สหรัฐฯ อ่วม!! ประสบปัญหา 'สมองไหล' นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิ ย้ายหนีกลับจีน

สหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ระดับมันสมองไปต่างประเทศเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน จีนกลับได้อานิสงส์จากกระแสย้ายถิ่นของนักวิชาการจากอเมริกาเพิ่มขึ้นหลายเท่าในรอบทศวรรษ

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับรัฐบาลเปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกากำลังเสียนักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิ ที่ต่างเคยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำนับพันคนให้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะ ‘จีน’ ที่กำลังอัดฉีดแคมเปญดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ระดับสูง ให้มาร่วมงานกับสถาบันการศึกษาของจีนเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างตัวเลขที่มีการเปิดเผยว่า ในปี 2021 ปีเดียว จีนได้ตัวนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศไปร่วมงานราว ๆ 2,408 คน แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่ว้าวอะไร แต่หากเทียบกับข้อมูลในปี 2017 จะพบว่า สหรัฐอเมริกาสามารถดึงนักวิจัยต่างชาติได้ถึง 4,292 คน ในขณะที่จีนได้เพียง 116 คน เท่านั้น 

เท่ากับจีน มีตัวเลขนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติที่ก้าวกระโดดหลายเท่าตัว กลับกันกับสหรัฐฯ ที่นอกจากจะสูญเสีย ‘เสน่ห์’ ในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแล้ว ยังเสี่ยงเจอปัญหาสมองไหล ถูกต่างชาติดึงตัวนักวิจัยเก่ง ๆ ไปด้วย

กระแสสมองไหลในอเมริกา เริ่มเกิดขึ้นก่อนจะเกิดวิกฤติการระบาด Covid-19 ในโลกเสียอีก โดยมีเหตุและปัจจัยจากนโยบายของอดีตผู้นำสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จุดประกายสงครามการค้ากับจีน ซึ่งช่วงเวลานั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้กฎหมายเล่นงานนักวิชาการจากจีน ด้วยข้อหาละเมิดสิทธิทางปัญญา ไปจนถึงการเป็นสายลับ จารกรรมข้อมูล

ด้วยการดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อจีน มีส่วนกดดันสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับนักวิชาการจีน หรือเพียงแค่มีเชื้อสายจีน มีการข่มขู่ คุกคามที่จะฟ้องร้อง ดำเนินคดีนักวิชาการเหล่านั้น หรือตัดสิทธิ์นักศึกษาจีนไม่ให้เข้าเรียนในสถาบันของสหรัฐฯ ได้

นับเป็นช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างนักวิชาการเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ โดยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติเปิดเผยว่า มีการไล่นักวิชาการจีนมากกว่า 100 คน รวมถึงการปิดศูนย์วิจัยกว่า 150 โครงการ ซึ่งกว่า 80% เป็นงานของนักวิจัยเชื้อสาย ‘เอเชีย’ 

แอนดรูส์ อี. เลลลิง อัยการสหรัฐฯ ยอมรับว่า การกดดันทางกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมา สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในแวดวงวิชาการสหรัฐฯ อย่างมาก และสร้างความอึดอัดใจในการทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศทั่วโลก ที่ล้วนมีนักวิจัยจากหลากหลายเชื้อชาติ หรือเคยรับทุนวิจัยส่วนหนึ่งจากรัฐบาลจีนมาก่อน

และเป็นเหมือนการไล่นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีนทางอ้อม ที่ทำให้เห็นว่าผลงานวิจัยของพวกเขาจะไม่ถูกค้นพบ หรือสนับสนุนในวงกว้างได้เท่ากับการทำงานวิจัยในจีน ที่มีงบประมาณสนับสนุนให้มากกว่า 

และหากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงดำเนินนโยบายปิดกั้นนักวิชาการจีนเช่นนี้ต่อไป ก็จะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียนักวิจัยระดับมันสมองไปให้กับจีน และประเทศอื่น ๆ ที่มีบรรยากาศความร่วมมือทางวิชาการที่ดีกว่า 

เห็นได้ว่า อคติจากนโยบายต่างประเทศของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ กำลังครอบงำแวดวงวิชาการในประเทศอย่างมาก นอกจากกลุ่มนักวิจัยชาวจีนแล้ว นักวิชาการเชื้อสายเอเชียอื่น ๆ หรือจากกลุ่มประเทศที่ถูกคว่ำบาตรโดยรัฐบาลสหรัฐฯ มักถูกกดดันจนยากที่จะทำงานได้อย่างเสรีในสหรัฐฯ จนทำให้พวกเขาต้องมองหาโอกาสทางวิชาการในประเทศอื่น 

กระแสสมองไหลในสหรัฐฯ อย่างมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังเกิดขึ้นในยุคที่นักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิ ที่มีพื้นเพ เชื้อชาติหลากหลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ซึ่งพร้อมเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อดึงตัวมาทำงานในประเทศ อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องกลับมาย้อนคิดทบทวนนโยบายของตนเองว่า กำลังสร้างอคติการทำงานด้านวิชาการ หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาในประเทศหรือไม่

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


อ้างอิง: Modern Diplomacy