Monday, 13 May 2024
UNODC

ป.ป.ส. ผนึกกำลัง UNODC จัดประชุมเชิงวิชาการ “กาสิโนและองค์กรอาชญากรรม รับมือปัญหาการฟอกเงินและการลักลอบค้ายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้ นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ   ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยกาสิโนและองค์กรอาชญากรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2564 จัดโดยสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC)

ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายที่เหมาะสมในการควบคุมกาสิโนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำเสนอผลงานทางวิชาการ การหาความเชื่อมโยงของผู้กระทำผิดกับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกาสิโน โดยมีนายเจเรมี ดักลาส (Mr. Jeremy Douglas) ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุม ณ เทวมันตร์ทรารีสอร์ต จ.กาญจนบุรี

นายเจเรมี ผู้แทน UNODC ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และกล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมกาสิโน ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เขตชายแดนรอยต่อ เขตปกครองพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกล่าวชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการปรับปรุงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำดำเนินมาตรการต่อต้านการฟอกเงินของเครือข่ายยาเสพติด

นายอภิกิต ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ  กล่าวเปิดการประชุมว่า เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เน้นย้ำและเล็งเห็นถึงความสำคัญ กำชับให้เฝ้าระวังการขยายตัวของกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน และกาสิโนออนไลน์  ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งฟอกเงินขององค์กรอาชญากรรมและการสะสมเงินทุนที่ผิดกฎหมายของเครือข่ายยาเสพติด ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายด้านยาเสพติดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เน้นย้ำความร่วมมือกับต่างประเทศและการบังคับกฎหมาย

โดยการประชุมประกอบด้วยการบรรยายในหัวข้อเรื่อง 

1.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกาสิโน โดย นายอินชิค ซิม นักวิจัยด้านยาเสพติดของ UNODC พบว่าธุรกิจกาสิโนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านบล็อกเชนและการพนันออนไลน์ โดยเฉพาะ “จังเก็ต” (junket = ทัวร์เล่นกาสิโน) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน  ยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมาควบคุมดูแล และความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ในการจัดการกาสิโนที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเขตการค้าเสรี 

2. กลุ่มชาติพันธุ์และนโยบายทุนจีน โดย ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3. งานวิจัยกรณีศึกษากาสิโนคิงส์โรมัน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดย ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

4. ข้อมูลเกี่ยวกับกาสิโนในเขตปกครองพิเศษเมียนมา กาสิโนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ไทย-สปป.ลาว และ ไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะข้อมูลกลุ่มนักลงทุนในกาสิโน กลุ่มอิทธิพล และกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดย ผู้แทนจาก สำนักงาน ป.ป.ส. 

‘UN’ ชี้!! ‘ยาไอซ์’ ใน ‘อัฟกานิสถาน’ ยุคตอลิบานพุ่ง ขึ้นแท่นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก แม้ไล่บุกทลาย

(11 ก.ย.66) เอพี ได้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations’ Office on Drugs and Crimes - UNODC) ได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุถึงประเทศอัฟกานิสถาน ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีน หรือ ‘ยาไอซ์’ ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นผู้ผลิต ‘ฝิ่น’ และ ‘เฮโรอีน’ รายใหญ่ แม้รัฐบาลตอลิบานจะประกาศทำสงครามกับยาเสพติดหลังจากที่ยึดอำนาจปกครองเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2021 ก็ตาม

UNODC ระบุว่า ยาไอซ์ในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ผลิตจากสารตั้งต้นที่หาได้อย่างถูกกฎหมาย หรือสกัดมาจากต้นอีเฟดรา (ephedra) ซึ่งเป็นพืชที่พบในแถบจีน อินเดีย และปากีสถาน

รายงานของ UNODC ยังเตือนด้วยว่า การผลิตเมทแอมเฟตามีนในอัฟกานิสถานกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความมั่นคงทั้งในระดับชาติและภูมิภาค โดยมีรายงานว่าการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่คาดว่ามีแหล่งที่มาจากอัฟกานิสถานได้ทั้งในสหภาพยุโรป (อียู) และแอฟริกาตะวันออก

เมทแอมเฟตามีนจากอัฟกานิสถานที่ถูกตรวจยึดได้เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 100 กิโลกรัมในปี 2019 กลายเป็นเกือบ 2,700 กิโลกรัมในปี 2021 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการลักลอบผลิตในปริมาณที่มากขึ้น ทว่า UNODC ยังไม่สามารถประเมินมูลค่า ปริมาณการผลิต รวมถึงปริมาณการเสพภายในประเทศ เนื่องจากไม่มีข้อมูล

แองเจลา มี หัวหน้าแผนกวิจัยและวิเคราะห์เทรนด์ของ UNODC ให้สัมภาษณ์กับ AP ว่า กระบวนการผลิตเมทแอมเฟตามีน โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน สามารถทำได้ง่ายดายกว่าการผลิตเฮโรอีนและโคเคนมาก

“คุณไม่จำเป็นต้องรอให้พืชอะไรสักอย่างโต... คุณไม่ต้องมีที่ดิน คุณแค่ต้องการคนปรุงที่รู้วิธีทำเท่านั้น ห้องแล็บผลิตยาไอซ์สามารถเคลื่อนย้ายได้ หลบซ่อนได้ง่าย และในอัฟกานิสถานมีต้นอีเฟดราซึ่งพบในแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีนใหญ่ที่สุดของโลกอย่างพม่าและเม็กซิโก พืชชนิดนี้ไม่ผิดกฎหมายในอัฟกานิสถานและมีขึ้นอยู่ทั่วไป เพียงแต่ต้องใช้ในปริมาณมากเท่านั้น” มี กล่าว

ด้าน อับดุลมาทีน กอนี โฆษกกระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถาน ยืนยันกับ AP ว่า รัฐบาลตอลิบานห้ามการปลูก ผลิต จำหน่าย และใช้สารเสพติดทุกประเภทในอัฟกานิสถาน และที่ผ่านมา ได้มีการทำลายโรงงานผลิตไปแล้ว 644 แห่ง รวมถึงที่ดินอีก 12,000 เอเคอร์ที่ใช้เพาะปลูก แปรรูป และผลิตสารเสพติด

ทางการตอลิบานยังส่งเจ้าหน้าที่บุกทลายแหล่งผลิตยาเสพติดอีกกว่า 5,000 กรณี และมีการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วราว 6,000 คน

“เราคงอ้างไม่ได้ 100% ว่ายาเสพติดหมดไปแล้ว เพราะอาจจะมีผู้ลักลอบผลิตกันอยู่บ้าง และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ยาเสพติดลดลงเป็นศูนย์ในระยะเวลาอันสั้น” กอนี กล่าว

“แต่เราได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีว่าจะทำให้ยาเสพติดทั่วๆ ไป โดยเฉพาะยาไอซ์ หมดไปจากประเทศนี้”

รายงาน UN ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้วระบุว่า การปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นถึง 32% จากปีก่อนหน้านับตั้งแต่ตอลิบานกลับเข้าปกครองประเทศ อีกทั้งการประกาศห้ามปลูกฝิ่นในเดือน เม.ย. ปี 2022 ส่งผลให้ราคาฝิ่นในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้น โดยเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในอัฟกานิสานมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จาก 425 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 

‘ลาว’ วิกฤติ!! ‘ยาบ้า’ ทะลักเกลื่อนตลาด ราคาถูกยิ่งกว่าน้ำเปล่า หน่วยปฏิบัติงานหย่อนยาน มุ่งดักจับแค่เป็นรายกรณีเกินไป

‘องค์การสหประชาชาติ’ วิตก ปัญหายาเสพติด ประเภท ‘เมทแอมเฟตามีน’ แพร่ระบาดอย่างหนักในท้องตลาด ‘ลาว’ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ราคาขายต่อเม็ดเหลือไม่เกินเม็ดละ 8 บาท ถูกยิ่งกว่าน้ำดื่มทั่วไป ดันยอดผู้เสพยาพุ่งเพราะเข้าถึงง่าย ซื้อขายคล่อง สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในลาว

ชาวลาวเรียก ‘เมทแอมเฟตามีน’ ว่า ‘ยาบ้า’ เช่นเดียวกับบ้านเรา ซึ่งเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายอย่างในลาวมานานนับ 10 ปีแล้ว เนื่องจากลาวเป็นเส้นทางขนส่งยาบ้า จากรัฐฉานทางฝั่งพม่าข้ามรอยต่อชายแดนเข้ามาในลาว

แต่ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการแตกแยกทางการเมือง และสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายในพม่า ส่งผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดในพม่าเติบโตอย่างมาก การลักลอบขนยาเสพติดผ่านเข้ามาในลาวก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อมีของเข้ามามาก ราคาก็ถูกลงตามกลไกตลาด ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับปัจจัยค่าเงินเฟ้อในลาว ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานที่จำเป็นล้วนมีราคาสูงขึ้น มีแต่ยาบ้าเพียงเท่านั้น ที่นับวันราคายิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีฐานะยากดีมีจนขนาดไหนก็สามารถซื้อได้

นายบุญมี ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ ‘Transformation Center’ หนึ่งในศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเอกชน ที่มีเพียง 2 แห่งในลาว ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วง Covid-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพในลาวเพิ่มสูงขึ้น ข้าวของทุกอย่างล้วนขึ้นราคา แต่ยาบ้ากลับมีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ คนลาวสามารถซื้อยาบ้า 1 เม็ดได้ในราคาเม็ดละ 5,000 - 7,000 กีบ (8.50-12 บาท) แต่ถ้าซื้อยกแพ็ก 200 เม็ด หารเฉลี่ยจะตกเหลือเม็ดละ 2,500 กีบ (4.30 บาท) เท่านั้น

นายแก้ว หนึ่งในผู้บำบัดยาเสพติดในศูนย์ ‘Transformation Center’ วัย 37 ปี เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้เสพติดยาบ้า และเสพต่อเนื่องมานานกว่า 17 ปี ราคายาบ้าที่ถูกลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเสพหนักกว่าเดิมถึงวันละ 10 เม็ด บางครั้งนำไปผสมกินคู่กับกาแฟด้วย เสพหนักจนหลอน จำลูก-เมียไม่ได้ ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนครอบครัวต้องจับมาส่งศูนย์บำบัดในกรุงเวียงจันทน์

‘เจเรมี ดักลาส’ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ยอมรับว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ทำให้เกิดการไหลทะลักของยาเสพติดข้ามชายแดนเขตรัฐฉาน ตามแนวพรมแดนแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งลาว

อย่างไรก็ตาม ทางการลาวได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มมาตรการตรวจสอบและจับกุม โดยยาเสพติดล็อตใหญ่ล่าสุด จับกุมได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จากการสกัดจับรถบรรทุกขนเบียร์ในจังหวัดบ่อแก้ว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบขนยาบ้ามากถึง 55 ล้านเม็ด และยาไอซ์อีก 1.5 ตันในคราวเดียว

จากรายงานล่าสุดของ UNODC พบว่า ยอดการจับกุมยาเสพติดในลาวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี พ.ศ. 2562 ยึดได้ 17.7 ล้านเม็ด และเพิ่มขึ้นเป็น 18.6 ล้านเม็ดในปีต่อมา แต่ทว่าตัวเลขล่าสุดของปี 2563 ยึดของกลางได้ถึง 144 ล้านเม็ด

แต่ถึงตัวเลขการจับกุมจะสูงขึ้นแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีการรื้อถอนขบวนการขนส่ง ที่เป็นต้นตอของปัญหาของการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้ามาในดินแดนลาว การไหลบ่าของยาเสพติดก็ยังคงอยู่

ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ลาวว่า จะเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบเฉพาะกิจ ดักจับเป็นรายกรณีไป ซึ่งหลายครั้งพบการเพิกเฉยในการจับกุมคนขับรถขนยา ละเลยการสาวลึกลงไปในขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด

ดังนั้น จะมองเพียงตัวเลขการจับกุมและของกลางที่ยึดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปริมาณยาเสพติดที่ขนเข้ามาในฝั่งลาว สังเกตได้จากยาบ้าที่ล้นตลาด จนทำให้มีราคาถูกลงมากอย่างน่าใจหายนั่นเอง

ซึ่งปัญหาของยาบ้าล้นตลาดในลาว ก็สะท้อนถึงปัญหาของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยาบ้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ไหลเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมหาศาล ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ยาบ้าถูกกว่าน้ำเปล่า’ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรต้องตระหนักว่า เราควรหาทางป้องกันสังคมของเราอย่างไรต่อภัยยาเสพติดราคาถูกเช่นนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top