‘มาครง’ สนับสนุนม็อบนับแสน แสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิเหยียดยิว

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.66) ชาวฝรั่งเศษกว่า 1.8 แสนคนทั่วประเทศ นัดชุมนุมประท้วงกลุ่มเคลื่อนไหวที่ออกมาต่อต้านชาวยิว ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤติสงคราม ฮามาส-อิสราเอลในเขตฉนวนกาซาของชาวปาเลสไตน์ 

ทั้งนี้ เฉพาะตัวเลขผู้ชุมนุมในกรุงปารีส ก็มีผู้ชุมนุมมากกว่า 1 แสนคนแล้ว แถมยังมีผู้นำฝ่ายการเมืองคนสำคัญในฝรั่งเศส ออกมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง อาทิ เอลิซเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพรรค Renaissance พรรคฝ่ายรัฐบาลของเอมานูเอล มาครง รวมทั้ง ฟรองซัวส์ โอลองด์ อดีตผู้นำฝรั่งเศส, มารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายค้านขวาจัดก็มาปรากฎตัวในการชุมนุมด้วย โดยทางการฝรั่งเศสได้เตรียมทีมรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาตลอดช่วงเวลาการชุมนุม 

ถึงแม้ เอมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะไม่ได้มาร่วมชุมนุมด้วย แต่เขาก็ได้ออกมากล่าวสนับสนุนการชุมนุมในวันดังกล่าว และยังเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่มาครงใช้ความว่า ‘ฟื้นคืนชีพ’ อีกครั้งอย่างไม่อาจรับได้

ซึ่งฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีชุมชนชาวยิวเป็นจำนวนมากที่สุดในยุโรป หากนับเฉพาะคนยิวที่เป็นเชื้อสายแท้ๆ มีราวๆ 4 แสนคน แต่หากนับรวมครอบครัวชาวยิว ที่อาจบางส่วนมีเชื้อสายอื่นๆ ด้วย พบว่าในฝรั่งเศสจะมีชุมชนชาวยิวมากกว่า 6 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 6.87 ต่อประชากร 1,000 คนในฝรั่งเศส

การนัดชุมนุมใหญ่ในครั้งนี้ มาจากแคมเปญของ ประธานสภาบน เฌราร์ ลาร์เชอร์ ร่วมกับประธานสภาล่าง, ยาแอล โบรน-ปีแว ด้วยการออกมาเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศส ออกมาชุมนุมร่วมกันในกรุงปารีส และตามเมืองใหญ่ๆ ของฝรั่งเศส เช่น นีซ, ลียง และสตราสบูร์ก เพื่อต่อต้านกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่ประธานสภากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการปกครองระบอบสาธารณรัฐของฝรั่งเศส

ทว่า ก็มีนักการเมืองฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยในการจัดกิจกรรมดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ฌ็อง-ลุก เมล็องชง ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัด ที่มองว่า การแสดงจุดยืนเช่นนี้ในสถานการณ์นี้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าเป็นการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อการสังหารหมู่ในกาซาได้

และสังเกตได้ว่า การนัดชุมนุมของกลุ่มต่อต้านการเหยียดชนชาติยิว จัดคู่ขนานกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนปาเลสไตน์หลายพันคนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซาเมื่อช่วงศุกร์-เสาร์ ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน 

การชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่ม จึงถูกมองว่ามีความพยายามที่จะดึงกระแสมวลชนที่มากกว่าเพื่อส่งสัญญาณต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อความขัดแย้งในฉนวนกาซา ถึงแม้ว่าแกนนำผู้ชุมนุมจะบอกว่าเป็นการแสดงออกของมวลชนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ตาม

ซึ่งหากดูจากจำนวนตัวแทนฝ่ายการเมืองที่เข้าร่วมชุมนุมเพียงกิจกรรมของฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่มีการพูดถึงกิจกรรมของอีกฝ่าย ก็พอจะมองออกถึงจุดยืนของรัฐบาลฝรั่งเศส ต่อสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนด้านมนุษยธรรมที่สุดครั้งหนึ่งในตะวันออกกลางได้เหมือนกัน 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Aljazeera / France24