‘ผอ.CIA’ เย้ย ‘จีน’ ยากยึดไต้หวันภายในปี 2027 ฟาก ‘จีน’ เชื่อ!! ไต้หวัน ไม่เหมือน ยูเครน!!

(28 ก.พ. 66) ไม่นานมานี้ วิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการสำนักหน่วยข่าวกรองสหรัฐ (CIA) ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ (26 ก.พ. 66) ว่า สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่เตรียมจะยกพลบุกไต้หวันอย่างแน่นอนภายในปี 2027 นั้น เริ่มกังวลถึงแสนยานุภาพของกองทัพจีนว่าจะทำสำเร็จหรือไม่?

แม้ทุกคนรู้ว่า จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และต้องการผนวกดินแดนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2027 ในยุคสมัยของ สี จิ้นผิง แต่สิ่งที่ ผอ. CIA คนนี้ได้ตั้งข้อสงสัยว่า หาก สี จิ้นผิง มีความคิดที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดครองไต้หวันจริง ๆ ผู้นำจีนจะยังมั่นใจอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ ที่กองทัพจีนจะสามารถยึดไต้หวันได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ 

เพราะจากตัวอย่าง สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ที่ผ่านมา ซึ่งเคยคาดว่า กองทัพรัสเซียจะสามารถยึดเมืองเคียฟได้อย่างง่ายดาย แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเสียแล้ว จากความช่วยเหลือด้านอาวุธของสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก ที่เสริมให้กองทัพยูเครนมีศักยภาพเพียงพอที่จะยื้อการสู้รบกับกองทัพรัสเซียได้นานเป็นปี และสร้างความบอบช้ำให้กับรัสเซีย ทั้งในด้านการทหาร และเศรษฐกิจอย่างมาก 

ผ.อ. CIA ผู้นี้ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำชัดอีกว่า จากผลลัพธ์ของสงครามในยูเครน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะไม่ยอมให้จีนยกกองทัพรุกรานไต้หวันอย่างเด็ดขาด และพร้อมจะใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงเหมือนกัน ถ้าเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว 

วิลเลียม เบิร์นส มั่นใจ ว่าหากสหรัฐอเมริกาแสดงจุดยืนแข็งกร้าวกับจีนในข้อพิพาทไต้หวัน จะทำให้จีนต้องกลับมาประเมินศักยภาพกองทัพตัวเองใหม่ เพราะการเปิดศึกครั้งนี้ จะไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลจีนคิดอีกต่อไป 

ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวัน เกิดขึ้นในปี 1949 เมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์จีน ของ เหมา เจ๋อตุง ชนะสงครามกลางเมืองและจัดตั้งรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง พรรคก๊กมินตั๋งของ เจียง ไคเช็ก จึงลี้ภัยมาจัดตั้งรัฐบาลของตนเองบนเกาะไต้หวัน 

แล้วหลังจากนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ประกาศตนเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนใหญ่บนเวทีโลก แต่สุดท้ายในปี 1978 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศรับรองรัฐบาลปักกิ่งเป็นรัฐบาลจีนเดียว ตามมาด้วยการถอนการรับรองสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในสมัยของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ที่ทำให้ไต้หวันถูกลดบทบาท กลายเป็นดินแดนปกครองตนเองที่ถูกจีนอ้างสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจีนเดียวนับแต่นั้นมา

นอกจากนี้ ไต้หวันยังกลายเป็นดินแดนที่มักถูกยกเป็นประเด็นพิพาทระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลสหรัฐแสดงท่าทีสนับสนุนความเป็นรัฐเอกราชให้กับไต้หวัน ล่าสุด โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ยังเคยประกาศว่า กองทัพสหรัฐฯ จะเคลื่อนพลออกมาปกป้องไต้หวันทันทีที่กองทัพจีนยกทัพรุกรานไต้หวัน  

อย่างไรก็ตาม ด้านโฆษกทำเนียบขาวยังคงแบ่งรับ แบ่งสู้ ว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อ จีน จะไม่เปลี่ยนแปลง โดยต้องการเห็นจีนและไต้หวัน หาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ แต่ก็ไม่ตอบคำถามที่ว่ารัฐบาลจะส่งกองทัพสหรัฐฯ สนับสนุนกับฝ่ายไต้หวันจริงอย่างที่ผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหรือไม่ด้วย

แม้ว่าการออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของผู้อำนวยการ CIA จะไม่มีอะไรเลยที่เป็นข้อมูลใหม่ เป็นแค่เพียงการส่งสาส์นถึงรัฐบาลจีนว่า สหรัฐฯ กำลังจับตาดูสถานการณ์ที่ไต้หวันอย่างใกล้ชิด และต้องการเชื่อมโยงความคิดของผู้รับข่าวสาร ถึงสถานการณ์ในยูเครน ให้ซ้อนทับกับบริบทความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวัน แต่ทางรัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาปัดประเด็นความคิดเห็นนั้น โดยยืนยันว่า ยูเครน และ ไต้หวัน มีสถานะที่แตกต่างกัน และจีนยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว ที่จะไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงได้


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Channel News Asia