Monday, 13 May 2024
อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ (ยีนส์)

วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ทำไมใครๆ ก็อิจฉาสวีเดน หนึ่งในประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก

...ประเทศสวีเดน หนึ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เคยติดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุดในโลก

...ประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพราะขยะไม่พอรีไซเคิลใช้ในประเทศ

...ประเทศแรกในโลกที่ประกาศเป้าหมายปลอดการใช้พลังงานคาร์บอน

...และยังเป็นประเทศบ้านเกิดของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังระดับโลกอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก

สวีเดนทำได้อย่างไร? วันนี้เราลองมาดูแนวทางการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

ที่ทำให้สวีเดนพัฒนาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกกันดีกว่า

ปัจจัยสำคัญที่สร้างสวีเดนให้มีความมั่งคั่ง และยั่งยืนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล การพัฒนาด้านนวัตกรรม สังคมคุณภาพ และการศึกษาที่มีเป้าหมายหากนับย้อนหลังไปเมื่อร้อยปีก่อน ประเทศสวีเดน อาจเป็นเพียงหนึ่งในประเทศยากจนในดินแดนยุโรป ที่อาศัยรายได้จากกสิกรรมเป็นหลัก และมักได้ผลผลิตน้อยเนื่องจากอยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวจัด และประชากรเบาบาง แต่สิ่งที่ทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลในด้านสิ่งแวดล้อมประเทศหนึ่งของโลก มีอยู่หลายปัจจัย

จุดเด่นของรัฐบาลสวีเดน คือการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน และเห็นเป้าหมาย ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่ผ่านร่างกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศที่ชื่อว่า Environmental Protection Act ตั้งแต่ปี 1967 และยังเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมโลกขององค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1972

และทราบหรือไม่ว่าเมือง Växjö ในสวีเดนเป็นเมืองแรกของโลกที่ประกาศเป้าหมายเป็นเมืองปลอดพลังงานจากคาร์บอนตั้งแต่ปี 1996 ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 ซึ่งเมือง Växjö ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเขียวขจีที่สุดในยุโรป

ทั้งนี้ รัฐบาลสวีเดนยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2045 ซึ่งเป้าหมายนี้ตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของชาติที่เรียกว่า ‘1 เจนเนอเรชั่น 16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’

หมายความว่า สวีเดนตั้งเป้าที่จะส่งมอบประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน ให้สำเร็จให้ได้ภายใน 1 ช่วงอายุคนที่ครอบคลุม 16 เป้าหมายดังนี้

1. จำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
2. อากาศบริสุทธิ์
3. รักษาสมดุลย์ของกรดในธรรมชาติ
4. สิ่งแวดล้อมที่ปลอดสารพิษ
5. ปกป้องชั้นบรรยากาศ
6. มีความปลอดภัยจากพิษรังสี
7. ปลอดมลภาวะทางน้ำ
8. แม่น้ำ ลำธารงดงาม
9. น้ำบาดาลที่มีคุณภาพดี
10. รักษาสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล
11. พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์
12. ป่าไม้ยั่งยืน
13. เกษตรกรรมหลากหลาย

14. ป่าเขาอุดมสมบูรณ์
15. สร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
16. พืชพันธุ์ สัตว์ป่าสารพัน

‘16 เป้าหมาย 24 หลักชัย’ จึงเป็นเหมือนเป็นแนวทางที่รัฐบาลตั้งธงไว้ อาทิ ลดผลกระทบด้านภูมิอากาศ การบริหารจัดการขยะ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ กำจัดสารพิษ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นอกจากจะมียุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแล้ว รัฐบาลสวีเดนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยการทุ่มงบประมาณสูงถึง 400 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 1.44 พันล้านบาท) ในแต่ละปีเพื่องานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในประเทศ

โดยเฉพาะโครงการพลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย ซึ่งปัจจุบันนี้ 80% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของสวีเดน มาจากแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอนแทบทั้งสิ้น เช่นพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พลังงานจากน้ำ คลื่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ  หรือแม้แต่ความร้อนจากร่างกายมนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้เช่นกัน นับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานคาร์บอนสูงที่สุดในยุโรป

ส่วนภาคสังคมชาวสวีเดน ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวสวีเดนมีความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นิยมสินค้าออแกนิคส์ มีระเบียบวินัยสูงในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นพลังงานต่อได้ จนถึงขนาดขยะในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพนี้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เชื่อหรือไม่ว่าในจำนวนขยะทั้งหมดที่มีในสวีเดน มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่จำเป็นต้องเหลือทิ้งจริงๆ ส่วน 49% นั้นชาวสวีเดนจะใช้วิธีแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ และอีก 50% ถูกส่งไปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานในประเทศ ซึ่งในสวีเดนมีโรงงานแปรรูป ขยะ-สู่-พลังงาน ถึง 34 แห่ง 

และชาวสวีเดนมักยอมจ่ายแพง หากค่าใช้จ่ายนั้นจะช่วยในเรื่องการเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆของโลก ที่เก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 1991 แถมจ่ายในอัตราที่แพงที่สุดในโลก ที่ 1,190 โครเนอร์ (4,290 บาท) ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน 1 เมตตริกตัน และตั้งแต่เก็บภาษีคาร์บอนมาได้กว่า 30 ปี การปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลนำเงินภาษีที่ได้ไปพัฒนาสวัสดิการด้านพลังงานในประเทศ ชาวสวีเดนส่วนใหญ่จึงจิตสาธารณะในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังนิยมเลือกพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า มากกว่า 80% ของชาวสวีเดนอาศัยอยู่ไม่ไกลเกินรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ แหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติ ที่มีอยู่มากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมสันทนาการอย่างการเดินป่า ปีนเขา นอนแคมป์ จึงเป็นที่นิยมของชาวสวีเดน และยังเป็นหนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้ชาวสวีเดนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจด้วย

สังคมคุณภาพของสวีเดนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่ระบบการศึกษา ที่ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับชั้น ด้วยการสอนให้รู้ถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ การใช้ของอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ขวด แก้วพลาสติก ใช้อุปกรณ์การเรียน การสอนด้วยวัสดุรีไซเคิล

โรงเรียนในสวีเดนไม่ได้สอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะแทรกอยู่ในทุกวิชาที่เด็กเรียน เพื่อเน้นให้เด็กเห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมในภาพรวมว่าอยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน จึงไม่แปลกใจว่า ระบบการศึกษานี้ได้สร้างนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่ออกมารณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนอย่างเข้มแข็งตั้งแต่อายุ 15 ปี

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงขับเคลื่อนให้สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก และการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ปราศจากมลภาวะ จนเป็นที่อิจฉาของหลายๆประเทศ

แต่การที่จะก้าวขึ้นมายืนอยู่ในระดับเดียวกับสวีเดนได้นั้น ต้องพัฒนาโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบ ทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม และการศึกษา ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และมองเห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

เขียนโดย: อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ คอลัมนิสต์อิสระ นามปากกา Jeans Aroonrat


อ้างอิง:
https://sweden.se/nature/7-examples-of-sustainability-in-sweden/
http://www.inquiriesjournal.com/articles/1555/sweden-the-worlds-most-sustainable-country-political-statements-and-goals-for-a-sustainable-society
https://www.thehumble.co/blogs/news/sweden-aka-the-most-sustainable-country-in-the-world-1
https://hoting-tasjodalen.com/how-did-sweden-become-the-most-sustainable-country-in-the-world/
https://www.nbcnews.com/news/world/sweden-s-environmental-education-building-generation-greta-thunbergs-n1106876
https://taxfoundation.org/sweden-carbon-tax-revenue-greenhouse-gas-emissions/

ส่อง 'เวียดนาม' ตลาดเงินดิจิทัลสุดร้อนแรง แห่งย่านอาเซียน

จากปรากฏการณ์ตื่นเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ที่มูลค่าสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ดึงกระแสนักลงทุนที่ต่างพร้อมใจถลกแขนเสื้อ กระโดดลงมาเล่นในตลาดเงินดิจิตอลกันอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่มีการพูดคุยกันถึงทิศทางการลงทุนในตลาดเงินคริปโตกันแบบรายวันไม่แพ้ตลาดหุ้น 

แต่ใครจะคาดคิดว่า ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนของเรากลับจริงจังในการลงทุนในคลังคริปโตเคอร์เรนซียิ่งกว่า จนมีสัดส่วนการถือครองเงินดิจิตอลที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

ประเทศที่กำลังพูดถึงนี้ก็คือ เวียดนาม 

จากการสำรวจของ Statista Global Consumer Survey ในปี 2020 พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนประชาชนที่ถือครอง หรือใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซี่ในการแลกเปลี่ยน ซื้อขายจริง ๆ ในโลก อันดับ 1 คือ ไนจีเรีย อยู่ที่ 32%  ส่วนอันดับ 2 ตกเป็นของเวียดนาม 21% และที่ 3 ก็ยังเป็นประเทศในย่านอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ 20%  ซึ่งห่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ที่มีสัดส่วนผู้ถือเงินดิจิตอลเพียง 6% 

นับว่าเวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีการใช้สกุลเงินดิจิตอล นอกเหนือจากเงินประจำชาติของตนแพร่หลายมากกว่าใคร ๆ ในอาเซียน

แต่หากเทียบกันระหว่าง เวียดนาม กับ ฟิลิปปินส์ กับนโยบายด้านการเงิน การธนาคารของทั้ง 2 ประเทศ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันตรงที่ รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดกว้างในการใช้เงินคริปโตในระบบการเงินมากกว่าเวียดนามอย่างมาก 

ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์อนุมัติการซื้อ - ขายเงิน

คริปโตเคอร์เรนซีหลากหลายสกุลได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย แถมรัฐบาลยังลงมาร่วมเป็นเจ้ามือเองด้วยการพัฒนาระบบบล็อคเชนของตัวเอง ที่เรียกว่า bonds.ph ร่วมกับธนาคาร Unionbank และนำพันธบัตรรัฐบาลออกขายผ่านระบบบล็อคเชนนี้ด้วย และยังมีการติดตั้ง Bitcoin ATM ในใจกลางกรุงมะนิลาอีกต่างหาก

แต่สำหรับรัฐบาลสังคมนิยมแบบเวียดนาม ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทิ้งเงินดอง ไปถือครองเงินดิจิตอลขนาดนั้น แถมในช่วงแรก ๆ ที่มีกระแสเงินบิทคอยน์ในเวียดนาม รัฐบาลยังออกมาเตือนถึงความเสี่ยง และยังไม่อนุญาตให้ใช้คริปโตซื้อขายสินค้าได้ในตลาดจริง แต่ทำไมตลาดเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ในเวียดนาม ยังคงคึกคัก แซงหน้าเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนได้อย่างไร

ถึงแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะห้ามใช้คริปโตเคอร์เรนซี ในระบบเงินสดดั้งเดิม แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้ "ขุด" ชาวเวียดนามก็สามารถเปิดเหมืองขุดคริปโตกันได้อย่างเต็มที่เท่าที่อยากจะขุด ดังนั้นจุดเริ่มต้นของกระแสคริปโตบูมในเวียดนาม จึงมาจากสายขุด ไม่ใช่สายเทรด ที่ทำให้มียอดการสั่งซื้อเครื่องขุดเงินดิจิตอล หรือในบ้านเราเรียกว่าเครื่อง "เสียบปลั๊กรับตังค์" ในเวียดนามเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มียอดนำเข้าเครื่องขุดเหรียญคริปโต ไม่ต่ำกว่า 7,000 เครื่อง และสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่นอกเหนือจากการตั้งหน้า ตั้งตาขุดเพื่อเก็งกำไรแล้วยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวเวียดนามมีทักษะคติในแง่ดีกับการมีอยู่ของเงินคริปโต อาจมาจากระเบียบข้อบังคับด้านการเงินที่เข้มงวดอย่างมากในประเทศ 

เลยทำให้การถือครองเงินดิจิตอลของชาวเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพส่วนบุคคล ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโอนเงิน แลกเปลี่ยนทำธุรกรรมกับต่างประเทศ ที่สามารถทำได้รวดเร็วกว่าผ่านธนาคารที่มีขั้นตอนเยอะ และต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลเวียดนาม

จนทำให้ทุกวันนี้มีชาวเวียดนามมากกว่า 1 ล้านคนที่ถือบัญชีกระเป๋าเงินคริปโตที่ใช้งานอยู่ประจำ และยังนิยมเทรดเงินคริปโตในแพลตฟอร์มต่างประเทศแม้จะไม่มีภาษาเวียดนามรองรับ เช่น Poloniex และ Bittrex ที่พบชาวเวียดนามล็อคอินเข้าทำการซื้อขายในระบบสูงมากติดอันดับต้นๆของลูกค้าจากหลากหลายประเทศทั่วโลกจนนักวิเคราะห์การเงินมองว่า ตลาดเงินดิจิตอลในเวียดนามจะเติบโตได้อีกมาก และอาจเพิ่มได้อีกถึง 30 เท่าภายในปี 2030  

เหตุที่ทำให้พฤติกรรมของนักลงทุนในเวียดนามเปลี่ยนไปในรูปแบบดิจิตอลอย่างรวดเร็ว มีอยู่หลายปัจจัย 

อย่างแรกคือ เวียดนามมีตลาดของผู้ใช้เงินนอกระบบสูงกว่าทุกชาติในย่านอาเซียน 

จากข้อมูลขององค์การสหประชาติพบว่า มีผู้ใหญ่ชาวเวียดนามทำธุรกรรมผ่านสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณธุรกรรมในระบบธนาคารของชาวอาเซี่ยนทุกประเทศที่สูงถึง 69% 

ดังนั้นจึงมีชาวเวียดนามที่เข้าไม่ถึงระบบบัญชีธนาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ทำให้ระบบเงินดิจิตอลเข้ามาตอบโจทย์ในการทำธุรกรรมการเงินที่รวดเร็วกว่า เข้าถึงง่าย และมีอิสระกว่า 

แต่ทั้งนี้ แค่การขุด การเทรดเพื่อเก็งกำไร ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมเงินคริปโตได้ถึงระดับนี้ หากขาดการสนับสนุน ผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจัง 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะยังไม่รับรองการใช้เงิน คริปโตแทนเงินสดจริงในประเทศ แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันคือ Fintech หรือ เทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่

รัฐบาลเวียดนามใช้งบลงทุนในโครงการ Fintech มากเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปรเท่านั้น ทั้งโปรเจคการสร้าง ฮานอย สมาร์ท ซิตี้ ตั้งเป้าหมายในการเป็น Hub ด้าน Fintech ในย่านนี้ หรือการสนับสนุน Start-up รุ่นใหม่ในประเทศที่พัฒนาระบบมาต่อยอดการใช้งานระบบ Fintech สู่คนในสังคม 

มีข้อมูลว่า ในช่วงระหว่างปี 2017 -2020 มีจำนวน Fintech Start-up ในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 179% ในจำนวน Start-up เกิดใหม่กว่า 30% เป็นผู้ให้บริการด้านการเงิน ระบบจัดการกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิค รวมถึงแอบพลิเคชั่นสำหรับการลงทุนแลกเปลี่ยนเงินคริปโตโดยเฉพาะ 

การขยายตัวของธุรกิจ Fintech ในเวียดนามก็สร้าง Start-up ระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าธุรกิจเกิน 1 พันล้านเหรียญได้เป็นตัวที่ 2 ของประเทศได้ในที่สุด นั่นก็คือ VNPay 

แต่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไกลกว่านั้น นอกจากการบรรลุเป้าหมายโครงการ ฮานอย สมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางเทคโนโลยีการเงินใหม่ในย่านอาเซียนแล้ว เวียดนามจะต้องมี Fintech Start-up ระดับยูนิคอร์นให้ได้ถึง 10 บริษัทภายในปี 2030 

นั่นจึงเป็นเหตุให้เทคโนโลยีบล็อคเชน และความนิยมเงินดิจิตอลในเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บวกกับทัศนคติของชาวเวียดนามรุ่นใหม่ ที่เรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว มีความมุ่งมั่นในเป็นผู้ประกอบการ และกล้าลงทุน 

ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากรราว ๆ 96.5 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 7% ในแต่ละปี แต่มีเพียง 4 ล้านคนที่มีกระเป๋าเงินดิจิตอลทั่วไปที่ใช้ในประเทศ จึงยังมีกลุ่มตลาดอีกมากมายให้บริษัท Fintech รุ่นใหม่ได้เติบโต และอาจมีการพิจารณาแก้ไขกฏหมายเรื่องการถือครองสินทรัพย์ ดิจิตอลในเร็วๆ นี้ 

แต่ทั้งนี้ ก็ยังคงต้องเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดเงินคริปโต และด้วยโครงสร้างการเมือง การปกครอง รัฐบาลเวียดนามยังไม่อาจปล่อยให้เงินคริปโตไหลเวียนในระบบการเงินในประเทศได้อย่างอิสระ 

ถึงอย่างนั้นก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ กระแสคริปโตเคอร์เรนซีในเวียดนามจะบูมจนทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาสับสวิทช์ หรือคิดใหม่อีกครั้งหรือไม่ และ โครงการ ฮานอย สมาร์ทซิตี้ จะกลายเป็นโมเดลเมือง Fintech ของหลายประเทศในย่านอาเซียนได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องจับตาดูกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://m.sggpnews.org.vn/business/vietnam-has-second-highest-rate-of-cryptocurrency-use-91737.html

https://www.asiablockchainreview.com/outlook-for-vietnams-blockchain-and-crypto-industries-in-2020/

https://www.citypassguide.com/blog/the-rise-of-cryptocurrency-in-vietnam

https://vietnaminsider.vn/why-vietnam-ranked-top-among-countries-use-cryptocurrency-the-most/

https://www.businesstimes.com.sg/asean-business/cryptocurrencies-have-driven-vietnams-fintech-boom-white-paper

https://news.bitcoin.com/vietnam-plans-to-regulate-digital-currencies-after-commissioning-a-crypto-research-group/

https://news.bitcoin.com/cryptocurrency-mining-soars-vietnam-7000-rigs-imported/

https://fintechnews.sg/45354/vietnam/2020-fintech-vietnam-report-and-startup-map/

https://e.vnexpress.net/news/business/companies/digital-payment-firm-vietnam-s-second-startup-unicorn-4199895.html


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง 'จีน' กับเส้นทางสู่อวกาศ ที่เริ่มต้นจาก 'คำดูถูก'

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ประเทศจีนได้ส่งยานสำรวจจู้หรง ที่มากับยานเทียนเหวิน-1 ร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่ความสำเร็จครั้งนี้ของจีนถือว่าล้ำหน้ากว่านั้น เพราะหากนับยานที่ร่อนลงจอดบนดาวอังคารแล้วยังสามารถติดต่อสื่อสารกับยานแม่ได้ ก็จะนับว่าจีนเป็นชาติที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกาที่ทำได้ และยังเป็นการประกาศความสำเร็จตามหลังนาซ่า ที่ส่งยาน "เพอร์ซีเวอแรนซ์" ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ก่อนหน้านั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์เพียงไม่กี่เดือน 

ความสำเร็จของโครงการสำรวจอวกาศของจีนครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจว่าจีนจะไปได้ไกลถึงไหน และนี่อาจเป็นการเปิดศักราชสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อย่างที่สหรัฐฯ และ สหภาพโซเวียต เคยขับเคี่ยวกันอย่างสูสีในการมุ่งสู่ห้วงอวกาศเมื่อกว่า 70 ปีก่อนก็เป็นได้ 

ถ้าหากมองย้อนกลับไปในสมัยที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ ๆ ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจีนจะกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจอวกาศ หรือ แม้แต่จะพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานได้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจของโลกได้อย่างที่เห็นในวันนี้ 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่เคยฝันว่าจะต้องได้ไปเหยียบเย้ยชมจันทร์อย่างชาติตะวันตกให้ได้สักวันหนึ่ง 

จุดเริ่มต้นของความพยายามมุ่งสู่อวกาศของจีนนั้นมาจากปณิธานของเหมา เจ๋อตุง ที่ได้เห็นยานสปุตนิก-1 ดาวเทียมดวงแรกของโลกจากสหภาพโซเวียต ที่ส่งออกไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จในปี 1957 จึงตั้งเป้าหมายว่าจีนต้องส่งยานอวกาศสักลำออกไปนอกโลกบ้างให้ได้ หลังจากนั้น เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งเดินหน้าโครงการสำรวจอวกาศของจีนทันที ภายใต้ชื่อ Project 581 ในปี 1958

เมื่อมีโปรเจกต์เริ่มต้นแล้ว ก็ต้องมีคนมาคุม ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอากาศยานที่ล้ำสมัยแบบตะวันตกที่หาไม่ได้ในประเทศจีน แต่ในที่สุด เหมา เจ๋อตุง ก็ได้หัวกะทิระดับประเทศมา ที่มีเบื้องหลังไม่ธรรมดา และต้องยอมแลกกับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันหลายคน 

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ต่อมาได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการบินอวกาศจีน คนนั้นก็คือ เฉียน สเวเซิน

เฉียน สเวเซิน พื้นเพเป็นคนเซี่ยงไฮ้ เกิดในปี 1911 พร้อมพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ และ ฟิสิกส์อย่างหาตัวจับยาก จึงได้ทุนจากสหรัฐฯ ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT

หลังจากจบปริญญาโทที่ MIT แล้ว เฉียน สเวเซิน ย้ายไปทำงานวิจัยพัฒนาด้านอากาศยานระบบแอโรไดนามิกกับ ธีโอดอร์ ฟอน คาร์มาน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่สถาบัน California Institute of Technology หรือ Caltech ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศาตราจารย์ คาร์มาน เป็นผู้ดูแลห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ช่วยพัฒนายานขับเคลื่อนไร้คนขับ และระบบยานขนส่งอวกาศให้กับองค์การ NASA 

และเมื่อเฉียน สเวเซิน จบปริญญาเอกที่ Caltech ในปี 1939 เขาได้รับบรรจุให้ทำงานในกองทัพสหรัฐฯ โดยรับผิดชอบการวิเคราะห์ จรวด และขีปนาวุธของฝ่ายเยอรมัน เพื่อพัฒนาอาวุธให้กับฝ่ายสหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่พอ เขายังได้รับเลือกให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ Manhattan Project ในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกอีกด้วย 

แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเย็นของ 2 ขั้วอำนาจใหม่ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำโดยสหรัฐอเมริกาที่ยึดแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย กับ สหภาพโซเวียตที่เดินตามแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 

ประกอบกับช่วงนั้น เหมา เจอตุง สามารถรบชนะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ก จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศสังคมนิยมตั้งแต่ 1949 เป็นต้นมา 

ด้วยความกลัวกระแสลัทธิสังคมนิยมในรัฐบาลสหรัฐฯ จึงทำให้ เฉียน สเวเซิน ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับให้จีน และถูกคุมขังในบ้านพักพร้อมครอบครัวนานหลายปี จนกระทั่งเหมา เจ๋อตุง ได้เจรจากับ ประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ เพื่อแลกตัว เฉิน สเวเซิน กับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังในประเทศจีนหลายคน จนสามารถได้ตัว เฉียน สเวเซิน กลับมาประเทศจีน 

และให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CAST ที่นอกจากเขาจะเป็นคนวางพื้นฐานการพัฒนายานอวกาศ และดาวเทียมให้จีนเป็นคนแรกแล้ว ยังถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิศกรชาวจีนอีกมากมายหลายรุ่น ที่กลายเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าให้กับโครงการอวกาศของจีน

ตอนแรก เหมา เจ๋อตุง ต้องการเร่งพัฒนาดาวเทียมสัญชาติจีนสู่อวกาศให้ทันภายในปี 1959 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ยังทำไม่สำเร็จ ทำได้เพียงการทดลองปล่อยจรวดส่งหนูขาวออกไปนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น 

จนกระทั่งจีนสามารถพัฒนาดาวเทียมดวงแรกได้สำเร็จในปี 1970 ที่ชื่อว่า ตงฟางหง-1 ปล่อยจากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน ในมณฑลกานซู และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกได้ ตามหลัง สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น 

แต่ทั้งนี้ ในปี 1969 สหรัฐอเมริกาได้ส่งมนุษย์คนแรกไปปักธงชาติสหรัฐฯ บนดวงจันทร์เรียบร้อยแล้วด้วยยานอพอลโล่ 11 

เหมา เจ๋อตุงไม่อยากจะถูกทิ้งห่างไปนาน ยังคงฝันที่ไล่ตามชาติตะวันตกให้ทัน แต่ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนก็มีหยุดชะงักนานหลายปีเพราะปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม จนสิ้นสุดหลังจากการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุงในปี 1976 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ NASA เปิดตัวโครงการ Viking เพื่อมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารไปแล้ว

โครงการสำรวจอวกาศยุคแรกจึงไม่ได้รับความสนใจจาก 2 ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เท่าที่ควร เพราะมองว่าเทคโนโลยีของจีนยังล้าหลังอยู่หลายขุม และไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะชวนจีนให้มาเข้าร่วมสมาคม "มุ่งสู่ดวงจันทร์" ไปด้วยกัน 

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงได้เริ่มเดินหน้าแผนสำรวจอวกาศจีนขึ้นมาใหม่ โดยคราวนี้จีนตั้งใจพัฒนายานที่สามารถพามนุษย์ขึ้นไปได้จริง ๆ ด้วยโครงการยานเสินโจว และในที่สุดก็ทำสำเร็จกับยานเสินโจว-5 ในปี 2003 ที่สามารถพา หยาง ลี่เว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนไปสู่นอกโลกได้นาน 21 ชั่วโมง และกลาย เป็นชาติที่ 3 ของโลกที่สามารถก้าวมาจนถึงจุดนี้ได้ 

การพัฒนายานอวกาศของจีนยังเดินหน้าต่อเนื่อง จีนเริ่มพัฒนากระสวยอวกาศ ฉางเอ๋อ-1 เพื่อวนรอบดวงจันทร์ในปี 2007 และยานเสินโจว-7 ในปี 2008 ที่นักบินอวกาศจีนสามารถออกจากยานมาลอยอยู่นอกชั้นบรรยากาศได้ 

แต่พอมาถึงจุดนี้ แผนการสำรวจอวกาศของจีนก็เริ่มทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่พอใจ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาจรวดอวกาศ กับ จรวดพิสัยไกลข้ามทวีป ICBM ที่เป็นอาวุธทางทหารใช้พื้นฐานเดียวกัน 

และในปี 2011 สภาคองเกรซสหรัฐฯ ก็ลงมติแบนโครงการสำรวจอวกาศของจีน ไม่ยอมให้ NASA ใช้งบประมาณไปสนับสนุนโครงการของจีน และไม่ยอมให้จีนใช้สถานีอวกาศนานาชาติที่ดูแลโดย NASA ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่ต้องการให้จีนแอบใช้เทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ไปพัฒนาอาวุธ กล่าวหาว่าจีนแอบขโมยข้อมูลจากห้องแล็บของ NASA รวมถึง ดาวเทียมวงโคจรต่ำของจีน มีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง และจะกลายเป็นขยะในชั้นบรรยากาศที่อาจเป็นอันตรายกับโลกในภายหลัง

แต่จีนไม่ยอมแพ้ แก้ลำด้วยการสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเองในโครงการ เทียนกง-1 ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2011 เช่นเดียวกัน และตามมาด้วยสถานีอวกาศเทียนกง-2 ในปี 2016 

และในปี 2019 ทีมสำรวจอวกาศจีนก็สร้างความฮือฮาให้กับโลกอีกครั้ง ที่สามารถนำยาน ฉางเอ๋อ-4 ร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในด้านที่ยังไม่เคยมีประเทศไหนสำรวจมาก่อน จนนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการสำรวจดวงจันทร์ 

และต่อมาในปี 2020 จีนก็บรรลุภารกิจส่งดาวเทียมเป่ยโต่ว ที่เป็นดาวเทียมระบุพิกัดสัญชาติจีนที่ครอบคลุมพิกัดทั่วโลก ท้าทายธุรกิจดาวเทียมระบบ GPS ของสหรัฐฯ ได้แล้วในตอนนี้ 

จนกระทั่งวันนี้ เทคโนโลยีอวกาศของจีนก็ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้นจากความสำเร็จของยานจู้หรง-1 เพื่อมุ่งหน้าสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร นับว่า 60 ปีของโครงการพัฒนายานอวกาศของจีนเดินทางมาไกลมาก จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลย

แม้ความจริงในตอนนี้ จีนยังไม่สามารถทัดเทียมสหรัฐฯ ได้ ในโครงการอวกาศ และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไปถึงจุดที่สหรัฐฯ ทำได้ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้ห่างกันจนไม่เห็นฝุ่น แถมยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ใกล้เคียงในระดับหายใจรดต้นคอ

เรื่องนี้ เหมา เจ๋อตุง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อย่าปรามาสว่าเป็นเพียงฝันลม ๆ แร้ง ๆ เพราะก้าวแรกของความมุ่งมั่นนั้นสำคัญเสมอ 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าประเทศต่าง ๆ ทำไมถึงอยากมุ่งสู่นอกโลก และหากถามว่าการสำรวจอวกาศด้วยงบประมาณมากมายมหาศาลนั้น โลกจะได้ประโยชน์อะไร? 

การแสวงหาแร่หายาก และทรัพยากรใหม่ ๆ งั้นหรือ? การสร้างอาณานิคมนอกโลกสำรองไว้หากโลกเกิดหายนะงั้นหรือ? 

ฤาจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะ DNA ของความอยากรู้ ที่ทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาคำตอบมานับพันปี ถึงความจริงเรื่องจุดเริ่มต้นสิ่งมีชีวิต โดยมีโลกเป็นฐานผลักดันให้มนุษย์มุ่งสู่อวกาศเพื่อไขปริศนาความลับของจักรวาลกันแน่...


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nbcnews.com/science/space/china-becomes-only-second-nation-history-land-rover-mars-n1267410

https://interestingengineering.com/all-you-need-to-know-about-the-chinese-space-program

https://www.labroots.com/trending/space/16798/china-banned-international-space-station

https://www.reuters.com/article/us-space-exploration-china-moon-timeline/timeline-major-milestones-in-chinese-space-exploration-idINKBN28B5GE

https://www.washingtonpost.com/national/health-science/nasas-1976-viking-mission-to-mars-did-everything-right--except-find-martians/2016/06/18/749701f6-2c15-11e6-9b37-42985f6a265c_story.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_space_program

https://en.wikipedia.org/wiki/Qian_Xuesen

'คิวบา' เส้นทางแพทย์สันถวไมตรี ทองแท้ที่ท้าสู้ไฟการเมือง

ในระหว่างที่ทั่วโลกได้สัมผัสกับวิกฤติการแพร่ระบาด Covid-19 ก็เริ่มทำให้เราต้องย้อนมองมาตระหนักถึงความจริงได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตมนุษย์จริง ๆ แล้ว กลับไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, แสนยานุภาพด้านการทหาร หรือความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี 

หากแต่เป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขชุมชน ที่หลายคนมองข้าม และตีความเพียงแค่ว่า การที่เรามีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีหมอเก่ง ๆ มีเครื่องมือทันสมัยกว่าใคร คือ ความล้ำหน้าด้านการแพทย์ 

แต่พอเกิดโรค Covid-19 ระบาดทั่วโลก ก็ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ต่อให้มีโรงพยาบาลใหญ่โต ทีมแพทย์ฝีมือดี หรือเครื่องมือทันสมัยแค่ไหน แต่ถ้ามีไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงผู้ป่วยจำนวนมากก็จบเห่เหมือนกัน

และปัญหานี้ก็เกิดขึ้นแล้วในระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศตะวันตก ที่เคยมั่นใจว่ามีระบบรักษาพยาบาลดีเยี่ยม ก็ยังพังพินาศให้กับคลื่นการระบาดของ Covid-19 

แต่มีประเทศเล็ก ๆ และไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย กลับสามารถดูแลประชาชนจากการระบาดของ Covid-19 ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีหมอ-พยาบาลเหลือเฟือ ส่งออกไปช่วยเหลือประเทศอื่นได้ด้วย

ประเทศเล็กแต่แจ๋วจริงนั้นก็คือ 'คิวบา'

คิวบาเป็นประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลาง ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน มีขนาดเท่ากับรัฐเทนเนสซี ของสหรัฐเท่านั้น และมีประชากรประมาณ 11 ล้านคน 

คิวบาเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลก ที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และแน่นอน เป็นไม้เบื่อ ไม้เมารุ่นเดอะของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการคว่ำบาตร กดดันรัฐบาลคิวบามาตลอดหลายสิบปี 

แม้จะโดนชาติมหาอำนาจกดทับ และเจอวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่คุณภาพด้านระบบสาธารณสุขของคิวบา กลับพัฒนาสวนทาง จนทำให้ทุกวันนี้คิวบามีจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก 

ปัจจุบันนี้ ในคิวบามีแพทย์อยู่ถึง 8.4 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะมีแพทย์เพียง 2.6 คน ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น น้อยกว่าคิวบาถึง 3 เท่า 

และก็ไม่ใช่มีดีแค่ปริมาณ!! แต่คุณภาพก็ดีด้วย พิจารณาได้จากการที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขต่อปีถึง 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งสูงกว่างบประมาณของคิวบา 10 เท่า แต่ประชากรคิวบากลับมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 78.7 ปี ซึ่งมากกว่าชาวสหรัฐฯ ที่ 78.5 ปี 

ถึงจะมองว่าสหรัฐฯ มีประชากร, กำลังเงิน, เทคโนโลยีทางการแพทย์ และทรัพยากรที่เหนือกว่าคิวบาทุกด้าน แต่ค่าเฉลี่ยด้านสุขภาพกลับแทบไม่ต่างกัน ก็แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของคิวบานั้น ไม่ธรรมดาจริง ๆ

แล้วเหตุใดทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างคิวบา กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขได้อย่างยอดเยี่ยม? 

จุดเริ่มต้นนั้น มาจากการวางรากฐานสาธารณสุขของคิวบา ที่ต้องยกเครดิตให้กับ 'ฟิลเดล คาสโต' หลังจากที่เขาเป็นผู้นำการปฏิวัติคิวบา โค่นอำนาจ ของ 'ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา' ผู้นำเผด็จการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนั้น แล้วได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของคิวบามาเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1959 โดย ฟิเดล คาสโต ปฏิญาณว่า การศึกษา และสาธารณสุข เป็นหัวใจสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

และเป็นหลักที่รัฐบาลคิวบายึดมั่นเสมอมาว่า ชาวคิวบาทุกคนต้องได้เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี 

แต่ปัญหาคือ พอคิวบาเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้คนชั้นปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์กลัวว่าพวกเขาจะถูกกวาดล้าง จึงลี้ภัยหนีไปอยู่สหรัฐฯ จำนวนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีทางเดียวคือต้องสร้างทีมบุคลากรการแพทย์ขึ้นมาใหม่ และมุมมองของฟิเดล คาสโตร คือ แพทย์หลังยุคปฏิวัติคิวบาต้องยึดถือมวลชนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดถือแค่วิชาการ

โดยคาสโตร ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ และปรับแผนการเรียนใหม่ทั้งหมด ต่อมาพัฒนาจนกลายเป็น Latin American School of Medicine ที่จัดเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รับนักศึกษาแพทย์ในแต่ละปีเกือบ 2 หมื่นคนจาก 110 ประเทศทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนที่นี่เรียนฟรี มีที่พักให้ฟรี แถมได้ค่าจ้างในการฝึกงานระหว่างเรียนด้วย

ยิ่งไปกว่าการรับนักศึกษาของที่นี่ก็ไม่ได้ยึดเอาใบผลคะแนนสอบมาเป็นตัววัด ขอแค่มีใจรัก มุ่งมั่นที่จะเป็นหมอ ก็เข้ามาคุยกันได้ และยังเปิดรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านย่านแคริบเบียน และประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาอีกด้วย

ส่วนการสอน ไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนหรูหรา แต่จับมือสอนจากเคสจริง ด้วยการให้นักศึกษาแพทย์เรียนคู่กับฝึกงานในคลินิกชุมชนตั้งแต่ปี 1 เจอคนไข้จริง ๆ เพื่อให้เรียนรู้ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสาธารณสุข กับผู้คนในท้องถิ่น

เพราะหลังจากจบมาแล้ว หน้าที่สำคัญคือการทำให้ระบบสาธารณสุขเพื่อมวลชนเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องมีทีมเดินไปเยี่ยม ปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพตามบ้านด้วย จะได้รีบรักษาได้ตั้งแต่ต้นมือ ดีกว่ารอจนอาการหนักค่อยมาหาหมอ 

นอกจากนี้ เมื่อมีบุคลากรด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก ก็จัดทัพเป็นกลุ่มนักรบเสื้อขาวออกไปช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ที่เดือดร้อน อย่างเหตุระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล, เหตุสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แผ่นดินไหวที่เฮติ การระบาดของอีโบล่าในแอฟริกา และภัยพิบัติหลาย ๆ เหตุการณ์ ก็มีทีมแพทย์จากคิวบาไปร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่เสมอ 

นั่นจึงทำให้คิวบาไม่เคยขาดมิตรประเทศ แม้จะโดนมาตรการคว่ำบาตร บีบคิวบาให้โดดเดี่ยวด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ทั่วโลกจึงยกให้ทีมหมอเฉพาะกิจชาวคิวบาว่าเป็นเหมือน 'ฑูตสันถวไมตรี' ที่คิวบาส่งไปเชื่อมสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ ที่ต่อมาก็สร้างรายได้ให้กับคิวบามากถึงหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี เพราะมีหลายประเทศขอใช้บริการทีมหมอคิวบายาว ๆ เพราะหมอในประเทศตนขาดแคลน โดยมีการจ่ายค่าแรงคุณหมอให้กับรัฐบาลคิวบา หรือบางประเทศอย่างเวเนซุเอล่า ผ่าน 'ราคาน้ำมัน' ที่ต่ำกว่าท้องตลาด

นี่จึงกลายเป็นจุดที่สหรัฐฯ ไม่ปลื้ม จนออกมาโจมตีโครงการแพทย์สันถวไมตรีของคิวบาอย่างหนัก เพราะค่าแรงของหมอ ไม่ถึงหมอ แต่รัฐบาลคิวบาเก็บไป แล้วจ่ายเป็นเงินเดือนคืนให้หมอแต่ละคนที่ไปทำงานเสี่ยงภัยให้รัฐในต่างประเทศเพียงแค่ 10-20% และมีหมอคิวบาบางส่วนก็ออกมาบ่นว่างานหนักเหลือเกิน ไม่คุ้มเงินเดือนที่ได้ เพราะการเป็นหมอเพื่อชุมชนในคิวบาได้เงินเดือนน้อยมาก เพียงแค่ 200 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 6,000 บาท) 

สุดท้ายก็เข้าล็อคแผนการดูดคนของสหรัฐฯ จนกลายเป็นที่มาของแผนวีซ่าพิเศษ Cuba Medical Professional Parole Program (CMPP) ในปี 2006 ที่ให้สิทธิ์บุคลากรการแพทย์ ผู้มีประสบการณ์ของคิวบา เดินทางเข้ามาอยู่ทำงานถาวรในสหรัฐฯ ได้เลยทันที ขอเพียงแค่ออกจากคิวบามาสหรัฐฯ ให้ได้

ทว่าโครงการ CMPP ก็มาสิ้นสุดในปี 2017 ยุคประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี มีหมอจากคิวบาไหลไปทำงานที่สหรัฐฯ ด้วยวีซ่าพิเศษถึง 15,000 คน 

ทางรัฐบาลคิวบา กล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามทำลายความสำเร็จของระบบสาธารณสุขชุมชนของคิวบา และยืนยันว่า แม้รายได้ของแพทย์คิวบาจะน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ก็เป็นค่าแรงที่สูงกว่าฐานเงินเดือนอาชีพอื่น ๆ ในคิวบาแล้ว

แต่หลังจบโครงการ CMPP สหรัฐฯ ยังไม่หยุดโจมตีโครงการแพทยสันถวไมตรีของคิวบา และเผยว่าเข้าข่ายใช้แรงงานทาส และค้ามนุษย์ รวมถึงกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ใช้บริการทีมแพทย์ของคิวบา เช่น เคนยา แอฟริกาใต้ ให้หยุดเสีย 

แล้วก็มีคนบ้าจี้ตามสหรัฐฯ จริง ๆ นั่นคือ ประธานาธิบดีบราซิล ชาอีร์ โบลโซนารู ได้สั่งให้ยกเลิกการนำเข้าหมอจากคิวบา เพราะไม่อยากสนับสนุนแรงงานทาส ซึ่งตอนนั้น คิวบาได้ส่งทีมแพทย์มาประจำช่วยเหลือคนพื้นเมืองในแถบป่าแอมะซอนอยู่แล้วหลายพันคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด Covid-19 เพียง 1 ปี 

แต่พอ Covid-19 มา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ระบบสาธารณสุขทั่วโลกถูกท้าทายอย่างหนักที่สุดในรอบ 100 ปี นับจากการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ทำให้ประธานาธิบดีบราซิลต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขอให้คิวบาส่งทีมแพทย์มาช่วย 

และคิวบายังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลืออิตาลี ที่เคยวิกฤติหนักจากการระบาดของ Covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คิวบาส่งนักรบเสื้อขาวไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และรวยกว่าคิวบาหลายเท่า

แม้ว่าศึกครั้งนี้จะหนัก และคิวบาก็ประสบปัญหาการระบาดของ Covid-19 เช่นกัน แต่ด้วยความพร้อมของระบบสาธารณสุขชุมชนที่วางรากฐานมานานหลายสิบปี ก็ทำให้คิวบาสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงที่พีคสุดไม่เกิน 1,500 คน และตอนนี้ได้พัฒนาวัคซีน Covid-19 ได้เองแล้วถึง 2 ตัว คือ Soberano 02 และ Abdala ที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ชาวคิวบาทุกคนด้วยวัคซีนที่ผลิตใช้เองในประเทศ

ต้องยอมรับว่า Covid-19 มาเบิกเนตรความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในระดับชุมชน ที่ทุกคนควรเข้าถึงสิทธิ์ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเริ่มตั้งแต่ทุ่มเทสร้างบุคลากรการแพทย์ ที่เน้นการบริการเพื่อประชาชนจริง ๆ แล้วผลลัพธ์ตอบแทน ก็จะเป็นแบบที่คนคิวบาได้รับ และชาวโลกได้เห็นเช่นทุกวันนี้


ข้อมูลอ้างอิง
https://time.com/5467742/cuba-doctors-export-brazil/
https://www.thinkglobalhealth.org/article/medical-diplomacy-lessons-cuba
https://hir.harvard.edu/exploring-the-implications-of-cuban-medical-diplomacy/
https://www.theguardian.com/world/2020/may/06/doctor-diplomacy-cuba-seeks-to-make-its-mark-in-europe-amid-covid-19-crisis
https://en.m.wikipedia.org/wiki/ELAM_(Latin_American_School_of_Medicine)_Cuba
 

บะหมี่สร้างชาติ !! รู้จัก​ Nongshim บะหมี่เบอร์​ 1​ สัญชาติเกาหลีใต้ สำเร็จบนความศรัทธา​ ที่แลกมาด้วยการตัดพี่ตัดน้อง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2021 มีการประกาศข่าวเศร้าของวงการนักธุรกิจเกาหลีใต้ว่า นายชิน ชุน-โฮ ผู้ก่อตั้งบริษัท Nongshim ที่เป็นเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง ยอดขายอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ Shin Ramyun ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 91 ปี ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโซล

ชิน ชุน-โฮ นับเป็นนักธุรกิจที่มีใจมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นศรัทธา และตลอดระยะเวลานานกว่า 50 ปี เขาอุทิศให้กับการสร้างแบรนด์บะหมี่ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ได้สำเร็จ จนปัจจุบันมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก โดดเด่นแซงหน้าอาหารประจำชาติอย่างกิมจิ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

จุดเริ่มต้นของบริษัท Nongshim เกิดขึ้นจากธุรกิจครอบครัวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลียุคในสงครามเกาหลี ที่ชาวเกาหลีมักเรียกว่าเป็นยุคสร้างชาติ ซึ่งก็ดูเหมือนไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ​ ทั่วไปที่เริ่มขึ้นจากการช่วยเหลือกันของคนในครอบครัว แต่ไม่ใช่กับ ชิน ชุน-โฮ เพราะเขามีพี่ชายที่ชื่อว่า ชิน คยุก-โฮ

ครอบครัวชิน มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ชาย 4 หญิง 5 ชิน คยุก-โฮ เป็นพี่ชายคนโต ส่วนตัวเขา ชิน ชุน-โฮ เป็นน้องชายคนที่ 3 ต่อมาพี่ชายของเขาขอไปเสี่ยงโชคสร้างตัวในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และต่อสู้จนสามารถตั้งบริษัทผลิตหมากฝรั่ง และขนมหวานที่ชื่อว่า Lotte

หลังจากเปิดกิจการมั่นคงแล้ว พี่ชายคนโตของบ้าน เปิดบริษัทย่อยให้น้อง ๆ​ ในครอบครัวมาช่วยกันบริหารภายใต้ แบรนด์ Lotte อีกหลายสิบบริษัท และหนึ่งในนั้นคือ Nongshim ที่ ชิน ชุน-โฮ เป็นคนบริหาร และรับผิดชอบในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และข้าวเกรียบกุ้งแบบญี่ปุ่นออกภายใต้แบรนด์ Lotte

แต่สิ่งที่ ชุน ชุก-โฮ เห็นต่างจากพี่ชายคือ เขามองเห็นโอกาสในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามีโอกาสโตมากกว่านี้ และต้องการลงทุนสร้างฝ่ายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง แต่พี่ชายของเขาไม่สนใจธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่าไหร่ และไม่ต้องการให้ใช้แบรนด์ Lotte กับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานของน้องชาย

เรื่องนี้สร้างความบาดหมางครั้งใหญ่ระหว่างพี่น้องตระกูลชิน เป็นเหตุให้​ ชิน ชุน-โฮ ยอมแตกหักกับพี่ชายแล้วแยกตัวออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ที่ชื่อ Nongshim ที่แปลว่า "หัวใจของเกษตรกร" โดยไม่มี Lotte พ่วงท้ายในปี 1978

ซึ่งชิน ชุน-โฮ ตั้งใจที่จะผลิตบะหมี่ ที่ราคาประหยัด ได้คุณค่าทางอาหาร เก็บได้นาน เหมาะสำหรับชาวเกาหลี ที่ต้องทำงานหนักในยุคสร้างชาติ ที่บางฤดูก็ขาดแคลนอาหาร บางวันกินอาหารได้ไม่ครบมื้อ และไม่มีเวลาปรุงอาหารสด อย่างน้อยก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติดี แบบเกาหลีแท้ ๆ​ ติดบ้านไว้กินประทังชีวิตได้

ช่วงที่ ชิน ชุน-โฮ ออกมาสร้างแบรนด์เอง ในเกาหลีใต้มีบริษัทคู่แข่งที่เน้นผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ Samyang ที่ก็เป็นแบรนด์ฮิตมากจนถึงวันนี้เช่นกัน

ดังนั้น การสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และรูปแบบสินค้าให้เป็นที่จดจำได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง​ ชิน ชุน-โฮ ได้ร่วมวงในทีมคิดค้นพัฒนารสชาติให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ Nongshim แทบทุกตัว โดยเฉพาะรสชาติเรือธงของแบรนด์ Shin Ramyun บะหมี่รสเผ็ด ซุปแดงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของบะหมี่สัญชาติเกาหลีใต้

และก่อนที่จะออกมาเป็น Shin Ramyun ชิน ชุน-โฮ ทดสอบพริกกว่า 20 ชนิด ลองแล้วลองอีกกว่าจะได้ ออกมาเป็นรสชาติอย่างที่ต้องการ แล้วตัดสินใจใช้ชื่อ Shin Ramyun ที่หลายคนเคยเข้าใจว่ามาจากนามสกุล "ชิน" ของเขา ซึ่งไม่ใช่ แต่มาจากตัวอักษรจีน ที่แปลว่า "เผ็ด"

พนักงานย้ำถามเขาหลายครั้งว่า เถ้าแก่ชินตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า "Shin" หรือ เรียกตรง ๆ ว่าบะหมี่เผ็ดจริง ๆ​ หรือ ซึ่ง ชิน ชุน-โฮ ก็ยืนยัน และยังให้เขียนตัวอักษร Shin "辛" ตัวใหญ่ ๆ​ กลางซองสีแดงให้เด่นชัด ตอกย้ำรสชาติเผ็ดจัด ตามแบบที่คนเกาหลีชอบ และออกวางตลาดครั้งแรกในปี 1986 จนกลายเป็นสินค้าฮิตติดตลาด พาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจาก Nongshim กินส่วนแบ่งตลาดเป็นที่ 1 ของเกาหลีใต้ได้จนถึงวันนี้

หลังจากนั้น Nongshim ก็ได้แตกไลน์ออกบะหมี่มาอีกหลายรสชาติ เช่น บะหมี่ซุปซีฟู้ด Neoguri, บะหมี่แห้งซอสดำ Chapaghetti, บะหมี่ซุปกิมจิ Ansungtangmyun นอกจากนี้ Shin Ramyun ยังเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ดีที่สุดในโลกของ New York Times มาแล้วด้วย

ปัจจุบัน Nongshim เปิดโรงงานทั้งในจีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งออกบะหมี่ไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้ถึง 1.8 พันล้านเหรียญในแต่ละปี

แต่น่าเสียดายที่ความสำเร็จของ Nongshim ไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องตระกูลชิน กลับมาดีดังเดิมได้อีก ทั้ง​ ชิน คยุก-โฮ พี่ชายคนโต ผู้กุมบังเหียนกิจการ Lotte และ ชิน ชุน-โฮ ที่เติบใหญ่จากธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เคยคุยกันอีกเลยหลังจากที่แยกทางกันเดิน และด้วยบุคลิกของ ชิน ชุน-โฮ ที่เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ชอบเข้าสังคมเหมือนพี่ชาย และทำแต่งาน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินจนเกินที่จะประสานต่อกันได้

แม้ว่า ชิน คยุก-โฮ ผู้พี่จะจากไปแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2020 ด้วยวัย 98 ปี ก็ไม่ปรากฏตัวชิน ชุน-โฮ ในงานศพพี่ชายของเขา เช่นเดียวกับงานศพของ ชิน ชุน-โฮ ก็ไม่มีตัวแทนจากครอบครัวของพี่ชายเช่นกัน

หลายครั้งที่การทำธุรกิจต้องแลกกับความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ในใจของ​ ชิน ชุน-โฮ ก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เขาจึงมักพร่ำสอนให้ลูก ๆ ทั้ง 4 คนของเขารักกันให้มาก ๆ และช่วยกันดูแลบริษัท Nongshim ต่อจากเขาด้วย​ โดยยึดมั่นในคุณภาพ และความซื่อสัตย์

และด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธานี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้พัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ที่คนทั้งโลกรู้จักทันทีที่ได้เห็น และติดใจที่ได้ลิ้มลอง

.

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-koreas-ramyeon-king-leaves-a-spicy-legacy

https://www.ajudaily.com/view/20200218104006727

https://scholarblogs.emory.edu/noodles/2018/06/30/the-role-of-korean-ramyeon-christina-ji-young-chang/

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210328000167

https://www.nytimes.com/wirecutter/blog/best-instant-noodles/

https://www.statista.com/statistics/687374/south-korea-instant-noodle-brand-market-share/


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ไอร์แลนด์เหนือ มรดกแห่งความขัดแย้งของอังกฤษ ความสงบที่ถูกสั่นคลอนจากผลสะท้อนของ Brexit

ไอร์แลนด์เหนือ 1 ใน 4 ประเทศที่เป็นองค์ประกอบของสหราชอาณาจักร เป็นประเทศเขตเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะบริเตนใหญ่เหมือนอย่างอังกฤษ สก็อตแลนด์ และ เวลส์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะไอร์แลนด์ ที่ถูกแยกออกมา 2 ส่วน คือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศอิสระ กับ ไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ไอร์แลนด์เหนือ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งลูกที่มีปัญหาของอังกฤษมาช้านาน ราวกับว่า "ความขัดแย้ง" คือมรดกที่ตกทอดไปสู่ลูก ๆ หลาน ๆ ของชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่ล่าสุดตอนนี้ได้ลุกฮือขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีปี และขยายตัวเป็นความรุนแรง มีการเผารถเมล์สาธารณะ ขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามไปยังกำแพงแห่งสันติภาพ เส้นแบ่งความขัดแย้งแห่งประวัติศาสตร์ของชาวไอร์แลนด์เหนือมานานมากกว่า 50 ปี

ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ เกิดจากปัญหาในหลายมิติ ที่ทับถมกันมานานถึง 1 ศตวรรษเต็มๆ ทั้งปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง สิทธิมนุษยชน จนวันนี้ มีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาถมอีก นั่นก็คือ Covid19 และ Brexit

มรดกความขัดแย้งของไอร์แลนด์เหนือมีที่มาจากอะไร วันนี้เรามาลองมาทำความเข้าใจกันสักหน่อยดีกว่า

ก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็น 2 ส่วนอย่างทุกวันนี้ ทั้งเกาะไอร์แลนด์เคยเป็นของอังกฤษทั้งหมด จากการพิชิตของกองทัพอังกฤษในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในปี 1542 และได้สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์

ในตอนนั้นประชากรส่วนใหญ่บนเกาะไอร์แลนด์เป็นชาวไอริช ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แต่ทางตอนเหนือของเกาะจะมีชุมชนของชาวอัลสเตอร์ ที่อพยพมาจากฝั่งสก็อตแลนด์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเกาะไอร์แลนด์ที่เป็นชาวไอริชก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแยกตัวออกจากอังกฤษเสียที แต่ชาวอัลสเตอร์ที่อยู่อย่างหนาแน่นทางตอนเหนือของเกาะ ยังต้องการอยู่กับอังกฤษ จึงได้ลงนามตกลงแบ่งประเทศ ตอนใต้กลายเป็นสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ปกครองโดยรัฐบาลชาวไอริช ที่ส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก มีเมืองหลวงที่กรุงดับลิน ส่วนทางตอนเหนือแยกเป็นประเทศไอร์แลนด์เหนือ มีกรุงเบลฟาสเป็นเมืองหลวง ที่ยังขอเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ ปกครองโดยรัฐบาลชาวอัลสเตอร์ ที่เป็นโปแตสแตนท์ในปี 1921

แต่ปัญหาของไอร์แลนด์เหนือกลับไม่จบง่าย ๆ เพราะยังคงมีชาวไอริชคาทอลิกหลงอยู่ทางตอนเหนือที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยทันที ในสังคมไอร์แลนด์เหนือที่เต็มไปด้วยชาวโปแตสแตนท์ ที่จงรักภักดีกับอังกฤษ บางส่วนจึงได้รวมตัวเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ แล้วเรียกตนเองขบวนการกู้ชาติไอริช Irish Republican Army หรือ IRA มีเป้าหมายเพื่อรวมชาติไอร์แลนด์เหนือกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งกลุ่ม IRA ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน และอาวุธจากชาวไอริชทางตอนใต้ และชาวไอริชที่อยู่ในต่างประเทศ เช่นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ และในอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วางระเบิด ลอบสังหาร ปล้นธนาคาร จนถึงระดับก่อการร้าย ส่วนฝ่ายชาวอัสเตอร์โปแตสแตนท์เองก็มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ออกมาสู้กับขบวนการ IRA เช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งระหว่าง ชาวไอริชคาทอลิก และชาวอัลสเตอร์ โปแตสแตนท์ ในไอร์แลนด์เหนือ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวนานนับจากนั้น ช่วงเวลาที่ขัดแย้งรุนแรงที่สุด รู้จักในชื่อยุค "The Troubles" ที่กินเวลายาวนานถึง 30 ปี ตั้งแต่ 1960-1990 จนรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซง และได้สร้างกำแพงกั้นระหว่างชุมชนฝั่งคาทอลิก และฝั่งโปสแตสแตนท์ในปี 1969 ที่ชาวไอร์แลนด์เหนือเรียกว่า Peace Wall - กำแพงสันติภาพ

แต่หน้าที่ของกำแพงไม่ได้ส่งเสริมสันติภาพตามชื่อของมันแม้แต่น้อย แต่กลับสร้างความแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติ และ ศาสนาในดินแดนไอร์แลนด์เหนือให้กว้างยิ่งขึ้นไปอีก

ผลจาก Peace Wall ทำให้เกิดการแบ่งแยกโซนออกมาอย่างชัดเจน เด็กชาวไอร์แลนด์เหนือมากกว่า 90% เข้าเข้าเรียนโรงเรียนที่สร้างขึ้นเฉพาะของกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนาของตน โดยแทบไม่มีโอกาสได้รู้จักชุมชนอีกด้านหนึ่งของกำแพง

นอกจากนี้ กลุ่มชาวไอริชคาทอลิกที่เป็นชนกลุ่มน้อยมักถูกเลือกปฏิบัติ และมีโอกาสในหน้าที่การงานน้อยกว่าชาวโปแตสแตนท์ ที่มีเสียงในรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือที่มากกว่า

ความขัดแย้งยังคงฝังรากลึกรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อชาวไอริชในไอร์แลนด์เหนือได้รวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่เท่าเทียมของตน จนเกิดจลาจลรุนแรง ทางอังกฤษได้ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามในวันที่ 30 มกราคม 1972 จนมีชาวไอริชเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 26 คน เหตุการณ์นั้นได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์เหนือว่าเป็น "Bloody Sunday หรืออาทิตย์นองเลือด 1972"

ความเจ็บแค้นในครั้งนั้นก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่มกองกำลังกู้ชาติไอริช หรือ IRA ซึ่งหนึ่งในการโต้ตอบที่สะเทือนขวัญชาวอังกฤษอย่างมาก คือการลอบสังหาร ท่านเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่น ด้วยการวางระเบิดเรือตกปลาส่วนตัวของครอบครัว ขณะที่มีบุตรสาวคนโต และครอบครัวลูกหลานของเอิร์ลเมาท์แบทเทิ่นกำลังไปพักผ่อนตกปลาร่วมกันถึง 7 คน เหตุลอบสังหารครั้งนั้น ทำให้เอิร์ลเมาท์แบทเทิ่น พร้อมสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตรวม 4 คน

ซึ่งเอิร์ล เมาท์แบทเทิ่นถือเป็นนายพลแห่งราชนาวีอังกฤษที่มีชื่อเสียงมาก และมีศักดิ์เป็นถึงพระปิตุลาของเจ้าชายฟิลิปแห่งเอดิบเบอระ พระสามีในสมเด็จพระราชินี อลิซเบธที่ 2

แต่หลังจากที่ตึงเครียดวุ่นวายมานาน ในที่สุดทั้งไอร์แลนด์เหนือ ไอร์แลนด์ อังกฤษ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพร่วมกันในวันที่ 10 เมษายน 1998 ข้อตกลงฉบับนั้นมีชื่อว่า Good Friday Agreement เห็นชอบที่จะยุติความรุนแรงทุกฝ่าย ให้ชาวไอริชคาทอลิกมีสิทธิ์ มีเสียงในระบบการเมืองสภาไอร์แลนด์เหนือมากขึ้น นักประวัติศาสตร์อังกฤษต่างยกให้การบรรลุข้อตกลง Good Friday เป็นการสิ้นสุดยุค The Troubles ในไอร์แลนด์เหนือ

แม้ว่าความวุ่นวายจะยุติ แต่ความขัดแย้งในสังคมชาวไอร์แลนด์เหนือ ไม่เคยจางหายไป

ชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ ยังคงอยู่ภายในกำแพงจำกัดเขตในชุมชนของตนไปอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งเกิดเรื่องที่กลับมาตอกลิ่มความแตกแยกให้ประทุมาอีกครั้ง นั่นคือการลงประชามติ Brexit ในปี 2016

แม้ว่าภาพรวมของการลงคะแนนทั่วทั้งสหราชอาณาจักรจะเห็นชอบให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่หากมองคะแนนในแต่ละภูมิภาคจะพบว่าในเสียงไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่ยังอยากอยู่กับ EU แถมชนะขาดเกือบ 11%

แต่เมื่อต้องร่วมหัวจมท้ายไปกับอังกฤษก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่พรมแดนไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์

จากเดิมที่ไม่มีปัญหาเพราะอังกฤษและไอร์แลนด์เป็นสมาชิก EU ทั้งคู่ สามารถเดินทางไปมาข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ แต่พออังกฤษแยกตัวออกจาก EU ตามเงื่อนไขของประเทศนอกสมาชิก จำเป็นต้องมีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและ กำแพงภาษีสินค้า

แต่ทั้งนี้อังกฤษขอต่อรองในเรื่องนี้ ยื้อกันนานกว่า 3 ปีจนสรุปออกมาได้ว่า EU จะยอมผ่อนผันเรื่องกำแพงระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และประเทศไอร์แลนด์ได้ เพราะเห็นแก่ข้อตกลงสันติภาพ Good Friday 1998 แต่เขตแดนทางทะเลจำเป็นต้องมี

แม้จะไม่ได้เป็นกำแพงทางกายภาพ แต่เส้นแบ่งทางทะเลนี้จะรวมเขตไอร์แลนด์เหนือ เป็นเขตเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จึงทำให้ฝ่ายนิยมสหราชอาณาจักร หรือกลุ่มอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ไม่พอใจมาก ที่ดูเหมือนอังกฤษ และชาว EU ผลักไสพวกเขาไปอยู่ฝั่งเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และมีการประท้วง เขียนกำแพงต่อต้านเส้นแบ่งทะเลไอร์แลนด์อยู่ทั่ว ๆ ตามแนวชายฝั่ง และท่าเรือที่มีแรงงานชาวไอริชคาทอลิกอยู่

ยิ่งมาเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ และงดการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ชาวอัลสเตอร์โปแตสแตนท์ถูกห้ามไม่ให้ชุมนุม

แต่พอมีข่าวการเสียชีวิตของนายบ๊อบบี้ สโตร์ลีย์ อดีตหัวหน้าหน่วยของขบวนการ IRA รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือกลับให้จัดพิธีศพใหญ่โตได้ ที่มีผู้ไปร่วมงานอย่างเนืองแน่นกว่า 2,000 คน รวมถึง มิชเชล โอ'นีลล์ รองนายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์เหนือ กลับไปร่วมงานได้โดยไม่ผิดกฏมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐ

เหตุและผลสะสมกันมานานหลายเรื่องก็ระเบิดออกมากลายเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ โดยฝ่ายชาวโปแตสแตทน์นิยมอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกคับข้องใจว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิ์ และกำลังจะถูกผลักไปอยู่รวมกับอีกฝ่ายที่อยู่คนละด้านของกำแพง

และหากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต พวกเขาก็จะกลับกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมดที่เป็นชาวคาทอลิกหรือไม่

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่ 29 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมาในเขตเดอร์รี ลอนดอนเดอร์รี และลามไปถึงเบลฟาสท์ กินเวลานานหลายวัน มีการขว้างปาก้อนอิฐ ระเบิดขวดข้ามกำแพง Peace Wall เข้าไปในฝั่งของชาวไอริช เผารถเมล์ โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บไปแล้วถึง 74 คนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงที่ดุเดือดที่สุดในไอร์แลนด์เหนือในรอบสิบปี ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะกระทบกับข้อตกลง Good Friday ที่เคยสร้างความหวังว่าไอร์แลนด์เหนือจะสงบสุขได้จริง ๆ เสียที

จากการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ผู้นำทั้ง 3 ดินแดน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาร์ลีน ฟอสเตอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งไอร์แลนด์เหนือ และ ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และพยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี ตามหลักข้อตกลง Good Friday

ส่วนทั้งชาวโปแตสแตนท์ และชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย หลายความเห็นมองว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดไม่ทันความอลหม่านของบ้านเมืองในยุค The Troubles พวกเขามองกำแพง Peace Wall ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องเกิดมาเพื่อเจอสิ่งเหล่านี้

ไอร์แลนด์เหนือจะมีโอกาสได้พบกับยุคทองแห่งความสงบสุขบ้างหรือไม่ หรือความแตกแยกจะอยู่คู่กับไอร์แลนด์เหนือราวกับมรดกต้องคำสาปเช่นนี้ตลอดไป


ข้อมูลอ้างอิง :

https://edition.cnn.com/2021/04/09/uk/northern-ireland-violence-explainer-gbr-intl/index.html

https://abcnews.go.com/International/wireStory/explainer-latest-unrest-ireland-76990771?cid=clicksource_4380645_10_heads_posts_card_hed

https://www.bbc.com/news/uk-northern-ireland-56664378

https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Troubles

สิงคโปร์ ท้าโลกร้อน ขอเปลี่ยนเมืองร้อนให้เป็นเมือง Cool ด้วยนวัตกรรม

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่รวยมากในย่าน อาเซียน มีความเจริญแทบทุกด้านติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินในภูมิภาค ที่หลายคนต่างมองด้วยความทึ่ง ในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองนี้ 

แต่ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาได้ นั่นก็คือ "ความร้อน" 

สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อน อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร สภาพอากาศจัดอยู่ในโซนป่าฝนเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนชื้น ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อนมาทางร้อน แดดจัด  อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส

แต่นอกเหนือตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์ อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรที่ก็ร้อนอยู่แล้ว สิงคโปร์ยังเจอปัญหาจาก Urban Heat Island Effect หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน อันเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกคอนกรีตสูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่กักเก็บความร้อนให้ระอุอยู่ภายในเมือง จึงทำให้ตัวเมืองมีอากาศร้อนจัด

แต่ชาวสิงคโปร์ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์  นาย ลี กวน ยู ที่มองเห็นว่า เมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่นจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ และส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ ให้กับประชาชน 

จึงได้ริเริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้ใหญ่บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น ตั้งแต่ปี 1963  และต่อมา วัฒนธรรมการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงคโปร์ ที่จะมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ปี 1971 โดย นายลี กวน ยู เอง  ที่ชักชวนชาวสิงคโปร์ให้ออกมาปลูกต้นไม้ด้วยกันในวันนี้ ซึ่งเขารักการปลูกต้นไม้มาก และจะเจียดเวลามาปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 60 ต้น เป็นประจำ 

และแคมเปญการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้ามาถึงใน ปัจจุบัน และในปีนี้ 2021 รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันนำโดย นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายของนายลี กวน ยู ก็ประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองกลางสวนเขียวชอุ่มอย่างแท้จริง ตามที่พ่อของเขาเคยตั้งเป้าหมายไว้ 

ถึงแม้การปลูกต้นไม้ใหญ่ และ สร้างสวนสาธารณะชุมชนเพิ่มขึ้น จะบรรเทาความร้อนจากผลกระทบของ Urban Heat Island Effect ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิภายในเมืองสิงคโปร์ลดลง ตรงกันข้าม จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกถึง 2 เท่า 

ซึ่งสิ่งที่มาเป็นตัวเร่ง และแรงเสริมที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเมืองสิงคโปร์ยังคงพุ่งสูงอย่างน่ากลัว ก็คือปัญหาจากภาวะโลกร้อน  และคาดว่าอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มถึง 35-37 องศา ภายในไม่เกินศตวรรษหน้า 

และด้วยปัญหาความร้อนนี้ จึงทำให้ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ที่มักมีติดกันทุกบ้าน ทุกอาคาร เพื่อบรรเทาความร้อน ชื้นที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงไม่แปลกใจที่พบว่าในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก ก็ยิ่งไปเร่งให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน และยังเผาผลาญพลังงาน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ไม่อาจแก้ได้แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ต้องลดการใช้พลังงานคาร์บอนและลดการพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

หว่อง ยุก เหียน อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นว่า การออกแบบอาคารในสิงคโปร์นับจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่สิ้นเปลืองพลังาน และไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศในสิงคโปร์  เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยทำให้อาคารเย็นลง ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และทางเลือกนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โจทย์นี้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Cooling Singapore Project ทีมนักวิจัยที่ต้องการหาทางออกให้กับสิงคโปร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ ที่ประกอบด้วยกุญแจสำคัญ 7 ประการ อันได้แก่ ความเขียวขจีของต้นไม้, เรขาคณิตของเมือง, การใช้น้ำลดความร้อน, การใช้วัสดุ พื้นผิวที่เหมาะสม. การสร้างร่มเงา, ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตึก และอาคารสมัยใหม่ของสิงคโปร์ จะเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีระดับความสูงต่ำ ที่แตกต่างกัน อาคารมีลักษณะโค้งมน และมีการเว้นช่องว่าง แทนที่จะเป็นทรงเหลี่ยม สร้างอย่างทึบแน่น เต็มพื้นที่ หรือเน้นความสูงระฟ้า เพื่อเปิดช่องทางลม ให้หมุนไหลเวียนภายในตัวเมือง ลดการสะสมความร้อนที่เป็นสาเหตุของ Urban Heat Island Effect

นอกจากนี้ยังมีการแทรกสวนหย่อม ต้นไม้ภายในอาคาร มีโซนบ่อน้ำเป็นฉนวนกันความร้อน ใช้วัสดุที่สะท้อนแสง และไม่เก็บความร้อน เน้นสีอ่อน เน้นความพริ้วเบา ที่ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทลม

ยกตัวอย่างเช่นอาคาร โรงแรม Park Royal และ Oasis ในสิงคโปร์ ที่ผสานสวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร  หรือโครงการ The Interlace คอนโดนิเนียมที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตย์ ที่ออกแบบเหมือนบล็อคที่ถูกนำมาวางซ้อนกัน แต่สับหว่างให้เกิดช่องลมไหลเวียนทั่วทั้งโครงการ 

นอกจากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Cooling System ระบบทำความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นขนาดใหญ่ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินของอาคาร และเดินท่อน้ำเย็นขึ้นไปภายในอาคาร เพื่อช่วยลดความร้อน แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วไหลเวียนกลับสู่ระบบเพื่อปรับอุณหภูมิแล้ววนกลับไปใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง 

ซึ่งอาคารที่ใช้ระบบนี้ และมีชื่อเสียงอย่างมากก็คือ  Marina Bay District ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อน้ำเย็นใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูแลระบบความเย็นทั้งภายในอาคารทั้งหมดใน Marina Bay District และ บริเวณใกล้เคียง ที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 40%  

และในอนาคต รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะขยายระบบท่อน้ำเย็นนี้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารพาณิชย์ และ อาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย และเชื่อว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน และเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก 

ส่วนขั้นต่อไปของ Cooling Singapore 2.0  คือการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ยุค Smart City ด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของเมือง ด้วยโปรแกรม Digital Urban Climate Twin (DUCT)  ในการประเมินผลลัพธ์ด้านสถาปัตย์ ระบบความเย็น สวนสาธารณะ พลังงานทางเลือก รถยนต์ปลอดคาร์บอน ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการวางผังเมือง การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลภาวะภายในสิงคโปร์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดฉากต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแบบของสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน ปี 2050 กับความฝันที่อย่างเป็นเมืองแห่งสวนสุด Cool เย็นได้ ไม่ง้อแอร์  ให้ได้จริง ๆ สักวันหนึ่ง 


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology

https://www.todayonline.com/singapore/plant-underground-district-cooling-network-marina-bay-commissioned

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/singapore-hot-weather-urban-heat-effect-temperature-humidity-11115384

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/cooling-singapore-project-comes-up-with-new-ways-to-beat-the-heat

https://www.clc.gov.sg/events/lectures/view/Building-and-Cooling-Singapore-in-an-Era-of-Climate-Change

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.htm

Game Changer ของวิกฤติ Covid-19

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก 60% ของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตในอินเดีย และ 2 ใน 3 ของเด็ก และ ทารกทั่วโลก ต้องเคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดที่ผลิตในอินเดีย

และวันนี้ อินเดียกำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีน Covid - 19 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ที่คาดหมายว่าจะเป็นจุดพลิกชะตา จบเกมส์ Covid-19 ได้เลยทีเดียว ที่หลายฝ่ายมั่นใจเช่นนี้ เพราะปรัชญาการผลิตเวชภัณฑ์ของรัฐบาลอินเดีย มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายในวรรณะ และชาติพันธุ์ ที่อยู่รวมกันมากถึง 1.3 พันล้านคน

ซึ่งปรัชญานี้ ก็ใช้กับการผลิตวัคซีน Covid-19 วัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแล้วในขณะนี้

และหากพูดถึงการผลิตวัคซีน Covid-19 ในอินเดีย บริษัทที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ Serum Institute of India หรือ SII บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมในการทดลองและพัฒนาวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca

SII ตั้งเป้าหมายในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ถึง 1 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 รวมทั้ง ยังต้องผลิตวัคซีนเข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถึง 200 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศในโลกที่ 3

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่เข้ามารับภารกิจระดับโลกครั้งนี้ มีที่มาเช่นไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Serum Institute of India - SII กัน

จุดเริ่มต้นของบริษัท Serum Institute of India เกิดจาก ครอบครัวผู้เพาะพันธุ์ม้าในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย โดยนาย ไซปรัส ปูนะวัลลา รับหน้าที่ดูแลคอกม้าให้พ่อ แต่มาวันหนึ่ง แม่ม้าตัวหนึ่งของเขาโดนงูกัด แล้วเขาได้พยายามติดต่อสัตวแพทย์ หาเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ม้า แต่ปรากฏว่าทั้งเมืองหาเซรุ่มไม่ได้ ศูนย์เซรุ่มที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบอมเบย์ ที่ห่างไปไกลเกิน 100 กิโลเมตร และต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติเสียก่อนถึงจะเบิกเซรุ่มมาใช้ได้

การสื่อสารก็ติดขัด หน่วยงานราชการทำงานล่าช้ามาก และหากจำเป็นต้องสั่งเซรุ่มจากต่างประเทศ ก็ราคาสูงมาก จนเขาไม่คิดว่าคนยากจน ที่ถูกงูกัดจะสามารถซื้อได้

และกว่าจะได้เซรุ่มมา ใช้เวลานานถึง 4 วัน ซึ่งไม่ทันที่จะช่วยชีวิตแม่ม้าของเขาได้ ความเสียใจนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปณิธานของเขาว่า เขาจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีน และเซรุ่ม ในราคาถูก มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหน

ครอบครัวปูนะวัลลา ก็ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน Serum Institute of India (SII) ในปี 1966 ที่ผลิตตั้งแต่เซรุ่มแก้พิษงู วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในราคาประหยัด แต่ได้มาตรฐานสูง รับประกันคุณภาพผลงานด้วยการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยา และวัคซีนให้แก่องค์กรระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก Unicef Pan American Health Organization และอีกหลายองค์กร

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2020 ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อจาก AstraZeneca ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน Covid-19 และต้องการให้ SII ร่วมทดสอบวัคซีน และเป็นฐานการผลิตให้กับ AstraZeneca หลังจากผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

ซึ่งทางครอบครัวปูนะวัลลา ที่ปัจจุบัน อดาร์ ปูนะวัลลา บุตรชายของนาย ไซปรัส ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สืบทอดกิจการ และดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด ก็รู้ทันทีว่าข้อตกลงครั้งนี้ พ่วงมาด้วยความกดดันในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยต้องประสานงานกับโรงพยาบาลกลางในเมืองปูเน่ ในการทดลองวัคซีนให้กับ AstraZeneca ในเฟส 2 และ 3 เพื่อดูผลการทดสอบอย่างใกล้ชิด

เมื่อมีการรับรองผลการทดสอบวัคซีนในขั้นสุดท้ายแล้ว SII ก็ได้รับใบอนุญาตในการผลิตวัคซีน AstraZenca ทันทีภายใต้ชื่อวัคซีน Covashield ในช่วงที่อินเดียกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 พอดี ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก

SII ต้องเร่งขยายฐานการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องผลิตวัคซีน Covid-19 ที่ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้มากพอที่จะส่งให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

อดาร์ ปูนะวัลลา เล่าว่า แค่เพิ่มสต็อคขวดบรรจุวัคซีนเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมการเพิ่มแรงงาน ที่ทำงานกันไม่หยุด 7 วัน 24 ชั่วโมง และทุกวันก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีข้อความผ่านทาง WhatApp จาก ด็อกเตอร์ เค. วิชัยราฆวัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพื่อติดตามรายงานความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นประจำ ถึงจะมีการเตรียมงานอย่างดี และมีประสบการณ์ในด้านการผลิตวัคซีนมานานกว่า 50 ปี แต่กลับมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อโรงงานหลังหนึ่งของ SII ถูกไฟไหม้! เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

ความรุนแรงของเหตุไฟไหม้ ทำลายบางส่วนของอาคารโรงงาน และมีผู้เสียชีวิตในโรงงานถึง 5 คน ซึ่งโรงงานนั้นก็เป็นหนึ่งในฝ่ายการผลิตวัคซีน AstraZeneca

แม้จะไม่ทราบสาเหตุของต้นเพลิง แต่ SII ยังต้องเดินหน้าการผลิตวัคซีนตามเป้าหมายต่อไป ยังโชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่เสียหายมากนัก จึงยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้

แม้ในวันนี้ SII ยังคงเร่งผลิตวัคซีน AstraZenca อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว 5,000 ขวดต่อนาที กับแรงงานของพนักงานหลายร้อยชีวิตที่นี่ ต่างทำงานอย่างขมักเขม้น ที่พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลิตสินค้า แต่เป็นการต่อสู้กับภัยโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทาง SII มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

และนอกจากจะผลิตวัคซีน AstraZeneca แล้ว SII ก็เพิ่งเซ็นข้อตกลงร่วมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้อีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Novavax ที่อยู่ขั้นการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้ายแล้ว และคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัคซีนราคาประหยัด และสามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไปได้ เช่นเดียวกับ AstraZeneca และ ล่าสุด Codagenix วัคซีน Covid-19 รุ่นใหม่ ที่ใช้หยอดทางจมูกแทนการฉีดเข้าร่างกาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ และ เอกชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอินเดีย ถึงได้รับฉายาว่าเป็นคลังวัคซีนโลก แต่จะเป็นผู้ปิดเกมส์เจ้าไวรัส Covid-19 ได้จริง ๆ อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่สามารถยืนยันได้แล้วในตอนนี้ คือ อินเดีย สามารถพลิกวิกฤติ Covid-19 ให้กลายเป็นโอกาสให้กับเศรษฐกิจอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่มอบแสงสว่างในปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้นับล้านคนทั่วโลกทีเดียว


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-india-serum-insigh/how-one-indian-company-could-be-worlds-door-to-a-covid-19-vaccine-idINKBN22Y2BI?edition-redirect=in

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/indias-serum-institute-a-look-inside-the-worlds-biggest-covid-19-vaccine-factory

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/03/18/978065736/indias-role-in-covid-19-vaccine-production-is-getting-even-bigger

https://en.wikipedia.org/wiki/Serum_Institute_of_India

สะเทือนถึงดวงดาว !! รู้จัก XPCC บริษัทจีนผู้ปั้นความเจริญสู่ถิ่นทุรกันดาร กับข้อครหา ฆ่าล้าง ‘ชาวอุยกูร์’ ที่สะเทือนภาพลักษณ์จีน

หากพูดถึงบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC หลายคนอาจไม่คุ้นหู และคิดว่าเป็นบริษัทก่อสร้าง หรือผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง แต่คิดว่าหลายคนคงเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘ค่ายปรับทัศนคติ’ หรือ ‘ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ’ ชาวซินเจียง อุยกูร์ ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลก ที่เชื่อว่าค่ายเหล่านี้ไม่ต่างจากสถานกักกัน และจีนถูกมองว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถึงระดับ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวอุยกูร์ 


โดยบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC ถูกนำไปเชื่อมโยงกับค่ายวิชาชีพของชาวอุยกูร์ จนนำไปสู่การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่ผลิตจากบริษัท XPCC เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างผิดหลักจริยธรรมด้านสิทธิมนุษยชน 


และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2021 ชาติพันธมิตรตะวันตก อย่างสหรัฐ, แคนาดา, อังกฤษ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป ก็ตัดสินใจคว่ำบาตรบริษัท XPCC รวมถึงแบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท ไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมยึดบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ในประเทศเหล่านั้นด้วย


ทั้งนี้ หากลองมาดูโครงสร้างของบริษัท XPCC แล้ว ก็จะพบว่าไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ เลย เฉพาะผลิตภัณฑ์ฝ้ายจากบริษัท มีมากถึง 30% ของฝ้ายที่ผลิตได้ในจีนทั้งหมด ที่สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 17% ของ GDP ในเขตปกครองซินเจียง มีหน่วยงานในสังกัดถึง 14 หน่วย มีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และมีสมาชิกในสังกัดมากกว่า 2 ล้านคน

แล้วที่มาของบริษัทแห่งนี้ มีต้นกำเนิดจากไหน ? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps กันดีกว่า

จุดเริ่มต้นของบริษัท นี้ ย้อนไกลถึงสมัย ‘เหมา เจ๋อตุง’ ในปี 1954 ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในเขตซินเจียง ที่เหมา เจ๋อตุง มองว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง มีชาวจีนฮั่นอยู่อย่างเบาบางมากเกินไปหากเทียบกับประชากรมุสลิมอุยกูร์ในท้องที่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขตซินเจียง มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ถึง 75% แต่มีชาวจีนฮั่นเพียง 7% เท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังแห้งแล้ง กันดาร มีพื้นที่ใช้อยู่อาศัยได้ไม่ถึง 10% 

ด้วยเหตุนี้ เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งการให้ หวัง เจิ้ง นายพลคนสนิท นำกองทัพกว่า 175,000 คน ไปประจำการในเขตซินเจียง และได้ก่อตั้งบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps ขึ้น 

ที่ต้องใช้กำลังกองทัพตั้งบริษัท เพราะ XPCC ของ เหมา เจ๋อตุง ต้องทำหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ พัฒนาผลผลิตการเกษตร และป้องกันดินแดนไปด้วยในคราวเดียวกัน เพราะพื้นที่ในเขตนี้เคยมีประวัติการลุกฮือเพื่อแยกดินแดน และมีการแทรกซึมจากคนภายนอกประเทศ ที่หวังมีอิทธิพลในเขตซินเจียง

เป้าหมายที่ เหมา เจ๋อตุง มองไว้ คือ การยกระดับพื้นที่เกษตรในเขตซินเจียง ที่ยังล้าหลัง สร้างผลผลิตน้อยที่เป็นสาเหตุของความยากจน ให้กลายเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งภาคการเกษตร และการทำเหมืองแร่ เพื่อขยายเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้โตขึ้น ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อจูงใจให้ชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงมากขึ้น มากพอที่จะทำให้มีชาวจีนฮั่นในสัดส่วนสมดุลกับจำนวนประชากรชาวอุยกูร์ เพื่อความมั่นคงในการปกครอง

และก็ดูท่าจะประสบความสำเร็จเสียด้วย เพราะตั้งแต่เกิดโครงการ XPCC นำร่อง ก็มีชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงตอนเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันสัดส่วนประชากรชาวจีนฮั่น กับชาวอุยกูร์ ใกล้เคียงกันมาก ที่ 40.48% ต่อ 45.84%

ระบบจัดการของ XPCC ดัดแปลงจากระบบปฏิรูปเกษตรกรรมในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่รัฐจะให้สวัสดิการอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ดินในราคาถูก และรับผลผลิตบางส่วนเป็นค่าตอบแทน แต่ระบบ XPCC ไปไกลกว่านั้น ด้วยการผนวกเอากองกำลังป้องกันดินแดน ระบบเกณฑ์แรงงาน จากกลุ่มกบฏ ผู้ลี้ภัย มาใช้ลงแรงในไร่นา การก่อสร้างพัฒนาเมือง และนำผลผลิตมาบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ แบบองค์กรกึ่งรัฐวิสาหกิจ กึ่งบริษัท กึ่งกองทัพ ที่บางคนนำไปเปรียบเทียบกับโมเดลบริษัท บริติส อีสต์ อินเดีย ในยุคล่าอาณานิคม 

บริษัท XPCC เคยถูกยุบไปรวมกับรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลซินเจียงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เข้าสู่ปลายยุคของเหมา เจ๋อตุง แต่หลังจากถูกยุบไปได้ไม่นาน ทางการจีนก็นำโครงการ XPCC กลับขึ้นมาใช้ใหม่ในช่วงปี 1981 เนื่องจากมีเหตุจำเป็นจากภายนอกประเทศ ซึ่งเวลานั้นได้เกิดเหตุสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมข้ามมาในเขตซินเจียงของจีนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนมาเพื่อซ่องสุมกำลังเพื่อโจมตีกองทัพโซเวียต โดยใช้พื้นที่ของพันธมิตรชาวมุสลิมอุยกูร์เป็นที่มั่น

ดังนั้น การมีอยู่ของ XPCC จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเขตพื้นที่ห่างไกล ที่แฝงไว้ด้วยการรักษาความสงบ และมั่นคงในเขตชายแดนที่อ่อนไหว ที่มีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินเดีย, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และโซเวียต เป็นต้น 

แต่ทั้งนี้การรุกคืบของรัฐบาลจีนที่เร่งสร้างชุมชนชาวจีนฮั่น ภายใต้โครงการ XPCC ก็กลายเป็นความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เดิมที่โดนแย่งทรัพยากรแหล่งน้ำ และพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด และด้วยการแทรกซึมของต่างชาติ ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพที่มีอยู่เดิมในกลุ่มชาวอุยกูร์ กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว East Turkestan Islamic Movement ที่ต้องการแยกดินแดนซินเจียงออกมาตั้งเป็นประเทศมุสลิมใหม่ ในชื่อ ‘สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก’ ที่นำไปสู่ความไม่สงบในพื้นที่ในเขตมณฑลซินเจียงมากขึ้น 

และด้วยรัฐบาลจีนที่ยึดมั่นกับนโยบาย ‘จีนเดียว’ มาตลอด ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเงื่อนไขของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่ต่อมาถูกทางการจีนหมายหัวให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน และได้ส่งกองกำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

ความไม่สงบยังไม่จางหายจากเขตซินเจียง แต่จีนยังคงมุ่งหน้าเต็มคันเร่งสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ที่เปิดโครงการที่ปัจจุบันนับว่าเป็นงานลงทุนภาครัฐที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ที่รู้จักในชื่อ Belt and Road Initiative หรือ BRI การสร้างเส้นทางสายไหมแห่งเศรษฐกิจที่จะเชื่อโยงไปกว่าค่อนโลก ยาวถึงยุโรปตะวันตก ซึ่งประตูทางออกสู่เส้นทางสายไหมของท่านประธาน สีจิ้นผิง เริ่มต้นที่เขตซินเจียง ที่จะทำให้มณฑลแห่งนี้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนจะปล่อยให้เกิดความไม่สงบไม่ได้

ดังนั้น XPCC จึงได้รับการคาดหวังจากรัฐบาลจีน ในการรักษาเสถียรภาพ และความสงบในพื้นที่นี้ให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ด็อกเตอร์ เป่า ยาจุน อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เคยให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ คือการหลอมรวมชาวอุยกูร์ และชาวฮั่น ให้เป็นสังคมหนึ่งเดียวกัน ซึ่ง XPCC ก็กลายเป็นหน่วยงานที่ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่นั้น 

ขณะที่ทางรัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มงบประมาณให้ XPCC เร่งเสริมกำลังด้านการทหาร และเข้าถึงพื้นที่ในชุมชนโดยใส่มุมมองความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเข้าไป ให้ภาคเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในพื้นที่เขตซิงเจียงตอนใต้ ที่มีชาวอุยกูร์อยู่อย่างหนาแน่นกว่าชาวจีนฮั่น ให้เข้ามาอยู่ในระบบ XPCC ผ่านค่ายฝึกอบรมวิชาชีพ และส่งเสริมค่านิยมความเป็นจีน

และนั่นอาจเป็นที่มาของค่าย ‘ปรับทัศนคติ’ ที่ถูกมองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนชาวอุยกูร์ ให้เป็นชาวจีนฮั่น และมีการต้อนชาวอุยกูร์เข้าค่ายอบรมนับล้านคน นานนับปี ที่มีข่าวในแง่ลบออกมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการทำร้ายร่างกาย ขมขู่บังคับ ขืนใจ กดขี่ให้ละทิ้งความเชื่อทางศาสนา และบังคับให้คุมกำเนิด เพื่อควบคุมประชากรชาวอุยกูร์ในพื้นที่ 

เมื่อมีข้อมูลด้านลบออกมาเช่นนี้ แถมทางจีนก็ไม่เปิดเผยข้อมูลค่ายอบรมแรงงานขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ จึงกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในสื่อกระแสหลักของโลกเสรีตะวันตก 

และนี่จึงเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่ XPCC ของจีนถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการค่ายอบรมชาวอุยกูร์ ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจแบน ระงับการนำเข้าฝ้ายและมะเขือเทศของ XPCC ที่ผลิตในมณฑลซินเจียงทั้งหมด เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์เยี่ยงทาสเพื่อผลผลิต

และตามมาด้วยการร่วมแบนบริษัท XPCC ในกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน ไม่เฉพาะแค่รายได้ในเขตซินเจียงเท่านั้น เพราะนอกจาก XPCC จะเป็นเจ้าของผลผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดในจีนแล้ว ยังประกอบด้วยบริษัทในเครืออีก ถึง 10 บริษัทที่ดูแลผลผลิตการเกษตรจำนวนมาก ตั้งแต่ ผัก, ผลไม้, น้ำมันพืช, น้ำตาล, มะเขือเทศ และสินค้าแปรรูปการเกษตรอื่น ๆ อย่าง ไวน์, เบียร์, กระดาษ, ปูนซีเมนต์, สิ่งทอ, พลาสติก และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่สร้างรายได้ให้จีนสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี  

จากที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของจีนในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์ ดูจะไปไกลเกินกว่าที่จีนจะมองว่าเป็นแค่เรื่องภายในประเทศเสียแล้ว ยิ่งมีรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน มาผสมโรงด้วยการชูประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อกดดันจีนในทุกมิติ ก็เชื่อว่านี่จะเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยทำลายภาพลักษณ์ของจีนต่อสายตาชาวโลกในระยะยาวได้พอดู แถมยังเป็นการสกัดธุรกิจภาคการเกษตรไปในตัวด้วย

นาทีนี้ บริษัทกึ่งรัฐ กึ่งกองทัพ ที่มีอายุมานานกว่า 60 ปี อย่าง XPCC ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกดินแดนซินเจียง ที่เคยเป็นที่รกร้าง ให้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญกับจีนทั้งในแง่ภาคการเกษตร และยุทธศาสตร์การเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน กำลังสั่นคลอนเพราะตัวเองหรือ ‘ใคร’ กันแน่ ?

.

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.lawinfochina.com/display.aspx?id=122&lib=dbref&SearchKeyword=&SearchCKeyword=&EncodingName=big5

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Xinjiang_Production_and_Construction_Corps

https://www.aljazeera.com/economy/2021/1/13/us-bans-all-cotton-tomato-products-from-chinas-xinjiang-region

https://www.reuters.com/article/us-usa-trade-china-idUSKBN28C38V

https://www.bsg.ox.ac.uk/node/3661


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ทำไมประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลาง ยังต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์? พลังงานทางเลือกที่แฝงด้วยหายนะ

เมื่อไม่นานมานี้ ตุรกีเพิ่งเดินหน้าเปิดตัวเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 3 ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมอร์ซิน เมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่สำคัญของตุรกี ทางฝั่งทวีปเอเชีย

โรงงานไฟฟ้า Akkuyu ของตุรกีนี้เป็นโปรเจกต์ที่รัสเซียออกทุนสร้างให้ ผ่านบริษัทบริหารพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐที่เรียกว่า Rosatom ซึ่งวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ก่อตั้ง และจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2018 และคาดว่าน่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป

และโรงงานไฟฟ้า Akkuyu มีศักยภาพพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3.5 หมื่นล้านกิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ ส่วนงบประมาณการลงทุนในการก่อสร้าง ใช้เม็ดเงินสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์

เท่ากับว่า ตุรกีและรัสเซียเป็นหุ้นส่วนพลังงานที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่า จะทำให้ตุรกีต้องพึ่งพารัสเซียด้านพลังงานมากเกินไป ถึงขนาดออกทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยงบมหาศาลให้ นี่ยังไม่นับรวมท่อก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันที่ส่งตรงมาจากรัสเซียเช่นเดียวกัน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทางตุรกีก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่สอง ที่เมืองซีนอปที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างตุรกีและญี่ปุ่น แต่โปรเจกต์โรงไฟฟ้าที่ซีนอป มาหยุดชะงักตั้งแต่บริษัทมิตซูบิชิ ที่จะเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างถอนตัวไป ตอนนี้จึงยังไม่มีอะไรคืบหน้า

จึงมีการตั้งคำถามมากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และ นักสิ่งแวดล้อมว่า การที่รัฐบาลตุรกีจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 2 แห่ง ได้ศึกษาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวบ้างหรือไม่ เนื่องจากตุรกีก็ตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง

และอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และฟุกุชิมะ ยังไม่น่ากลัวเพียงพอที่จะทำให้ตุรกีต้องคิดให้หนักๆ กับการครอบครองพลังงานนิวเคลียร์หรอกหรือ?

แต่ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ประเทศ 2 ทวีปอย่างตุรกีที่ตัดสินใจยอมรับความเสี่ยงในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ประเทศมหาอำนาจในย่านตะวันออกกลางก็เริ่มขยับขยายเข้าสู่เส้นทางพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน

ประเทศในดินแดนตะวันออกกลางที่เริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประเทศแรกในย่านนี้ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คืออิหร่าน ที่เริ่มต้นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองบูเชห์ตั้งแต่ปี 1975 โดยให้สัมปทานบริษัทก่อสร้างจากเยอรมันมาสร้างให้

แต่พอหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่าน ในปี 1979 ตามมาด้วยสงครามอิรัก-อิหร่าน ในปี 1980  โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ก็หยุดชะงักไปนานมากกว่า 10 ปี แต่ในที่สุดก็กลับมาเดินหน้าต่อ โดยผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน  รัสเซียเจ้าเก่าของเรานี่เอง จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 2011 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย พร้อมกับผู้บริหารสูงสุดของ Rosatom ยังไปร่วมพิธีเปิดโรงงานถึงอิหร่าน

จึงนับได้ว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ของอิหร่าน เป็นโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลเรือนแห่งแรกในย่านตะวันออกกลาง ที่ชาติตะวันตกบางชาติอาจมองว่าเป็นโครงการบังหน้าที่มีแผนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีรัสเซียอยู่เบื้องหลังก็ตาม

แต่เมื่อมีประเทศแรกนำร่องแล้ว ก็ย่อมมีประเทศที่สองตามมา แถมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ทรงอิทธิพลในย่านตะวันออกกลางเสียด้วย ไม่ต้องเดาไปไกล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE นั่นเอง

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ของ UAE เริ่มมีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2009 ร่วมกับรัฐบาลของเกาหลีใต้ ด้วยงบประมาณก่อสร้างเหลือเฟือถึง 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ซึ่งกำลังการผลิตเต็มสูบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์นี้ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 25% ของปริมาณการใช้งานเพื่อประชากร 10 ล้านคนในประเทศ และเป็นเป้าหมายสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของ UAE และใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะยกระดับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติไปสู่มาตรฐานใหม่

ถึงจะรับประกันสวยหรูอย่างไรก็ตาม ก็หนีไม่พ้นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างการ์ต้า ที่มองว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ ที่อยู่ไม่ห่างจากพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามทั้งด้านสันติภาพและสิ่งแวดล้อมในดินแดนย่านนี้ทั้งหมด

และดูเหมือนว่าความวิตกกังวล ก็เริ่มไต่ระดับกลายเป็นความตึงเครียด เมื่อซาอุดิอาระเบียก็เริ่มสนใจโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์กับเขาด้วยเหมือนกัน โดยเริ่มต้นจากการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิง อับดุลลาซิส ที่ชานกรุงริยาด เพื่อทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ และคาดว่าน่าจะมีการขยายเพิ่ม เนื่องจากมีข่าวการพูดคุยข้อตกลงร่วมมือกับบริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ จีน และ สหรัฐอเมริกา

แต่ประเด็นที่หลายคนยังสงสัยคือ การเดินหน้าพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในหลายประเทศย่านตะวันออกกลาง ว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัย และเพื่อสันติจริงหรือไม่

เพราะหากมาดูงบลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 แห่ง และงบบริหารจัดการทั้งหมดเพื่อผลิตพลังงาน กับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพิษของกากสารกัมมันตรี และความยุ่งยากในการกำจัดน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานหลายสิบปี ก็อาจจะไม่คุ้ม

หากไม่นับทรัพยากรน้ำมันของประเทศในย่านนี้ที่มีเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก การใช้พลังงานจากธรรมชาติทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานจาก ลม หรือแสงแดด ในดินแดนแห่งนี้ก็มีอย่างเหลือเฟือสุดๆ ที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาด ปลอดภัย ไร้กังวลกว่ามาก แถมใช้งบประมาณน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ จึงเกิดข้อสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

ถึงเรื่องงบประมาณอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของประเทศเศรษฐีน้ำมัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือมาตรการความปลอดภัย และความโปร่งใส

อย่างที่ทราบกันดี การตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานสักแห่งปัจจัยเรื่องความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในเขตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สิ่งที่จะตามมาคงหนีไม่พ้น "ความหายนะ"

แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในย่านนี้บางแห่ง ก็ยังตั้งอยู่ในเขตแนวแผ่นดินไหวที่เสี่ยงมาก อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ ในอิหร่าน

การเสี่ยงจากภัยธรรมชาติก็เรื่องหนึ่ง แต่ภัยที่เกิดจากปัญหาความมั่นคงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งภูมิภาคนี้ก็มีความอ่อนไหวด้านการเมืองสูง รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีแดงที่ยังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม ที่ยังมีการลอบโจมตีทางทหารซึ่งๆหน้า และการลอบโจมตี โดย กลุ่มก่อการร้าย

ซึ่งก็เคยมีข่าวการเล็งเป้าโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของ UAE โดยกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน หรือการลอบโจมตีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในอิหร่านที่เมือง Natanz โดยกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ การบุกโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในดินแดนซีเรียโดยอ้างว่ามีโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลับของรัฐบาลบาซาร์ อัล-อัสซาดซ่อนอยู่

จึงเห็นได้ว่าบริเวณพื้นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของแต่ละประเทศในย่านตะวันออกกลางกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ที่เล็งผลให้เกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้างหากทำสำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่จุดประสงค์ของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเลยแม้แต่น้อย

แล้วทำไมประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งๆที่รู้ว่ามีความเสียงไม่ต่างจากการกอดระเบิดไว้ข้างที่นอน

และหากพิจารณาโมเดลของอิหร่าน ที่เริ่มต้นจากโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนยกระดับสู่งานวิจัยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนกลายเป็นประเด็นที่โดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรจนถึงวันนี้  จึงมองได้ว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดเป็นอาวุธร้ายแรงได้ทันที เมื่อถึงเวลาจำเป็น

เนื่องจากการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ใช้พื้นฐานเดียวกันคือการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในเตาปฏิกรณ์ให้ได้ระดับที่ต้องการ หากใช้เป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้ได้ 3-5% แต่ถ้าต้องการไปให้ถึงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ต้องเสริมสมรรถนะให้ได้สูงเกิน 90% ขึ้นไป

ดังนั้นการยอมทุ่มงบประมาณก้อนโตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของดินแดนเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง จึงถูกมองว่ามีนัยยะซ่อนเร้นภายใต้ป้ายพลังงานเพื่อสันติ ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ด้านความมั่นคง การประกาศแสนยานุภาพ การสร้างพันธมิตรของประเทศมหาอำนาจ ในทางตรงข้ามก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่ไว้ใจกัน และพร้อมจะเปิดเป็นประเด็นสงครามเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น การกระโดดเข้าสู่กระแสการลดภาวะโลกร้อนของโลกตะวันออกกลางด้วยการพัฒนาโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้ามองห่างๆ อย่างห่วงๆว่าจะสร้างบรรยากาศการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสันติอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้นานแค่ไหน


อ้างอิง 

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Energy_in_Turkey

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Nuclear_energy_in_Saudi_Arabia

https://m.dw.com/en/uae-launches-arab-worlds-first-nuclear-power-plant/a-54402851

https://www.csmonitor.com/World/Middle-East/2020/0903/Why-US-wants-Saudis-to-follow-UAE-s-path-to-nuclear-energy

https://www.dailysabah.com/mideast/2017/12/03/yemens-houthis-claim-targeting-nuclear-reactor-in-abu-dhabi-with-missile-attack-uae-denies

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-53305940

https://www.npr.org/2019/05/06/719590408/as-saudi-arabia-builds-a-nuclear-reactor-some-worry-about-its-motives


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top