก็มีไขมันเหลือทิ้งมากถึง 12,000 ตันในแต่ละเดือน จึงเริ่มมีความคิดที่ว่า เราสามารถนำไขมันเหล่านี้ไปทำอะไรได้บ้าง?

จนในปี 2016 มีบริษัท Start-up ในเฉิงตู ได้ตระเวนเก็บเศษไขมันจากร้านอาหารเอาไปขายต่อให้กับโรงกลั่นในสิงคโปร์ และ ยุโรป เพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่เป็นน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบิน เป็นไปได้หรือนี่!

จากกระแสตื่นตัวเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กดดันอุตสาหกรรมการบินที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศอยู่ราวๆ 2% ให้พยายามหาแหล่งพลังงานสะอาด ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยลง ด้วยเหตุนี้ สายการบินชั้นนำของโลก อาทิ British Airways, Cathay Pacific และ Delta ออกมาประกาศว่าใช้แหล่งพลังงานสะอาดทดแทนให้ได้ 10% ของน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลภายในปี 2030 

น้ำมันเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมร้านอาหารจึงตอบโจทย์ในด้านพลังงานยั่งยืน จากการรีไซเคิลน้ำมันที่มีอยู่เดิม ลดปริมาณการถางป่าเพื่อเพาะปลูกพืชน้ำมันใหม่ อีกทั้งภัตตาคาร ร้านอาหารจีน ก็ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะ หม้อไฟที่มีส่วนประกอบของไขมันจำนนมาก จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเหลือใช้รายใหญ่ที่สุดในโลก

กูรูระดับโลกชื่นชมศักยภาพของ ‘เงินบาท’ ‘แข็งแกร่ง-มีเสถียรภาพ’ แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ

รูชีร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ประธานบริษัทการเงินระดับโลก Rockefeller Capital Management ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกมานานเกือบ 30 ปี ได้กล่าวถึง ‘เงินบาท’ ของไทยด้วยความชื่นชม ผ่านคอลัมน์ของ Financial Times (12 ก.พ. 2566) เนื่องด้วย เดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปี ที่เขาเคยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ อย่างหนักและลุกลามไปหลายประเทศในเอเชีย

ในช่วงเวลานั้น ค่าเงินบาทของไทยลดค่าลงอย่างรุนแรงกว่า 40% ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หดตัวลงถึง 20% ในพริบตา ตลาดหุ้นดิ่งเหวกว่า 60% สถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หนี้สาธารณะพุ่งสูงจนรัฐบาลไทยต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุน IMF 

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2541 มานั้น แทบไม่มีนักลงทุนต่างชาติคนไหนกล้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มองไม่เห็นอนาคต เป็นหนึ่งในวิกฤติการเงินที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย

แต่สุดท้าย เงินบาทก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของภูมิภาคอาเซียน สามารถรักษามูลค่าไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง กว่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ และดูดีกว่าเงินสกุลของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ชาติ หากไม่นับ รวม Swiss Franc ด้วยซ้ำไป นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

หนึ่งในข้อดีของวิกฤติค่าเงินในครั้งนั้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโต เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกลงมาก จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยว และ ภาคบริการรองรับที่ดี ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย แม้ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้วก็ตาม จากประเทศที่เคยเป็นศูนย์กลางของวิกฤติค่าเงินกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายๆ ประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top