‘ลาว’ วิกฤติ!! ‘ยาบ้า’ ทะลักเกลื่อนตลาด ราคาถูกยิ่งกว่าน้ำเปล่า หน่วยปฏิบัติงานหย่อนยาน มุ่งดักจับแค่เป็นรายกรณีเกินไป

‘องค์การสหประชาชาติ’ วิตก ปัญหายาเสพติด ประเภท ‘เมทแอมเฟตามีน’ แพร่ระบาดอย่างหนักในท้องตลาด ‘ลาว’ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ราคาขายต่อเม็ดเหลือไม่เกินเม็ดละ 8 บาท ถูกยิ่งกว่าน้ำดื่มทั่วไป ดันยอดผู้เสพยาพุ่งเพราะเข้าถึงง่าย ซื้อขายคล่อง สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในลาว

ชาวลาวเรียก ‘เมทแอมเฟตามีน’ ว่า ‘ยาบ้า’ เช่นเดียวกับบ้านเรา ซึ่งเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายอย่างในลาวมานานนับ 10 ปีแล้ว เนื่องจากลาวเป็นเส้นทางขนส่งยาบ้า จากรัฐฉานทางฝั่งพม่าข้ามรอยต่อชายแดนเข้ามาในลาว

แต่ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการแตกแยกทางการเมือง และสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายในพม่า ส่งผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดในพม่าเติบโตอย่างมาก การลักลอบขนยาเสพติดผ่านเข้ามาในลาวก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อมีของเข้ามามาก ราคาก็ถูกลงตามกลไกตลาด ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับปัจจัยค่าเงินเฟ้อในลาว ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานที่จำเป็นล้วนมีราคาสูงขึ้น มีแต่ยาบ้าเพียงเท่านั้น ที่นับวันราคายิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีฐานะยากดีมีจนขนาดไหนก็สามารถซื้อได้

นายบุญมี ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ ‘Transformation Center’ หนึ่งในศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเอกชน ที่มีเพียง 2 แห่งในลาว ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วง Covid-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพในลาวเพิ่มสูงขึ้น ข้าวของทุกอย่างล้วนขึ้นราคา แต่ยาบ้ากลับมีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ คนลาวสามารถซื้อยาบ้า 1 เม็ดได้ในราคาเม็ดละ 5,000 - 7,000 กีบ (8.50-12 บาท) แต่ถ้าซื้อยกแพ็ก 200 เม็ด หารเฉลี่ยจะตกเหลือเม็ดละ 2,500 กีบ (4.30 บาท) เท่านั้น

นายแก้ว หนึ่งในผู้บำบัดยาเสพติดในศูนย์ ‘Transformation Center’ วัย 37 ปี เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้เสพติดยาบ้า และเสพต่อเนื่องมานานกว่า 17 ปี ราคายาบ้าที่ถูกลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเสพหนักกว่าเดิมถึงวันละ 10 เม็ด บางครั้งนำไปผสมกินคู่กับกาแฟด้วย เสพหนักจนหลอน จำลูก-เมียไม่ได้ ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนครอบครัวต้องจับมาส่งศูนย์บำบัดในกรุงเวียงจันทน์

‘เจเรมี ดักลาส’ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ยอมรับว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ทำให้เกิดการไหลทะลักของยาเสพติดข้ามชายแดนเขตรัฐฉาน ตามแนวพรมแดนแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งลาว

อย่างไรก็ตาม ทางการลาวได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มมาตรการตรวจสอบและจับกุม โดยยาเสพติดล็อตใหญ่ล่าสุด จับกุมได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จากการสกัดจับรถบรรทุกขนเบียร์ในจังหวัดบ่อแก้ว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบขนยาบ้ามากถึง 55 ล้านเม็ด และยาไอซ์อีก 1.5 ตันในคราวเดียว

จากรายงานล่าสุดของ UNODC พบว่า ยอดการจับกุมยาเสพติดในลาวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี พ.ศ. 2562 ยึดได้ 17.7 ล้านเม็ด และเพิ่มขึ้นเป็น 18.6 ล้านเม็ดในปีต่อมา แต่ทว่าตัวเลขล่าสุดของปี 2563 ยึดของกลางได้ถึง 144 ล้านเม็ด

แต่ถึงตัวเลขการจับกุมจะสูงขึ้นแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีการรื้อถอนขบวนการขนส่ง ที่เป็นต้นตอของปัญหาของการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้ามาในดินแดนลาว การไหลบ่าของยาเสพติดก็ยังคงอยู่

ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ลาวว่า จะเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบเฉพาะกิจ ดักจับเป็นรายกรณีไป ซึ่งหลายครั้งพบการเพิกเฉยในการจับกุมคนขับรถขนยา ละเลยการสาวลึกลงไปในขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด

ดังนั้น จะมองเพียงตัวเลขการจับกุมและของกลางที่ยึดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปริมาณยาเสพติดที่ขนเข้ามาในฝั่งลาว สังเกตได้จากยาบ้าที่ล้นตลาด จนทำให้มีราคาถูกลงมากอย่างน่าใจหายนั่นเอง

ซึ่งปัญหาของยาบ้าล้นตลาดในลาว ก็สะท้อนถึงปัญหาของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยาบ้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ไหลเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมหาศาล ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ยาบ้าถูกกว่าน้ำเปล่า’ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรต้องตระหนักว่า เราควรหาทางป้องกันสังคมของเราอย่างไรต่อภัยยาเสพติดราคาถูกเช่นนี้


เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Aljazeera