‘UN’ ชี้!! ‘ยาไอซ์’ ใน ‘อัฟกานิสถาน’ ยุคตอลิบานพุ่ง ขึ้นแท่นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก แม้ไล่บุกทลาย

(11 ก.ย.66) เอพี ได้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations’ Office on Drugs and Crimes - UNODC) ได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุถึงประเทศอัฟกานิสถาน ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีน หรือ ‘ยาไอซ์’ ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นผู้ผลิต ‘ฝิ่น’ และ ‘เฮโรอีน’ รายใหญ่ แม้รัฐบาลตอลิบานจะประกาศทำสงครามกับยาเสพติดหลังจากที่ยึดอำนาจปกครองเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2021 ก็ตาม

UNODC ระบุว่า ยาไอซ์ในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ผลิตจากสารตั้งต้นที่หาได้อย่างถูกกฎหมาย หรือสกัดมาจากต้นอีเฟดรา (ephedra) ซึ่งเป็นพืชที่พบในแถบจีน อินเดีย และปากีสถาน

รายงานของ UNODC ยังเตือนด้วยว่า การผลิตเมทแอมเฟตามีนในอัฟกานิสถานกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความมั่นคงทั้งในระดับชาติและภูมิภาค โดยมีรายงานว่าการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่คาดว่ามีแหล่งที่มาจากอัฟกานิสถานได้ทั้งในสหภาพยุโรป (อียู) และแอฟริกาตะวันออก

เมทแอมเฟตามีนจากอัฟกานิสถานที่ถูกตรวจยึดได้เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 100 กิโลกรัมในปี 2019 กลายเป็นเกือบ 2,700 กิโลกรัมในปี 2021 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการลักลอบผลิตในปริมาณที่มากขึ้น ทว่า UNODC ยังไม่สามารถประเมินมูลค่า ปริมาณการผลิต รวมถึงปริมาณการเสพภายในประเทศ เนื่องจากไม่มีข้อมูล

แองเจลา มี หัวหน้าแผนกวิจัยและวิเคราะห์เทรนด์ของ UNODC ให้สัมภาษณ์กับ AP ว่า กระบวนการผลิตเมทแอมเฟตามีน โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน สามารถทำได้ง่ายดายกว่าการผลิตเฮโรอีนและโคเคนมาก

“คุณไม่จำเป็นต้องรอให้พืชอะไรสักอย่างโต... คุณไม่ต้องมีที่ดิน คุณแค่ต้องการคนปรุงที่รู้วิธีทำเท่านั้น ห้องแล็บผลิตยาไอซ์สามารถเคลื่อนย้ายได้ หลบซ่อนได้ง่าย และในอัฟกานิสถานมีต้นอีเฟดราซึ่งพบในแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีนใหญ่ที่สุดของโลกอย่างพม่าและเม็กซิโก พืชชนิดนี้ไม่ผิดกฎหมายในอัฟกานิสถานและมีขึ้นอยู่ทั่วไป เพียงแต่ต้องใช้ในปริมาณมากเท่านั้น” มี กล่าว

ด้าน อับดุลมาทีน กอนี โฆษกกระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถาน ยืนยันกับ AP ว่า รัฐบาลตอลิบานห้ามการปลูก ผลิต จำหน่าย และใช้สารเสพติดทุกประเภทในอัฟกานิสถาน และที่ผ่านมา ได้มีการทำลายโรงงานผลิตไปแล้ว 644 แห่ง รวมถึงที่ดินอีก 12,000 เอเคอร์ที่ใช้เพาะปลูก แปรรูป และผลิตสารเสพติด

ทางการตอลิบานยังส่งเจ้าหน้าที่บุกทลายแหล่งผลิตยาเสพติดอีกกว่า 5,000 กรณี และมีการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วราว 6,000 คน

“เราคงอ้างไม่ได้ 100% ว่ายาเสพติดหมดไปแล้ว เพราะอาจจะมีผู้ลักลอบผลิตกันอยู่บ้าง และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ยาเสพติดลดลงเป็นศูนย์ในระยะเวลาอันสั้น” กอนี กล่าว

“แต่เราได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีว่าจะทำให้ยาเสพติดทั่วๆ ไป โดยเฉพาะยาไอซ์ หมดไปจากประเทศนี้”

รายงาน UN ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้วระบุว่า การปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นถึง 32% จากปีก่อนหน้านับตั้งแต่ตอลิบานกลับเข้าปกครองประเทศ อีกทั้งการประกาศห้ามปลูกฝิ่นในเดือน เม.ย. ปี 2022 ส่งผลให้ราคาฝิ่นในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้น โดยเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในอัฟกานิสานมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จาก 425 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2022