Monday, 13 May 2024
อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ (ยีนส์)

‘นายกฯ ผู้ดี’ โชว์พาว!! เซ็นข้อตกลง พร้อมส่งทหาร ปกป้องสวีเดน ฟินแลนด์ หากถูกรัสเซียรุกราน

หลังจาก ‘สวีเดน’ และ ‘ฟินแลนด์’ จ่อเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ ‘นาโต’ (NATO) ด้าน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ได้เดินทางไปพบนาง แม็กดาเลนา แอนเดอร์สัน ผู้นำหญิงคนล่าสุดของสวีเดน เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเซ็นข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกัน โดยสาระสำคัญอยู่ที่ ความพร้อมในการยกกองทัพมาช่วยสวีเดนทันที หากโดนรัสเซียรุกราน

บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นการเสริมกำลังให้กับชาติในยุโรปเหนือจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ และยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรายังคงอยู่ตลอดไป

ผู้นำอังกฤษ ยังกล่าวย้ำอีกว่า นี่ไม่ใช่ข้อตกลงแค่ชั่วคราว แต่จะเป็นความผูกพันด้านการทหารที่ยาวนาน และเมื่อใดก็ตามที่พันธมิตรของเราประสบภัยพิบัติ หรือถูกรุกรานโจมตี ขอเพียงแค่บอกมา อังกฤษพร้อมส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือทันที

และไม่ใช่เพียงแค่สวีเดนเท่านั้น บอริส จอห์นสัน ยังเดินทางไปเยือนฟินแลนด์ และเซ็นข้อตกลงเช่นเดียวกันนี้กับฟินแลนด์ด้วย

ข้อตกลงร่วมนี้ เกิดขึ้นขณะที่ 2 ชาติในกลุ่มนอร์ดิกกำลังกังวลใจกับการรุกรานของรัสเซียในยูเครน และเคยได้กล่าวว่าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO หรือไม่ 

'ไบเดน' ชงสภาคองเกรซ รีดงบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หนุนยูเครน 'เสริมอาวุธ - กู้ศก. - เยียวยามนุษยธรรม'

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กำลังดันเรื่องเข้าสู่สภาคองเกรซเพื่อของบด้านการทหารเพิ่มอีก 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท) เพื่อทุ่มลงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ซึ่งงบประมาณที่ไบเดนจะขอเพิ่มในส่วนนี้จะถูกใช้จัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ส่งให้กับรัฐบาลยูเครนใช้ต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับยูเครน คาดว่าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในสงครามยูเครนได้ถึงเดือนกันยายนปีนี้

โจ ไบเดน กล่าวว่า "พวกเราต้องการผลักดันกฎหมายสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของยูเครน แม้ค่าใช้จ่ายในสงครามมันไม่ถูก แต่การยอมแพ้นั้นราคาแพงกว่ามาก" 

‘ศรีลังกา’ ตัดสินใจกะทันหัน หนีซบ IMF แทนพึ่งเงินกู้จากจีน

รัฐบาลจีนแสดงทีท่าไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะรับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อปัญหาปากท้องของชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนในตอนนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาในขณะนี้ ที่ขาดสภาพคล่อง และเงินสำรองต่างประเทศอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อสำรองเงินต่างประเทศไว้นำเข้าสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เวชภัณฑ์และพลังงานไว้ใช้ในประเทศเท่านั้น นับเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่เป็นประเทศเอกราชในปี 1948 

และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภค บริโภคราคาสูงขึ้นมาก หลายชุมชนมีปัญหาขาดไฟฟ้า/น้ำประปานานนับสัปดาห์ และภาคสาธารณสุขดำดิ่งสู่วิกฤติที่ใกล้ถึงจุดพังทลาย

รัฐบาลศรีลังกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา จึงต้องหาวิธีผ่าตันด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF อีกครั้ง 

ศรีลังกาเคยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน IMF มานานเกือบ 20 ปี ครั้งล่าสุดที่ IMF เข้ามาดูแลปัญหาการเงินของศรีลังกา อยู่ในช่วงปี 2019 ที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจนถึงปีนี้ 2022 ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และหากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจให้พอต่อลมหายใจได้อีกครั้ง รัฐบาลศรีลังกาต้องการวงเงินกู้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 พันล้านเหรียญ

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงินทุนช่วยเหลือจาก IMF และสถาบันการเงินของชาติตะวันตกแล้ว จีนก็เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกู้รายใหญ่กับรัฐบาลศรีลังกา พ่วงกับเงื่อนไขสัญญาในโครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งนับถึงตอนนี้รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ให้ศรีลังกาไป 3.5 พันล้านเหรียญ

และทางการจีนได้เสนอที่จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่ศรีลังกาอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าทางรัฐบาลศรีลังกาได้ตอบรับการช่วยเหลือจากกองทุน IMF อีกครั้ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างกะทันหัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก และยอมรับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกา จะมีผลกับการเจรจาการให้เครดิตเงินกู้รอบใหม่กับจีนอย่างแน่นอน

‘ลิกเตนสไตน์’ ยกกรณีรุกรานยูเครนของทัพรัสเซีย ต้องจำกัดสิทธิ์การ Veto ของเหล่าสมาชิกถาวร

เมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันถึงสิทธิ์ในการ Veto (สิทธิยับยั้ง) ของสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ เพื่อยับยั้ง ตีตกมติ หรือประเด็นที่ต้องการหาข้อตกลงร่วมในการปฏิบัติของบรรดาประเทศสมาชิกในโลก

โดยประเด็นร้อนล่าสุดที่ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมใน สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็คือ การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย

ทั้งนี้ ประเทศลิกเตนสไตน์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหัวหอกสำคัญในการเปิดประเด็นการจำกัดสิทธิ์การ Veto ของประเทศสมาชิกถาวรใน สภาความมั่นคง อันเนื่องจากรัสเซียเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้รับสิทธิ์ Veto ได้อย่างไม่จำกัด

และรัสเซียก็จะใช้สิทธิ์นั้นขัดขวางมติ รวมถึงการทำงานของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทางลิกเตนสไตน์ชี้ว่า เป็นการผิดเจตจำนงขององค์กร และยังขัดต่อหลักการส่งเสริมสันติภาพของโลก

ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติมีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน และรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงแม้โลกจะผ่านยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มานานเกือบ 75 ปีแล้ว และมีหลายประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า กลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลในโลกไม่ต่างจากสมาชิกถาวรดั้งเดิม และเคยพยายามที่จะเข้าร่วมวงเป็นสมาชิกถาวร อาทิ ญี่ปุ่น, เยอรมัน หรือแม้แต่ อินเดีย, บราซิล และแอฟริกาใต้ แต่จนถึงตอนนี้องค์การสหประชาชาติก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะขยายจำนวนสมาชิกถาวรแต่อย่างใด

และด้วยสิทธิ์ที่มีเฉพาะกลุ่มประเทศถาวร 5 ประเทศนี้ อย่างการ Veto ที่สามารถระงับมติร่วมของ UN ได้ทันที โดยตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นมามีการใช้สิทธิ์ Veto ไปแล้วถึง 295 ครั้งนั้น พบว่า รัสเซีย เป็นประเทศที่ใช้สิทธิ์ Veto มากที่สุดถึง 143 ครั้ง รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 86 ครั้ง อังกฤษ 30 ครั้ง ส่วนจีน และ ฝรั่งเศสเคยใช้สิทธิ์ไป 18 ครั้ง

'ไบเดน' เดินยุทธศาสตร์ 'ศาลโลกล้อมรัสเซีย' กล่าวหา 'ปูติน' ด้วยข้อหา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวออกสื่อเป็นครั้งแรกว่า การใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นความผิดร้ายแรงถึงระดับ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

โดยไบเดนให้สัมภาษณ์ว่า "ใช่ครับ! ผมเรียกมันว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะสิ่งที่ปูตินทำลงไป มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาพยายามลบล้างความเป็นชาวยูเครน และมีหลักฐานเยอะมาก"

ไบเดนยังกล่าวอีกว่า "พวกเราได้ให้ทีมกฎหมายดำเนินการแล้วว่าสิ่งที่รัสเซียทำเข้าข่ายหรือไม่ แต่ในความเห็นของผม ผมแน่ใจว่ามันเป็นเช่นนั้น"

ก่อนหน้านี้ ไบเดนใช้คำว่า "อาชญากรสงคราม" เมื่อเอ่ยถึงปูติน กับปฏิบัติการทางทหารในยูเครนบ่อยครั้ง แต่มาครั้งนี้ ที่ไบเดนเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ที่ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุด

ซึ่งข้อหา "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนเคยใช้มาก่อน หลังจากที่เข้าไปสำรวจความเสียหายในเมืองบูชา (Bucha) หลังทหารรัสเซียถอนกำลังออกไป และพบผู้เสียชีวิตจำนวนมากภายในเมือง โจ ไบเดน จึงให้ผู้นำยูเครนรวบรวมหลักฐานมาประกอบสำนวนในการฟ้องร้องปูตินที่ศาลโลก

ถึงแม้โจ ไบเดน ได้ออกมาเปิดหน้าแล้วว่าจะผลักดันให้มีการดำเนินคดีปูตินถึงข้อหาสูงสุด แต่ด้านวลาดิมีร์ ปูติน ก็ได้แถลงออกสื่อครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์เช่นกันว่า รัสเซียจะยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในยูเครนต่อไปอย่างเป็นจังหวะ และใจเย็น และเชื่อมั่นว่ากองทัพรัสเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ข้อหาเรื่อง "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ก็ยังมีข้อถกเถียงอย่างมากในเรื่องการตีความ ซึ่งนิยามของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีระบุในที่ประชุมเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือน ธันวาคม 1948 ไว้ว่าเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ให้สูญสิ้นไปทั้งหมด

พิษสงครามฉุด GDP ยูเครนร่วงหนัก มูลค่าหายไปกว่าครึ่ง ด้านรัสเซียกดดันต่อ ถล่มสนามบินที่เมืองดนิโปร

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 ของปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ซึ่งตอนนี้มีการโยกย้ายศูนย์กลางการปะทะลงมาทางด้านตะวันออกของยูเครน ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่ก่อนจะถึงศึกใหญ่นั้น หากประเมินผลกระทบจนถึงตอนนี้ ก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจยูเครนอย่างหนักหนาสาหัสมากแล้ว จากการประเมินของธนาคารโลกวันนี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของยูเครนในปี 2022 นี้อาจหดตัวมากถึง 45.1% และตัวเลขนี้อาจเพิ่มได้อีกหากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป 

และถ้าประเมินเป็นตัวเลขความเสียหายรวมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือนประชาชน มูลค่านั้นสูงกว่า 5.6 แสนล้านเหรียญไปแล้ว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยูเครนกำลังเรียกร้องค่าเสียหายนี้จากทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซียที่ถูกอายัดไว้ในธนาคารของชาติตะวันตก

'แมเดลิน อาลไบรต์' รัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสหรัฐฯ สัญลักษณ์แห่งการแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ ผ่าน NATO

ไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานข่าวการจากไปของ 'แมเดลิน อาลไบรต์' (Madeleine Albright) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 64 ของสหรัฐอเมริกา และนับเป็นครั้งแรกที่สุภาพสตรีสามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ได้ โดยเธอจากไปแล้วด้วยวัย 84 ปี จากโรคมะเร็ง

แมเดลิน อาลไบรต์ นับเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างมากในช่วงปี 1990s โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่เสนอให้เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่าเป็น ผู้นำชัยชนะในด้านการส่งผ่านประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้กล่าวคำอาลัยถึงการจากไปของ แมเดลิน อาลไบรต์ ว่า "เมื่อใดก็ตามที่ผมคิดถึงแมเดลิน ภาพจำของผมคือผู้หญิงที่เปี่ยมล้นด้วยแรงศรัทธาต่อความยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นประเทศที่โลกจะขาดไม่ได้ เธอเป็นคนที่แข็งแกร่ง เป็นพลังสำคัญของสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งความดีงาม ตามครรลองครองธรรม และเสรีภาพ"

จากประวัติของ แมเดลิน อาลไบรต์ เป็นชาวเช็ก เชื้อสายยิว เกิดในกรุงปราก ประเทศเชโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1937 มีบิดาเป็นนักการทูต แต่ต่อมาต้องลี้ภัยหนีกองทัพนาซี-เยอรมัน ที่ยกทัพเข้ายึดครองเชคโกสโลวาเกียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะย้ายเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาในปี 1948

แมเดลิน อาลไบรต์ มีความเชี่ยวด้านภาษา และการเมืองต่างประเทศอย่างหาตัวจับยาก เธอสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้ง อังกฤษ, เช็ก, รัสเซีย, ฝรั่งเศส และยังสื่อสารภาษาของชาวโปแลนด์, เซิร์บ ได้ด้วย 

'อินเดีย' สนใจรับข้อเสนอรัสเซีย ขายน้ำมันให้ในราคาลดกระหน่ำ 

สื่อ Reuters ของสหรัฐฯ รายงานข่าวจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐอินเดียถึง 2 คนว่า รัฐบาลอินเดียสนใจที่จะรับข้อเสนอของรัสเซีย ที่จะขายน้ำมันดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ให้ในราคาพิเศษสุดๆ ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่าอินเดียยังคงเป็นพันธมิตรร่วมค้าอย่างเหนียวแน่นกับรัสเซีย แม้ว่าโลกตะวันตกจะพยายามโดดเดี่ยวรัสเซียจากมาตรการคว่ำบาตรก็ตาม

เรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เคยพูดคุยกับรัฐบาลอินเดียให้ร่วมกันตัดสัมพันธ์กับรัสเซีย จากเหตุปฏิบัติการทหารด้วยการบุกยูเครนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีทางทหารกับรัสเซียอย่างมาก ทั้งการสั่งซื้อเครื่องบินรบ จรวดขีปนาวุธ กระสุน และยุทโธปกรณ์

และอินเดียยังวางตัวเป็นกลางในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยการไม่ออกมาประณามรัสเซียอย่างชัดเจน และยังงดออกเสียงในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติในมติคัดค้านการใช้กำลังทหารในยูเครน มาคราวนี้ อินเดียก็อาจจะสวนกระแสด้วยการเปิดดีลน้ำมันกับรัสเซียที่ยอมขายลดราคาให้เป็นพิเศษอีกด้วย 

Taliban 2.0 ความหวังใหม่ของอัฟกานิสถาน สู่ 'เมืองเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว' ที่น่าจับตา

การยึดครองของกลุ่มตอลิบาน อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าชาติตะวันตกพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ที่สมรภูมิอัฟกานิสถาน 

เมื่อไม่นานมานี้ นายพล เซอร์ นิค คาร์เตอร์ ได้รายงานความเห็นต่อหน้าคณะกรรมการกลาโหมแห่งรัฐสภาอังกฤษว่า กลุ่มผู้ปกครองตอลิบานในยุคนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มตอลิบานยุคที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มตอลิบานมีการยกระดับขึ้นเป็น "Taliban 2.0" ที่มีการปรับแนวคิดตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น และรัฐบาลตอลิบานก็ยินดีที่จะปกครองอัฟกานิสถานในแนวคิดสมัยใหม่นี้ 

ดังนั้นนายพลคาร์เตอร์จึงเชื่อว่า อัฟกานิสถานในอีก 5 ปีข้างหน้า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นและแตกต่างจากยุคตอลิบานรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาปกครองอัฟกานิสถานอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 20 ปีก่อน

นอกจากนี้ นายพล นิค คาร์เตอร์ ยังเคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อโทรทัศน์เมื่อครั้งที่กองทัพตอลิบานบุกถึงกรุงคาบูลเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า กองทัพตอลิบานก็ไม่ต่างจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มีจรรยาบรรณขึ้นมาหน่อย และเปรียบเทียบกับกองทัพเวียดกงในสงครามเวียดนาม ที่เนื้อแท้แล้วพวกเขาก็เป็นชาวบ้านเวียดนามกลุ่มหนึ่ง ที่รบชนะในประเทศของตัวเอง 

ซึ่งหลังสงครามเวียดนาม ชาติตะวันตกก็เคยคาดการณ์ว่า เวียดนามจะล้าหลัง กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่พอเวลาผ่านไปเวียดนามก็เจริญขึ้นได้ มีเศรษฐกิจเติบโต และกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่โด่งดังมาก ที่ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยว

นายพล คาร์เตอร์มองว่า อัฟกานิสถานน่าจะเดินในโมเดลเดียวกับเวียดนามได้ และหากพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ เขาเชื่อว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้ไม่ยาก 

'ไบเดน' แขวะ!! 'จีน-รัสเซีย' ไร้เงาผู้นำบนเวที COP26 ด้านจีนสวน ยังดีกว่าบางประเทศที่เคยถอนตัว

กลายเป็นดราม่าร้อนแรงกลางงานประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาเพื่อปัญหาสภาพอากาศครั้งที่ 26 (COP26) จนได้ เมื่อ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแขวะแรงถึง ผู้นำจีน 'สี่ จิ้นผิง' และ ประธานาธิบดี รัสเซีย 'วลาดิมีร์ ปูติน' ว่าขาดภาวะผู้นำในเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากผู้นำทั้งคู่ไม่มาเข้าร่วมการประชุม COP26 ประจำปีนี้ 

การประชุม COP26 นับเป็นงานสำคัญที่มีผู้นำประเทศมากกว่า 120 ชาติ มาเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อถกปัญหาด้านสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน ที่เมืองกลาสโกล ในสกอตแลนด์ 

แต่กลับไม่พบ สี จิ้นผิง และ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของ 2 ชาติมหาอำนาจมาเข้าร่วมประชุม โดยทั้งจีน และรัสเซีย แจ้งว่าติดปัญหาเรื่องการระบาด Covid-19 ที่ทำให้ไม่สะดวกเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ 

โดยผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ ส่วนผู้นำจีนได้ส่งถ้อยแถลงแสดงเจตจำนงในการเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาภาคีอนุสัญญาผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน

แต่ก็ไม่วายโดนผู้นำสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน แขวะแรงว่า... 

"ทั้ง ๆ ที่จีนพยายามเหลือเกินที่จะให้ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นผู้นำโลก แต่ไม่ยอมมาร่วมประชุม COP26! ได้เหรอ! นี่เป็นประเด็นสำคัญของโลกเลยนะครับ แต่พวกเขา (จีน/รัสเซีย) กลับไม่มา แล้วประเทศอื่นเขาจะคิดยังไง แล้วยังจะอ้างตัวเป็นผู้นำโลกได้อีกหรือ? สำหรับจีน ผมพูดตรง ๆ เลยนะ พลาดมาก!!"

ปัจจุบัน จีน เป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับ 4 ดังนั้นการไม่ปรากฏตัวของผู้นำทั้ง 2 ชาติอย่างกับนัดหมายในงาน COP26 นั้น จึงกลายเป็นที่สังเกต และเปิดช่องให้ผู้นำสหรัฐฯ ออกปากโจมตีเพื่อสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของจีน และรัสเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top